ก้าวไกลเสนอกฎหมายใหม่ ใช้แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกมาใช้ตั้งแต่ปี 2548 และถูกบังคับใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 17 ปี ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเหตุว่าเพื่อเป็นการควบคุมสถานการณ์ที่มีผู้ก่อความไม่สงบ โดยประเด็นสำคัญของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ การให้อำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้นานถึง 30 วัน ซึ่งทำให้ผู้ถูกจับกุมตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องระหว่างการควบคุมตัว 

นอกจากนี้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังถูกนำมาใช้กับการควบคุมการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง เช่น ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มกปปส. ที่ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เหตุการณ์ที่โดดเด่นที่สุด คือ การประกาศใช้เพื่อให้อำนาจทหารใช้อาวุธกระสุนจริงเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 2552 และ 2553 เมื่อถึงยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ถูกใช้อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยอ้างเหตุจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นเครื่องมือ “รวบอำนาจ” การบริหารประเทศไว้ในมือของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการควบคุมการชุมนุมและการแสดงออกของประชาชน

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ต่อเนื่องยาวนานระหว่างปี 2563-2565 แสดงให้เห็นถึงปัญหาของการนำกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับภาวะการรบหรือทางการทหาร มาใช้กับการควบคุมโรคระบาด ซึ่ง “ผิดฝาผิดตัว” และยังมีบทบัญญัติคุ้มครองความรับผิดของเจ้าหน้าที่ ตัดอำนาจการตรวจสอบที่ไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดยรังสิมันต์ โรม ยื่นเสนอร่างพ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ) ต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาประกาศใช้แทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังคงใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับเดิม และจะมีผลให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวมทั้งข้อกำหนด ประกาศต่างๆ ที่ออกตามอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด และให้มีมาตรการใหม่สำหรับการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ดังนี้

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้จำกัดคราวละ 30 วัน ต้องขอความเห็นจากสภาผู้แทนฯ

เงื่อนไขในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งกำหนดไว้เป็นคำนิยามของสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ตามข้อเสนอใหม่ กำหนดไว้เหมือนเดิม คือ

“สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทําให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทําความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจําเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดํารงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง”

อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม โดยต้องปรึกษากับคณะรัฐมนตรีก่อน แต่หากปรึกษาไม่ทันก็ให้ประกาศใช้ไปก่อนและขอความเห็นจากคณะรัฐมนตรีภายในสามวัน โดยให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศได้ไม่เกิน 30 วัน และสามารถขยายเวลาได้อีกไม่เกินครั้งละ 30 วัน ซึ่งลดลงจากเดิมที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศได้มีระยะเวลาสามเดือน และขยายเวลาได้ครั้งละสามเดือน

ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรภายในเจ็ดวัน พร้อมกับนำเสนอแผนการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งมาตรการ และข้อกำหนดต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีจะประกาศใช้ด้วย 

เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แล้ว อำนาจหลักในการแก้ไขปัญหายังอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเช่นเดิม โดยในร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้อำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โอนมาเป็นของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว และให้นายกรัฐมตรีมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่

จากเดิมที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินฯได้ แต่ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ได้ตัดอำนาจนี้ออก หมายความว่า หน่วยงานพิเศษอย่าง ศูนย์อำนาจการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ศบค.) จะไม่มีอยู่อีกต่อไป และไม่อาจตั้งขึ้นโดยอำนาจของคณะรัฐมนตรีในสถานการณ์เร่งด่วนได้อีก 

อำนาจสั่งเคอร์ฟิวยังอยู่ ตัดอำนาจรัฐบาลคุมสื่อ

อำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะออกข้อกำหนดต่างๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ตามมาตรา 9 ของร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ยังกำหนดไว้ทำนองเดียวกับกฎหมายเดิม โดยให้อำนาจนายกรัฐมนตรี สามารถประกาศเคอร์ฟิวได้ (ห้ามออกนอกเคหสถาน) สั่งห้ามชุมนุม หรือมั่วสุมกันหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยได้ รวมทั้งมีอำนาจสั่งห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามใช้อาคารหรือเข้าไปในบางพื้นที่ หรือสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ได้

ตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่ง “ห้ามนำเสนอข่าว” หรือทำให้แพร่หลายในสื่ออื่นใดที่มีข้อความทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ตามร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ฉบับของพรรคก้าวไกล ไม่ได้ให้อำนาจควบคุมการเสนอข่าวของสื่อด้วย อย่างไรก็ดี การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จและกระทบต่อความมั่นคงของรัฐโดยสื่อมวลชนและประชาชนก็เป็นความผิดอยู่แล้วตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ มาตรา 11 ยังคงหลักการเช่นเดิมเอาไว้ กล่าวคือ ในกรณีที่มีการก่อการร้าย การประทุษร้ายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน นายกรัฐมนตรียังคงมีอำนาจประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ซึ่งจะเพิ่มอำนาจให้นายกรัฐมนตรีสามารถออกข้อกำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยว่าก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ผู้ปกปิดข้อมูล ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัว ออกคำสั่งยึดอาวุธ สินค้า เคมีภัณฑ์ ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจค้น รื้อถอน อาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ออกคำสั่งห้ามบุคคลออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และนายกรัฐมนตรียังมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเข้าระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ได้

แต่ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ตัดอำนาจของนายกรัฐมนตรี กรณีที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้ว ก็ยังไม่มีอำนาจที่จะตรวจสอบจดหมาย สิ่งพิมพ์ โทรศัพท์ การสื่อสาร และไม่มีอำนาจสั่งระงับการติดต่อสื่อสารใดๆ ร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ยังตัดอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในมาตรา 11(6) เดิม ที่ให้ออกประกาศสั่งห้ามกระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ ก็ได้ “เท่าที่จำเป็น” โดยไม่มีเงื่อนไขอื่นประกอบ

จับผู้ต้องสงสัยได้ ต้องมีหมายศาล คุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง

อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จากเดิมพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 12 กำหนดให้การจับกุมและควบคุมตัวต้องขออนุญาตจากศาลก่อน เมื่อจับกุมตัวได้แล้วสามารถควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกินวัน ในสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจหรือเรือนจำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่ายทหาร และหากครบกำหนดเวลาแล้วต้องการขยายเวลาควบคุมตัวก็สามารถขอต่อเวลาได้ รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน 

ตามร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ได้แก้ไขมาตรา 12 ให้การจับกุมและควบคุมตัวต้องขออนุญาตจากศาลก่อนเช่นเดิม แต่เมื่อจับกุมตัวแล้วให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง โดยไม่ได้กำหนดสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งเป็นอำนาจเช่นเดียวกับการควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในสถานการณ์ที่ไม่ได้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

เลิกยกเว้นความรับผิด เลิกตัดอำนาจการตรวจสอบ

เดิมในมาตรา 16 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดข้อยกเว้นสำหรับข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่กระทำภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หมายความว่า ถ้าหากมีข้อพิพาทที่เกิดจากบรรดาข้อกำหนด คำสั่งหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นคดีปกครองผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถจะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ จะต้องนำเรื่องไปฟ้องศาลแพ่ง แต่ในร่างพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ไม่มีการบัญญัติถึงประเด็นนี้ หมายความว่า ถ้ามีการประกาศข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใดที่กระทบสิทธิของประชาชน ประชาชนสามารถนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลปกครองได้เช่นเดียวกับสถานการณ์ปกติ 

ไฟล์แนบ

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ