
9 กรกฎาคม 2568 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม-สร้างเสริมสังคมสันติสุขในวาระหนึ่งรวมห้าฉบับ เสนอโดยภาคประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล (เดิมก่อนยุบพรรค) สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ สส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และสส. พรรคภูมิใจไทย โดยสภายังไม่ได้ลงมติร่างกฎหมายทั้งห้าฉบับ และจะลงมติในวันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2568
ธนกร วังบุญคงชนะ สส. พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายโดยมีสาระสำคัญว่า จะไม่รับร่างกฎหมายที่นิรโทษกรรมให้คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เพราะมาตรา 112 มีไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ใดละเมิดมิได้ ทั้งยังเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยชัดเจนว่า การแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครอง”
ตามที่ธนกรให้เหตุผลว่า ไม่สามารถรับร่างกฎหมายที่จะนิรโทษกรรมให้กับคดีมาตรา 112 เพราะเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ แต่ในร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข ฉบับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เสนอให้นิรโทษกรรมให้กับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 หรือที่เรียกกันว่า ความผิดฐานกบฏ ซึ่งมีอัตราโทษประหารชีวิต สูงกว่าโทษตามมาตรา 112 จำคุกสามปีถึง 15 ปี นอกจากนี้ ความผิดตามมาตรา 112 และ 113 ก็เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเหมือนกัน
ส่วนที่ธนกรอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เคยชี้ขาดว่า การแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครอง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองจากการหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 เมื่อดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในหน้าสุดท้าย หน้าที่ 33 ระบุว่า “อีกทั้งยังไม่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ” หมายความว่า การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการทางนิติบัญญัติสามารถทำได้ กล่าวคือ ผู้มีสิทธิเสนอกฎหมาย อันได้แก่ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อ 10,000 ชื่อ คณะรัฐมนตรี และ สส. ไม่น้อยกว่า 20 คน สามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาให้สภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจและตามรัฐธรรมนูญ 2560 การพิจารณาออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมาย เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง ซึ่งก็คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเพียงตรวจสอบว่ากฎหมายมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือร่างกฎหมายมีกระบวนการตราหรือเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
หากย้อนดูประวัติศาสตร์ ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เคยถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยฝ่ายนิติบัญญัติมาแล้ว พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ฉบับที่ 7 ยกเลิกมาตรา 100 ที่กำหนดความผิดฐานแสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด และแก้ไขมาตรา 104 (1) จาก
“ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย ด้วยประการใดใด โดยเจตนาต่อผลอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ว่าต่อไปในมาตรานี้ คือ (1) เพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่น ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ต่อรัฐบาลก็ดี หรือต่อราชการแผ่นดินก็ดี…ท่านให้เอามันผู้กระทำการอย่างใดใดโดยเจตนาเช่นว่ามานี้ ลงอาญาจำคุกไม่เกินกว่าสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”
เป็น
“ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้ ก) ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี… ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง
แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด”
จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นว่ามีการเพิ่มบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือการติชมตามปกติวิสัย ภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ความผิดต่อพระมหากษัตริย์มีบทบัญญัติยกเว้นความผิด
นอกจากนี้ การนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ไม่ใช่การแก้ไขมาตรา 112 การนิรโทษกรรม มีผลทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีหลุดพ้นจากความรับผิดในทางกฎหมาย แต่ตัวกฎหมายนั้นก็ยังคงอยู่เช่นเดิม