อานนท์ นำภา เบิกความที่เชียงใหม่ ถามจะมองสถาบันกษัตริย์ฯ ด้วยแว่นแบบไหน?


คดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 จากกิจกรรม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ”ที่หอศิลป์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2563 ที่มีอานนท์ นำภา เป็นจำเลยมีการนัดพิจารณาคดีมาต่อเนื่อง และศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานต่อเป็นช่วงสุดท้ายในวันที่ 24-25 ธันวาคม 2567

อานนท์ ซึ่งอยู่ระหว่างถูกคุมขังตามคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้ถูกพาตัวขึ้นรถมาจากกรุงเทพฯ และควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอานนท์บอกว่า ที่นั่น “อากาศดี” เย็นกว่าในเมืองเชียงใหม่อีก เขามาศาลในชุดนักโทษ ทางเรือนจำได้เตรียมเสื้อกันหนาวสีน้ำเงินแขนยาวให้สวมทับ เขียนด้านหลังว่า “เรือนจำกลางเชียงใหม่ ออกศาล” แต่ยังต้องใส่กางเกงขาสั้น ไม่ใส่รองเท้า และใส่กุญแจเท้าด้วย

การสืบพยานในวันที่ 24 ธันวาคม 2567 มีนัดหมายพยานโจทก์สามปาก แต่มาศาลจริงตามนัดแค่สองปาก คือ นักวิชาการด้านกฎหมายที่มาให้ความเห็น และพนักงานสอบสวน ด้านคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่มาศาลในฐานะพยานโจทก์ ทำให้การสืบพยานเสร็จเร็วกว่าที่กำหนดไว้ และอานนท์เบิกความต่อเลยในฐานะจำเลย

อานนท์เบิกความถึงการขยายพระราชอำนาจในทางการปกครอง เรื่องที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากผ่านประชามติไปแล้ว การโอนถ่ายหน่วยทหารมาขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ และอานนท์ยังชวนตั้งคำถามว่า เนื้อหาของคดีนี้ขึ้นอยู่ที่แว่นที่เราใช้มองสถาบันกษัตริย์ ถ้าเราใช้แว่นตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ย่อมเป็นที่เคารพสักการะแบบที่แตะต้องไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่ถ้าเราใช้แว่นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ก็ต้องดำรงพระองค์ตามหลักการ the king can do no wrong ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง วิพากษ์วิจารณ์ได้โดยสุจริต

ต่อมาในวันที่ 25 ธันวาคม 2567 เป็นนัดสืบพยานจำเลยสองปาก คือ ศ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เบิกความถึงประวัติศาสตร์การจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาซึ่งแตกต่างจากระบบปัจจุบันที่มีการแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2560-2561 และรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย เบิกความถึงหลักการตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ระบุว่าพระมหากษัตริย์นั้น “ล่วงละเมิดมิได้” ซึ่งหมายถึงผู้ใดจะยื่นฟ้องร้องต่อศาลไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะประชาชนยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ด้วย

หลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 มีนาคม 2568 สาเหตุที่นัดนานเนื่องจากต้องส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจสอบก่อน (สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคตั้งอยู่ด้านหลังของศาลจังหวัดเชียงใหม่) โดยจะอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปยังกรุงเทพตามคำขอของจำเลย โดยไม่ต้องเบิกตัวอานนท์มาเชียงใหม่อีก

ด้านอานนท์ก็ขอให้ศาลส่งตัวกลับกรุงเทพเลย เพราะจะมีนัดขึ้นศาลที่กรุงเทพอีกในวันที่ 14 มกราคม 2568 ทางเรือนจำแจ้งว่าจะพาตัวกลับในวันรุ่งขึ้นเลยเพราะถ้าช้ากว่านั้นจะเป็นวันหยุด หลังอานนท์ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พาตัวออกจากห้องพิจารณาคดีก็มีประชาชนจำนวนหนึ่งไปรอส่งตัวอานนท์อยู่ด้านหลังศาลบริเวณทางออกของรถเรือนจำ แต่รออยู่นานกว่าหนึ่งชั่วโมงก็ไม่มีรถมารับจึงทำให้อานนท์ยังไม่ถูกพาตัวกลับเรือนจำโดยเร็ว และไม่แน่ว่าจะได้ส่งตัวกลับกรุงเทพฯ ภายในวันถัดไปหรือไม่

เนื่องจากก่อนหน้านี้เพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ได้โพสให้คนช่วยกันเสนอชื่อ “บุคคลแห่งปี” และมีคอมเม้นต์หลายพันช่วยกันเสนอชื่อ “อานนท์ นำภา” เมื่อผู้ที่มาให้กำลังใจอานนท์ที่ห้องพิจารณาคดีเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง อานนท์มีสีหน้าแปลกใจ ทนายความจึงเปิดข้อความบนโทรศัพท์มือถือและโชว์ให้อานนท์ดูว่าชื่อของเขากำลังอยู่ในหน้าข่าวช่วงปีใหม่นี้ อานนท์จึงมีสีหน้ายิ้มแย้ม และบอกว่า คนน่าจะยังคงสนใจเรื่องมาตรา 112 แต่ไม่มีช่องทางที่จะแสดงออกหรือมีส่วนร่วมได้

เมื่อถามว่าอานนท์ ทราบข่าวนี้แล้วมีความเห็นอย่างไร อานนท์ตอบว่า “แสดงว่าคนยังไม่ลืมเนื้อหาสาระและอุดมการณ์การต่อสู้ที่เราได้ร่วมกันมา เขาไม่ได้จำอานนท์ในฐานะที่เป็นตัวบุคคล แต่ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว การต่อสู้มันยังอยู่และรอเวลาที่จะเบ่งบานอีกครั้งเท่านั้น”

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage