เลือกตั้ง66: เสวนาโหวตเพื่อเปลี่ยน ยันต้องแก้ที่โครงสร้าง คะแนนเสียงเราเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้

30 เมษายน 2566 เวลา 18.00 – 19.30 น. ที่ Kinjai Contemporary ในงาน Bangkok Through Poster ร่วมกับ iLaw จัดวงเสวนา “ทราบแล้วโหวต โหวตเพื่อเปลี่ยน: ยุทธศาสตร์และความหวังสำหรับประชาชนหลังการเลือกตั้ง” โดยตัวแทนจากภาคประชาชนพูดคุยถึงความเปลี่ยนแปลงและความคาดหวังหลังการเลือกตั้ง 2566 ร่วมแลกเปลี่ยนโดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) และรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ดำเนินรายการโดย ชยพล มาลานิยม สื่อมวลชนจาก Voice TV

วงเสวนาครั้งนี้มุ่งอธิบายความเปลี่ยนแปลงของสภาพปัญหาการเลือกตั้งจากปี 2562 สู่ปี 2566 ผ่านข้อถกเถียงเรื่องขั้วทางการเมืองที่หลากหลายยิ่งขึ้น ปรากฏการณ์ “แพ็กเกจ” นโยบายปากท้องปะทะกับนโยบายรื้อถอนโครงสร้าง ทำความเข้าใจปัญหาระหว่างแนวคิดการโหวตแบบมียุทธศาสตร์ (Strategic Voting) และการเมืองตัวเลข (The Politics of Numbers) ไปจนถึงตอบคำถามว่า ทำไมยิ่งคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมาก จะยิ่งทำให้ปีกฝ่ายค้านในปัจจุบันมีโอกาสรื้อถอนมรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มากขึ้น

การเลือกตั้ง 2566 จึงอาจเป็นโดมิโนตัวแรกที่สามารถยุติปัญหาของสังคม ปัญหาปากท้อง ไปจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและความเป็นธรรมทางการเมืองได้มากกว่าที่คิด จนยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกำหนดอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้าของประเทศไทยมากขึ้นอีกด้วย

 

ขั้วการเมืองใหม่คือขั้วของประชาชนที่มองเห็นปัญหาโครงสร้าง

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความแตกต่างของภาพรวมบรรยากาศการเลือกตั้งระหว่างปี 2562 และปี 2566 คือ การเลือกตั้งครั้งนี้เกิด “ขั้ว”บางอย่างขึ้นมา แต่การเลือกตั้งทุกครั้งจุดร่วมกันคือการเสนอนโยบายที่มุ่งจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เราจึงเห็นนโยบายที่เป็นแพ็คเกจด้านเศรษฐกิจออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งการแข่งขันเชิงนโยบายลักษณะนี้กลับไม่มีการแตะปัญหาทางโครงสร้างทางการเมือง อันหมายถึงประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย สถาบัน ศาล และองค์กรอิสระ ที่บิดเบือนกติกาให้คุณหรือโทษแก่พรรคใดพรรคหนึ่ง และย้ำว่าการแก้ไขปัญหาอำนาจนิยมที่แทรกซึมอยู่ในระบบต่างๆ เช่น อำนาจนิยมภายในโรงเรียน การแก้ปัญหาอย่างการยกเลิกการตัดผมหรือเครื่องแบบเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะไม่ใช่เรื่องของโรงเรียนไม่กี่โรงเรียนหรือเรื่องของครูไม่กี่คน แต่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องของการรื้อถอนระบบอำนาจนิยม อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์นี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่มองเห็นปัญหาโครงสร้างมากขึ้น ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของขั้วทางการเมืองแบบใหม่

“สมัยก่อนเราพูดแต่ว่า มีเพียงขั้วสนับสนุนอำนาจนิยมกับสนับสนุนประชาธิปไตย แต่ตอนนี้มันมีหลายขั้วมาก ทะเลาะกันจนน่ารำคาญ ซึ่งตอนนี้เราเห็นขั้วของการรื้อถอนและขั้วของปากท้อง”

ทั้งนี้ ร.ศ.พวงทอง มองว่า หลังการเลือกตั้งหากพรรคที่มีโอกาสมากสุดอย่างพรรคเพื่อไทยที่จะได้เป็นรัฐบาล ก็ต้องไม่พลาดแบบปี 2556 อีก เพราะหากพลาดเมื่อใดก็มีโอกาสที่จะล้มเช่นเดิม ถ้าอยากมั่นคงก็ต้องท้าทายอำนาจทางการเมือง และต้องทำหลังพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลใหม่ๆ เพราะความเข้มแข็งของรัฐบาลกับประชาชนยังสดใหม่อยู่

“หากไม่พูดถึงการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปอำนาจศาล ทลายการผูกขาด ก็จะมี scandal อื่นๆ ที่เกี่ยวกับผู้มีอำนาจทางการเมืองมาเรื่อยๆ นี่ไงคุณไม่แตะอำนาจทางการเมืองแล้วคุณจะแก้ปัญหาได้อย่างไร”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 2566 คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีความไม่ชัดเจนจนเปิดช่องให้เกิดการตีความได้เป็นจำนวนมาก สิ่งนี้พวงทองระบุว่าจะกลายเป็นอาวุธอันตรายที่ย้อนกลับมาทำร้ายรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย ตัวอย่างสำคัญ คือ การมีข้อกำหนดว่านโยบายของรัฐบาลต้องไม่สร้างภาระทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ และดำเนินไปในทิศทางของเศรษฐกิจพอเพียง จุดนี้พวงทองคิดว่าทุกนโยบายของแต่ละพรรคต่างสร้าง “ภาระทางเศรษฐกิจ” ให้กับงบประมาณประเทศอยู่แล้ว แต่หากพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล นโยบายเศรษฐกิจของทั้งสองทั้งคาดว่าจะถูกตีความว่าเป็นการฝ่าฝืนยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้

ปัญหาต่อมาที่พวงทองระบุ คือ ผู้ที่ตัดสินว่ารัฐบาลใหม่จะกระทำผิดยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ คาดเดาว่าคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากจะเป็นกระบวนการที่ทำให้ดูเหมือนมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น การเลือกตั้งที่มีพรรคที่ได้เสียงชนะขาดลอยอาจจะทำให้พวกเขาไม่กล้าตัดสินในเรื่องนี้ทันที แต่อีกไม่นานพวงทองเชื่อว่าองค์กรอิสระเหล่านี้จะหันกลับมาเป็นดาบที่ทิ่มแทงรัฐบาลใหม่

ดังนั้นพวงทองจึงอยากเสนอว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองใดได้ขึ้นเป็นรัฐบาล จะต้องท้าทายต่อโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม โดยเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ รวมไปถึงการตัดยุทธศาสตร์ชาติที่พัวพันอยู่ในรัฐธรรมนูญให้ออกไปจากการผูกมัดการตัดสินใจของรัฐบาล จากนั้นจึงเริ่มจัดการกับบรรดา “ศาลการเมือง” ทั้งหลาย พร้อมๆ กับการทำลายทุนผูกขาดด้วยกลไกอำนาจรัฐทันที

 

นโยบายแก้ปัญหาปากท้องแก้เหมือนไม่แก้ หรือแก้แล้วนำไปสู่การปรับโครงสร้างรัฐ

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank สะท้อนการจำแนกนโยบายพรรคการเมืองที่มุ่งแก้ไขปัญหาปากท้องว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 3 รูปแบบ คือ 1) แก้ไขปัญหาปากท้อง แต่ทำให้เกิดปัญหาเพิ่ม 2) แก้ไขปัญหาปากท้อง แต่ไม่เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐ และ 3) แก้ไขปัญหาปากท้อง แล้วเกิดการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐ

สำหรับในกรณีแรก ฉัตรยกตัวอย่าง เช่น นโยบายการพักหนี้ เพราะรัฐบาลกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาลเพื่อจ่ายดอกเบี้ยหนี้แทนประชาชน แต่จำนวนหนี้ของประชาชนยังเท่าเดิม จึงทำให้รัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้นจากการนำเงินมาดำเนินนโยบายนี้อย่างมาก 

“การพักหนี้ พักต้นพักดอกทั้งหลาย สุดท้ายผ่านไปสามปีจำนวนหนี้ที่ประชาชนต้องจ่ายเท่าเดิม แต่วิธีการคือรัฐบาลต้องไปกู้เงินมาจ่ายให้สถาบันการเงินแทนผู้กู้ ปี ๆ หนึ่งใช้ไปหลายร้อยล้านบาท ก้อนใหญ่มาก พอกลับมาดอกเบี้ยเดินต่อ ประชาชนมีหนี้เหมือนเดิมแต่ภาครัฐมีหนี้เพิ่มขึ้น”

กรณีที่สอง เช่น นโยบายอุดหนุนภาคการเกษตร ฉัตรมองว่านโยบายนี้พยายามจะช่วยเหลือเกษตรกรเพราะตั้งสมมติฐานไว้ล่วงหน้าว่าพวกเขาทั้งหมดยากจน ทั้งที่ความจริงแล้วเกษตรกรถูกแบ่งเป็นกลุ่มที่ยากจนอย่างมากกับกลุ่มที่ร่ำรวย ซึ่งการจัดเกณฑ์ว่า “ยิ่งผลิตมาก ยิ่งได้รับความช่วยเหลือมาก” จึงยิ่งทำให้เม็ดเงินไม่ตกไปถึงผู้ที่ยากจนจริงๆ และยิ่งเป็นการบีบบังคับให้เกษตรต้องเป็นเกษตรไปตลอดชีวิต เนื่องจากหากเมื่อไหร่ที่เลิกเป็นเกษตรก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเช่นที่เคยได้รับ

“ยิ่งฐานคิดอยู่บนเรื่องผลผลิตเยอะจะยิ่งได้ความช่วยเหลือเยอะ ก็กลายเป็นว่าเกษตรกรรายใหญ่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ด้านบนที่ได้ความช่วยเหลือเท่านั้น สภาวะจำยอมแบบนี้ทำให้โครงสร้างไม่ได้เปลี่ยนไปไหนมากนัก”

สำหรับกรณีสุดท้าย ฉัตรยกตัวอย่าง นโยบายแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง เนื่องจากการจัดการค่าไฟที่ล้นเกินความต้องการของประเทศ การจัดการค่าความพร้อมที่รัฐบาลไทยต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้า คือการแก้ไขสัญญาและเริ่มเจรจากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำมาสู่การแก้ไขโครงสร้างและปัญหาปากท้องได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตามฉัตรเตือนว่า การแก้ไขปัญหานี้ด้วยวิธีคิดแบบ “แยกการเมืองออกจากเศรษฐกิจ” ก็อาจจะทำให้รัฐบาลใหม่ใช้วิธีกู้เงินเพิ่มเพื่อมาอุ้มหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เพียงอย่างเดียว จนทำให้เกิดเพียงหนี้แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาเรื่องของสัญญาการผลิตก็เป็นได้

นอกจากนี้ฉัตรกล่าวถึงความคาดหวัง 100 วันแรกของรัฐบาลใหม่นั้น สิ่งแรกที่ควรทำคือ เริ่มทำสิ่งที่ทำได้เลย เช่น จัดสรรงบประมาณใหม่หรือเปิดเผยข้อมูลสาธารณะที่อาจจะนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ภาคธุรกิจไทยได้ ส่วนที่สอง คือ การเร่งเจรจารื้อถอนในเรื่องของทุนผูกขาด และส่วนที่สาม คือ รีบหยิบร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอในอดีตกลับมาพิจารณาใหม่ให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด

 

การออกไปเลือกตั้งครั้งนี้คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าพอแล้วกับรัฐบาลทหาร

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล จาก โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวถึงประเด็นการโหวตยุทธศาสตร์ว่า เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ซึ่งตนเห็นว่าโหวตยุทธศาสตร์เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ประชาชนจะรู้ว่าการโหวตครั้งนี้ควรโหวตอย่างไรให้ตรงตามยุทธศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ จึงแนะนำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนออกมาใช้สิทธิเลือกตามที่ตนต้องการ

ถึงแม้ว่าภูมิทัศน์การเมืองตลอดสี่ปีที่ผ่านมาจะเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากจนอาจเดายากขึ้น แต่รัชพงษ์ระบุว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องยากขนาดนั้น เนื่องจากฝ่ายอนุรักษนิยมหวาดกลัวสภาพสังคมการเมืองแบบเดียวกับในยุคสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ช่วงปี 2548 ที่ได้รับ Popular Vote มากถึง 61 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน (หรือ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ในบางนิยาม) ปัจจุบันหากรวมกันแล้วจะมี Popular Vote มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แม้พรรคการเมืองเหล่านี้อาจจะตัดคะแนนกันเองบ้างในบางเขต เช่น พรรคเพื่อไทยได้ไปทั้งหมด 34 เปอร์เซ็นต์ พรรคก้าวไกลได้ไปทั้งหมด 34 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะเกิดปรากฏการณ์ “แลนด์สไลด์” ก็ไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมได้ไปมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน ดังนั้นการออกไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง 2566 นี้จึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากกลัวว่าจะมีปรากฏการณ์ “ตาอยู่ขโมยปลา” หรือการที่มีผู้ชนะจากการแข่งขันกันเองของสองพรรคขั้วเดียวกัน รัชพงษ์ก็เสนอว่าสามารถแก้ไขผ่านการปรับโครงสร้างของระบบการเมืองเช่นเดียวกับในต่างประเทศได้เช่นเดียวกัน เช่น หากมีกรณีผู้ชนะได้รับคะแนนมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่กลับชนะเสียงในพื้นที่ได้ไม่ถึงครึ่ง ประเทศฝรั่งเศสจะจัดให้เกิดการเลือกตั้งใหม่เฉพาะผู้ที่ได้อันดับหนึ่งและอันดับสองเท่านั้น โดยแบ่งเวลาหาเสียงเอาไว้ให้ 2 สัปดาห์ ขณะที่ในประเทศออสเตรเลียใช้วิธีให้บัตรเลือกตั้งสามารถกาเลือกพรรคในลักษณะลำดับที่ได้ เช่น เลือกพรรค A มากเป็นอันดับหนึ่ง พรรค B เป็นอันดับสอง พรรค C เป็นอันดับสาม และพรรค D เป็นอันดับสี่ เป็นต้น ซึ่งหากเกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ชุดใหม่ในอนาคต ตนก็อยากที่จะได้เห็นข้อเสนอที่มีลักษณะนี้ถูกบรรจุเข้าไปร่วมถกเถียงด้วยเช่นเดียวกัน

รัชพงษ์ยังกล่าวถึงสถานการณ์เขตวิกฤติในการเลือกตั้งปี 2562 คือ เขตที่มีการชนะกันด้วยจำนวนเสียงไม่ห่างกันมากนัก ในครั้งนั้นมีทั้งสิ้น 350 เขต พบว่ามีถึง 104 เขตที่มีลักษณะดังกล่าว โดยมีถึง 37 เขตมีพรรคฝ่ายรัฐบาลในปัจจุบันเฉือนชนะพรรคฝ่ายค้านไปด้วยคะแนนที่ไม่มากนัก เขายกตัวอย่างจังหวัดนครปฐม เขต 1 ที่ผู้สมัครฯ พรรคประชาธิปัตย์ชนะผู้สมัครฯ พรรคอนาคตใหม่ไปเพียง 4 คะแนนเท่านั้น ดังนั้นการเปลี่ยนใจผู้ลงคะแนนเสียงให้ได้เพียง 3-4 คน ก็อาจจะส่งผลในระดับชาติได้เช่นกัน

จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น รัชพงษ์พบว่าทั้ง 37 เขตที่ฝ่ายรัฐบาลเฉือนชนะฝ่ายค้านไปนั้น มีส่วนต่างคะแนนอยู่ที่เพียงประมาณ 90,000 คะแนนเท่านั้น ซึ่งหากผลออกมาเป็นอีกรูปแบบหนึ่งก็จะทำให้ ส.ส. ฝั่งพรรคที่เคยแพ้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่า 30 คนได้ในทันที

สภาวะเช่นนี้ทำให้รัชพงษ์คิดว่า หากภาคใต้ของประเทศไทยที่กำลังระส่ำระสายระหว่างการแย่งคะแนนเสียงกันเองของพรรคร่วมรัฐบาลมีการเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลมากขึ้น โอกาสในการลงหลักปักฐานในภูมิภาคอันเป็นที่รู้กันว่า “เลือกขั้วเหนียวแน่น” นี้ก็จะมีเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน

นอกจากนี้ รัชพงษ์ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาจากการเลือกตั้งของปี 2562 ที่พบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นอกจากจะมีที่มาที่ไม่น่าเชื่อถือแล้ว ยังมีการทำงานที่ทำให้เกิดข้อครหาเป็นจำนวนมาก เช่น ปรากฏการณ์ปรับลดคะแนน การลืมนำคะแนนของบางพรรคมารวม ไปจนถึงการประกาศผลผู้ชนะที่มีปัญหาด้านความชอบธรรม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ไม่ออกมาอธิบายให้ชัดเจน ด้วยเหตุนี้จึงเน้นย้ำให้ปีนี้ประชาชนต้องได้รู้คะแนนตั้งแต่ต้นทาง คือ คะแนนในแต่ละคูหา แต่ละเขต เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าคะแนนที่ออกมา ณ ปลายทางโดย กกต. มีความถูกต้อง

สิ่งสุดท้ายที่รัชพงษ์อยากฝากไว้ คือ แม้ว่าฝ่ายผู้สนับสนุนการทำรัฐประหารจะเกรงกลัวการเลือกตั้ง จนทำให้เกิดการรัฐประหารมาแล้วถึง 2 ครั้งตั้งแต่ปี 2549 ทว่ากลับไม่ได้ทำให้จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิลดลงเลย กลับยิ่งเป็นการกระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ โดยในปี 2550 มีผู้ออกมาใช้สิทธิประมาณ 32 ล้านคน ปี 2554 มีผู้ออกมาใช้สิทธิประมาณ 35 ล้านคน และปี 2562 มีผู้ออกมาใช้สิทธิประมาณ 38 ล้านคน 

เป้าหมายสำคัญคือการผลักจากการมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 74.69 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีสิทธิทั้งหมดในปี 2562 สู่การมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิทั้งหมดในปี 2566 ซึ่งต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเพิ่มถึง 4 ล้านคน ตัวเลขดังกล่าวตรงกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกของปี 2566 จำนวน 4 ล้านคนพอดี ทำให้พวกเขาอาจจะเป็นความหวังใหม่ในการแสดงพลังบนสนามเลือกตั้งครั้งนี้  

“การออกมาใช้สิทธิของประชาชนไม่ได้ถูกหยุดโดยการรัฐประหารทั้งสองครั้ง แต่มันยิ่งทำให้คนออกมาเลือกตั้งมากขึ้น เราจึงอยากให้ตั้งเป้าหมายให้ออกมาเลือกตั้งถึง 80% หรือออกมาเพิ่มอีกประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งเหล่า First Voters ก็คือ 4 ล้านคนนั้นนั่นแหละ อยากชวนกันให้ออกไปเลือกตั้งมากขึ้น”

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป