ถอดวงเสวนา มองไปข้างหน้าแก้ไขกฎหมายอายุความ ป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐลอยนวลพ้นผิด

15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.00 – 15.00 น. ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “แนวทางการแก้ไขอายุความอาญาเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้อายุความในการลอยนวล” ณ ห้อง 211 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ร่วมพูดคุยปัญหาการกำหนดอายุความในคดีอาญาตามกฎหมายไทย ซึ่งยังมีช่องให้ผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำละเมิดต่อประชาชน ใช้เงื่อนไขเรื่องอายุความยื้อเวลาเพื่อให้ตนเองลอยนวลพ้นผิดได้

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย ผศ.รณกรณ์ บุญมี รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและนิติการ, รศ.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ดำเนินรายการโดย ผศ. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถอดบทเรียนเพื่อมองข้างหน้า ทำอย่างไรไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐลอยนวลพ้นผิด

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวในช่วงต้นของเสวนาว่า “ปัญหาอายุความนี้สืบเนื่องมาจาก กรณีของคดีตากใบที่ขาดอายุความไปแล้ว ซึ่งหลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่าทำไมถึงต้องใช้ระยะเวลากว่า 20 ปี คดีนี้จึงจะสามารถไปถึงศาลได้ แต่ข้อใหญ่ของเรื่องนี้คือกฎหมายอายุความ ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 กำหนดว่าหากจำเลยหลบหนี แม้ศาลจะรับฟ้องแล้ว อายุความก็ยังขาดได้อยู่ หากหลบหนีเกินระยะเวลาของอัตราโทษที่ร้ายแรงที่สุด”

“ด้วยเหตุนี้ ในวันนี้ เราจึงมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องนี้อีก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนในสังคมโลก เพราะในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางกระบวนการดำเนินคดีทางอาญา เขาล้วนแต่ให้อายุความหยุดลงเมื่อศาลรับฟ้องหรือจำเลยหลบหนี จะอยู่กับที่หรือเริ่มต้นใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ และในคดีที่มีความร้ายแรงมาก เช่น การทุจริต การฆ่าคนตาย ในหลายประเทศก็ไม่มีการกำหนดอายุความไว้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยเรายังมีคดีที่นักการเมืองหนีจนอายุความขาดและกลับมาลอยนวล หรืออย่างกรณีเร็วๆ นี้ที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างคดีบอส-อยู่วิทยา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นซ้ำอีก หากเราไม่ทำอะไร”

“และสิ่งที่เป็นประโยชน์ของอายุความ คือ การเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการเร่งทำคดี ก่อนที่พยานหลักฐานจะเลือนลางหายไป อายุความมีเพื่อการนั้น อายุความจึงไม่ได้มีเพื่อให้ประโยชน์แก่จำเลยที่หลบหนี แต่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองเหยื่อ แต่ในประเทศไทยก็ถูกใช้ในทางกลับกัน เราจึงเห็นควรว่าควรสัมมนากันเพื่อยกร่างกฎหมายในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 โดยเฉพาะ”

ทั้งนี้ปริญญาได้เสนอร่างเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 เพื่อเป็นร่างเบื้องต้นสำหรับใช้สัมมนาวิชาการเพื่อแก้ไขกฎหมายอายุความ มีรายละเอียดดังนี้

“มาตรา 95 ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

………….

ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับกับคดีที่เจ้าหน้าที่หรือพนักงานของรัฐถูกฟ้องในข้อหาที่เป็นความผิดฐานทุจริต หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กระทำความผิดที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” (ข้อความที่ขีดเส้นใต้คือข้อความที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมขึ้น)

ด้านยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw เล่าในมุมจากคนทำงานภาคประชาสังคมว่า ในการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐมีอุปสรรคใหญ่ๆ สามข้อ ที่ทำให้การฟ้องคดีไม่ประสบความสำเร็จ

ประการแรก ความพร้อมของผู้เสียหายและครอบครัว ส่วนใหญ่ผู้ละเมิดสิทธิมักจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือนักการเมืองที่มีอำนาจ ส่งผลให้เหยื่อไม่อยากดำเนินคดีต่อ อยากจะจบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายจนเสียชีวิต เพราะนั่นแปลว่า ผู้ถูกกระทำจะดำเนินคดีเองไม่ได้ เขาตายไปแล้ว ตามกฎหมายอาญาจำเป็นต้องมีบุพการีหรือผู้สืบสันดานมาดำเนินการให้ คดีตากใบเป็นตัวอย่างคดีที่มีความชัดเจน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มต้นๆ มีทั้งมีลูก ไม่มีลูก ถ้ามีลูก ลูกก็ยังเล็ก ถ้ามีพ่อแม่ พ่อแม่ก็แก่แล้ว และส่วนใหญ่เป็นคนมลายูมุสลิม ซึ่งไม่ค่อยเข้าใจภาษาไทยและไม่รู้ว่าการดำเนินคดีทำงานอย่างไร

ประการที่สอง การแสวงหาหลักฐานในคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่เป็นเรื่องใหญ่ เจ้าหน้าที่รัฐยิ่งต้องพยายามปกปิดพยานหลักฐานอย่างดีที่สุด ขณะที่ฝั่งประชาชนผู้เสียหาย ไม่ได้มีอำนาจที่จะเข้าไปค้นพยานหลักฐานได้ แม้ว่าจะมีกลไกตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แต่กลไกนี้ก็ไม่ได้สามารถทำงานได้จริง ผู้เสียหายจึงมีความเสียเปรียบในเรื่องการแสงหาพยานหลักฐานมาก

ประการที่สาม อำนาจในตำแหน่งหน้าที่และบรรยากาศทางการเมือง คือ ถ้าผู้กระทำยังคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ ผู้เสียหายก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ยิ่งชีพยกตัวอย่างว่า สมมติมีกรณีที่ตำรวจซ้อมผู้ต้องหาที่สนามหลวง ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของสน.พระราชวัง และตำรวจคนนั้นก็ยังทำงานอยู่ใน สน.พระราชวัง มีความเกี่ยวพัน รู้จัก กับผู้บังคับบัญชา จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ประชาชนจะไปที่ สน.พระราชวัง และขอให้ตำรวจที่เป็นเพื่อนร่วมงานกับผู้กระทำความผิด ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

ในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับทางการเมือง อำนาจทางการเมืองก็เข้ามาเกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีก็เกี่ยวข้องกับการสั่งการ การละเมิด หรือกรณีตากใบ แม่ทัพภาคที่สี่ ต่อมาก็เป็น สส. พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล และใครจะสามารถไปเอาผิดเรื่องนี้ได้

สำรวจต่างประเทศ สิงคโปร์-อังกฤษ ไม่กำหนดอายุความ สหรัฐฯ ไม่มีอายุความคดีโทษประหาร

ผศ.รณกรณ์ บุญมี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาเล่าถึงเหตุผลที่กฎหมายต้องกำหนดเรื่องอายุความไว้ว่าอายุความไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของประเทศไทย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความไม่เป็นธรรม ความอยุติธรรมหรือความล้าหลังโดยตรงของประเทศไทยในการมีอายุความ อายุความมีเหตุผลจำเป็นด้วยกันทั้งหมดอย่างน้อยห้าเรื่อง

หนึ่ง เหตุผลด้านการรักษาพยานหลักฐาน ในปี พ.ศ. 2440 ขณะที่ประเทศไทยมีการร่างกฎหมายลักษณะอาญาขึ้น ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ร่างขึ้นตามแบบของตะวันตกที่มีลักษณะเป็นกฎหมายประมวล ก็มีการพูดคุยกันในการร่างว่าประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใด จะเป็นระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) หรือระบบกฎหมายแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Common Law) สุดท้ายก็มีการตกผลึกว่า การดำเนินคดีอาญาในประเทศไทย มีลักษณะของการพึ่งพาพยานบุคคลเป็นสำคัญ อาจแตกต่างจากยุโรปที่เริ่มมีความสัมพันธ์กับพยานวัตถุเข้ามา เมื่อพยานบุคคลสำคัญ ดังนั้นแล้วความทรงจำจะน่าเชื่อถือได้ก็ต่อเมื่อดำเนินคดีโดยเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดอายุความให้มีการดำเนินคดีโดยเร็ว

สอง เหตุผลในแง่ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เราต้องตั้งมั่นให้เป็นกลางและลืมไปก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นใคร วันหนึ่งเราอาจจะเป็นผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ เพื่อนเราหรือครอบครัวเราก็ถูกกล่าวหาได้ ดังนั้นแล้วผู้ถูกกล่าวหาจึงมีสิทธิหนึ่งที่รัฐธรรมนูญรับรอง คือสิทธิในการถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุด แต่ไม่เคยมีกฎหมายไหนบอกว่าคุณจะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคุณจะหลบหนี ดังนั้นเราต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และเขาจะมีชนักปักหลักไว้ถึงช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ควรจะมีไปเรื่อยๆ

สาม สนับสนุนกดดันให้พยานหรือผู้เสียหายนำคดีมาฟ้องโดยเร็ว อันนี้เป็นเหตุผลจากฝั่งคอมมอนลอว์

สี่ การเพิ่มความมั่นคงและสิ้นสุดลงของสถานะทางกฎหมาย ไม่ควรมีใครต้องได้รับสถานะทางกฎหมายหรือความหวาดระแวงแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ห้า ประสิทธิภาพในการบริหารงานยุติธรรม รัฐหรือศาลควรต้องได้รับรู้ว่าควรจะต้องเก็บเอกสารไว้มากนานเท่าใด เตรียมทรัพยากรหรือบุคคลมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้การดำเนินงานของศาลเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ

พอดูข้อดีห้าข้อนี้แล้ว ก็มานั่งคิดต่อว่า ข้อดีเหล่านี้มันคุ้มค่ากับการที่มีอายุความในคดีบางประเภทหรือไม่ ตนเชื่อว่า เราคงไม่ได้มาบอกว่า ต่อไปนี้ เราจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นบางประเทศที่ไม่มีอายุความเลย เช่น อังกฤษ แต่เราควรมาคุยกันว่า คดีประเภทไหนควรจะมีหรือไม่ควรจะมี ประเทศไทยเป็นประเทศที่สุดโต่ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราคุยกันว่าคดีบางประเภทควรจะมีอายุความหรือไม่ เราเคยคุยเรื่องนี้กันไปแล้ว เคยผ่านรัฐสภา ทั้งในชั้น สส. และ สว. สุดท้ายหลักการว่าคดีบางประเภทไม่มีอายุความนั้นก็ถูกชัตดาวน์ลงในชั้น สว.

รณกรณ์ เล่าถึงการกำหนดอายุความของประเทศในกลุ่มที่เป็นระบบคอมมอนลอว์ว่า สิงคโปร์ ไม่กำหนดอายุความเลย ขณะที่อังกฤษ โดยหลักแล้ว ไม่มีอายุความ รัฐสภาอังกฤษไม่เคยกำหนดอายุความ โดยถือหลักว่าไม่ควรจะมีใครได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิด เว้นแต่ เป็นความผิดเล็กน้อย เรื่องนี้เคยมีการต่อสู้คดีเชิงสิทธิมนุษยชนว่าการไม่มีอายุความถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนของรัฐสภาแห่งยุโรป ซึ่งกำหนดว่า การดำเนินคดีจะต้องดำเนินในเวลาที่สมเหตุสมผล แต่ศาลอังกฤษสู้กลับ โดยตัดสินว่า การดำเนินคดีที่ใช้เวลานานในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ ไม่เป็นการกระทบสิทธิ หรือไม่ทำให้คดีนั้นขัดกับหลักการดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อยกเว้นว่าถ้าเป็นคดีเล็กน้อย ต้องดำเนินคดีภายในหกเดือน

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการกำหนดอายุความเป็นหลัก โดยกำหนดไว้ว่า คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตไม่มีอายุความ  คดีก่อการร้าย กำหนดไว้ว่า ถ้าเป็นการก่อร้ายที่น่าจะก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความตาย ความบาดเจ็บสาหัส ไม่มีอายุความ และก็จะมีฐานความผิดอื่นๆ เช่น หนีภาษี ฉ้อโกง

ส่วนฐานความผิดอื่นที่มีอัตราโทษไม่ถึงประหารชีวิตนั้น ไม่ได้กำหนดอายุความเป็นขั้นบันไดเหมือนในประมวลกฎหมายอาญาของไทย แต่จะใช้ระยะเวลาเดียวกันคือห้าปี โดยเจตนาเบื้องหลังของการกำหนดอายุความแบบนี้ เพื่อให้มีการหาพยานหลักฐานโดยเร็ว เร่งรัดกระบวนการให้มีความน่าเชื่อถือของพยาน แต่หากเราไม่รู้ตัวว่าผู้กระทำความผิดคือใคร จะทำอย่างไร กฎหมายของสหรัฐฯ ยกช่องว่างตรงนี้ว่าในคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดและเป็นคดีที่ไม่มีอายุความ ถ้าหากมีดีเอ็นเอหรือร่องรอยบ่งบอกตัวบุคคล ก็สามารถฟ้องคดีได้ทันที และอายุความก็จะหยุดลง หรือในคดีที่เกี่ยวกับเด็ก กว่าเด็กจะพร้อม จะกล้า หรือให้ข้อมูลได้ อาจจะต้องใช้เวลา กฎหมายของสหรัฐฯ ก็มีข้อยกเว้นว่าในการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อร่างกาย หรือการลักพาตัวเด็ก อายุความจะต้องเท่ากับอายุเด็กหรืออย่างน้อย 10 ปี ซึ่งกฎหมายไทยไม่ได้กำหนดเรื่องนี้

เมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2450 ถึง พ.ศ. 2499 ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การบังคับใช้ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายตามแบบตะวันตกฉบับแรกของประเทศไทย มาตรา 79 บอกชัดเจนว่า ในระหว่างคดีอยู่ในศาล ถ้ามีการออกหมายเรียกหรือหมายจับและจำเลยหลบหนี ให้อายุความสะดุดหยุดลงทันที ไม่นับต่อ ถ้าจับได้เมื่อไร ก็ให้นับอายุความต่อ และเมื่อไปค้นคำพิพากษาฎีกา ก็พบว่าศาลเองเคยมีแนวคำพิพากษาเหล่านี้ ถ้าเรายังอยู่ในประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 อยู่ ทุกวันนี้เราจะไม่มีปัญหาเรื่องอายุความคดีตากใบ เมื่อศาลตัดสินแล้วว่ามีมูล มีความน่าเชื่อถือ เป็นไปได้ว่าอาจจะกระทำความผิด และจำเลยหลบหนี อายุความจะต้องถูกหยุดชะงักลง

รณกรณ์เห็นว่า การกำหนดเรื่องอายุความ เป็นเรื่องของการสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของผู้ต้องหาและสิทธิของผู้เสียหาย รวมถึงการมีประสิทธิภาพในการบริหารงานยุติธรรม สำหรับเรื่องนี้ ขอเสนออีกทางเลือกหนึ่ง คือ กำหนดให้นำหลักการเรื่อง  “อายุความหยุดชะงักลง” มาใช้กับความผิดเกี่ยวกับการใช้อำนาจโดยมิชอบ รวมถึงคดีอุ้มหาย การทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต หรือน่าจะเสียชีวิต ซึ่งหลักการเรื่องอายุความชะงักลง มีอยู่ในกฎหมายไทยแล้ว คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

อีกวิธี คือ เพิ่มความเข้มข้นในขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพ โดยให้อัยการและพนักงานฝ่ายปกครองเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในตรวจสอบการเสียชีวิต ที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าพนักงานหรือถูกเจ้าพนักงานวิสามัญฆาตกรรม ส่วนข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ตนเห็นว่ายังได้สมดุลที่อยู่ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในเรื่องนี้

“ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมีความพยายามในการผลักดันให้ไม่มีการกำหนดอายุความใน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งมีร่างถูกเสนอเข้ารัฐสภาทั้งหมดสี่ร่าง สามร่างแรกมาจากจากพรรคการเมือง ซึ่งทั้งหมดไม่มีอายุความ มีเพียงแต่ร่างของ ครม. เท่านั้นที่มีการกำหนดอายุความ แต่ก็มีประนีประนอมกันเกิดขึ้นให้มีการขยายอายุความของการทรมานและอุ้มหายเป็น 40 ปี ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่สุดท้ายถูกชัตดาวน์ในชั้นพิจารณาของวุฒิสภา เขารับเกือบทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องนี้”

“ประเด็นสุดท้าย เกี่ยวกับว่าการกำหนดว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงอายุความแล้ว จะต้องใช้บังคับย้อนหลังแค่ไหนเพียงใด ขอเรียนถึงผู้พิพากษาว่า เรื่องหลายเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเขียนลงไปในกฎหมาย ก็ไม่ต้องเขียน เรื่องนี้เคยมีการตัดสินมาแล้วในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ศาลพูดชัดว่า ถ้าคดีไหนอายุความยังไม่หมด ถ้ามีการแก้ไขอายุความ เรื่องนี้เป็นการแก้ไขเรื่องของวิธีการพิจารณาความ แม้ว่าจะอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา แต่เนื้อความของกฎหมายอายุความโดยแท้เป็นวิธีพิจารณาความ ดังนั้นแล้วหากมีการแก้ไข ตราบใดที่อายุความยังไม่หมด ก็สามารถแก้ได้ทันที แต่หากหมดแล้ว อาจจะมีประเด็นเกี่ยวเนื่องว่าสถานะของบุคคลหากจบแล้ว ไม่ควรจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่”

หลายประเทศใช้ระบบ Civil Law ยังกำหนดอายุความ ยกเว้นสี่ความผิดร้ายแรงตามธรรมนูญกรุงโรม

รศ.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เวทีในวันนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อพูดคุยเรื่องคดีตากใบเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการพูดถึงเรื่องราวภายหลังจากคดีตากใบหมดอายุความแล้ว เป็นการมองไปข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้อีก จากภาพรวมที่ ผศ.รณกรณ์ ให้ข้อมูลไว้นั้น จะเห็นได้ว่าระบบกฎหมายในโลกนี้มีหลายระบบ มีทั้งระบบที่ให้ความสำคัญกับอายุความ จนถึงระบบที่ไม่มีอายุความ

ปกป้องเล่าถึงประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ โดยเฉพาะในยุโรป ความผิดเกือบทุกประเทศนั้นมีอายุความทั้งหมด แต่ไม่ว่าจะเป็นระบบไหน ความเป็นสากลของระบบอายุความมีอยู่เรื่องเดียว คือสี่ฐานผิดสำคัญ ได้แก่ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมรุกราน ซึ่งบทบัญญัติในข้อ 29 ของธรรมนูญกรุงโรม เขียนไว้ชัดเจนว่าสี่ฐานความผิดเหล่านี้ไม่มีอายุความ เพราะฉะนั้นต่อให้ยาวนานขนาดไหน จับกระทำตัวผู้กระทำความผิดได้เมื่อไร ก็นำตัวมาดำเนินคดีได้ โดยไม่สามารถยกอายุความขึ้นมาต่อสู้คดีได้เลย ต่อให้ประเทศไหนเขียนอายุความ ก็มีผลเพียงแค่ขาดอายุความในประเทศนั้น แต่สุดท้ายศาลอาญาระหว่างประเทศก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ ภายใต้เงื่อนไขอำนาจของศาลนั้น

“ประเด็นนี้ช่วยอธิบายให้เห็นถึงความเป็นสากลของระบบอายุความ แม้กระทั่งประเทศฝรั่งเศสที่มีความเคร่งครัดมากๆ ในการกำหนดอายุความ แต่เขาก็ยังยินยอมให้กับฐานความผิดสากลเหล่านี้ไม่มีอายุความ คำถามต่อมาคือ มีสาเหตุอะไรที่ไปเขียนกฎหมายให้คดีเหล่านี้ไม่มีอายุความ คำตอบง่ายๆ คือ ฐานความผิดเหล่านี้ถือเป็นความผิดที่ร้ายแรงที่สุดของโลก ดังนั้นเหตุผลในการกำหนดอายุความขึ้นมา ไม่สามารถเอาชนะต่อความร้ายแรงของฐานความผิดเหล่านี้ได้เลย”

ปกป้องยกตัวอย่างสามปัญหาของการกำหนดอายุความในประเทศไทย ประการแรก คือ โดยหลักแล้วกฎหมายไทยไม่ได้กำหนดให้อายุความหยุดลงหากจำเลยหรือผู้ต้องหาหลบหนี ยกเว้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และฉบับก่อนในปี 2554 ซึ่งใช้บังคับกับคดีทุจริต ข้อเสนอต่อไปคือ เราควรนำมาตรการเหล่านี้ไปใช้กับฐานความผิดอื่นๆ อีกหรือไม่ เช่น คดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือฐานความผิดที่มีโทษประหารต่างๆ ถ้าหากจะทำ ก็คงต้องไปแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพราะอายุความของคดีความทั่วไปอยู่ที่ประมวลกฎหมายอาญา

ประการที่สอง คือ ประเทศไทยไม่มีการกำหนดให้อายุความสะดุดหยุดลงเมื่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายมีความตั้งใจที่จะดำเนินคดีอาญา ในขณะที่กฎหมายฝรั่งเศสกำหนดว่า เมื่อพนักงานสอบสวนเริ่มสอบสวน อายุความหยุดนับใหม่ อัยการสั่งฟ้องคดี อายุความหยุดนับใหม่ โจทก์ฟ้องคดี อายุความหยุดนับใหม่ เพราะฉะนั้นอายุความที่มีอยู่จะสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ทุกครั้งเมื่อมีการเริ่มหรือความก้าวหน้าของกระบวนการยุติธรรม ตรงกันข้ามกับประเทศไทย ที่อายุความของเราไม่หยุดให้แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าในกระบวนการยุติธรรมมากขนาดไหนก็ตาม สาเหตุที่ฝรั่งเศสใช้แบบนั้น มาจากฐานคิดที่ว่า การสั้นลงของอายุความนั้นไม่ใช่ความผิดของกระบวนการยุติธรรมที่มีความตั้งใจในการทำงาน หากแต่เป็นการไม่ให้ความร่วมมือของผู้ต้องหาที่หลบหนีการดำเนินคดีหรือทำให้คดีล่าช้า ซึ่งหากพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ปัจจุบัน จะเห็นว่าก็มีกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงคือหากรับฟ้องและได้ตัวจำเลยมา แต่ไม่ได้นำมาใช้บังคับกับกรณีก่อนฟ้องและไม่ได้ตัวผู้กระทำความผิดมา ประเด็นนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องแก้ไข

ประการที่สาม การกำหนดอายุความกรณีที่เด็กเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้กระทำความผิด กฎหมายฝรั่งเศส กำหนดให้เริ่มนับอายุความเมื่อเด็กบรรลุนิติภาวะ เพื่อคุ้มครองเด็กอย่างแท้จริง เช่น กรณีเด็กที่เป็นเหยื่อในคดีอนาจารหรือข่มขืน โดยเฉพาะกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ปกครอง เป็นญาติของเด็ก หรือเด็กต้องอยู่ในความดูแล กฎหมายฝรั่งเศสกำหนดว่ายังไม่ต้องเริ่มนับอายุความ แต่ให้เริ่มนับเมื่อเด็กบรรลุนิติภาวะ มีอำนาจตัดสินใจเต็มที่ คือเมื่อบรรลุนิติภาวะก่อน ซึ่งประเทศไทยไม่ได้กำหนดไว้ หากแก้ไขได้ จะช่วยให้รัฐสามารถคุ้มครองเด็กและอาจจะรวมไปถึงกรณีของผู้คนที่อยู่ใต้อำนาจหรือการปกครอง

ไม่ใช่แค่เรื่องอายุความ หากแต่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า จากตัวอย่างของระบบกฎหมายที่มีความแตกต่างกันจากหลายประเทศ และยังคงมีความยายามในการแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนตัวแล้ว อาจจะไม่สามารถสรุปแบบเด็ดขาดได้ว่า ระบบกฎหมายอายุความที่ดีที่สุดเป็นอย่างไร แต่อาจจะมีบางเรื่องที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าไม่ควรมีอายุความ คือฐานความผิดทั้งสี่ฐานตามธรรมนูญกรุงโรมที่มีความร้ายแรงสูงสุด

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากๆ และไม่ใช่เพียงแค่มีผลกระทบต่อเหยื่อ แต่ยังมีผลกระทบต่อมโนสำนึกของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม และไม่อาจยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและคนกระทำความผิดลอยนวล เพียงเพราะว่า กระบวนการยุติธรรมทำงานไม่เร็วพอหรือมีอุปสรรคในการดำเนินการ  เพราะหากเราคิดถึงเหตุการณ์จากสี่ฐานความผิดนี้ เช่น เหตุการณ์เขมรแดง การฆ่าล้างชาวยิว ชาวรวันดา ยูโกสลาเวีย หรือแม้แต่ที่กำลังเกิดขึ้นในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เหตุการณ์เล่านี้แม้จะผ่านไปสิบๆ ปีแล้ว เราก็ยังพูดถึงกันอยู่ เราก็มองว่ามันเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคม และเราพยายามจะทำทุกๆ ทางเพื่อให้ไม่เกิดขึ้นอีก ไปจนถึงแม้แต่การเปลี่ยนกระบวนการที่เราจะสอนเด็กๆ ตัวอย่างอย่างในเยอรมันที่ชัดเจนมากว่า เด็กเขาจะเติบโตท่ามกลางประวัตศาสตร์เหล่านี้เพื่อไม่ให้พวกเขาโตไปเป็นผู้ที่กระทำความผิดแบบนี้อีก”

“สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม และขณะที่องคาพยพอื่นๆ ในสังคมเขาพยายามผลักดันเรื่องเหล่านี้ แต่การที่องคาพยพฝั่งกฎหมายจะมาบอกว่า ก็มันครบอายุความแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐทำงานได้ไม่เต็มที่ หลักฐานพยานไม่ครบ เราก็เลยไม่สามารถกลับไปชำระประวัติศาสตร์ส่วนนั้นได้ ส่วนตัว ขอพูดแรงๆ เลยว่า หน้าไม่อาย”

“พอทราบว่าประเทศไทยมีแนวคิดอยู่ว่าให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ จากกฎหมายของ ป.ป.ช. ก็เลยมานั่งคิดว่า ที่จริงแล้วก็มีเรื่องที่สังคมไทยคิดเห็นร่วมกันว่าสำคัญพอ สำคัญถึงขนาดที่ต่อให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานช้าลงหน่อย เราก็ยอมไม่ได้ที่จะปล่อยผ่านเรื่องเหล่านั้นไป เช่น เรื่องของการทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่ไม่ดี แต่ก็สะท้อนใจนิดหน่อยคือ การทุจริตไม่ทำให้คนตาย แต่อาจจะส่งผลกระทบให้สังคมทั้งระบบสูญเสียความเชื่อมั่น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ฆ่าคนจำนวนมากแล้ว เรากลับยอมรับได้มากกว่าการทุจริต แปลว่าสังคมของเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการอยู่รอดของคนตัวเล็กตัวน้อย แต่เรื่องนี้ก็ถูกพูดกันมากขึ้นในสังคมในช่วงที่ผ่านมา และทำให้การฆ่าคนจำนวนมากถูกหยิบขึ้นมาเป็นหนึ่งในรายชื่อของอาชญากรรมที่มีความร้ายแรง และฐานความผิดอื่นอีกๆ เช่น การละเมิดเด็ก ซึ่งแต่ละเรื่องมีเหตุผลการคิดเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน”

“ส่วนตัวจึงอยากเสนอว่าให้นำรายชื่อฐานความผิดที่เคยมีการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ในชั้นของรัฐสภามาแล้ว นำกลับมาพิจารณาใหม่ ว่ามีเรื่องไหนบ้าง เหตุผลคืออะไร และอันไหนที่สังคมไทยเห็นพ้องตรงกันแล้วว่า ควรอยู่ในฐานความผิดที่มีความร้ายแรง นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ที่เราจะมีควรร่วมกันในสังคม นักกฎหมายและคนร่างกฎหมาย ก็ควรจะต้องทำงานในเชิงประวัติศาสตร์ให้ต่อเนื่องมากกว่านี้”

“อยากให้ชวนกันคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเพียงแค่อายุความอย่างเดียว แต่สะท้อนถึงเรื่องความเชื่อมั่นที่เรามีต่อกระบวนการยุติธรรม ความเชื่อมั่นที่เรามีต่อคนทำงานในภาครัฐ คือถ้าเราเชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐจะทำงานเต็มที่แน่นอน เราจะรู้สึกว่าการมีอายุความจะช่วยเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานมาก แต่ถ้าเราไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะทำงานอย่างแข็งขัน เราก็จะรู้สึกว่า อายุความจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติต่อคดีที่แตกต่างกันได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เพราะว่าความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงนั้น ทั้งการเมืองและประสิทธิภาพของข้าราชการเอง ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดได้ แต่เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น” ฐิติรัตน์กล่าวทิ้งท้าย

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ