พ.ร.ก.ถูกตีตก รัฐบาลในอดีตเคยรับผิดชอบมาแล้ว

กรณีศาลรัฐธรรมนูญลงมติให้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก.เลื่อนกฎหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย) ขัดรัฐธรรมนูญ อาจจะมีผลทางการเมืองที่ใหญ่กว่าแค่คำตัดสินของศาล เพราะธรรมเนียมในอดีตของรัฐบาลที่ใช้อำนาจฝ่ายบริหารออก พ.ร.ก.โดยไม่ผ่านสภา และเวลาต่อมาถูกคว่ำนั้น จะต้องรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการยุบสภาหรือลาออก

 

ฝ่ายบริหารรับผิดชอบการออก พ.ร.ก.

การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการออก พ.ร.ก.จะต้องกระทำโดยความระมัดระวังอย่างสูง เพราะแตกต่างจากการผ่าน พ.ร.บ. ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรที่มีการพิจารณาถึงสามวาระเสียก่อน ในทางตรงกันข้าม การออก พ.ร.ก. คือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องใช้อำนาจตราก่อน จากนั้นจึงนำไปให้สภาอนุมัติ จึงต้องมีความมั่นใจว่าการออกกฎหมายนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะที่กระบวนการปกติอาจจะช้าเกินไป และจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน

อำนาจในการตรา พ.ร.ก. อยู่ในมาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งจะต้องกระทำด้วยเหตุของ “รักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ” โดย ครม. จะต้องเห็นว่า “เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” จึงออก พ.ร.ก.เพื่อมาบรรเทาปัญหาดังกล่าวไปก่อน จากนั้นจึงต้องได้มติอนุมัติจาก ส.ส.

อย่างไรก็ตาม หาก ส.ส. เห็นว่าการออก พ.ร.ก.นั้นไม่เข้าเงื่อนไขเร่งด่วนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการข้ามอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไม่จำเป็น และเสียงส่วนใหญ่มีมติไม่เห็นชอบกับ พ.ร.ก.ที่ ครม. ตราขึ้น ก็จะเป็นการส่งสัญญาณถึงรอยร้าวระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ในเมื่อรัฐบาลคุมเสียงข้างมากในสภาไม่ได้เสียแล้ว เมื่อ พ.ร.ก.ไม่ได้รับความเห็นชอบ จึงเป็นธรรมเนียมทางการเมืองที่ให้ ครม. ต้องรับผิดชอบจากการออก พ.ร.ก.นั้น โดยที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ การคว่ำ พ.ร.ก.ก็เคยเป็นเหตุให้ต้องยุบสภาหรือนายกรัฐมนตรีลาออกมาแล้ว

 

จอมพล ป. ลาออก สภาไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.ย้ายเมืองหลวง 2 ฉบับ

ย้อนกลับไปปี 2487 ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองกำลังร้อนระอุทั้งในยุโรปและเอเชีย ประเทศไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อจอมพลแปลก พิบูลสงคราม (จอมพล ป.) ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากเหตุที่ พ.ร.ก.สองฉบับที่เสนอโดยรัฐบาลไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร โดยมีใจความหลักคือการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์

เชื้อไฟของเหตุการณ์นี้เริ่มมากจากการยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยของกองทัพญี่ปุ่นในปี 2484 ซึ่งทำให้จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีและแกนนำคณะราษฎรต้องให้ความร่วมมือให้ไทยกลายเป็นทางผ่านของญี่ปุ่น การเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในสงครามส่งผลให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเป้าหมายของการโจมตี โดยเฉพาะการทิ้งระเบิดของเครื่องบินรบฝ่ายสัมพันธมิตร สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่

เวลาล่วงเลยมาถึงปี 2486 ญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำในสมรภูมิเอเชียจากการเข้าร่วมสงครามของสหรัฐ รัฐบาลจอมพล ป. จึงพยายามหาทางหลีกเลี่ยงให้ไทยไม่กลายเป็นผู้แพ้สงครามตามไปด้วย โดยตัวต่อสำคัญในการพลิกข้างมาต่อต้านญี่ปุ่นก็คือการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ โดยเลือกภาคเหนือเพราะมีระยะทางห่างจากจีนไม่มากในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือจากกองทัพก๊กมินตั๋ง ต้องการหลีกหนีออกจากวงล้อมของค่ายทหารญี่ปุ่นที่กระจายตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเจาะจงมาที่จังหวัดเพชรบูรณ์เพราะมีชัยภูมิเป็นภูเขาล้อมรอบ ยากต่อการบุกรุก

การเตรียมการของรัฐบาลเริ่มด้วยการออกพระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ในปี 2486 โดยได้มีการออกคำสั่งให้หน่วยงานราชการเริ่มวางผังเมือง เข้าก่อสร้างสถานที่ราชการสำคัญต่าง ๆ และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง รัฐบาลอ้างกับฝ่ายญี่ปุ่นว่าเป็นการวางที่ทางไว้สำหรับอพยพประชาชนที่ประสบภัยจากสงคราม และต้องการลดความแออัดในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล โดยอ้างว่าเพื่อเหตุผลทางศาสนาแต่แท้จริงแล้วคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารที่จังหวัดสระบุรีซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ

อย่างไรก็ตาม โครงการใหญ่ของจอมพล ป. กลับไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อรัฐบาลนำ พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกรกฎาคม 2487 กลับไม่ได้รับความเห็นชอบ โดยเผชิญกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความจำเป็นและใช้งบประมาณมากในช่วงสงคราม ในวันที่ 24 กรกฎาคม จอมพล ป. จึงส่งหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะมติของ ส.ส. “เปนการแสดงความไม่ไว้วางใจคนะรัถบาล ซึ่งฉันเปนนายกรัฐมนตรีอยู่” มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่าเหตุที่สภาไม่อนุมติ พ.ร.ก.อาจจะมาจากหลายปัจจัย เช่น การข้ามอำนาจนิติบัญญัติของรัฐบาลผ่านการออก พ.ร.ก.ก่อน กระแสไม่เห็นด้วยในสภาและใน ครม. เอง รวมไปถึงการเปิดช่องในศัตรูทางการเมืองโจมตี

ผลสุดท้าย กว่าที่ จอมพล ป. จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็ต้องรอหลังการรัฐประหาร 2490 ที่มีการเทียบเชิญให้กลับมาอีกครั้งโดยทหาร

 

เปรมยุบสภา ปมออก พ.ร.ก.การขนส่งทางบก อ้างพรรคการเมืองแตกแยก

ในช่วงที่มีอำนาจ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีผู้ทรงบารมีที่สุดภายใต้สภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ก็ยังหนีไม่พ้นพิษภัยของการใช้อำนาจตรา พ.ร.ก.อย่างไม่ถูกต้อง โดยในปี 2529 รัฐบาลตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2529 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญคือเพิ่มอัตราภาษีเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเพื่อลดการนำเข้าและใช้น้ำมันที่ราคาแพงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารครั้งนี้ทำให้ ส.ส.หลายคนไม่พอใจ เพราะเห็นว่าข้ออ้างเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนในการปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศฟังไม่ขึ้น เสริมศักดิ์ การุญ ส.ส.จากจังหวัดระยอง พรรคชาติไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้าน อภิปรายว่าการออก พ.ร.ก.นี้จะทำให้ประชาชนลำบากจากราคารถยนต์ที่แพงขึ้น ทำเหมือนสภาไร้ความหมายท่วงทำนองของรัฐมนตรีหลายคนที่นั่งปฏิบัติราชการบริหารบ้านเมืองอยู่ขณะนี้หลายท่านก็ใช้ท่วงทำนองเหมือนขุนนางในสมัยโบราณ จะเป็นเพราะว่ารัฐบาลมีความมั่นคงในการปกครองบ้านเมืองมากเกินไป จึงไม่อนาทรต่อประชาชน หรือไม่เห็นความสำคัญต่อประชาชน หรือแม้แต่ไม่เห็นความสำคัญของผู้แทนราษฎรเท่าที่ควร”

กว่าที่สภาจะได้ข้อยุติเรื่องการออก พ.ร.ก.นี้ก็ต้องถึงฎีกาลงคะแนนกันสามรอบ ผลการลงมติในรอบแรกปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ 140 เสียงไม่เห็นด้วยกับการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ ในขณะที่อีก 137 เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ได้เรียกร้องให้มีการลงคะแนนใหม่ซึ่งผลลัพธ์ก็ยังออกมาเช่นเดิม แต่ในคราวนี้เสียงไม่เห็นด้วยเป็น 143 ต่อ 142 ทำให้สมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและตัวแทนของ ครม.ที่เข้าชี้แจงต่อสภาขอให้มีการลงมติอีกครั้งเป็นรอบที่สาม และขอให้เป็นการลงมติโดยการขานชื่อ ซึ่งผลออกมาว่ามีผู้ไม่เห็นด้วย 147 เสียง และเห็นด้วย 143 เสียง

การคว่ำ พ.ร.ก.เช่นนี้นำไปสู่การประกาศยุบสภาอย่างรวดเร็วในคืนวันนั้นของพลเอกเปรม ในพระราชกำหนดยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529 ให้เหตุผลว่า “สภาผู้แทนราษฎรมิได้คำนึงถึงเหตุผลในการตราพระราชกำหนด หากสืบเนื่องมาจากความ ‘แตกแยก’ ในพรรคการเมืองบางพรรค” และได้จัดเลือกตั้งใหม่ทันที โดยพลเอกเปรมก็ยังได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก่อนจะออกจากตำแหน่งอย่างถาวรในอีกสองปีต่อมา

 

ประยุทธ์เลื่อนกฎหมายซ้อมทรมานก่อนหมดวาระ โดนศาลรัฐธรรมนูญตีตก

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ก่อนที่รัฐบาลกำลังจะหมดวาระไม่ถึงหนึ่งเดือน ครม. ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 เพื่อชะลอการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกภาพและวิดีโอในระหว่างการจับกุมและควบคุมตัว ซึ่งผ่านสภาตั้งแต่ปลายปี 2565 และกำลังจะมีกำหนดบังคับใช้

ที่มาของการออก พ.ร.ก.เกิดจากความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่กล่าวว่าหน่วยงานยังขาดความพร้อมในด้านอุปกรณ์และบุคลากร ขาดความความรู้และทักษะในการปฏิบัติตาม จึงขอให้เลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อนเพราะอาจจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนโดยตรง และอาจส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม การออก พ.ร.ก.เช่นนี้ก็ทำให้มีเสียงคัดค้านว่าอาจจะไม่เข้าเงื่อนไขการตรา พ.ร.ก.ตามมาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านได้แสดงความเห็นคัดค้านการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ทันที ส่วนในฟากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะมีมติเห็นว่า พ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน แต่ก็มีความพยายามที่จะยื้อไม่ให้สภาลงมติไม่เห็นชอบเนื่องจากจะทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ในการประชุมสภานัดสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด 114 คนจึงเข้าชื่อร่วมกันจากพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย เสนอประธานสภาให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแทนว่าเข้าเงื่อนไขการออก พ.ร.ก.ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้สภาไม่มีโอกาสได้ลงมติ

ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 หลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติแปดต่อหนึ่งให้ พ.ร.ก.ขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงมีคำถามต่อมาว่าประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในสถานะรักษาการจะรับผิดชอบทางการเมืองอย่างไรตามธรรมเนียมที่ผ่านมา

รัฐธรรมนูญ 2560 มีการกำหนดเพิ่มขึ้นมาจากที่ไม่เคยมีในฉบับก่อนหน้าให้คณะรัฐมนตรีรักษาการสามารถลาออกได้ โดยในมาตรา 168 วรรคสอง วางกลไกให้หากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน โดยให้เลือกหนึ่งคนปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี กลไกดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันสภาวะในช่วงหลังการยุบสภาของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 และมีการกดดันให้คณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกแต่ไม่สามารถทำได้เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post