เลือกตั้ง66: อุปสรรคหาเสียงยกเลิกเกณฑ์ทหารของพรรคก้าวไกล

เดือนเมษายน 2566 เป็นช่วงเวลาของการบังคับเกณฑ์ทหาร และเป็นช่วงเวลาเดียวกับการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป 2566 พอดี โดยมีพรรคการเมืองหลายพรรคประกาศนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย และพรรคไทยสร้างไทย ในการหาเสียงประเด็นยกเลิกเกณฑ์ทหารพรรคที่ดูจะสร้างสีสันมากกว่าพรรคอื่นๆ คงไม่พ้นพรรคก้าวไกลที่หาเสียงโดยวิธีรุกเข้าไปถึงหน่วยคัดเลือกทหารเกณฑ์ ซึ่งส่งผลให้พบกับอุปสรรคในการหาเสียงในช่วงที่ผ่านมา

ก้าวไกลรุกหาเสียงพื้นที่ทหาร ขาดเส้นมาตรฐานการอนุญาต

วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นวันแรกที่มีการเกณฑ์ทหาร พริษฐ์ วัชรสินธุ, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์และ ปิยรัฐ จงเทพเข้าสังเกตการณ์ ชวนพูดคุย และทำโพลสำรวจความเห็นต่อข้อเสนอยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารที่หน่วยคัดเลือกเขตพระโขนง ปิยรัฐระบุว่า พวกเขาก็ทำกิจกรรมอยู่บริเวณรอบนอกพื้นที่หวงห้าม คือ จุดลงทะเบียนและพื้นที่ที่ผู้ปกครองรอ การดำเนินกิจกรรมเป็นไปด้วยดี เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการสั่งห้าม

วันถัดมาเชตวัน เตือประโคน ผู้สมัครปทุมธานีไปทำกิจกรรมที่สำนักงานเทศบาลตำบลลำลูกกา ซึ่งเป็นหน่วยคัดเลือกทหาร โดยเชตวันขออนุญาตสารวัตรทหาร (สห.) เพื่อเข้าไปแจกแผ่นผับแนะนำตัวกับประชาชนที่เต้นท์โดยรอบ แต่ไม่ได้รับการอนุญาต จึงได้ออกมาจัดกิจกรรมบริเวณด้านนอกพื้นที่ของสำนักงานบริเวณประตูทางเข้า-ออก

ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2566 มีการเผยแพร่ภาพข้อความจากไลน์  สรุปว่า กองทัพภาพที่ 4 (มทภ.4) จังหวัดนครศรีธรรมราชสั่งการกรณีที่พรรคก้าวไกลรณรงค์ไม่ให้มีการเกณฑ์ทหารว่า ให้ขอความร่วมมือ ไม่ให้ถ่ายภาพและชูป้ายรณรงค์ อย่าให้เข้ามาในหน่วยตรวจเลือกเพราะเป็นพื้นที่ราชการ เจ้าหน้าที่ต้องบันทึกภาพและรายงานให้ มทภ.4 ทราบ ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของ มทภ.4 ชี้แจงว่า ไม่ได้ห้ามให้รณรงค์ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ต้องดำเนินการนอกเขตการคัดเลือกทหารที่เป็นพื้นที่หวงห้าม

อย่างไรก็ตามพื้นที่ของทหารหรือแม้แต่พื้นที่ใกล้ค่ายทหารยังเป็นพื้นที่ที่มีอุปสรรคต่อการหาเสียงของพรรคก้าวไกลอยู่เรื่อยๆ อย่างกรณีวันที่ 7 เมษายน 2566 ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือทนายแจม ผู้สมัครพรรคก้าวไกลกรุงเทพมหานคร เขต 11 ทวีตภาพการยืนหาเสียงบนฟุตบาทพร้อมข้อความประกอบว่า พี่ตำรวจที่อยู่ในป้อม บอกน้องในทีมว่า “ขอความร่วมมือผู้สมัคร ไม่ให้ชูสามนิ้ว เพราะเป็นเขตทหารและเขตพระราชฐาน” ก็ขออภัยจริงๆ พอดีจับได้เบอร์สามค่ะ ต่อมามีการชี้แจงเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างที่เธอปราศรัยหาเสียงพร้อมชูสามนิ้วเพื่อสื่อถึงเบอร์สาม มีตำรวจนายหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่ภายในป้อมตำรวจแยก คปอ. ได้ขอความร่วมมือผ่านทีมงานของตนว่าไม่อยากให้ชูสามนิ้ว เพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นเขตพระราชฐาน อาจถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับการชุมนุม อีกทั้งอ้างว่า ไม่ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ อย่างไรก็ตามเธอยืนยันว่าสี่แยก คปอ. เป็นพื้นที่สาธารณะ การใช้พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้รบกวนเบียดบังสิทธิใคร เป็นการใช้สิทธิทางการเมืองในการรณรงค์หาเสียง

และอีกครั้งในวันที่ 12 เมษายน 2566 มีรายงานว่า ระหว่างที่ฉัตร สุภัทรวณิชย์ ผู้สมัครพรรคก้าวไกล นครราชสีมา เขต 1 กำลังเดินหาเสียงในตลาดถูก สห.สั่งห้าม เขาระบุว่า เจ้าของตลาดประกาศให้พูดได้และไม่ได้มาเดินหาเสียงที่นี่ครั้งแรก  ต่อมาพล.ต.วรเชษฐ์ ชวนะนรเศรษฐ์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 ชี้แจงว่า ตลาดดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยทหาร ไม่ได้ห้ามการหาเสียงแต่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า พร้อมย้ำว่า ยินดีให้ทุกพรรคการเมืองมาชี้แจงนโยบายได้แต่ต้องประสานงานแจ้งให้เจ้าของพื้นที่ทราบก่อน

ด้านชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า ก่อนหน้านี้คณะก้าวหน้าเคยไปหาเสียงที่ตลาดดังกล่าวก็ไม่ได้มีปัญหา โดยเสนอว่า กองทัพควรประกาศพื้นที่อนุโลมให้หาเสียงในพื้นที่ของกองทัพ เช่น ตลาดหรือสวนสาธารณะได้เลย ส่วนในค่ายทหารหากพรรคไหนขอก็ควรอนุญาตเลย ไม่ใช่รอให้มาขอครบทุกพรรค ทั้งนี้เคยขออนุญาตไปแล้วแต่ไม่ง่าย ถูกปฏิเสธหรือขอให้รอบ้าง แต่ก็มีบางกรณีที่เคยได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้เช่นกัน

ย้อนอุปสรรคหาเสียง การเปลี่ยนผ่านจากเลือกตั้ง 2562

อุปสรรคที่เกิดขึ้นกับการรณรงค์หาเสียงเรื่องการยกเลิกบังคับการเกณฑ์ทหารในการเลือกตั้ง 2566 พอจะเห็นรูปแบบการสร้างอุปสรรคที่จำกัดเป็นประเด็นเฉพาะในพื้นที่ทหารหรือพื้นที่ใกล้เคียง แต่หากในภาพรวมแล้วมีความต่างจากปี 2562 อยู่มาก ครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งที่คสช.ยังมีอำนาจเต็มและประกาศ คำสั่งที่ปิดกั้นเสรีภาพในด้านต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากยุคคสช.ยังไม่ถูกยกเลิก นำมาซึ่งการคุกคาม สร้างอุปสรรคต่อนักการเมืองของพรรคอนาคตใหม่และพรรคอื่นในรูปแบบต่างๆ อย่างการที่ทหารตำรวจตามประกบระหว่างการหาเสียง สร้างความรำคาญให้แก่นักการเมืองและบรรยากาศความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน หรือการข่มขู่ไม่รับรองความปลอดภัยในชีวิต กรณีของพรรคอนาคตใหม่ดังนี้

  • เดือนสิงหาคม 2561 ธนาธรลงพื้นที่เพชรบูรณ์ ทีมงานจังหวัดมีหน้าที่ออกแบบกิจกรรม ระหว่างนี้นั้นทีมงานต้องเผชิญกับการกดดันจากภาครัฐ “เขาเล่นแรง แรงมากนะ ผมเคยโดนทหารโทรมาขอร้องให้ยกเลิกกิจกรรมธนาธรรับฟังปัญหา ตอนแรกมันมีสามกิจกรรมในวันเดียวกัน มีวิ่งนิด ๆ สร้างกระแส เดินตลาดและรับฟังปัญหาในโรงแรม มีทหารคนหนึ่งโทรมาขอร้องให้ยกเลิกกิจกรรมอ้างว่า มีขบวนเสด็จในเพชรบูรณ์ ผมเลยยกเลิกกิจกรรมที่หนึ่งและสองให้เพราะเป็นกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ แต่เวทีเสวนาในห้องประชุม ผมยืนยันจะจัด เขาก็พูดในเชิงข่มขู่และลงท้ายด้วยว่า ถ้างั้นเขาไม่รับรองความปลอดภัยในชีวิตของผม ท้ายสุดผมก็จัด ธนาธรก็มา และมีกอ.รมน.มา”
  • เดือนตุลาคม 2561 รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เดินทางไปเป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานชั่วคราวพรรคอนาคตใหม่ อุบลราชธานี ปรากฏว่า ทหารติดตามโดยตลอดตั้งแต่ออกเดินทางมาจากกรุงเทพฯ  มีการส่งต่อกันตามพื้นที่ และเมื่อไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีไม่ได้พูดเรื่องการเมือง ก็ยังคงมีทหารก็ยังคงตามไปด้วย
  • เดือนมีนาคม 2562 นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัครกรุงเทพมหานคร พรรคอนาคตใหม่ เขต 11  กล่าวว่า ระหว่างเตรียมเข้าไปแจกเอกสารแนะนำพรรค แนะนำนโยบายพรรค เอกสารแนะนำตัวเอง พร้อมทั้งพูดคุยปราศรัยหาเสียงกับครู ผู้ปกครองและบุคลากรในโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย ซึ่งอยู่ในเขตเลือกตั้งที่ตนเองเป็นผู้สมัคร ส.ส. โดยได้ทำหนังสือขออนุญาตอย่างถูกต้อง แต่ปรากฏว่าเมื่อไปถึงได้มีกลุ่มสารวัตรทหารอากาศ เข้ามาขัดขวาง ไม่ให้เข้าไปหาเสียงในโรงเรียนและกล่าวในทำนองว่า บริเวณนี้เป็นเขตทหาร ทำไมไม่ขออนุญาตก่อน และเมื่อตนแจ้งว่า ได้ทำหนังสือขออนุญาตถูกต้อง พร้อมนำเอกสารดังกล่าวให้ดูก็ยังไม่อนุญาต และได้มีการอ้างถึงชื่อ นายทหารยศนาวาอากาศเอกท่านหนึ่ง และบอกด้วยว่า ถ้ามีข้อสงสัยให้เข้าไปคุยได้ในค่าย

นอกจากนี้ในการเลือกตั้งครั้งนั้นมีผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ ที่ถูกคุกคามเช่นเดียวกันกับพรรคอนาคตใหม่ เช่น พรรคเพื่อไทยและพรรคเสรีรวมไทย (อ่านเพิ่มเติม)

You May Also Like
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน