เลือกตั้ง 66: ประชาชนทำได้มากกว่าเข้าคูหา เพื่อเดินหน้ากลับสู่ประชาธิปไตย

การเลือกตั้ง’66 ถูกกำหนดแล้วว่า เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ภายใต้โครงสร้างอำนาจเดิมของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มุ่งสืบทอดอำนาจให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และตามมาด้วยระบบเลือกตั้งใหม่ กติกาใหม่มากมาย

บรรยากาศจากฝั่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทั้งสอง ‘บิ๊ก’ ไม่มีท่าทีของการเตรียมคืนอำนาจหลังอยู่ในตำแหน่งมานานเกือบเก้าปี มีแต่ความพยายามที่จะอยู่ในอำนาจต่อ โดยการดันพรรคของตัวเองเข้าแข่งขันและหวังจัดตั้งรัฐบาลต่อ แต่ในทางตรงกันข้ามผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน อย่าง นิด้าโพล แสดงให้เห็นว่าความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ ลดลงมาก แม้กระทั่งซุปเปอร์โพลยังพบว่าพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากที่สุด

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ที่เขียนขึ้นในยุคสมัยของคสช.  คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีอำนาจกำกับดูแลการเลือกตั้ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจตัดสิทธิผู้สมัครหรือยุบพรรคการเมืองก็มาจากการเลือกสรรตามระบบของ คสช. พร้อมกับอำนาจของส.ว. ชุดพิเศษ 250 คนที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

จึงยังมีความน่ากังวลว่า กลไกการสืบทอดอำนาจที่มีอยู่ยังอาจเคลื่อนไหวเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งให้เกิดความ “ไม่ปกติ” ขึ้นได้หลายช่องทาง ดังนั้นหากประชาชนหวังให้การเลือกตั้งในปี 2566 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่หยุดการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร จึงอาจต้องช่วยกันทำมากกว่าแค่การไปออกเสียงหนึ่งเสียงของตัวเอง และมีช่องทางที่ลงมือทำได้หลากหลาย ดังนี้

1. สร้างความตื่นตัว ให้คนไปใช้สิทธิให้เยอะที่สุด

ในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 มีประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณร้อยละ 75 ถือเป็นอัตราส่วนที่ไม่น้อย แต่หมายความว่า เราไม่มีโอกาสได้ทราบเลยว่า ประชาชนอีกร้อยละ 25 หรือกว่าแปดล้านคนกำลังคิดอะไรอยู่ และต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปอย่างไร การที่จำนวนเสียงหายไปมากเช่นนี้หากฝ่ายใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยจำนวนที่นั่งที่สูสี ก็ยังไม่อาจอ้างได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มอบอำนาจให้พวกเขาจริงๆ

นอกจากนี้ ผู้สมัครที่มีความนิยมจากประชาชน “น้อย” ก็จะต้องอาศัยคะแนนเสียงประเภท “คะแนนจัดตั้ง” หรือ คะแนนจากกลุ่มเป้าหมายที่มีความใกล้ชิดและมีความนิยมต่อตัวบุคคลเฉพาะอยู่แล้ว หากประชาชนทั่วไปไปใช้สิทธิน้อย คะแนนจัดตั้งเหล่านี้ก็จะมีผลต่อการแพ้ชนะมาก หากประชาชนตื่นตัวและออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมีคะแนนเสียงมากขึ้นจากประชาชนที่พิจารณาเลือกผู้สมัครตามนโยบาย หรือตามจุดยืนต่อความเป็นไปทางการเมืองในภาพใหญ่มากขึ้น

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด แต่จากผลงานที่ผ่านมา กกต. ไม่ได้แสดงออกถึงความพยายามอย่างเต็มที่ และไม่ได้จัดการภารกิจในหน้าที่หลายอย่างให้เรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ เราคงไม่อาจคาดหวังให้หน้าที่นี้เป็นของกกต. แต่เพียงลำพัง และประชาชนสามารถช่วยกันสร้างบรรยากาศให้มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากๆ ได้

ในยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียเริ่มมีอิทธิพลมากกว่าสื่อมวลชนอาชีพ การใช้ช่องทางของตัวเองรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด หรือช่วยกันพูดถึง ส่งข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งในมุมที่สนใจ เป็นสิ่งที่ทุกคนช่วยกันทำได้ อาจเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ชื่นชอบหรือไม่ชื่นชอบ ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้

2. ส่งต่อความรู้ เรื่องกติกาการเลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งในปี 2566 จะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ห้าติดต่อกันที่ระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนไปทุกครั้ง ทำให้ประชาชนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งอาจเกิดความสับสนได้ โดยในปี 2566 จะใช้ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบแรกเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต และใบที่สองเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และคำนวนที่นั่งด้วยสูตรที่เรียกว่า “หารร้อย”

สำหรับวิธีการใช้สิทธิเลือกตั้งยังมีเรื่องที่ต้องลงรายละเอียดอีกมาก เช่น การลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร สิทธิของคนที่ย้ายทะเบียนบ้านไม่เกิน 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง การตรวจสอบสิทธิและสถานที่ที่ต้องไปออกเสียง การมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ฯลฯ ซึ่งอาจมีประชาชนที่พลาดข้อมูลข่าวสารแล้วทำให้เสียสิทธิเลือกตั้งได้ 

การส่งต่อความรู้เรื่องกติกาการใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ทุกคนช่วยกันทำได้ การช่วยกันศึกษาให้เข้าใจและนำไปบอกต่อแบบปากต่อปากไปยังคนรู้จัก หรือการช่วยกันแชร์ส่งต่อความรู้จากช่องทางออนไลน์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้และส่งผลสำคัญมากๆ 

นอกจากนี้ไอลอว์ยังจัดทำคู่มือเลือกตั้ง’66  ที่รวบรวมความรู้พื้นฐานที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้ส่งต่อความรู้ชุดนี้ได้ง่ายขึ้น ทุกคนสามารถดาวน์โหลดเวอร์ชั่นออนไลน์ได้ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้ และสามารถติดต่อขอรับฉบับพิมพ์เพื่อไปแจกจ่ายต่อได้ หรือช่วยบริจาคค่าพิมพ์เพิ่มเพื่อเพิ่มจำนวนการพิมพ์คู่มือความรู้ครั้งนี้ได้ด้วย

3. จับตาการเลือกตั้ง จับผิดว่า มีทุจริตหรือไม่

ภารกิจ “จับตา” ตรวจสอบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้องโปร่งใส่หรือไม่ หรือมีการทุจริต มีการใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อ “โกง” การเลือกตั้งหรือไม่ เป็นภารกิจสำคัญ ที่ต้องอาศัยพลังจากประชาชนที่อยู่ทุกที่ทุกหนแห่งช่วยกันจับตาตรวจสอบ และอาจทำได้สามระดับ ดังนี้

3.1 จับตาการทุจริต

การทุจริตหรือการโกงในระดับในพื้นที่ด้วยเทคนิควิธีที่ทำกันมานาน เช่น การซื้อเสียง การข่มขู่หลอกลวง การใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนไปทางใดทางหนึ่ง เป็นเงื่อนไขที่อาจเปลี่ยนแปลงผลแพ้-ชนะ ในแต่ละเขตเลือกตั้งได้ และหากเกิดขึ้นมากๆ ก็อาจเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งในภาพรวมได้ หากประชาชนที่ประสบเหตุเองหรือพบเห็นนิ่งเฉยก็ยากที่คนกระทำความผิดจะถูกลงโทษได้ และพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในระบบการเมืองไทย

ซึ่งผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดมีภาระหน้าที่มากพอสมควรที่จะต้องเป็นคนเก็บรวบรวมพยานหลักฐานให้เป็นระบบ และกล้าออกตัวรายงานข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งสามารถรายงานไปที่ กกต. โดยตรง หรือสามารถรายงานไปยังเว็บไซต์ electionwatchthailand.org หรือรายงานผ่านมาทาง iLaw ให้ช่วยกันกลั่นกรองข้อมูลก่อนได้

ในการเลือกตั้งปี 2566 ทางกกต. เองก็ออกระเบียบมาเพื่อชักจูงใจให้ประชาชนที่พบเห็นกล้ารายงานเปิดโปงการทุจริตมากขึ้น โดยมีระเบียบสำหรับการคุ้มครองพยานที่กล้าชี้เบาะแส เช่น การจัดหาเซฟเฮ้าส์ให้ หรือหางานให้ทำ หาสถานที่เรียนต่อให้ และยังมีระเบียบที่จะจ่ายรางวัลเป็นเงินสำหรับผู้กล้าชี้เบาะแสสำคัญได้ด้วย 

3.2 จับตาการนับคะแนน

เรามีบทเรียนมามากจากการเลือกตั้งในปี 2562 ที่กระบวนการนับคะแนน และรวมคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งมีปัญหา พบข้อผิดพลาดจำนวนมาก และผลรวมคะแนนที่กกต. ส่วนกลางรายงานต่อสาธารณะก็ล่าช้าและเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด โดยมี “คนกลาง” เข้าไปจัดการแก้ไขคะแนนที่รายงานสดจากหน้าหน่วยเลือกตั้งได้ก่อนการประกาศต่อสาธารณะ และในการเลือกตั้งปี 2566 กกต.ก็ไม่มีความชัดเจนในวิธีการรายงานผลคะแนนสดเพื่อแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ประชาชนไม่อาจไว้ใจผลคะแนนที่ กกต. รวบรวมและรายงานแต่เพียงลำพังได้ ซึ่งประชาชนสามารถร่วมกันลงมือแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยอาศัยเว็บไซต์ vote62.com เป็นสื่อกลาง ทุกคนสามารถเข้าไปสมัครเป็นอาสาสมัครจับตาการนับคะแนน และเลือกจุดที่จะไปจับตาได้ หากมีประชาชนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครมากกว่า 100,000 คนขึ้นไป และครอบคลุมหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด ประชาชนก็จะช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของการนับคะแนนได้ทั้งประเทศ และถ่ายภาพผลการนับคะแนนมารวมกัน เพื่อรายงานคะแนนกันเอง โดยไม่ต้องรอผลจากกกต.

สามารถสมัครเป็นอาสาจับตาการนับคะแนนได้แล้ววันนี้ ทางเว็บไซต์ vote62.com และดูรายละเอียดสิ่งที่อาสาสมัครแต่ละคนจะต้องทำเพิ่มเติมได้ทาง 

3.3 จับตาการบังคับใช้กฎหมาย

เนื่องจากผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งกกต. และศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ยังมีที่มาไม่เป็นกลาง ดังนั้นการตีความและใช้อำนาจออกคำสั่งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น การพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง การตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือการยุบพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่าจะเป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ มีการใช้อำนาจตีความเกินเลยเพื่อกลั่นแกล้งฝั่งตรงข้ามกับคสช. หรือละเลยการกระทำผิดกฎหมายของฝ่ายสืบทอดอำนาจหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขของการหาเสียงเลือกตั้งที่เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมอีกหลายประการ เช่น การใช้อำนาจรัฐหรือนโยบายของรัฐเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองหรือผู้สมัคร การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษกับผู้สมัครหน้าเก่า การตรวจสอบและจำกัดการใช้งบประมาณหาเสียง การเพิ่มภาระหน้าที่ในทางธุรการให้กับพรรคการเมือง ฯลฯ ซึ่งกติกาที่มีรายละเอียดมากๆ ก็อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งได้หลายแง่มุม การพิจารณาว่าการเลือกตั้งในปี 2566 เดินหน้าไปอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่ายหรือไม่ต้องอาศัยความรู้ตามปัจจัยเหล่านี้ด้วย

หากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้อำนาจของตัวเองในคูหาเลือกตั้งเท่านั้น แต่เพิกเฉยปัจจัยเหล่านี้ก็อาจทำให้การเลือกตั้งอาจเป็นเพียงแบบพิธีกรรมที่วางกลไกกติกาต่างๆ ไว้ทั้งหมดแล้วเท่านั้น เรายังต้องช่วยกันศึกษาและทำความเข้าใจปรากฏการณ์การบังคับใช้กฎหมาย กำกับดูแลการเลือกตั้งในระดับนโยบาย และเมื่อมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นก็ช่วยกันสื่อสารบอกต่อให้ผู้คนในสังคมเข้าใจตรงกัน ซึ่งจะช่วยให้การเลือกตั้งโปร่งใสได้มากขึ้นในทุกระดับ

4. สอดส่องโลกโซเชี่ยล

เมื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลมากขึ้นในชีวิตประจำวัน และส่งผลต่อความรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งด้วย หากผู้สมัครและพรรคการเมืองใช้โซเชียลมีเดียเพียงการนำเสนอนโยบายเพื่อสร้างความรับรู้และเชื่อมต่อกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โซเชียลมีเดียก็จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในทางบวกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงโซเชียลมีเดียอาจใช้ในทางลบได้ด้วย เช่น การเผยแพร่ข้อมูลเท็จโจมตี หรือใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และสามารถทำได้ง่ายขึ้นเมื่อโซเชียลมีเดียมีความหลากหลายเช่นในปี 2566

สำหรับประเทศไทยยังมีความพิเศษ เพราะเราพบหลักฐานการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพ (IO) เพื่อโจมตี ด้อยค่า ให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งหลายกรณีเป็นเพียงการโจมตีด้วยคำหยาบคายให้เกิดความรู้สึกเดือดร้อนรำคาญ หรือรู้สึกในทางไม่ดี แต่บางกรณีก็เป็นการผลิตข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ เพื่อทำลายชื่อเสียงอย่างเป็นระบบและเผยแพร่ส่งต่อกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

หากประชาชนผู้ใช้โซเชียลมีเดียพบเห็นลักษณะของการใช้ข้อมูลเท็จโจมตีทางการเมืองอย่างเป็นระบบที่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามธรรมชาติของการใช้โซเชียลมีเดีย หรือ Coordinated Unauthentic Behavior ซึ่งขัดต่อมาตรฐานของผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ติ๊กต่อก สามารถเก็บหลักฐานและส่งเรื่องร้องเรียน (Report) ไปยังผู้ให้บริการได้โดยตรง หรือเก็บหลักฐาน URLs ที่เกี่ยวข้อง วันเวลาที่พบเห็น และเขียนอธิบายว่า เหตุใดจึงคิดว่าเนื้อหาเหล่านั้นเป็นการโจมตีใส่ร้ายด้วยข้อมูลเท็จอย่างเป็นระบบ แล้วส่งข้อมูลที่พบเห็นมาทาง [email protected]

5. ยืนยันหลักการจัดตั้งรัฐบาลให้สะท้อนเสียงประชาชน

หากประชาชนช่วยกัน “จับตา” กระบวนการก่อนการเลือกตั้ง และกระบวนการที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งทั้งหมด อย่างใกล้ชิดและทำได้สำเร็จ เราอาจได้การเลือกตั้งที่มีคุณภาพมากขึ้นและเสียงของประชาชนทุกคนถูกนับ แต่อย่างไรก็ดีหลังประชาชนออกเสียงแล้ว ยังต้องมีกระบวนการคำนวนที่นั่งของ ส.ส. ประกาศรับรองผู้ชนะการเลือกตั้ง และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงมี ส.ว. ชุดพิเศษจากคสช. จำนวน 250 คนที่รอลงคะแนนสนับสนุนคนที่เขาต้องการและไม่สนับสนุนคนที่ “เขา” ไม่ชอบ ทำให้ฝ่ายที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่อาจอาศัยเพียงเสียงข้างมากของ ส.ส. 251 ที่นั่ง แต่ต้องอาศัยเสียงข้างมากของสองสภา รวมแล้ว 376 ที่นั่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจเกิดการต่อรองเพื่อจับมือระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ “หลังฉาก” มากมายที่ประชาชนไม่อาจรับรู้ จับตา หรือมีส่วนร่วมได้

ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนทำได้เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในปี 2566 เดินหน้าไปตามมติที่ประชาชนออกเสียงโดยไม่ถูกแทรกแซงโดยอำนาจอื่นๆ คือ ต้องยืนยันหลักการสามข้อให้ชัดเจนและหนักแน่นตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งไปจนถึงหลังการเลือกตั้ง และลงคะแนนเลือกเฉพาะพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนหลักการเหล่านี้เท่านั้น

๐ นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส. คนที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้

๐ ต้องให้พรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก่อน หากไม่สำเร็จพรรคการเมืองอื่นถึงจะมีโอกาสรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลบ้าง

๐ ส.ว. ชุดพิเศษ มีหน้าที่เพียงลงมติตามเสียงข้างมากของ ส.ส. เท่านั้น และต้องไม่งดออกเสียง 

สำหรับประชาชนที่อยากมีบทบาท หรืออยากมีส่วนร่วมมากกว่านี้ ยังมีช่องทางที่สามารถส่งเสียงของตัวเองได้ผ่านการเลือกตั้งอีกมากมาย เช่น การนำเสนอนโยบายที่อยากเห็นไปยังผู้สมัครรับเลือกตั้งและรอฟังคำตอบ เพื่อตัดสินใจเลือกตามแนวทางที่ต้องการจะเห็นเท่านั้น หรือการไปสมัครเป็นอาสาสมัครช่วยงานพรรคการเมืองที่ชื่นชอบเพื่อช่วยในการรณรงค์หาเสียง หากประชาชนคนไทยตื่นตัวใส่ใจการเลือกตั้งมากขึ้นๆ นอกจากจะไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งในวันจริงแล้วยังลงมือทำอย่างอื่นอีกเท่าที่ทำได้ เพื่อให้การเลือกตั้งโปร่งใสและสะท้อนเสียงของประชาชนได้จริง เราก็มีหวังที่จะได้เห็นการเลือกตั้งในปี 2566 เดินหน้าไปอย่างมีคุณภาพ แม้ระบบโครงสร้างทางกฎหมายจะเขียนไว้เพื่อสืบทอดอำนาจให้ คสช. แต่หลังการเลือกตั้งก็ยังมีหนทางกลับสู่ประชาธิปไตยได้

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ