
9 กรกฎาคม 2568 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม-สร้างเสริมสังคมสันติสุข รวมสี่ฉบับซึ่งเสนอโดยภาคประชาชนเข้าขื่อเสนอ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล (ก่อนถูกยุบพรรค) สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ และสส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (ซึ่งภายหลังย้ายไปสังกัดพรรคกล้าธรรม) แม้ร่างกฎหมายทั้งสี่ฉบับจะมีหลักการเดียวกันคือ นิรโทษกรรมคดีการเมือง แต่มีจุดแตกต่างที่สำคัญหลายจุด ทั้งข้อหาที่จะเข้าข่ายนิรโทษกรรม ซึ่งร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนเสนอให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ขณะที่ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขทั้งสองฉบับ ระบุชัดไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แต่นิรโทษกรรมข้อหา “กบฏ” ตามมาตรา 113
อย่างไรก็ดี ก่อนเข้าสู่วาระการพิจารณา พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ซึ่งนั่งเป็นประธานในที่ประชุม แจ้งว่ามีร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขอีกฉบับที่ สส. พรรคภูมิใจไทยเสนอด้วยและเพิ่งบรรจุวาระการประชุมไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ล็อกตั้งแต่หลักการ ปิดประตูไม่นิรโทษกรรมคดี 112
ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ฉบับสส.พรรคภูมิใจไทย เขียนชัดไม่นิรโทษกรรมคดี 1) ความผิดทุจริตหรือประพฤติไม่ชอบ 2) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหมือนร่างที่เสนอโดยสส. พรรครวมไทยสร้างชาติ และสส.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และความผิดอีกสองประเภทที่จะไม่นิรโทษกรรม คือความผิดที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือความผิดต่อส่วนตัวหรือการกระทำที่ต้องรับผิดต่อบุคคล เขียนเหมือนร่างพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่แตกต่างกัน
นอกจากระบุในเนื้อหาร่าง ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ฉบับพรรคภูมิใจไทย ยังเขียนกำชับในหลักการของร่าง ว่า ไม่รวมถึงการกระทำความผิด 1) การกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 2) การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 3) การกระทำความผิดที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือเป็นการกระทำความผิดต่อส่วนตัว หรือเป็นการกระทำความผิดที่ต้องรับผิดต่อบุคคลใดที่มิใช่หน่วยงานรัฐเป็นการเฉพาะรายหรือเฉพาะกลุ่ม ซึ่งการระบุในหลักการของร่าง จะส่งผลให้เมื่อถึงขั้นตอนพิจารณาในวาระสอง ชั้นกรรมาธิการ จะไม่สามารถ “แก้ไขเพิ่มเติม” เพื่อนิรโทษกรรมความผิดเหล่านี้ได้เลย ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 120 วรรคสาม เขียนว่า “คณะกรรมาธิการอาจเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น”
ตั้งกรรมการสายกระบวนการยุติธรรม พิจารณานิรโทษกรรมคดีการเมือง
หลักคิดของร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ฉบับสส.พรรคภูมิใจไทย ไม่แตกต่างจากร่างฉบับพรรครวมไทยสร้างชาติและร่างพรรคครูไทยเพื่อประชาชน คือ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาชี้ขาดว่ากรณีใดที่จะได้รับนิรโทษกรรมบ้าง ตามความผิดท้ายร่างพระราชบัญญัติ โดยความผิดที่จะได้นิรโทษกรรมตามร่างพรรคภูมิใจไทย ภาพรวมไม่แตกต่างจากร่างพรรครวมไทยสร้างชาติและร่างพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เช่น นิรโทษคดีความผิดฐานกบฏ ตามมาตรา 113 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย แต่มีฐานความผิดที่ร่างพรรคภูมิใจไทยเสนอเพิ่มขึ้นมาซึ่งไม่มีในร่างรวมไทยสร้างชาติและร่างครูไทยเพื่อประชาชน คือ ความผิดตามกฎหมายรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม ตามร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขฉบับพรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรฝ่ายตุลาการและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ได้แก่
1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน
2) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
3) ประธานศาลปกครองสูงสุด
4) อัยการสูงสุด
5) เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
แตกต่างจากร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขอีกสองฉบับ รวมถึงร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนที่ภาคประชาชนเสนอ และร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่สส. พรรคก้าวไกลเสนอ ที่กำหนดให้กรรมการยังมีตัวแทนจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือมีตัวแทนภาคประชาชนด้วย โดยภราดร ปริศนานันทกุล สส. พรรคภูมิใจไทย ผู้ชี้แจง อธิบายเหตุผลว่า ไม่กำหนดให้นักการเมืองเข้ามาเป็นกรรมการเพราะจะเกิดอคติหรือเกิดความเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
นิรโทษกรรมคดีการเมือง ครอบคลุมช่วงชุมนุมพันธมิตร – กปปส.
สำหรับกรอบระยะเวลาคดีที่จะนิรโทษกรรม ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ฉบับพรรคภูมิใจไทยกำหนดเวลาเหมือนร่างพรรครวมไทยสร้างชาติ คือ เริ่มต้นปี 2548 สิ้นสุด ปี 2565 ส่วนร่างพรรคครูไทยเพื่อประชาชน กำหนดวันที่ชัดเจนคือ 19 กันยายน 2549 – 30 พฤศจิกายน 2565 ร่างพรรคก้าวไกล เริ่ม 11 กุมภาพันธ์ 2549 และสิ้นสุดถึงวันที่พ.ร.บ.ประกาศใช้ ส่วนร่างภาคประชาชน กำหนดกรอบเวลาไว้กว้างเพื่อครอบคลุมคดีทางการเมืองที่เกิดตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่พ.ร.บ.ประกาศใช้
ช่วงเวลาที่เริ่มต้นนิรโทษกรรม | ช่วงเวลาที่สุดท้ายที่จะนิรโทษกรรม | |
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน (เสนอโดยประชาชน | 19 กันยายน 2549 | วันที่พ.ร.บ.ประกาศใช้ |
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม (เสนอโดยพรรคก้าวไกล) | 11 กุมภาพันธ์ 2549 | วันที่พ.ร.บ.ประกาศใช้ |
ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข (เสนอโดยพรรคครูไทยเพื่อประชาชน) | 19 กันยายน 2549 | 30 พฤศจิกายน 2565 |
ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข (เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ) | พ.ศ. 2548 | พ.ศ. 2565 |
ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข (เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย) | พ.ศ. 2548 | พ.ศ. 2565 |
กรอบระยะเวลาดังกล่าว อาจทำให้คดีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มเสื้อเหลือง และคดีการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้รับนิรโทษกรรมไปด้วย ซึ่งคดีสืบเนื่องจากการชุมนุมเหล่านี้ หลายคดีก็เป็นคดีความมั่นคงเช่นเดียวกันกับมาตรา 112 เช่น คดีขัดขวางการเลือกตั้ง ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ มาตรา 113 คดีกบฏและก่อการร้าย