เสวนาการดำเนินคดีปิดปากต่อนักปกป้องสิทธิ เมื่อผู้มีอำนาจอยากให้กลัว อยากให้เงียบ

9 ธันวาคม 2567 เวลา 08.30 – 16.30 น. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรม “วันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและวันสิทธิมนุษยชนสากล” เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล ณ ห้องประชุมชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายในงานมีวงเสวนาภายใต้หัวข้อ “การดำเนินคดีปิดปากต่อนักปกป้องนักสิทธิมนุษยชนภายในประเทศไทย” 

การฟ้อง “คดีปิดปาก” เป็นเรื่องที่มีมานานแล้วเมื่อคนมีอำนาจมากกว่า เข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายได้ง่ายกว่า มีปัญหาขัดแย้งกับคนที่มีอำนาจน้อยกว่า เมื่อเห็นต่างกันในข้อถกเถียงเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ จึงใช้คดีความและกฎหมายมาเป็นเครื่องมือ ในภาษาอังกฤษมีคำเรียกการดำเนินว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือย่อว่า SLAPPs (สแลป)

นิยามของคดีปิดปากคือคดีที่ดำเนินคดีโดยที่ไม่ได้มีเจตนาจะเอาผิด หรือให้เกิดการลงโทษกันตามกฎหมาย แต่ต้องการฟ้องคดีเพื่อใช้คดีเป็นเครื่องมือในการสร้างภาระให้กับคนที่ออกมาพูดในประเด็นสาธารณะ เพื่อหวังว่าเขาจะกลัวคดีและก็หยุดการพยายามแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วม หรือเหนื่อยจนการทำงานการพูดของเขาน้อยลง 

เสวนาการดำเนินคดีปิดปากต่อนักปกป้องสิทธิ เมื่อผู้มีอำนาจอยากให้กลัว อยากให้เงียบ

ในปี 2562 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเคยถูกแก้ไขมาแล้ว โดยมีบทบัญญัติมาตรา 161/1 และมาตรา 165/2 ที่มีจุดมุ่งหมายป้องกันการฟ้องคดีเพื่อกลั่นแกล้งปิดปากให้ศาลยกฟ้องได้ทันที แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักและยังไม่ค่อยถูกใช้ ศาลมักลังเลที่จะหยิบบทบัญญัติเหล่านี้ขึ้นมาใช้เอง

มาตรา 161/1 ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ให้ศาลยกฟ้อง และห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
การฟ้องคดีโดยไม่สุจริตตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงการที่โจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรด้วย”

มาตรา 165/2 ในการไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยอาจแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล และจะระบุในคำแถลงถึงตัวบุคคล เอกสาร หรือวัตถุที่จะสนับสนุนข้อเท็จจริงตามคำแถลงของจำเลยด้วยก็ได้ กรณีเช่นว่านี้ ศาลอาจเรียกบุคคล เอกสาร หรือวัตถุดังกล่าวมาเป็นพยานศาลเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งคดีได้ตามที่จำเป็นและสมควร โดยโจทก์ และจำเลยอาจถามพยานศาลได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล”

วีระ: เมื่อคนมีอำนาจอยากให้กลัว อยากให้สื่อเงียบ

วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น เล่าถึงประสบการณ์การถูกดำเนินคดีจากการทำงานในประเด็นสาธารณะมานานกว่า 20 ปีว่า คนที่มาฟ้องปิดปาก ส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียง ทรงอิทธิพล เมื่อเอ่ยชื่อก็รู้กันทั้งประเทศ หรือไม่ก็จะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ถ้าไม่เป็นทหารก็จะเป็นตำรวจใหญ่ ผมไม่เคยถูกประชาชนที่ผมไปตรวจสอบฟ้องปิดปากผม 

“เพราะว่านักการเมืองผู้ทรงอิทธิพล ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เขาต้องการให้คนอื่นกลัว เขาอาจจะรู้ว่าผมไม่กลัว ฟ้องให้ตายผมก็ไม่กลัว แต่เขาต้องการหยุดคนอื่นที่จะออกมาให้ความเห็นหรือออกมาร่วมตรวจสอบกับผม เพื่อให้สื่อมวลชนหยุดทำข่าว เมื่อสื่อรู้ว่าฟ้องผม สื่อก็จะหยุด ไม่กล้านำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา เขาจะคุมการนำเสนอผ่านอิทธิพลทางการเมืองให้สื่อมวลชนเสนอในประเด็นที่ต้องการ”

วีระเล่าว่า ในการทำงานตลอดหลายสิบปี เป็นการทำหน้าที่เพื่อช่วยราชการต่อต้านภัยคอร์รัปชั่น เรื่องที่เข้าไปตรวจสอบล้วนไม่ได้หยิบขึ้นมากล่าวหาเอง แต่มีการร้องเรียนร้องทุกข์เข้ามา ซึ่งกระบวนการทำงานจะเริ่มจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ามีมูลหรือพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ก่อนจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เมื่อเข้าไปตรวจสอบก็คือเปิดโอกาสให้เขาชี้แจง แต่คนพวกนี้ไม่เคยจะใช้สิทธิชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา แต่จะหลบหน้าและใช้วิธีดำเนินคดี 

ในปี 2543 วีระทำงานตรวจสอบเกี่ยวกับการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ โดยยื่นเรื่องต่อต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีเนื้อหาระบุว่า พล.ต.สนั่นแจ้งว่า มีหนี้สินต่อบริษัทเอไอเอสฯ กว่า 45 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ได้เป็นหนี้จริง

“พอผมไปตรวจสอบ ฟ้องผม 3 คดี หมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหายคดีละ 50 ล้าน รวม 150 ล้าน ไม่มีใครกล้าเป็นทนายความให้ผม ทุกคนกลัว ตอนนั้นเขาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รมต.มหาดไทย อำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน ตอนนั้นทักษิณยังไม่ได้เกิดเลย ผมต้องสู้กับเขา 11 ปีเต็ม ทั้ง 3 คดี สู้ถึงฎีกา ผมชนะทุกศาล ชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา ไม่แพ้เลย แต่ผมเสียเวลา 11 ปี เสียเงินไปเยอะ”

กฤษณ์ ขำทวี: รู้ให้ทัน ‘คดีปิดปากทางไกล’ ยุทธวิธีสร้างภาระ 

กฤษณ์ ขำทวี ทนายความ และเลขานุการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เล่าให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฟังว่า เขาได้มาเป็นทนายความทำคดีให้กับวีระ สมความคิด ที่เข้าไปตรวจสอบการทุจริตในพื้นที่หนึ่ง จนถูกแจ้งความและฟ้องคดีจำนวน 4 คดี ซึ่งต้องประสบพบเจอกับความยากลำบากในการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็นภาระที่ต้องประกันตัวจากคดีจำนวนมาก และต้องเดินทางไกลจากกรุงเทพฯ ไปที่จังหวัดนครราชสีมาหลายต่อหลายครั้งเพื่อให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวน รายงานตัวต่อพนักงานอัยการ และขึ้นศาลเข้าสู่การพิจารณาคดี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลายหมื่นบาท ไม่รวมถึงค่าจ้างทนายความ

“คุณวีระเดินทางผ่านที่ของภรรยาผู้กล่าวหาและเดินไปที่หน้าไร่ ถูกแจ้งไปแล้วสองข้อหา บุกรุกที่สามี บุกรุกที่ภรรยา แล้วก็หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และข้อหาที่ไม่เคยทำมาก่อนเลยคือ บุกรุกโดยอากาศยานไร้คนขับ คือใช้โดรนบินขึ้นไป เราก็บอกว่า โดรนบินอยู่ข้างนอกและถ่ายภาพเข้าไปข้างใน เขาก็บอก ไม่เชื่อ ดูจากมุมแล้ว ยังไงคนที่ปีนขึ้นไปที่สูงและมองเข้าไปข้างในคือการบุกรุก”

คดีข้างต้น ทำให้กฤษณ์ได้เรียนรู้ว่า เจตนาของคนที่ฟ้องคดีเหล่านี้ไม่ได้ต้องการนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าคุก แต่ต้องการปิดปากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ให้เข้ามาวุ่นวายอีกต่อไป ดร.กฤษณ์เล่าถึงคดีของนักการเมืองหญิงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในจังหวัดราชบุรี แต่กลับเลือกแจ้งความร้องทุกข์ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้การดำเนินและพิจารณาคดีเกิดขึ้นห่างไกลจากที่อยู่ของผู้ต้องหา

“ฐานความผิดที่มักจะถูกฟ้องสำหรับนักปกป้องสิทธิ คือ ข้อหาหมิ่นประมาทเป็นหลัก แต่ยุทธวิธีของการฟ้องของพวกนี้หรือการแจ้งความของตัวผู้ร้องทุกข์ คือ เขาจะไปร้องทุกข์ไกลๆ เช่น มีปัญหาที่สระบุรี แต่โพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ เขาก็บอกว่าเขารู้ขณะเดินทางไปจังหวัดนราธิวาส และเข้าแจ้งความที่จังหวัดนราธิวาส แต่ปัญหาจริงอยู่ที่สระบุรี”

กฤษณ์ เล่าถึงประสบการณ์ในคดีที่จังหวัดบุรีรัมย์ว่า พนักงานสอบสวนก็โทรศัพท์มาแจ้งเราว่าจะขอสอบสวนเพิ่มเติม จึงทำหนังสือแจ้งพนักงานสอบสวนไปว่า ข้อเท็จจริงเกิดจากการถูกกลั่นแกล้ง แล้วพนักงานสอบสวนจะสอบเรามีประเด็นอะไรบ้าง และเขาจะสามารถส่งสำนวนไปให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เราอยู่สอบสวนแทนได้หรือไม่ เขาก็เงียบหายไป 2-3 เดือน และส่งเรื่องมาให้พนักงานสอบสวน สน.หัวหมวก เป็นผู้สอบแทน

“หากเคยมีโอกาสได้ทำคดีฟ้องปิดปาก พยายามศึกษาไว้ให้เยอะ และหาข้อต่อรองกับพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินทางบ่อย หากรู้ว่าเขาจะเอาเปรียบ ก็ต้องรู้ทันเขา ใช้วิธีการแบบนี้แทน เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง”

กฤษณ์ยังเล่าถึงประสบการณ์ที่เคยพยายามใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และมาตรา 165/2 ว่า ตนเคยมีประสบการณ์ใช้งานอยู่คดีหนึ่ง โดยทราบจากการให้สัมภาษณ์มาก่อนว่าจะมีการยื่นฟ้องคดี แม้ว่าศาลจะยังไม่ได้สั่งรับฟ้อง ยังไม่มีเลขคดี ก็ทำหนังสือเป็นคำร้องถึงศาลขอตรวจสอบสำนวนและดูคำฟ้อง และได้ขอให้ศาลพิจารณายกฟ้อง และศาลก็มีคำสั่งยกฟ้องให้ ถือว่าประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องมีหมายเรียกหรือไปไต่สวนมูลฟ้องแต่อย่างใด

สุภัทรา: นักปกป้องสิทธิฯ ควรได้รับหลักประกันและการคุ้มครองเป็นพิเศษ

สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้จัดจ้าง รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท (คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ให้ยกร่างกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแล้ว และยังมีกฎหมายหลายตัวที่เข้าไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งทาง กสม. เห็นว่าจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเช่นกัน  

“เนื่องจากนักปกป้องสิทธิในปัจจุบันก็ยังอาจขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรม และขาดกลไกในการเฝ้าระวัง คนที่ลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ เขาไม่ใช่คนเท่ากันทั่วไป เขากำลังเป็นประชาชนตื่นรู้ เขาไม่ละเลยกับสิ่งที่เป็นความไม่ถูกต้องและกระทบต่อส่วนร่วม เขาควรจะมีหลักประกันที่จะได้รับความช่วยเหลือดูแล สิ่งนี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ” 

สุภัทรา เสนอว่า ให้มีการจัดทำ Whitelist (บัญชีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน) ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มีมานานตั้งแต่สมัยที่จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้มีการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ระดับล่างที่ไม่มีคนรู้จักไปจนถึงด้านบนที่ได้รับความสนใจจากสังคม เช่นเดียวกับกองทุนยุติธรรม ควรจะต้องเพิ่มเงื่อนไขการต่อสู้หรือปกป้องผลประโยชน์สาธารณะเข้าไปในกองทุน เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการประกันตัวหรือจ้างทนายความในการไม่ให้เป็นภาระกับตัวความมากจนเกินไป

ขณะที่ด้านฝั่งภาคธุรกิจเอง สหประชาชาติเองก็เห็นเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในตอนนี้ และได้มีการออกข้อชี้แนะการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน (UNGP) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีหน้าที่และความรับผิดชอบทางด้านสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น ไม่ใช่ลำพังแค่หน่วยงานรัฐอีกต่อไป ซึ่งทาง กสม. ก็กำลังทำงานในเรื่องนี้ร่วมกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกำหนดให้กลุ่มบริษัทเหล่านี้ต้องทำรายงานประเมินผลกระทบทางธุรกิจที่มีต่อสิทธิมนุษยชนทุกปี

น้ำแท้: ข้าราชการหวั่นหากสั่งไม่ฟ้องคดีมีภาระต้องอธิบายเยอะ

น้ำแท้ บุญมีสล้าง อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา คดีฟ้องปิดปากจะถูกดำเนินในบริบทของคดีแพ่งเป็นหลัก เนื่องจากคดีอาญานั้นเอกชนฟ้องกันเองไม่ได้ แต่สิ่งที่สหรัฐอเมริกาแตกต่างจากประเทศไทย คือ คดีแพ่งของเขาจะผูกกับคำว่า ‘ผลประโยชน์สาธารณะ’ แต่ในบริบทของประเทศไทย เราพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามว่า คุณค่าที่แท้จริงของการคุ้มครองนั้นอยู่ที่การคุ้มครองผู้มีสถานะเป็นนักปกป้องสิทธิ หรือต้องการคุ้มครองการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 

“ที่ผมไปดูต่างประเทศ เขาเป็นเรื่องแพ่งอย่างเดียว และเขาก็เยียวยาด้วยการยกฟ้องทันที ยกฟ้องไม่พอ ก็ให้คนที่ฟ้องจ่ายค่าเยียวยาและทนายด้วย และศาลอาจจะออกมาตรการอะไรก็แล้วแต่ที่บังคับว่าอย่าทำแบบนี้อีก แต่พอมามองเรื่องอาญาที่มันเป็นบริบทของประเทศไทยโดยเฉพาะ มันต้องไปมองหลายกฎหมาย ผมไม่คิดว่ากฎหมายฉบับเดียวที่สถาปนาบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นนักป้องสิทธิฯ ขึ้นมาจะช่วยใครได้”

ดร.น้ำแท้ยังยกตัวอย่างว่าเราอาจจะต้องมุ่งใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างอื่นให้มากขึ้นในการป้องกันคดีปิดปาก หนึ่งในมาตรการเหล่านั้นคือ มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ที่ให้อำนาจอัยการสูงสุดในการสั่งไม่ฟ้องคดีได้ หากเห็นว่าคดีเหล่านั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 

“สมัยผมเป็นอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงที่จังหวัดสุพรรณบุรี มันจะมีวัดๆ หนึ่ง ในวัดก็จะมีการปลุกเสกน้ำมัน เอาผู้หญิงมานวดในนั้น มีการแปรูปไม้ ค้าขายวัตถุของขลัง กลางค่ำกลางคืนก็ตัดฟืนตัดไม้ ถ้าเรียกในภาษาพุทธเราเรียกว่าเดรัจฉานวิชา วิถีมันก็คล้ายๆ บริษัทที่สร้างรายได้แล้ว ชาวบ้านก็ทนไม่ได้ รวมตัวกัน 200-300 คน แล้วก็มีแกนนำ ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด กฎหมายที่รู้กันดีว่าใช้ในการเล่นงานคนตอนนั้นก็คือ ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”

“ทางวัดก็จ้างทนายฟ้อง ก็เลือกผู้ต้องหามา 9 คน ตำรวจก็ทำสำนวนมาถึงอัยการ ลูกน้องผมก็เสนอคำสั่งมาสั่งฟ้อง ผมดูแล้วจะทำยังไงดี ผมก็เห็นว่าสิ่งที่พระทำก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์ และก็รบกวนความเป็นอยู่ของสาธารณะในแถวนั้น ผมก็บอกลูกน้องว่าหาทางออกที่ไม่ต้องฟ้องให้หน่อยสิ เพราะผมมองว่าไม่เป็นประโยชน์ ลูกน้องไม่เชื่อ พวกเขาไม่เคยใช้มาตรา 21 ปกติก็สั่งก็ทำตามตำรวจขึ้นมา เรียกว่าเอาสะดวกเข้าว่า”

“ผมต้องมาเขียนบรรยายเองด้วยลายมือว่า การรวมกลุ่มของเขามีการใส่หน้ากาก และภาพที่ที่ปรากฎ ก็มีการเว้นระยะห่างพอสมควร และเมื่อเปรียบเทียบประโยชน์ของการฟ้องคดีกับสิ่งที่ผู้ต้องหาทำแล้ว เขากำลังปกป้องพระพุทธศาสนา เขากำลังทำให้สังคมดำเนินไปด้วยความสงบสุข ประกอบกับหลังจากนั้นก็มีการผ่อนคลายมาตรการ ก็ไม่ปรากฎว่ามีใครในวันนั้นแพร่เชื้อโรคจนเกิดการระบาด เสนอไปทั้งรองอธิบดี อธิบดี รองอัยการสูงสุด ไปอัยการสูงสุดตามลำดับชั้น รวมๆ แล้วก็ 20 รายชื่อ แค่เรื่องๆ เดียวต้องมีคนพิจารณาทั้ง 20 คน แต่ตั้งแต่ 20 ชื่อ จนถึงอัยการสูงสุด ไม่มีใครแย้งผมสักคำเลย”

นี่คือตัวอย่างของการใช้มาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ ในการแก้ไขปัญหาคดีฟ้องปิดปาก แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า มาตราเหล่านี้ไม่ค่อยถูกหยิบมาใช้โดยอัยการมากนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะความเกรงกลัวและทัศนคติของข้าราชการที่ต้องพึงระวังว่าจะเขียนอธิบายเหตุผลใดไม่ให้ถูกเพ่งเล็งจากผู้บังคับบัญชา

“อัยการบางคนอาจจะไม่อยากเขียนคำอธิบายว่าทำไมถึงต้องไม่ฟ้องด้วยเหตุผลเยอะแยะ แต่ประเด็นหลักแล้ว คือเราต้องคิดว่าเราจะหาเหตุผลอะไรเพื่อเขียนลงไปและไม่โดนด่ากลับมา เพราะจะเอาเรื่องไปให้ผู้บังคับบัญชาสูงสุดพิจารณา เหตุผลเราต้องดีพอสมควร แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่ในวงการอัยการ แต่ก็เกิดในวงการผู้พิพากษาด้วย”

“ผมเคยทำคดีที่สิงห์บุรี คำพิพากษาแบบนี้ไม่เป็นธรรมเลย ผมก็คุยกับผู้พิพากษา จากตอนที่เราไปทานข้าวและเจอกัน ท่านก็บอกว่าช่วยอุทธรณ์ให้ผมหน่อย ผมเห็นด้วย ที่ท่านพูดน่ะถูกต้องแล้ว ให้ท่านช่วยอุทธรณ์ให้หน่อย จะได้ไปกลับฎีกาได้ ถ้าผมเขียนกลับฎีกาเอง หนึ่ง ผมก็ถูกเพ่งเล็ง สอง ผมต้องเขียนยืดยาวเพื่อทำลายฎีกาเดิมให้ได้ เขาก็ต้องขอยืมมืออัยการเขียน”

“ผมคิดว่าเป็นทัศนคติของข้าราชการด้วยที่หวั่นเกรงว่าหากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแหวกแนวจากที่เคยทำไปแล้ว และผู้บังคับบัญชาไม่ถูกใจขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง”

นอกจากอำนาจที่มีอยู่ตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ แล้ว ดร.น้ำแท้ ยังเห็นว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้สามารถคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น 

การเพิ่มข้อยกเว้นในกฎหมายหมิ่นประมาท โดยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 อาจยกเว้นให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่อาจจะมีข้อพิจารณาว่าควรจะยกเว้นความผิดไปเลยหรือไม่ หรือให้เป็นความเป็นผิดก่อนแล้วค่อยไปยกเว้นโทษ หรือจะเอาทั้งสองอย่างในดีกรีที่แตกต่างกัน ซึ่งในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา คดีปิดปากมีแค่มิติทางแพ่ง แต่ของประเทศไทยเป็นบริบททางอาญา ไม่สามารถใช้หลักการและเหตุผลแบบเดียวกันในการพิจารณาได้

การใช้มาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญฯ ที่กำหนดให้รัฐต้องคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพ แม้จะเป็นสิทธิเสรีภาพที่ไม่มีในตัวบทกฎหมาย เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องให้มากว่า คุณไม่สามารถฟ้องร้องการกระทำที่เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวอย่างถูกต้องได้

การเพิ่มฐานความผิดขัดขวางกระบวนการยุติธรรมเพื่อเป็นการคุ้มครองพยานไม่ให้ถูกข่มขู่จากการไปช่วยเหลือคนอื่น หรือ การยกเว้นโทษให้กับผู้ให้สินบน เพื่อให้ผู้ให้สินบนร่วมกันช่วยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งอาจจะช่วยปราบปรามการคอร์รัปชั่นได้ดีกว่ากฎหมายป้องกันคดีปิดปากเสียอีก

การแก้ไขอายุความให้มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง ตามกฎหมายของ ป.ป.ช. แล้ว คดีทุจริตในปัจจุบันนั้นไม่มีอายุความแต่ปัญหาสำคัญคือ สิ่งนี้ไม่ได้สร้างความแตกต่างระหว่างสมัยก่อนที่มีอายุความกับหลังที่ไม่มีอายุความแล้ว กลับกัน ยังทำให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยไม่มีประสิทธิภาพ สามารถถูกดองไว้อย่างยาวนาน โดยไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ พอจะตรวจสอบก็อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินคดี ซึ่งก็ถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องมีทบทวนการแก้ไขเรื่องนี้ว่าจะแก้ไขอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพขึ้นจริง ไม่ใช่แค่แก้ไปเพื่อให้เกิดความสบายใจเท่านั้น 

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage