8 กรกฎาคม 2568 วันก่อนที่สภาจะพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน และร่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ ยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำเนื่องจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง อย่างน้อย 51 คน แบ่งเป็นผู้ต้องขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 32 คน และผู้ต้องขังในคดีอื่นๆ ได้แก่ คดีที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิด คดีวางเพลิง คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 19 คน
ผู้ต้องขังในคดี 112 ถูกกล่าวหาว่า ‘กระทำ’ อะไรบ้าง ?
ผู้ต้องขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 20 คน ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจากการแชร์ โพสต์ หรือแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไว้ตั้งแต่ 3-15 ปี หากมีการกระทำหลายครั้ง เช่น โพสต์เฟซบุ๊กหลายโพสต์ หรือปราศรัยหลายเวที ศาลก็จะนับการกระทำแยกกัน ทำให้มีโทษรวมสูงเป็นพิเศษ
สองกรณีที่มีโทษสูงที่สุดในปัจจุบันเกิดจากการโพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่กรณีของ มงคล หรือบัสบาส พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งหมดสามคดี จากการโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก 29 โพสต์ ศาลตัดสินว่ามีความผิดใน 27 โพสต์ เขาถูกศาลพิพากษาจำคุกรวม 54 ปี หกเดือน ปัจจุบันถูกคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงราย และยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นฎีกา
กรณีของ อัญชัญ ปรีเลิศ ผู้ต้องขังการเมืองที่มีอายุสูงที่สุด ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแชร์และอัพโหลดคลิปรายการของดีเจบรรพต 29 คลิป ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกคลิปละสามปี โทษรวมทั้งหมด 87 ปี อัญชัญให้การรับสารภาพลดโทษเหลือจำคุก 29 ปี กับ 174 เดือน หรือประมาณ 43 ปี อัญชัญได้รับการลดหย่อนโทษผ่าน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ มีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 24 ก.ย. 2574 หรืออีกหกปี สองเดือน 18 วัน
ถูกพิพากษาจำคุกจากกรณีปราศรัย อย่างน้อยห้าคน ได้แก่
- อานนท์ นำภา – ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 รวม 14 คดี หนึ่งในนั้นคือ การปราศรัยวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลมีคำพิพากษาแล้วเก้าคดี รวมโทษจำคุกทุกข้อหา 27 ปี สี่เดือน
- ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์ – ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 รวมแปดคดี หนึ่งในนั้น คือ กรณีปราศรัยในการชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ศาลพิพากษาหลายคดี ลงโทษจำคุกรวม 15 ปี 24 เดือน
- โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท – ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 รวมสี่คดี ศาลมีคำพิพากษาแล้วสามคดี คือการปราศรัยในการชุมนุม “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ที่วงเวียนใหญ่ และคดีปราศรัยวิจารณ์วัคซีนในวันแรงงาน ศาลให้ลงโทษจำคุกรวมแปดปี หกเดือน
- สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน – ถูกกล่าวหาว่า ปราศรัยเรื่องบทบาทของกษัตริย์ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 และถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกสองปี
- ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือแอมป์ – กรณีปราศรัยใน #ม็อบ13กุมภา64 จำคุกหนึ่งปี เจ็ดเดือน โดยไม่รอลงอาญา
ผู้ต้องขังในคดี 112 กรณีอื่นๆ เช่น
- กรณีพ่นสีสเปรย์ – วีรภาพ วงษ์สมาน หรือ อารีฟ ถูกกล่าวหาว่าพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ บริเวณแยกดินแดง ศาลพิพากษาให้จำคุก สามปี
- กรณีร่วมกิจกรรมและร้องเพลง – เชน ชีวอบัญชา หรือ ขุนแผน และเงินตา คำแสน หรือ มานี ถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” และร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลพิพากษาให้จำคุกสามปี หกเดือน
- กรณีไลฟ์สด – จิรัชยา สกุลทอง หรือ จินนี่ ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการไลฟ์สดเมื่อปี 2565 ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกสี่ปี รับสารภาพจึงลดโทษเหลือสองปี
- กรณีชูป้ายข้อความ – อนุชา ถูกศาลพิพากษาจำคุกหนึ่งปี หกเดือน จากการชูป้ายไวนิลในการชุมนุม #ม็อบตำรวจล้มช้าง
- กรณีชูมือเป็นสัญลักษณ์ใส่ขบวนเสด็จ – สภาพร ถูกพิพากษาจำคุกหนึ่งปี หกเดือน จากเหตุการณ์ระหว่างขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีสุทิดา ผ่านบริเวณหน้าแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565
ผู้ต้องขังในคดีจากการแสดงออกทางเมืองอื่นๆ
เรียงตามอัตราโทษจากมากไปน้อย ดังนี้
ผู้ต้องขังที่คดียังไม่สิ้นสุด
- ไพฑูรย์ – สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ส คดีถูกกล่าวหาว่าใช้ระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ใน #ม็อบ11กันยา64 ศาลพิพากษาจำคุก 33 ปี 12 เดือน และคดีตรวจพบวัตถุระเบิดในครอบครอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาจำคุกแปดปี
- สุขสันต์ – สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ส คดีถูกกล่าวหาว่าร่วมใช้ระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่ ได้รับบาดเจ็บใน #ม็อบ11กันยา64 ศาลพิพากษาจำคุก 22 ปี สองเดือน 20 วัน
- ขจรศักดิ์ – สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ส คดีถูกกล่าวหาปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดเข้าใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 ศาลพิพากษาจำคุก 11 ปี หกเดือน
- คเชนทร์ – สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ส คดีถูกกล่าวหาปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดเข้าใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 ศาลพิพากษาจำคุกสิบปี หกเดือน
- “วิจิตร” – ศาลอาญาพิพากษาจำคุกสิบปี คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์ข้อความสิบข้อความ ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 บางส่วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
- ประวิตร – พ่อลูกอ่อน อายุ 22 ปี คดีถูกกล่าวหาเผาป้อมตำรวจจราจรใต้ทางด่วนดินแดง ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ศาลพิพากษาจำคุก หกปี สี่เดือน
- “พีรพงศ์” – คดีถูกกล่าวหาว่าร่วมขว้างปาวัตถุระเบิดใส่ป้อมตำรวจ บริเวณแยกอโศกมนตรี ใน #ม็อบ11ตุลา64 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก สองปี สี่เดือน 15 วัน
- ธีรภัทร – หัวหน้าครอบครัวผู้ถูกคุมขังจากคดีถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดใส่รถตำรวจ ในการชุมนุมดินแดง #ม็อบ31ตุลา64 ศาลพิพากษาจำคุกสองปี
- “ฐาปนา” – ถูกดำเนินคดีในช่วงขณะเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ปัจจุบันเป็นคุณพ่อลูกอ่อนอายุ 21 ปี ถูกคุมขังจากเหตุที่เขาถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันขว้างปาวัตถุระเบิด พลุ และสิ่งของใส่อาคารที่ทำการ สน.พญาไท และวางเพลิงตู้จราจรแยกพญาไท เมื่อคืนวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รับการฝึกอบรมขั้นต่ำสองปี ขั้นสูงไม่เกินสามปี ถูกคุมขังในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา จ.สมุทรปราการ
- “แดง ชินจัง” ยงยุทธ – อดีตผู้ชุมนุมเสื้อแดงจากจังหวัดร้อยเอ็ด อายุ 37 ปี ยงยุทธเคยถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วหลายแห่ง เคยถูกควบคุมตัวเข้าค่ายทหารและเคยร้องเรียนเรื่องการถูกซ้อมทรมาน ปัจจุบันถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีจากเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิดในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อปี 2557 ทั้งหมดห้าคดี
ผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว
- กฤษดา – คดีถูกกล่าวหาปาระเบิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปี 2557 ช่วงการชุมนุม กปปส. ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต กฤษฎาถูกคุมขังมาตั้งแต่ชั้นฝากขังเป็นระยะเวลากว่าห้าปีแล้ว โดยถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม
- ยุทธนา – อดีตผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกคุมขังมาแล้วกว่าสิบปีจากคดีถูกกล่าวหาปาระเบิดศาลอาญา ปี 2558 ถูกศาลพิพากษาจำคุก 34 ปี สี่เดือน
- มหาหิน – อดีตผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกคุมขังมาแล้วกว่าสิบปีจากคดีคดีถูกกล่าวหาปาระเบิดศาลอาญา ปี 2558 ถูกศาลพิพากษาจำคุก 34 ปี สี่เดือน
- “บุ๊ค” ธนายุทธ ณ อยุธยา – ศิลปินแรปเปอร์วง Eleven Finger วัย 23 ปี คดีครอบครองวัตถุระเบิด ศาลพิพากษาจำคุกห้าปี แต่เนื่องจากให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือ สองปี หกเดือน โดยไม่รอลงอาญา
- เมธี อมรวุฒิกุล – อดีตนักแสดง-แนวร่วม นปช. ถูกจำคุกจากคดีครอบครองอาวุธปืน ช่วงสลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกสองปี
- วีรวัฒน์ – คดีครอบครองวัตถุระเบิด ในช่วง #ม็อบ19กันยา64 ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกสองปี 12 เดือน และถูกลงโทษคดีละเมิดอำนาจศาล จำคุกอีกหนึ่งเดือน 15 วัน
- จักรี – คดีครอบครองระเบิดปิงปอง ขณะร่วมม็อบทะลุแก๊ส เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นจำคุกหนึ่งปี
- ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ – คดีละเมิดอำนาจศาล กรณีชุมนุมและทำกิจกรรมปามะเขือเทศ-ไข่ใส่ป้ายศาลและรูปภาพของผู้พิพากษาที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ศาลฎีกาพิพากษายืน ลงโทษกักขังสองเดือน
- พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล – คดีละเมิดอำนาจศาล กรณีชุมนุมและทำกิจกรรมปามะเขือเทศ-ไข่ใส่ป้ายศาลและรูปภาพของผู้พิพากษาที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ศาลฎีกาพิพากษายืน ลงโทษกักขัง 40 วัน