#กกตต้องติดคุก ไม่ง่าย! มีกฎหมายคุ้มครองอยู่อีก

ในการจัดการ #เลือกตั้ง66 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 หรือ #กฎหมายเลือกตั้ง ได้กำหนดหน้าที่ให้ กกต. ต้องทำไว้มากมาย พร้อมมีมาตราสำคัญที่กำหนดความรับผิดไว้หาก กกต. หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ทำหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ คือ มาตรา 23 ที่กำหนดว่า

มาตรา 23 ห้ามมิให้กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัด หรือเจ้าพนักงานผู้ดําเนินการเลือกตั้ง หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคําสั่ง ของคณะกรรมการ หรือคําสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัด หรือเจ้าพนักงานผู้ดําเนินการเลือกตั้ง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคําสั่งของคณะกรรมการ หรือปฏิบัติตามคําสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากได้กระทําโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง

มาตรา 23 นี้มีขอบเขตครอบคลุมผู้จัดการเลือกตั้ง “ทุกระดับ” ตั้งแต่กรรมการ กกต. ที่มาจากการคัดเลือกตามระบบของ คสช. ระดับบริหารสำนักงานอย่างแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงาน กกต. ผู้รับผิดชอบระดับจังหวัด ระดับเขต รวมถึงกรรมการประจำหน่วย (กปน.) และผู้มีมาช่วยทำงานทั้งหมด ซึ่งกำหนดโทษไว้ในมาตรา 149 สำหรับคนที่ฝ่าฝืนมาตรา 23 ว่า ต้องระวางโทษ จําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี

ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับมาตรา 23 คือ ในวรรคสองได้กำหนดข้อ “ยกเว้นความผิด” เอาไว้ด้วยว่า “หากได้กระทําโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง” เท่ากับว่า กกต. หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น หากทำหน้าที่ไปตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด หรืออาจจะมีความบกพร่องบ้าง ผิดพลาดบ้าง ก็ไม่ต้องกังวลเพราะถ้าทำไปโดยสุจริตแล้วจะไม่ถูกดำเนินคดี ข้อยกเว้นความผิดลักษณะนี้มีประโยชน์เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติให้สามารถทำงานไปได้โดยไม่ต้องกังวลใจหากมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยที่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจทุจริต แต่มาตรา 23 ก็กลับเขียนคุ้มครองครอบคลุมไปถึงระดับบริหารสูงสุดของกกต. ด้วย

หากมีการดำเนินคดีต่อ กกต. ทั้งระดับบริหารและระดับเจ้าหน้าที่ จากการไม่ทำหน้าที่ให้ถูกต้องครบถ้วน หรือทำหน้าที่ไม่สุจริต ฝ่ายที่ยื่นฟ้องก็มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ากรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งนั้นมาจากเจตนาไม่สุจริตด้วย การพิสูจน์ว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นหรือพิสูจน์ให้เห็นว่า กกต. ไม่ตั้งใจทำงานยังไม่เพียงพอ เพราะ กกต. ได้รับความคุ้มครองไว้แล้วตามมาตรา 23 วรรคสอง

กฎหมายเลือกตั้ง หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนขึ้นในยุคสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ภายในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ “ตีเช็คเปล่า” ให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยมีชัย ฤชุพันธ์ุ เป็นคนยกร่างกฎหมายสำคัญๆ ทั้ง 10 ฉบับ และพิจารณาผ่านออกมาใช้โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แต่งตั้งมาโดย คสช. ทั้งหมดเช่นกัน กฎหมายเลือกตั้งจึงเป็นอีกหนึ่งในมรดกที่เกิดขึ้นและตกทอดมาจากยุคของ คสช.

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย