ปลดล็อกสุราให้เสรี: ส่องเส้นทางเศรษฐีของชาติเสรีสุรา

บทความจาก
เจียระไน ซองทอง, ชญาดา จิรกิตติถาวร

ข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ที่นำเสนอโดย ส.ส. พรรคก้าวไกล หรือชื่อเล่นว่า กฎหมาย “สุราก้าวหน้า” เป็นความพยายามจะเปิดทางให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย ประกอบกิจการได้ตามกฎหมาย และสามารถแข่งขันกับเจ้าใหญ่ๆ ในตลาดได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่ต้องการ “ต้มเบียร์” ไว้กินเองสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ร่างกฎหมายฉบับนี้  จึงเป็นความหวังของวงการสุราไทย โดยเฉพาะวงการคราฟท์เบียร์

หลังรอคิวบรรจุวาระพิจารณาอยู่นานกว่าสองปี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้แทนราษฎรก็บรรจุร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เข้าสู่การพิจารณาในวาระแรก แต่หลังการอภิปรายแล้ว ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ลงมติ “เตะถ่วง” ว่าจะยังไม่ลงมติ แต่ให้ส่งร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน 60 วัน หลังพ้นกำหนดเวลานี้ก็จะส่งกลับมาให้สภาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งหลังผ่านกำหนดเวลามาแล้ว และสภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุม ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าก็อยู่ในคิวอันดับต้นๆ และกำลังจะเข้าสู่การลงมติวาระแรก

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของคณะรัฐมนตรีมองประเด็นนี้ว่า การผลิตสุราที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ก็ควรให้ทำได้โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลในเรื่องคุณภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งอาจทำได้โดยการแก้ไขกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ และไม่ต้องแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นกฎหมายหลัก ทำให้อนาคตของร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ยังไม่แน่นอน

ประชาชนธรรมดาขออนุญาตผลิตสุราไม่ได้

จุดสำคัญของการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ไม่ใช่เพียงเพื่ออนุญาตให้ประชาชนสามารถผลิตสุราไว้บริโภคในครัวเรือนได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายสำหรับการผลิตสุราเพื่อจำหน่ายสำหรับผู้ผลิตรายย่อยด้วย การเสนอแก้ไขเรื่องนี้จึงต้องแก้ไขที่กฎหมายต้นทาง คือ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 153 ที่บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”

หากพิจารณาลำพังเพียงมาตรา 153 เท่านั้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่สั่งให้การผลิตสุราต้อง “ขออนุญาต” ก็อาจไม่ใช่ข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควร เนื่องจากการผลิตสิ่งมึนเมาที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและส่งผลกระทบต่อสังคมได้ ก็ควรจะอยู่ภายใต้กฎระเบียบและการกำกับของรัฐระดับหนึ่ง

แต่ปัญหาสำคัญ ไม่ใช่แค่ “การขออนุญาต” แต่เป็น “หลักเกณฑ์การอนุญาต” ที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของผู้ผลิต

หลักเกณฑ์การขออนุญาตต่ออธิบดีเพื่อผลิตสุรา ต้องดำเนินการภายใต้กฎกระทรวงการคลัง เรื่องการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะขอใบอนุญาตผลิตสุราได้ ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายไทย และมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทย สำหรับผู้ขออนุญาตผลิตเบียร์ต้องมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท 

แม้ว่ากฎหมายจะมึคำว่า “สุรากลั่นในชุมชน” แต่ผู้ขออนุญาตผลิตสุราชุมชนไม่ใช่ใครก็ได้ที่ผลิตขึ้นบริโภคกันเองในชุมชุน แต่ต้องเป็นสหกรณ์ที่จดทะเบียน หรือวิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน หรือเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

หมายความว่า ประชาชนธรรมดาจะผลิตสุราขึ้นบริโภคกันเองหรือแบ่งขายเล็กๆ น้อยๆ โดยไม่ทำเป็นกิจการแบบบริษัทไม่ได้

กำหนดสเปคโรงงาน ต้องพร้อมผลิตเป็นอุตสาหกรรมใหญ่

หากใครต้องการจะได้รับอนุญาตเพื่อผลิตสุรากลั่นในชุมชน ก็ยังต้องผ่านข้อกำหนดเกี่ยวกับกำลังแรงม้าของเครื่องจักรที่จะใช้ในกระบวนผลิตอีกด้วย คือ

  • การผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต ต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ 100,000 ลิตร ต่อปี
  • การผลิตเบียร์นอกเหนือจากนั้น ต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ 10,000,000 ลิตร ต่อปี
  • การผลิตสุราพิเศษ (วิสกี้ บรั่นดี ยิน) ต้องมีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 30,000 ลิตร ต่อวัน
  • การผลิตสุราอื่นๆ ยกเว้นเอทานอล ต้องมีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 90,000 ลิตร ต่อวัน

หากประชาชนคนหนึ่งในชุมชนมีสูตรพิเศษและมีฝีมือในการทำเบียร์เป็นอย่างมาก ต้องการจะผลิตเบียร์เพื่อนำมาขายเป็นรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ไม่สามารถลงมือทำด้วยนตัวเองได้ แต่จำเป็นต้องหาหุ้นส่วนลงทุนให้ได้มากกว่า 10 ล้านบาท และจดทะเบียนเป็นบริษัทก่อน หาพนักงานให้เข้าเกณฑ์กำหนดของกฎหมาย และวางแผนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อผลิตคราวละมากๆ หากประชาชนคนหนึ่งมีเพียงความรู้ทักษะเฉพาะตัว ไม่สามารถเริ่มต้นประกอบอาชีพนี้ได้เอง ไม่ว่าจะมีความสามารถมาเพียงใด ก็จะถูกกฎหมายที่มีอยู่มองข้ามไปในทันที 

กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เพียงจินตนาการ แต่มีตัวอย่างของผู้ประกอบการรายเล็กให้เห็นมามากแล้ว เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2563 คราฟต์เบียร์ไทยแบรนด์ “ศิวิไลซ์” ได้ชนะรางวัลเหรียญเงินจากเวที World Beer Awards 2020 ซึ่งเป็นเวทีประกวดเบียร์ระดับสากล มีผู้ประกอบการส่งเบียร์เข้าประกวดจากทุกมุมโลก  แต่แบรนด์ของพวกเขาต้องรับรางวัลในฐานะ “คราฟต์เบียร์เวียดนาม” แทน เนื่องจากความไม่เอื้ออำนวยของกฎหมายในประเทศ ที่ไม่อนุญาตให้รายเล็กกำลังไม่ถึงทำการผลิตเบียร์ได้ตามอัธยาศัย 

และจากรายงานแนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2562-2564: อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ของธนาคารกรุงศรี ระบุว่า ตลาดเบียร์ในประเทศถูกควบคุมโดยผู้ผลิตรายใหญ่ คือ บจก.บุญรอดบริวเวอรี่ และ บจก.ไทยเบฟเวอเรจ สองผู้เล่นยักษ์ใหญ่มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันถึง 93% ของปริมาณจำหน่ายเบียร์ในประเทศ ยังไม่รวมกับอุตสาหกรรมสุรา ที่ บจก.ไทยเบฟเวอเรจ เพียงเจ้าเดียว ครองตลาดไปถึง 80% เนื่องจากความได้เปรียบทางต้นทุนการผลิตที่ตรงกับเกณฑ์ของกฎหมาย ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กต้องจดทะเบียนและผลิตสุราในต่างประเทศแทน

ตลาดสุราเสรี สร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้หลายประเทศ

หลายประเทศไม่ได้มีกฎหมายที่จำกัดการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตให้เฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่เหมือนในประเทศไทย ทำให้ผู้ผลิตขนาดเล็กสามารถเข้าสู่ตลาด เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้  ตัวอย่างเช่น

เกาหลีใต้

ประเทศที่เพิ่งผ่านการแก้ไขกฎหมายประเภทนี้ คือ “สาธารณรัฐเกาหลีใต้” หลังการแก้ไขกฎหมายตัวเลขของตลาดคราฟต์เบียร์เกาหลีใต้เติบโตขึ้นถึง 3.3 พันล้านบาท คิดเป็นสองเท่าจากปี พ.ศ. 2561 และเมื่อคิดเป็นเงินไทยคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นอีก 10.3 พันล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2566

การเติบโตนี้เกิดจากเกาหลีใต้ได้แก้ไขกฎหมายภาษีสุรา โดยยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าต้นทุน การผลิต ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การตลาด หรืออื่นๆ มาเป็นการเก็บภาษีจากปริมาณที่ขายได้แทน เมื่อภาษีน้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถผลิตสินค้าแข่งขันกับรายใหญ่ได้มากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้แก้ไขระเบียบเกี่ยวกับโรงงานสุรา ที่เปิดช่องสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่มีความสามารถแต่ไม่มีกำลังผลิตสามารถร่วมการผลิตกับโรงงานสุราของบริษัทใหญ่ได้ เป็นการพึ่งพากันระหว่างภาคเอกชน และทำให้ผู้ผลิตรายเล็กลืมตาอ้าปากได้

ตัวเลขที่พุ่งสูงของตลาดคราฟต์เบียร์ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศเกาหลีใต้ตื่นตัว นอกจากเป็นการสร้างโอกาสให้กับรายเล็กแล้ว ยังทำให้ประชาชนสามารถเลือกจับจ่ายเครื่องดื่มได้ตามใจชอบและมีตัวเลือกมากยิ่งขึ้น เพราะรายใหญ่เองก็ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันตลาด เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดอีกต่อไป เศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเหล่านี้จึงกระเตื้องตามไปด้วยเพราะปัจจัยทางกฎหมายที่เอื้ออำนวยจาก

เยอรมนี

ใประเทศแห่งเบียร์อย่าง “เยอรมนี” ไม่มีกฎหมายควบคุมกำลังผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอัตราในการจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มประเภทเบียร์ต่ำ อยู่ที่ประมาณ 4-8% ต่อขวด (ตกขวดละ 1-2 บาท) ทำให้ในประเทศเยอรมนีเบียร์แทบจะถูกกว่าน้ำเปล่า และมีผู้ผลิตคราฟต์เบียร์กว่า 900 ราย มีโรงงานผลิตเบียร์ 1,500 แห่ง จัดจำหน่ายเบียร์ 5,500 แบรนด์ทั่วประเทศและทั่วโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2563 อยู่ที่ 37,500 ล้านบาท ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่มีการเก็บภาษีเบียร์ตามอัตรามูลค่าอยู่ที่ร้อยละ 48 จะตกอยู่ที่ประมาณ 18 บาทต่อขวด ยังไม่รวมกับการคิดภาษีตามปริมาณและดีกรีที่เกินกำหนด รวมแล้วเบียร์ในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีขวดละประมาณ 20-30 บาท

จากรายงานการศึกษา “อุตสาหกรรมเบียร์ต่อเศรษฐกิจยุโรปของประเทศเยอรมนี” (The Contribution made by beer to the European Economy) ปี 2563 โดย The Brewers of Europe ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของรายได้จากการเก็บภาษีของรัฐบาลเยอรมนีเกิดจากอุตสาหกรรมเบียร์ทั้งในด้าน การค้าและการซื้อขายเบียร์ในอุตสาหกรรมการบริการ โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 6.5 พันล้านยูโร (ราว 236,502 ล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากสำหรับรายได้ในประเทศ 

ในรายงานการศึกษายังระบุว่า เยอรมนีเป็นประเทศผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในยุโรป ทำให้ในปี 2561 ประชากรกว่า 480,000 คน มีงานทำจากการที่อุตสาหกรรมเบียร์เติบโตสูง ไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นงานในภาคเกษตร, ภาคอุตสหกรรมบรรจุภัณฑ์, การขนส่ง, สื่อและการตลาด รวมไปถึงสาธารณูปโภคและอื่นๆ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมเบียร์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

เวียดนาม

“เวียดนาม” ถูกคาดการณ์โดยนักวิชาการทางด้านเศรษฐกิจว่า ในภาวะโรคโควิด เศรษฐกิจของเวียดนามจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มว่าจะเติบโตร้อยละ 7 ในปี 2566 นั้น หนึ่งในธุรกิจที่เป็นที่น่าจับตามองของเวียดนาม คือ ตลาดคราฟต์เบียร์ เนื่องจากเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในประเทศและได้กลายเป็นกระแสในตลาดมานานเกือบทศวรรษ

ภายใต้กฎหมายการผลิตที่ไม่ซับซ้อนและมีอัตราการเก็บภาษีตามมูลค่า โดยจัดเก็บภาษีจากคราฟต์เบียร์ 65% เทียบเท่ากับเบียร์ทั่วไป ทำให้ตลาดคราฟต์เบียร์ในประเทศของเวียดนามเติบโตมาตั้งแต่ปี 2557 ทั้งการบริการในท้องถิ่นและต่างประเทศ อีกทั้งยังเปิดรับนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาผลิตและจำหน่ายเบียร์จนทำให้ตลาดเบียร์ขยายมากขึ้นไปอีก ในปี 2561

Golden Gate ผู้บุกเบิกห่วงโซ่อุตสาหกรรมร้านอาหารในเวียดนามได้เปิดร้านคราฟต์เบียร์นำเข้าจากอเมริกาอย่างเป็นทางการ (Craftbrew Vietnam) ที่กรุงฮานอย โดยหวังจะเป็นสะพานเชื่อมผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ชั้นนำของอเมริกาให้เข้าสู่ตลาดเวียดนาม เพื่อให้ผู้ที่ชื่นชอบเบียร์เวียดนามมีโอกาสได้เพลิดเพลินกับเบียร์คุณภาพสูงและมีชื่อเสียงของต่างประเทศ

การเติบโตนี้ทำให้มีการคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตต่อปีของการลงทุน (CAGR) ในตลาดเบียร์เวียดนามจะเติบโตประมาณ 6.44% ระหว่างปี 2564-2568 และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 9.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐภายในปี 2568 ซึ่งจะทำให้เบียร์คราฟต์กลายเป็นตลาดกำไรของนักลงทุน นอกจากจะเป็นผลดีต่อผู้ผลิตทุกรายแล้ว ประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่เติบโตนี้ตามไป ด้วยเหมือนอย่างในประเทศเยอรมนีนั่นเอง

อ้างอิง

พระราชบัญญัติ ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก https://www.excise.go.th/cs/groups/public/documents/document/dwnt/mzq1/~edisp/uatucm345203.pdf

ประชาไท. (2 กุมภาพันธ์ 2565). ‘เท่าพิภพ ก้าวไกล’ ปลื้มร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ได้ฤกษ์เข้าสภา ปลดล็อกสุราเสรี แต่เลื่อนลงมติเพราะสภาล่ม. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2022/02/97082

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร. (2 กุมภาพันธ์ 2565). 1,838 วัน พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ไปไม่ถึงฝัน. สืบค้นจาก https://www.moveforwardparty.org/news/parliament/10723/

ธวัชชัย เทพพิทักษ์. (ม.ป.ป.). เปิดกฎหมายเส้นทางวิบาก “คราฟต์ เบียร์”. สืบค้นจาก https://www.gqthailand.com/views/article/craft-beer-thai

พระจันทร์ เอี่ยมชื่น. (12 พฤศจิกายน 2563). ทำไมคราฟต์เบียร์ไทย เติบโตไม่ไหวใต้กฎหมายสุรา?. สืบค้นจาก https://www.brandthink.me/content/thailandcraftbeer

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ. (ม.ป.ป.). รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประจำเดือนกันยายน 2564. สืบค้นจาก https://www.ditp.go.th/contents_attach/753721/753721.pdf

ลงทุนแมน. (9 กรกฎาคม 2561). ทำไม เยอรมนี ถึงเป็น ประเทศแห่งเบียร์. สืบค้นจาก https://www.longtunman.com/30799

กระจายรายได้ให้ชาวบ้าน มากกว่าให้บริษัทเหล้ากินรวบ. สืบค้นจาก https://themomentum.co/report-pita-free-spirit/

The Standard. (9 กุมภาพันธ์ 2565). ความฝันปลดล็อกทำเหล้าเบียร์เสรียังไม่ถึงฝัน สภามีมติส่งร่างพ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ให้ ครม. พิจารณาภายใน 60 วัน ก่อนโหวตวาระ 1. สืบค้นจาก https://thestandard.co/draft-of-the-progressive-liquor-act-for-the-cabinet-to-consider-within-60-days/

Wanna Yongpisanphob. (3 พฤษภาคม 2562). แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2562-2564: อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม. สืบค้นจาก https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Food-Beverage/Beverage/IO/io-beverage-20-th

Money Buffalo. (12 พฤศจิกายน 2564). ทำไม Craft Beer เกาหลีใต้ กำลังจะเป็นเบียร์กระแสหลัก ?. สืบค้นจาก https://www.moneybuffalo.in.th/business/why-will-south-korean-craft-beer-become-mainstream

Thai PBS. (29 มีนาคม 2565). ครม.ปัดตกร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ชาวบ้านผลิตเหล้ากินเองได้-ห้ามขาย. สืบค้นจาก https://news.thaipbs.or.th/content/314084

Fiscal Policy Office. (15 พฤษภาคม 2563). คราฟต์เบียร์จากเบียร์เถื่อนสู่การผลิตที่ถูกกฎหมายและแหล่งรายได้ใหม่ของประเทศ. สืบค้นจาก https://www.fpo.go.th/main/getattachment/General-information-public-service/Tax-Policy-Journal/13010/Tax-Policy-Journal-Edition-2,-Volume-15,-May-2020.pdf.aspx

Post Today. (24 มีนาคม 2561). ‘เบียร์คราฟต์’ ธุรกิจเกิดใหม่เวียดนาม. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/aec/news/545408

Bryan Yeong. (สิงหาคม 2564). ส่องอนาคตอาเซียนในยุคหลังการระบาดใหญ่. สืบค้นจาก https://www.tmbameastspring.com/insights/looking-at-asean-s-post-pandemic-future

ASIA PERSPECTIVE. (June 3, 2021). Exploring The Booming Craft Beer Industry in Vietnam. Retrieved from https://www.asiaperspective.com/booming-craft-beer-industry-vietnam/

The Brewers of Europe. (n.d.). The Contribution made by beer to the European Economy. Retrieved from https://brewersofeurope.org/uploads/mycms-files/documents/publications/2020/economic-report-germany.pdf

Viet Nam News. (June 1, 2020). Việt Nam’s beer market expects big changes in 2020. Retrieved from https://vietnamnews.vn/economy/717499/viet-nams-beer-market-expects-big-changes-in-2020.html

VIETNAM THINGS. (April 29, 2021). Market Research: Beer in Vietnam. Retrieved from https://vietnamthings.com/beer-in-vietnam/

INSIDE BEER. (February 18, 2021). Germany: “The situation in the brewing industry is dramatic”. Retrieved from https://www.inside.beer/news/detail/germany-the-situation-in-the-brewing-industry-is-dramatic/

enewstoday. (June 30, 2020). 국산 수제맥주, 주세법 개정으로 날개 다나. Retrieved from https://www.enewstoday.co.kr/news/articleView.html?idxno=1397244 

The Korea Bizwire. (May 19, 2020). Delivery Services of Alcoholic Drinks, OEM Production to be Available in S. Korea. Retrieved from http://koreabizwire.com/delivery-services-of-alcoholic-drinks-oem-production-to-be-available-in-s-korea/160224