.
วันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2567 ศาลอาญา นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ต่อเนื่อง ในคดีที่อานนท์ นำภา ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม “แฮรรี่ พอตเตอร์” เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563
การชุมนุมในวันดังกล่าว ผู้ชุมนุมนำเอานิยายชื่อดัง “แฮรี่ พอตเตอร์” มาใช้เป็นไฮไลท์ของกิจกรรม ซึ่งในนิยายเรื่องนี้มีตัวร้ายที่ถูกเรียกว่า “คุณก็รู้ว่าใคร” เพราะตัวละครในเรื่องต่างตกอยู่ภายใต้ความกลัว ไม่กล้าเอ่ยชื่อตรงๆ โดยวันนั้นเป็นครั้งแรกที่อานนท์ขึ้นเวทีปราศรัยในประเด็นพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์
ทนายอานนท์ได้กล่าวว่า เรื่องนี้ทุกคนจะต้องพูดในที่สาธารณะได้ โดยพูดด้วยความเคารพ การพูดเช่นนี้ไม่ใช่การพูดเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการพูดเพื่อให้สถาบันอยู่อย่างถูกต้องชอบธรรม ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรพูดเรื่องเหล่านี้แทนประชาชน
ในการปราศรัยครั้งนี้ ทนายอานนท์ได้กล่าวถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยหลายประเด็น ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย และการแก้ไขกฎหมาย ภายใต้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังการทำประชามติ การออกกฎหมายปฏิรูประบบทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ การออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลฯ และการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ก่อนหน้านี้มีการสืบพยานฝ่ายโจทก์มาแล้วหลายนัดระหว่างที่อานนท์ยังถูกคุมขังอยู่เรือนจำ อานนท์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาออกหมายเรียกเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นความจริง ไม่ใช่การใส่ร้าย และไม่ใช่การหมิ่นประมาท แต่ศาลยังไม่ออกหมายเรียกให้ การสืบพยานฝ่ายโจทก์จึงดำเนินไปโดยที่ฝ่ายจำเลยยังไม่ได้ถามค้าน เพราะรอการออกหมายเรียกเอกสารก่อน จนมาถึงวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2567 เป็นนัดที่พยานโจทก์ซึ่งเบิกความไปแล้วจะต้องกลับมาศาล เพื่อให้ฝ่ายจำเลยได้ถามค้านประกอบหลักฐานที่ออกหมายเรียกมา
แต่ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ศาลอาญาแจ้งว่าไม่ออกหมายเรียกให้ เพราะการออกหมายเรียกอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ทำให้ฝ่ายจำเลยไม่มีเอกสารมาใช้ในการถามค้าน และจำเลยเห็นว่าคำสั่งเช่นนี้จะทำให้จำเลยเสียเปรียบ ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงได้ยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจและขอให้เปลี่ยนผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในคดีนี้
ผู้พิพากษาที่ถูกตั้งข้อรังเกียจจึงนำคำร้องฉบับนี้ไปปรึกษาอธิบดีศาลอาญา ก่อนแจ้งว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนตัวผู้พิพากษา และยังสั่งให้คดีนี้พิจารณาคดีเป็นการลับ พร้อมกับสั่งห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่เกิดขึ้นในกระบวนการพิจารณาคดีนี้ โดยจำเลยโต้แย้งว่า ในเมื่อไม่ได้เอกสารมาก็ไม่สามารถถามค้านได้ และไม่มีประเด็นใดในการพิจารณาคดีที่จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี จึงไม่มีเหตุที่จะสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 อานนท์ซึ่งมาศาลในชุดนักโทษจึงถอดเสื้อนักโทษในห้องพิจารณาคดีเพื่อประท้วงการใช้อำนาจดุลพินิจของศาล ในระหว่างนั้นผู้สังกตการณ์ที่ติดตามไปให้กำลังใจก็ต้องออกนอกห้องพิจารณาคดี
เนื่องจากจำเลยไม่ได้เอกสารที่ต้องใช้ในการถามค้านมาตามที่ร้องขอ จำเลยจึงไม่สามารถถามค้านพยานโจทก์ต่อได้ และศาลสั่งให้ยกเลิกวันนัดสองวันนี้ที่พยานโจทก์ต้องมาศาลเพื่อให้ถูกถามค้าน และสั่งให้เริ่มการสืบพยานจำเลยทันที แต่จำเลยคัดค้านว่า เดิมวันนัดสองวันนี้เป็นนัดสืบพยานโจทก์ ฝ่ายจำเลยยังไม่ได้นัดหมายพยานของจำเลยให้มาศาล และยังไม่ได้เตรียมเอกสาร ขอให้ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยใหม่ แต่ศาลไม่เห็นด้วย และสั่งให้สืบพยานจำเลยในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567
ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีโดยลับ และศาลยังออกข้อกำหนดสั่งห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่เกิดขึ้นในกระบวนพิจารณา อานนท์แถลงต่อศาลว่า คดีนี้ศาลมีอคติและได้ขอให้เปลี่ยนตัวผู้พิพากษาแล้ว ฝ่ายจำเลยไม่มีเอกสารอะไรที่จะใช้สืบพยานได้ หากมีการสืบพยานจำเลยไปตามที่ศาลสั่ง ฝ่ายจำเลยก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งศาลบันทึกคำแถลงส่วนนี้ไว้
นอกจากนี้อานนท์ยังโต้แย้งว่า เหตุการณ์ในกระบวนการพิจารณาคดีส่วนที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลไม่มีอำนาจที่จะสั่งห้ามเผยแพร่ได้ และยืนยันว่าจะเผยแพร่ข้อมูลส่วนนี้ ศาลจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่พาตัวจำเลยไปคุมขังที่ใต้ถุนศาลทันที ทั้งที่ยังดำเนินกระบวนพิจารณาไม่เสร็จสิ้น
จากนั้นศาลกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 19 ธันวาคม 2567 โดยที่คดีนี้ฝ่ายจำเลยยังไม่มีโอกาสถามค้าน และไม่ได้สืบพยานจำเลย
ด้านทนายความของจำเลยแจ้งว่า จะทำคำคัดค้านกระบวนการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบที่เกิดขึ้นในวันนี้
อานนท์ ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมแล้ว 14 คดี ซึ่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว 4 คดี รวมโทษจำคุก 14 ปี อานนท์ยื่นอุทธรณ์ทุกคดี และถูกคุมขังรอบนี้มาตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 อานนท์ยังมีนัดหมายในการต่อสู้คดีอีกหลายคดี และนัดฟังคำพิพากษาที่ทยอยมาอย่างต่อเนื่อง