Fact Check ในอดีตเคยมีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แล้ว หลัง 6 ตุลา 19 เหมาเข่งหมด ฆ่าคนก็ได้

9 กรกฎาคม 2568 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม-สร้างเสริมสังคมสันติสุขในวาระหนึ่งรวมห้าฉบับ เสนอโดยภาคประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล (เดิมก่อนยุบพรรค) สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ สส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ สส. พรรคภูมิใจไทย

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ สส. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีอาญาร้ายแรง เช่น การฆ่าคนตายโดยเจตนาเป็นต้น

“สำหรับการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ความจริงมีความพยายามมาช่วงเวลาหนึ่งแต่ต้องยอมรับความจริงว่า ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่า นิรโทษกรรมเพื่อสร้างสังคมสันติสุข สร้างสังคมปรองดองอันนี้เป็นดาบสองคมเพราะอีกคมหนึ่งแทนที่จะสร้างสังคมปรองดองอาจจะนำไปสู่ความแตกแยกของสังคมครั้งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็ได้ในเรื่องนี้และที่สำคัญที่สุดท่านประธานคงจำได้ว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราไม่เคยมีการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามมาตรา 110 และ 112 มาก่อน”


หากดูข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ จะเห็นว่า เคยมีการนิรโทษกรรมคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาก่อนแล้ว หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กรณีที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 นักศึกษาที่กำลังชุมนุมประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์โดยทำการเล่นละครแขวนคอซึ่งบุคคลที่เล่นละครมีใบหน้าคล้ายกับเจ้าฟ้าชายฯ หรือรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน ทั้งที่ละครนั้น ตั้งใจสื่อถึงเหตุการณ์ที่ได้มีการอุ้มฆ่าพนักงานการไฟฟ้าสองคน คือ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และชุมพร ทุมไมย ที่ไปติดป้ายประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ศพของทั้งสองถูกแขวนคอไว้ที่ประตู นักศึกษาจึงเอาเหตุการณ์นั้นมาฉายซ้ำให้เห็นว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นกับการใช้สิทธิเสรีภาพ

อภินันท์ บัวหภักดี หนึ่งในนักศึกษาผู้เล่นละครในเหตุการณ์นั้นให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า เหตุการณ์นั้นถูกนำไปปลุกปั่นสร้างความเข้าใจผิดจนนำไปสู่การปิดล้อมและใช้อาวุธสงครามโจมตีนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาม 2519 เขาและนักศึกษาจำนวนหนึ่งพยายามหลบหนีและไปพบหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมทย์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่พลเอกสงัด ชะลออยู่ก็ได้รัฐประหารรัฐบาลเสนีย์ ทำให้จากการไปเข้าพบ ตนกลับถูกฝากขังแทน ในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ ฆ่าและพยายามฆ่า วางเพลิง เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นกบฏ และที่สำคัญถูกดำเนินคดีในฐาน “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

อภินันท์ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีถึงสองปี ก่อนที่คดีของเขาทั้งหมดจะถูก “นิรโทษกรรม” ด้วยพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 คำปรารภของกฎหมายฉบับนี้ ส่วนหนึ่งระบุว่า “รัฐบาลมีความแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีของชนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยกากระทำดังกล่าวนั้น” ซึ่งมาตรา 3 ก็กำหนดให้บรรดาการกระทำทั้งสิ้นของทุกคนในเหตุการณ์ตั้งแต่ 4 – 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะในหรือนอกธรรมศาสตร์ หากการกระทำเหล่านั้นผิดกฎหมาย ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง และยังกำหนดให้ศาลปล่อยตัวจำเลยที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีด้วย และให้จำเลยพ้นความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว

กฎหมายฉบับนี้ นิรโทษกรรม “เหมาเข่ง” ทั้งหมด ผู้ที่กระทำความผิดฐานฆ่าหรือทำร้ายผู้ชุมนุม ก็ได้นิรโทษกรรมด้วย โดยมีบทบัญญัติเพียงหกมาตรา และไม่มีมาตราใดที่ระบุยกเว้นไม่นิรโทษกรรม มาตรา 112 แต่อย่างใด อภินันท์ได้รับการนิรโทษกรรมตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งนอกจากเขาแล้วประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษาในเหตุการณ์ก็ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย

ข้อโต้แย้งที่บอกว่าในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยไม่เคยมีการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ถูกดำเนินคดีในฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 จึงไม่เป็นความจริง

นอกจากจะเคยมีการนิรโทษกรรมให้คดีมาตรา 112 ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แล้วคณะรัฐประหารยังฉวยโอกาสแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มโทษจำคุกมาตรา 112 จากไม่เกินเจ็ดปี เป็นตั้งแต่สามถึง 15 ปี 

อ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2521/A/097/1.PDF

ย้อนดูกฎหมายนิรโทษกรรมของไทย 23 ฉบับ https://www.ilaw.or.th/articles/4873