ส่องเสียงรัฐบาลหลังเลือกตั้ง มีที่นั่ง & คะแนนพรรครวมเท่าไหร่

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยก็แบ่งออกเป็นสองประเภท คือผู้แทนในรูปแบบเขต และผู้แทนแบบสัดส่วนหรือบัญชีรายชื่อ โดยในแบบหลังหรือที่เรียกกันว่า “ปาร์ตี้ลิสต์” จะมาจากคะแนนของพรรคการเมืองทั้งประเทศ ซึ่งต่างจากคะแนนในแต่ละเขตเหมือนในรูปแบบแรก การเอาชนะเลือกตั้งจึงจำเป็นต้องอาศัยเสียงจาก ส.ส. ทั้งสองรูปแบบ โดยน้ำหนักอาจจะแตกต่างกันไปตามสัดส่วนของ ส.ส. และวิธีการคำนวณบัญชีรายชื่อ

เป็นที่รู้กันว่าการจะจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น พรรคการเมืองจะต้องรวบรวมเสียงหลังรู้ผลการเลือกตั้งให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรหรือ 251 เสียงจากทั้งหมด 500 เสียง อย่างไรก็ดี เนื่องจากมี ส.ส. สองประเภทที่ใช้วิธีการคำนวณต่างกัน โดยเฉพาะแบบแบ่งเขตที่ไม่ได้สะท้อนคะแนนนิยมพรรค แต่มักขึ้นอยู่กับปัจจัยในพื้นที่ อาจจะทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างที่นั่งทั้งหมดที่พรรคการเมืองได้รับ กับคะแนนนิยมทั้งประเทศของพรรคที่สามารถวัดจากคะแนนบัญชีรายชื่อ

ชวนเปรียบเทียบที่นั่งของพรรครัฐบาลหลังการเลือกตั้งและคะแนนนิยมรวมของพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา

ระบบคำนวณบัญชีรายชื่อคู่ขนานไม่สะท้อนคะแนนนิยมพรรคทั้งประเทศ

ระบบเลือกตั้งแบบผสมเสียงข้างมาก (Mixed Member Majoritarian) เป็นระบบที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เลือกใช้ โดยหวังว่าจะทำให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีเสถียรภาพ ระบบนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าระบบเลือกตั้งผสมแบบคู่ขนาน (Parallel system) เนื่องจากมีการคิดที่นั่งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อแยกกันอย่างเด็ดขาด กล่าวคือ ที่นั่งรวมของพรรคการเมืองจะมาจากจำนวนเขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครของพรรคชนะรวมกับสัดส่วนคะแนนนิยมพรรคจากบัตรเลือกตั้งใบที่สอง โดยไม่นำคะแนนทั้งสองรูปแบบมาคิดรวมกัน

ตัวอย่างคือรัฐธรรมนูญ 2540 ให้มี ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน เท่ากับว่าพรรคการเมืองได้สัดส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อเท่าใด ก็จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นที่นั่งบัญชีรายชื่อก่อน จากนั้นจึงนำไปรวมกับจำนวน ส.ส. เขตที่ได้รับ เช่น หากได้คะแนนบัญชีรายชื่อร้อยละ 40 ก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 40 ที่นั่ง หากชนะ 200 เขตเลือกตั้ง ก็จะได้ที่นั่งรวมทั้งหมดเป็น 240 ที่นั่ง

ผลที่ตามมาของระบบคู่ขนานคืออาจจะทำให้สัดส่วนที่นั่งของพรรคการเมืองกับสัดส่วนคะแนนนิยมพรรคทั้งประเทศไม่เท่ากัน เนื่องจากในระบบแบ่งเขต ผู้ชนะคือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดโดยไม่พิจารณาว่าจะมากกว่าผู้สมัครคนอื่นเท่าใด หรือได้มากกว่ากึ่งหนึ่งหรือไม่ จึงเป็นระบบที่ทำให้เกิดคะแนนเสียง “ตกน้ำ” หรือคะแนนที่ไม่ถูกนำมาคิดคำนวณเพราะกระจายตัวอยู่ในผู้สมัครคนอื่นมาก และยิ่งคะแนนบัญชีรายชื่อถูกคิดแบบคู่ขนาน จึงทำให้ไม่มีการ “ชดเชย” ที่นั่งเหมือนกับระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Mixed Member Proportional) ซึ่งจะเติมที่นั่งบัญชีรายชื่อให้กับบางพรรคการเมืองที่อาจจะไม่มีฐานที่มั่นในเขต แต่มีผู้สนับสนุนกระจายตัวอยู่ทั้งประเทศให้ถึงตามสัดส่วน “ส.ส. ที่พึงมี”

อ่านเปรียบเทียบระบบเลือกตั้งได้ที่นี่

ดังนั้น ในระบบแบบคู่ขนาน พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีผู้สมัครแบบแบ่งเขตที่ได้รับความนิยมในพื้นที่ ก็อาจจะได้สัดส่วนที่นั่งมากกว่าคะแนนนิยมของพรรคในระดับประเทศได้

ปี 2544: น้องใหม่ไทยรักไทยชนะประชาธิปัตย์ ส่งทักษิณเป็นนายกสมัยแรก

แกนนำรัฐบาล พรรคไทยรักไทย รวมกับพรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรค

เสียงทั้งหมด 325 หรือ ร้อยละ 65 ของสภา

สัดส่วนคะแนนพรรครวม ร้อยละ 53

การเลือกตั้งปี 2544 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมาพร้อมกับระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ผลปรากฏว่าพรรคการเมืองหน้าใหม่ พรรคไทยรักไทย โดยมีหัวหน้าพรรคคือทักษิณ ชินวัตร สามารถกลายมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้เหนือพรรคประชาธิปัตย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย โดยไทยรักไทยได้ไป 248 ที่นั่ง และเมื่อรวมกับพรรคความหวังใหม่ (36 ที่นั่ง) และพรรคชาติไทย (41 ที่นั่ง) ก็ส่งให้ทักษิณขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ โดยพรรคร่วมรัฐบาลในแรกเริ่มมี 325 ที่นั่ง แต่ต่อมาก็มีการควบรวมกับพรรคอื่น ๆ ทำให้มีเสียงมากขึ้นอีก รัฐบาลของทักษิณชุดนี้กลายเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่อยู่ครบวาระสี่ปี และทำให้ความนิยมพุ่งขึ้นมหาศาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

หากผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้เกิดพรรคขนาดใหญ่ที่ได้ที่นั่งมากกว่าคะแนนนิยมพรรค ก็ต้องเรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ที่นั่งของพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของไทยรักไทยมี 325 ที่นั่งหรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของสภาฯ แต่เมื่อนำคะแนนนิยมของพรรคร่วมทุกพรรคมารวมกันจะพบว่าอยู่ที่ร้อยละ 53 เท่ากับว่ารัฐบาลทักษิณ 1 ได้ที่นั่งจริงมากกว่าคะแนนนิยมของพรรคร่วมทั้งหมดถึงร้อยละ 12 หรือคือที่นั่งพึงมีราว 60 ที่นั่ง

ปี 2548: ปรากฏการณ์ไทยรักไทยแลนด์สไลด์

แกนนำรัฐบาล พรรคไทยรักไทย

เสียงทั้งหมด 377 หรือ ร้อยละ 75.4 ของสภา

สัดส่วนคะแนนพรรครวม ร้อยละ 61.2

การเลือกตั้งปี 2548 สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในสังคมไทยที่พรรคการเมืองพรรคเดียวจะสามารถกวาดที่นั่งไปได้มากถึง 377 ที่นั่ง หรือมากกว่าสามในสี่ของสภา โดยพรรคไทยรักไทยที่นำโดยทักษิณ ชินวัตร สามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง และในรอบนี้ก็เป็นพรรครัฐบาลเพียงพรรคเดียวโดยไม่ต้องดึงพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลอีก ในขณะที่พรรคฝ่ายค้าน ประชาธิปัตย์ ที่ตอนนั้นอยู่ภายใต้การนำของบัญญัติ บรรทัดฐาน ได้ไปเพียง 96 ที่นั่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทักษิณ 2 นี้กลับอยู่ไม่ครบวาระสี่ปีดังเช่นในคราวก่อน หลังจากเกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เกิดการรัฐประหาร และหลังจากนั้นไม่นานศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย

พรรคไทยรักไทยมีคะแนนนิยมพรรคร้อยละ 61.2 หรือประมาณเกือบ 19 ล้านคะแนน แต่หากพิจารณาที่นั่งที่ได้จริง 377 ที่นั่งหรือร้อยละ 75.4 ของสภา หมายความว่าพรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งมากกว่าสัดส่วนคะแนนนิยมของพรรคถึงร้อยละ 14.2 หรือเท่ากับที่นั่งพึงมีประมาณ 71 ที่นั่ง การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นตัวอย่างสำคัญของความได้เปรียบของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ในระบบเลือกตั้งคู่ขนาน ซึ่งทำให้ที่นั่งรวมและคะแนนนิยมพรรคต่างกันมาก

ปี 2550: ยุบไทยรักไทย แต่พรรคใหม่ พลังประชาชน ยังชนะเลือกตั้ง

แกนนำรัฐบาล พรรคพลังประชาชน รวมกับพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค

เสียงทั้งหมด 315 หรือ ร้อยละ 65.6 ของสภา (สภามี 480 ที่นั่ง)

สัดส่วนคะแนนพรรครวม ร้อยละ 63.2

การเลือกตั้งหลังรัฐประหาร 2549 ยังให้ผลแบบเดิม โดยผู้ชนะคือพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบไป การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนระบบ ส.ส. บัญชีรายชื่อโดยแบ่งเป็นแปดกลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 10 ที่นั่ง รวม 80 ที่นั่ง ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มี ส.ส. ทั้งสภาฯ 480 คน โดยพรรคพลังประชาชนได้ไป 233 ที่นั่ง เมื่อรวมกับพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรค จึงทำให้รัฐบาลมีที่นั่งทั้งหมด 315 ทำให้สมัคร สุนทรเวช ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนจะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นจากตำแหน่งในอีกหนึ่งปีต่อมา

พรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพลังประชาชนมีที่นั่งรวม 315 หรือคิดเป็นร้อยละ 65.6 ของสภาฯ ซึ่งมีทั้งหมด 480 ที่นั่ง แต่สัดส่วนคะแนนนิยมรวมของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ที่ร้อยละ 63.2 หรือต่างกันเพียงร้อยละ 2.4 ซึ่งเท่ากับพรรคร่วมรัฐบาลมีที่นั่งมากกว่าคะแนนนิยมหรือที่นั่งพึงมี 11 ที่นั่ง

ปี 2554: เพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์เป็นนายก

แกนนำรัฐบาล พรรคเพื่อไทย รวมกับพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค

เสียงทั้งหมด 300 หรือ ร้อยละ 62.5 ของสภา

สัดส่วนคะแนนพรรครวม ร้อยละ 54.1

ระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ใช้การแบ่งกลุ่มจังหวัดได้ใช้เพียงครั้งเดียวก็ถูกแก้ไขให้กลับมาใช้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเดิมที่ใช้บัญชีรายชื่อเดียวกันทั้งประเทศ และทำให้จำนวน ส.ส. ทั้งหมดกลับมาเป็น 500 ที่นั่งอีกครั้งในการเลือกตั้ง 2554 โดยในครั้งนี้ ผู้ชนะคือพรรคเพื่อไทย อีกหนึ่งพรรคการเมืองที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน ซึ่งได้กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพร้อมกับส่งยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้ไป 265 ที่นั่ง และเมื่อรวมกับพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรคก็ทำให้รัฐบาลมี 300 เสียง

จำนวน 300 เสียงเท่ากับร้อยละ 60 ของสภาฯ แต่หากเปรียบเทียบกับคะแนนนิยมรวมของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 54.1 จะทำให้มีส่วนต่างร้อยละ 5.9 หมายความว่าพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยมีที่นั่งมากกว่าสัดส่วนคะแนนนิยมของพรรคร่วมทั้งหมดรวมกันประมาณ 30 ที่นั่งพึงมี

ปี 2562: รัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจรวม 19 พรรคตั้งรัฐบาลคาบเส้น

แกนนำรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ รวมกับพรรคร่วมรัฐบาล 18 พรรค

เสียงทั้งหมด 254 หรือ ร้อยละ 50.8 ของสภา

สัดส่วนคะแนนพรรครวม ร้อยละ 52.1

หลังจากไม่มีเลือกตั้งมากว่าห้าปี การเลือกตั้งในปี 2562 เกิดขึ้นในบริบทของระบบเลือกตั้งใหม่ที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อนในโลก ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment) โดยใช้วิธีการคำนวณ ส.ส. ที่พึงมีก่อนคล้ายกับระบบของเยอรมนี แต่ให้มีบัตรเลือกเพียงใบเดียว ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกในการเลือกพรรคการเมือง อีกทั้งยังไม่มีเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยผลปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งคณะทหารใช้ในการสืบทอดอำนาจจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกถึง 18 พรรคจัดตั้งรัฐบาลได้คาบเส้น รวม 254 ที่นั่ง แต่เมื่อรวมกับ ส.ว. 250 คนที่คณะทหารแต่งตั้งมาเองกับมือและมีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรีด้วย ก็ส่งให้ประยุทธ์กลับเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง

จำนวน 254 ที่นั่งของรัฐบาลคิดเป็นเพียงร้อยละ 50.4 ในขณะที่ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมก็ทำให้สัดส่วนที่นั่งกับสัดส่วนคะแนนนิยมรวมของพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาใกล้กันที่ร้อยละ 52.1 ต่างกันร้อยละ 1.3 หรือเท่ากับประมาณ 7 ที่นั่งพึงมีเท่านั้น

ปี 2566: อดีตพรรคฝ่ายค้านชนะพรรคทหาร คะแนนพรรครวมพุ่ง 72%

แกนนำรัฐบาล พรรคก้าวไกล รวมกับพรรคร่วมรัฐบาล 7 พรรค (นับถึงวันลงนาม MOU)

เสียงทั้งหมด 312 หรือ ร้อยละ 62.4 ของสภา

สัดส่วนคะแนนพรรครวม ร้อยละ 72.3

การเลือกตั้งปี 2566 จบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของฝ่ายทหาร เมื่ออดีตพรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดยพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย และพรรคการเมืองอื่น ๆ รวม 8 พรรค รวมเสียงกันได้ 312 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมกันได้เพียง 76 ที่นั่ง แม้จะรวมกับอดีตพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาฯ หลังการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคอันดับหนึ่งประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอดีตพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็ยังต้องเจอกับด่านของ ส.ว. ที่ยังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ทำให้ต้องหาเสียงมาเพิ่มเติมให้ถึง 376 ที่นั่ง

เสียงของพรรคที่ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน 8 พรรค จำนวน 312 ที่นั่งเท่ากับร้อยละ 62.4 ของสภาฯ แต่หากพิจารณาคะแนนนิยมของพรรครวมกันทั้งหมดจะอยู่สูงถึงร้อยละ 72.3 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่มีการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งครั้งนี้กลับไม่ได้ทำให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่แบบที่เคยมีการในช่วงสองทศวรรษแรกหลังการปฏิรูปการเมือง ในภาวะที่ไม่มีพรรคการเมืองใหญ่ ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนานก็ทำให้ส่วนต่างที่นั่งกับสัดส่วนคะแนนนิยมพรรคการเมืองรวมสูงถึงร้อยละ 9.9 หรือเท่ากับพรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกลได้เสียงน้อยกว่าคะแนนนิยมพรรคหรือที่นั่งพึงมี 49 ที่นั่ง

รัฐบาลหลังเลือกตั้ง ที่นั่งรวม สัดส่วนที่นั่งรวม สัดส่วนคะแนนพรรครวม ส่วนต่าง สัดส่วนที่นั่งรวม - สัดส่วนคะแนนพรรครวม ที่นั่งที่พึงมี
ส่วนต่าง ที่นั่ง - ที่นั่งพึงมี
2544
ไทยรักไทย +2 พรรคร่วม
325 65% 53% +12% 265 +60
2548
ไทยรักไทย
377 75.4% 61.2% +14.2% 306 +71
2550
พลังประชาชน +5 พรรคร่วม
315 65.6% 63.2% +2.4% 304 +11
2554
เพื่อไทย +5 พรรคร่วม
300 60% 54.1% +5.9% 270 +30
2562
พลังประชารัฐ +18 พรรคร่วม
254 50.8% 52.1% -1.3% 261 -7
2566
กัาวไกล +7 พรรคร่วม
312 62.4% 72.3% -9.9% 361 -49