Exclusive Talk: “4 ปีใต้เงา 112: Under article 112” เขาวงกตการเมืองของมาตรา 112

19 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.00 – 19.30 น. องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายนักกิจกรรมทางการเมือง ประกอบด้วย แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และThumb Rights ร่วมจัดงานนิทรรศการ เนื่องในโอกาสครบรอบสี่ปีของการกลับมาใช้มาตรา 112 ในการดำเนินคดีระลอกใหม่ ภายใต้หัวข้อ “4 ปีใต้เงา 112: Under article 112” ณ ห้อง 102 คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายในงานมีกิจกรรมเกมบันไดเพื่อเสรีภาพ ทายคำถาม เอ็กคลูซีฟทอล์ก การจับฉลากของขวัญ และวงเสวนาจากหลากหลายวิทยากรทั้งภาคส่วนทนายความ องค์กรภาคประชาสังคม นักกิจกรรม และผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112

หนึ่งในกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นคือ Exclusive Talk ซึ่งเป็นการร่วมนำเสนอข้อมูลและเรื่องราวโดยสรุปของสถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 ในประเทศไทย โดยมีวิทยากรผู้นำเสนอรวมจำนวนสามคน ได้แก่ ปฐมพร แก้วหนู Freedom Bridge ในประเด็น “วังวนที่ยังไม่สิ้นสุด”, อัครชัย ชัยมณีการเกษ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในประเด็น “ประเทศไทยในสายตาโลก” และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw ในประเด็น “สถานการณ์ใต้เงา ม.112”

วังวนที่ยังไม่สิ้นสุด: แผลสดของผู้ต้องหาคดีการเมืองที่ไม่ได้เจ็บแค่ตัวจำเลย

ปฐมพร แก้วหนู จาก Freedom Bridge เริ่มต้นจากการชวนตั้งคำถามถึงจำนวนผู้ต้องขังคดีตามมาตรา112 ที่ต้องอยู่ในเรือนจำตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ก่อนจะเฉลยว่า มีผู้ที่เคยถูกต้องขังอยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 61 คน ลำพังเพียงแค่เดือนพฤศจิกายน 2567 ก็มีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 41 คน และเป็นข้อหาตามคดีมาตรา 112 จำนวน 26 คน ซึ่งคดียังไม่สิ้นสุด 17 คน และสิ้นสุดแล้วเก้าคน

“จากโทษที่ทุกคนได้รับ เรียงตามจำนวนโทษจำคุกจากมากไปน้อย บัสบาสโดนเยอะสุด 54.6 ปี ไบรท์-ชินวัตร 17 ปี อานนท์ 14 ปี ยังไม่สิ้นสุดและยังมีเป็นอีก 10 คดีที่รอการตัดสิน กันต์ฤทัย 12 ปี เก็ท-โสภณ 8.6 ปี และยังไม่สิ้นสุด ก้อง อุกฤษฎ์ 7.6 ปี จิรวัฒน์ 6 ปี กัลยาที่ถูกขังอยู่ที่เรือนจำนราธิวาสและทิวากรถูกคุมขังอยู่ที่ขอนแก่น 6 ปีเช่นกัน อุดม 4 ปีอยู่ที่ มานี โทษจริง 3.6 ปี ขุนแผน 3.6 ปี อัฐสิษฎ 3 ปี วีรภาพ 3 ปี ขนุน-สิรภพ 2 ปี วารุณี 2 ปี”

“ผู้คนยังคงต่อสู้คดี และยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวสามคนใน 17 คน เป็นพ่อของลูกวัยทารก ลูกของเขาตอนที่ถูกศาลตัดสินจำคุกยังพูดไม่ได้ เดินไม่ได้ เป็นพ่อที่ต้องถูกพรากไปจากลูกสองคนต่อมาเป็นนักศึกษาเพิ่งเรียนจบ กำลังจะเริ่มต้นทำงานหรือเรียนต่อปริญญาโท แต่กลับถูกตัดสินคดีในศาลชั้นต้นและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว”

“อีกสองคนเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีปัญหาเรื่องการรับยารักษาโรคในเรือนจำ ปัจจุบันยังต้องมีการประสานเรื่องยาเรื่องสิทธิต่างๆ และอีกสองคนนี้เป็นคนที่มีโรคประจำตัว จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีของขุนแผนที่เส้นเลือดในสมองตีบ แต่ไม่ได้รับการรักษาและถูกพาไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ตอนนี้เขาสามารถกลับมาอยู่ในเรือนจำปกติได้แล้ว และยังมีอีกสองคนในนี้ที่ถูกคุมขังข้ามภูมิภาคกับบ้านเกิด คือเขาเป็นคนภาคกลาง แต่ถูกดำเนินคดีและจำคุกในเรือนจำที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ อุดมและกัลยา”

“ต่อมาเป็นเก้าคนที่คดีสิ้นสุดแล้ว คุณป้าอัญชัญถูกตัดสินโทษจำคุก 87 ปี และโทษจริงที่เขาได้รับคือ 43.6 ปี ยังติดมาไม่ถึง 1 ใน 3 แม้ว่าจะติดคุกมาเกือบ 8 ปีแล้ว อยู่ที่เรือนจำหญิงกลาง คุณแม็กกี้ โทษที่ตัดสินมา 50 ปี ลดโทษเหลือ 25 ปี วุฒิ 36 ปี เหลือ 18 ปี พรชัยถูกขังอยู่ที่เชียงใหม่ โทษ 12 ปี เวหา 9 ปี สมบัติจากข้อหาคดี 112 4 ปี ทีปกร 3 ปี มีชัย 2.8 ปี และธนพร 2 ปี” 

“ธนพรเป็นแม่ลูกอ่อนของลูกสองคน ตอนที่เธอถูกศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก ลูกเธอเพิ่งอายุหกเดือน ยังไม่หย่านม ตอนที่มาฟังคำพิพากษา ลูกเธอยังดูดนมอยู่ในห้องพิจารณาอยู่เลย และผู้พิพากษาก็บอกว่า ช่วยเอาเด็กออกไปหน่อย เพราะต้องอ่านคำพิพากษา ลูกเธอตอนนั้นยังหลับอยู่ในห้อง”

ปฐมพร อธิบายต่อไปว่าผู้ต้องหาทั้งเก้าคนที่คดีถึงที่สุดแล้ว พวกเขาจะไม่สามารถคาดหวังกับสิทธิในการประกันตัวได้ คนเหล่านี้ยังต้องชีวิตอยู่ในเรือนจำ เป็นเวลาที่ยาวนานเมื่อคิดคำนวณถึงระยะเวลาของโทษที่พวกเขาได้รับ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเหล่านี้ มีผู้สูงวัยและเป็นเสาหลักของครอบร่วมอยู่ด้วย เมื่อไม่มีพวกเขาแล้ว ครอบครัวก็ต้องพบกับความลำบากในการสู้ชีวิตเพื่อดูแลครอบครัวต่อไป 

“มีหนึ่งคนที่เป็นพ่อของลูกที่มีความพิการทางสติปัญญา เขาเคยต้องพาลูกไปหาหมอไปบำบัดอยู่ตลอด แต่เขาก็ไม่ได้ทำสิ่งนั้นมาสองปีแล้ว จากโทษที่เขาได้รับ”

“ปัจจุบันโครงการ Freedom Bridge ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาจำนวน 41 คน เป็นเงินจำนวนมากถึงประมาณสามแสนบาทต่อเดือน โดยมีการส่งอาหารให้กับผู้ต้องหาในหลายๆ เรือนจำ มีการฝากเงิน มีการดูแลครอบครัวของผู้ต้องขังบางคนที่จำเป็นจริงๆ เพราะพ่อและแม่ของเขาถูกขังอยู่ในเรือนจำ ทำให้ประสบกับความลำบากในหลายส่วน สิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบที่พูดไม่หมดว่าเขาโดนอะไรกันบ้าง การที่ขังคนหนึ่งคน ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เป็นสมาชิกของครอบครัวใด มันทำให้เหมือนกับขังคนอีกสองสามคนเพิ่ม การที่ผู้ต้องหาที่คดียังไม่สิ้นสุดจำนวน 17 คน ซึ่งไม่ได้ประกันตัว อาจจะต้องคูณสองคูณสามเข้าไปกับจำนวนจริงของผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะเขาต่างได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจและเศรษฐกิจ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในความรู้สึกของพวกเขา อย่างเด็กที่ไม่มีพ่อไม่มีแม่ เขาก็จะขาดความทรงจำของพ่อหรือแม่เขาไปในช่วงเวลาที่สำคัญ”

“อาจจะมีเกือบสิบครอบครัวที่ต้องไม่มีพ่อหรือแม่จากผู้ต้องหาคดีทางการเมืองทั้งหมด” ปฐมพรสรุป

“เรื่องนี้ยังเป็นผลกระทบและเป็นวังวนที่ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ หากยังมีการใช้มาตรา 112 หากยังมีการจำคุกโดยไม่รอลงอาญา นอกจากไม่รอลงอาญาแล้ว ยังไม่ให้สิทธิในการประกันตัว ผลกระทบเหล่านี้ก็จะวนเวียนกันต่อเนื่อง สิบปีก่อนก็อาจจะมี ตอนนี้ก็ยังมี และอนาคตอาจจะยังมี ถ้ายังมีมาตรา 112 บังคับใช้อยู่และไม่ให้สิทธิในการประกันตัว”

ประเทศไทยในสายตาโลกวิกฤตการณ์ของเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมสาธารณะ

อัครชัย ชัยมณีการเกษ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนำเสนอว่า สถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมภายในประเทศยังคงเป็นวิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เยาวชนและนักศึกษาออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งคำถามถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ประเทศไทยมีการใช้กฎหมายอาญารุนแรงหรือมาตรา 112 ในการปราบปรามและปิดปากประชาชนไปแล้วกว่าเกือบ 2,000 คน

“2,000 ชีวิตที่ต้องขึ้นศาลกับการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และแม้จะเห็นว่าเมื่อครบ 4 ปีแล้ว การใช้มาตรา 112 ก็ยังไม่หมดไป จนถึงตอนนี้ก็ยังมีอยู่ จากสถิติ ตั้งแต่ 19 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา เราจะเห็นว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จำนวน 275 คนจาก 307 คดี โดยที่ส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกิดขึ้นจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ อาจะมีการปราศรัยหรือแสดงออกอื่นๆ บ้าง ที่ผลสุดท้ายแล้ว เวลามีการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะถูกรัฐใช้คดีมาตรา 112 มาทำโทษและดำเนินคดี”

“และแม้ว่าเราจะมีการเลือกตั้งในปีที่ผ่านมาก็ เรื่องนี้ก็ยังคงไม่หมดไป สถิติระบุว่านับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลในช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว ก็ยังคงมีการดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ เป็นจำนวนมากถึง 29 คดี แสดงให้เห็นว่าคดีมาตรา 112 ยังไม่ไปไหนและยังคงวนเวียนอยู่กับสังคมไทย 

หากถามว่าในสายตาของประชาคมโลก พวกเขามองเรื่องนี้อย่างไร อัครชัยตอบคำถามนี้ด้วยการยกตัวอย่างจากกลไกพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2567 กลไกพิเศษนี้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยแล้วรวม 111 ฉบับ ซึ่ง 104 ฉบับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมสาธารณะ ดังนั้นแล้ว อัครชัยจึงสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องนี้ในสายตาของชาวโลก

“ใน 104 ฉบับ ที่ผู้รายงานพิเศษฯ ส่งให้รัฐบาลไทย นับตั้งแต่ปี 2549 นั้น มี 23 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้มาตรา 112 และในปี 2554 – 2563 ก็จะมีขึ้นลงเรื่อยๆ ปีละสองถึงสามฉบับ แล้วในหนังสือเหล่านั้นมีอะไร ผมขอย้อนไปในปี 2554 หนังสือถึงรัฐบาลไทยในปีนั้น เขา (ผู้รายงานพิเศษฯ) วางหลักการสำคัญไว้ว่า ถ้าคุณจะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก มันมีหลักการระหว่างประเทศที่คุณต้องเคารพอยู่ คุณถึงจะสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างชอบธรรม ซึ่งเขาบอกไว้แล้วว่าเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมีด้วยกันทั้งหมดสามหลัก ได้แก่ หนึ่ง หลักกฎหมายต้องมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ ห้ามอะไรบ้าง ไม่ห้ามอะไรบ้าง สอง คุณจำกัดสิทธิไปเพราะอะไร และสาม คุณจะจำกัดสิทธิ คุณต้องจำกัดสิทธิ์โดยได้สัดส่วนและจำเป็น แต่เมื่อเขาเอาหลักนี้มาพิจารณากับมาตรา 112 เขาบอกเลยว่า มาตรา 112 ไม่ผ่านเงื่อนไขเหล่านี้หมดเลย”

“เขาบอกเลยว่า มาตรา 112 นิยามไม่ชัดเจน มีความคลุมเครือ คือประชาชนเขาอ่านตัวบทกฎหมายนี้แล้ว เขาไม่รู้ว่าพูดอะไรได้ พูดอะไรไม่ได้ มันไม่ชัดเจน ถ้ามันไม่ชัดเจน กฎหมายก็ไม่เป็นธรรม อย่างที่สอง เขาบอกเลยว่าจุดประสงค์ที่รัฐไทยชอบอ้างในการใช้มาตรา 112 ว่าเป็นไปเพราะความมั่นคงของรัฐ ทางสหประชาชาติเองก็บอกอย่างชัดเจนว่า ทุกครั้งที่อ้างถึงความมั่นคงของรัฐ คุณสามารถพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐานได้ไหมว่า ถ้าคนพูดอะไรเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มันจะกระทบถึงความเป็นอยู่ของรัฐ หมายความว่ารัฐจะหายไปเลยหรือ มันมีภัยที่คุกคามความเป็นอยู่ของรัฐเลยไหม ถ้าไม่ใช่ มันก็เป็นจุดประสงค์ที่ไม่ชอบธรรม อย่างที่สาม ถึงคุณจะผ่านขั้นแรกและขั้นสองมาแล้ว โทษตามคดีมาตรา 112 ก็ยังคงไม่ได้สัดส่วน โทษ 3-15 ปี มันมากเกินไป มันไม่ได้สัดส่วน ควรจะเปลี่ยนเป็นโทษปรับแทนไหม เกณฑ์โทษนี้ไม่เข้าเงื่อนไขหลักของผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ”

อัครชัยยังเน้นย้ำว่า หนังสือที่สหประชาชาติส่งถึงรัฐบาลไทยไม่ได้มีความแตกต่างกันในด้านเนื้อหา ทั้งฉบับปี 2554, 2557 และ 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาปัจจุบัน “เขาพูดซ้ำไปซ้ำมาเหมือนเดิม จะเห็นได้ว่าในสายตาแห่งสหประชาชาติ เรื่องมาตรา 112 ยังเป็นปัญหาอยู่มาก เขาวางหลักไว้ให้แล้ว เขาบอกรัฐบาลไทยแล้ว แต่เราก็ยังไม่เปลี่ยน และล่าสุดก็มีคณะทำงานของสหประชาชาติเพิ่งส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยว่าการคุมขังทนายอานนท์ อำภา มันขัดต่อหลักการและกฎหมายระหว่างประเทศ เขาขอให้ปล่อยทนายอานนท์ นำภาโดยทันที”

“เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า มาตรา 112 เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรอีกแล้ว มันชัดเจนว่าขัดกับหลักการกฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชน สาเหตุที่ผมพูดถึงเรื่องนี้ เพราะว่าประเทศไทย ตอนนี้ชนะการเลือกตั้งเข้าไปเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในการหาเสียงนั้น รัฐไทยก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการสิทธิมนุษยชน หรือจะมีการสนับสนุนการทำงานของผู้เชี่ยวชาญพิเศษแห่งสหประชาชาติ แต่ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติก็ได้พูดเรื่องมาตรา 112 มาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว ว่าให้แก้ไขมาตรา 112 เถอะ ให้เลิกคุมขังประชาชนด้วยมาตรา 112 เถอะ ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2567 แล้ว ผมก็หวังว่าประเทศไทยจะทำตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้กับประชาคมโลกในฐานะคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ”

สถานการณ์ใต้เงา ม.112: ไม่มีสิ่งใดที่เป็นการเมืองไปมากกว่ากฎหมายมาตรานี้

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เกริ่นถึงความคาดหวังของตนว่างานครั้งนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่ต้องจัดงานครบรอบการบังคับใช้มาตรา 112

“จัดงานทุกปี ตั้งแต่ครบรอบ 1 ปี การใช้ มาตรา 112 ครบรอบ 2 ปี ครบรอบ 3 ปี ครบรอบ 4 ปี ก็จัดมาเรื่อย พูดตรงๆ บางทีผมก็เบื่อบ้าง คือไม่ได้อยากให้มันครบรอบแล้วเราต้องจัดอีก เราอยากให้มีอะไรเกิดขึ้นก่อน แล้วเราไม่ต้องจัดปีที่ 5 แต่เราก็พยายามแล้ว มันก็มาครบรอบถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน ไม่อยากจัดแล้ว แต่เราก็ต้องจัด ผมมองซ้ายมองขวา ไม่รู้ว่าจะชวนใครมาพูด ก็เลยต้องลงมือพูดเองทุกปี หวังว่าปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่เราต้องจัด”

“ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นเยอะมาก พวกเรา (iLaw) ที่เราเชื่อว่าเราเป็นมืออาชีพด้านการบันทึกข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูล เราทำไม่ทันเลย มีคำพิพากษาไปแล้วอย่างน้อยถึง 164 คดี คำพิพากษาตั้ง 164 คดี มีทั้งที่ดีมากอย่างน่าทึ่ง ต้องขอชื่นชมผู้พิพากษาหลายท่านที่กล้าหาญ ยกฟ้องในบรรยากาศที่เราไม่คิดว่าเขาจะกล้า มีทั้งคดีที่ให้รอลงอาญา ไม่อยากลงโทษอะไรรุนแรง และมีอีกหลายคดีที่เรารู้สึกว่าคดีนี้ต้องยกฟ้อง แต่ก็เอาคนไปขังคุกหลายสิบปี มีเรื่องราว มีคนเข้าออกเรือนจำ ไปต่างประเทศ ถูกจับกลับมา ไปต่างประเทศ เดินทางกลับ มีทุกรสชาติตลอดสี่ปีที่ผ่านมา”

แต่ยิ่งชีพตัดบทผู้ฟังทุกคน ด้วยการกล่าวว่าตนจะไม่พูดถึงเรื่อง 4 ปีที่ผ่านมา แต่จะพูดเรื่องที่เก่ากว่านั้น และเล่าผ่านจากภาพเพียงแค่สามภาพ

ภาพแรก: ดา ตอร์ปิโด: 

“คุณดา ตอร์ปิโดถูกจับตั้งแต่ปี 2551 เป็นคนแรกๆ ที่ต้องเข้าไปเทสมาตรา 112 ว่ามันจะถูกใช้งานอย่างไร คดีของเธอถูกจับจากการปราศรัยสามครั้งสามข้อความ ตอนนั้นไม่มีแนวคดีให้ดูว่าจะสู้อย่างไร แต่เธอก็สู้ว่าเธอไม่ได้ด่าถึงพระมหากษัตริย์ เธอด่าถึงแค่องคมนตรี แต่ศาลไม่เชื่อ ศาลลงโทษจำคุก 18 ปี ตอนแรกศาลชั้นต้นลงโทษ 18 ปี ต่อมาลดเหลือ 15 ปี”

“โทษ 18 ปีจากการกระทำสามครั้ง แปลว่าหนึ่งการกระทำ ศาลลงโทษจำคุก 6 ปี ทันทีที่ถูกจับเมื่อปี 2551 คุณดาไม่เคยได้รับการประกันตัว รับโทษยาวมาจนรับโทษครบ เมื่อขึ้นศาล ศาลสั่งพิจารณาเป็นการลับ คุณดาคัดค้าน ยื่นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญว่าพิจารณาเป็นการลับไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วบอกว่าสั่งได้”

“ในวันที่เธอเดินออกจากเรือนจำ ผู้คนก็แทบจะลืมเธอแล้ว”

“แต่พี่ดาก็ยังมานะ เขายังมางานแบบนี้ ยังมางานกิจกรรมทางการเมือง แต่ก็ยากมากๆ สำหรับคนคนหนึ่งที่โดนคดีตามมาตรา 112 ในอัตราโทษที่หนักพอสมควรแล้วออกจากเรือนจำ ออกมาใช้ชีวิต มาหางานทำ มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ พี่ดาก็ไม่ได้ทำงานอะไรจริงจัง ก็ค้าขาย เราก็ช่วยกันซื้อของของแกอยู่ จนกระทั่งเสียชีวิต…นี่คือเรื่องราวของคนคนหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2551 ถ้านับไปก็ 16 ปีตอนที่โดนจับ แล้วก็เป็นคนแรกๆที่ได้ทดสอบว่าคดีมาตรา 112 มันใช้ยังไง”

ภาพที่สอง: ภาพบรรยากาศงานคณะนิติราษฎร์จัดงานเสวนาเรื่องแก้ไขมาตรา 112 เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

“วันนั้นเราก็ล่ารายชื่อแก้ไขมาตรา 112 เสนอไป บรรยากาศตอนนั้นสนุกมาก พี่สมยศไม่ได้เห็นเพราะอยู่ในเรือนจำ คุณดาไม่ได้เห็นเพราะอยู่ในเรือนจำ คนเต็ม นั่งพื้น ล้นออกมาข้างนอก เต็มถนนด้านหน้า แทบจะเข้าไปฟังไม่ได้เลย ภาพบรรยากาศวันนั้น มาตรา 112 เป็นของใหม่ และคนสนใจมาก ผมไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นมาจากไหน แต่ในความเข้าใจของผม คนเหล่านี้คือเสื้อแดง ในวงเล็บ ผู้สนับสนุนพรรคสีแดง”

ภาพที่สาม: ทอม ดันดี ในชุดนักโทษ

“ทอม ดันดี เป็นคนที่มีคดีมาตรา 112 จำนวนมากพอสมควร คือสี่คดี จากการปราศรัยบนเวทีคนเสื้อแดงทั้งหมด โดนจับโดย คสช. และขึ้นศาลทหาร โดนคดีที่หนึ่ง ศาลทหารพิพากษาลงโทษ คดีที่สอง ศาลทหารพิพากษาลงโทษ รวมจำคุก 10 ปี 10 เดือน พอมีอีกสองคดี ศาลยกฟ้องเฉยเลย พี่ทอมสารภาพ แต่ศาลกลับยกฟ้องในปี 2561 คุณทอมจึงเป็นพยานบุคคลคนสำคัญที่จะเล่าเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนว่า กาลครั้งหนึ่งไม่นานมาแล้ว มาตรา 112 จะถูกใช้ก็ได้ จะไม่ถูกใช้ก็ได้ คนคนเดียว ปราศรัยสี่ครั้ง รับสารภาพ ถูกพิพากษาบอกว่าผิดสองครั้ง บอกว่าไม่ผิดสองครั้ง เรื่องของคุณทอมสอนอะไรเราหลายอย่างว่า ไม่มีคดีไหนจะมีความเป็นการเมืองมากไปกว่าคดีตามมาตรา 112 อีกแล้ว”

“ถ้าบรรยากาศทางการเมืองเป็นแบบปี 2551 คุณดา ตอร์ปิโด ถูกจับทันที ไม่ได้ประกันตัว ขึ้นศาลลงโทษ 6 ปี ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ บรรยากาศปี 2561 ผ่านอะไรมามากมาย คุณทอมดันดี สารภาพ ยกฟ้องก็ได้ “

ยิ่งชีพยืนยันว่า การทำงานรณรงค์เรื่องคดีมาตรา 112 ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยขยับขับเคลื่อนวิธีการบังคับใช้มาตรา 112 ขึ้นมาบ้าง ยกตัวอย่างกรณีของดาตอร์ปิโด ซึ่งถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี แต่ปัจจุบัน กลับไม่พบอัตราโทษที่สูงถึงขนาดนี้แล้ว เช่นเดียวกับการรอลงอาญาและการให้ประกันตัว ซึ่งสามารถพบได้ในจำเลยคนเดียวกัน ในคดีบริบทใกล้เคียงกัน แต่บรรยากาศทางการเมืองแตกต่างออกไป

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกแรงที่ลงไป ทุกครั้งที่หยิบไมค์พูดขึ้นมาพูด คนฟังมากบ้างน้อยบ้าง แต่สุดท้ายมันส่งผลไปว่าเขาจะพิจารณาว่าเขาจะเอาอย่างไร ผมเชื่อว่าทุกครั้งที่เราพยายามจัดงาน ทุกครั้งที่เราพยายามมาเจอกัน ทุกครั้งที่เราต้องจับไมค์ขึ้นพูด แม้จะดูว่าเขาไม่ฟัง แม้จะดูว่าเขาไม่ยอม แม้จะดูว่าเขาไม่เชื่อ แต่เขาได้ยิน และมันจะสะสมไปเรื่อยๆ และเขาจะตัดสินใจว่ามาตรา 112 จะถูกบังคับใช้อย่างไร”

“แม้ว่าทางข้างหน้าอีก 2-3 เดือน ก็จะมีการพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมในรัฐสภาแล้ว และดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่มีทางยอมเลย เขาลืมคุณทอมดันดี ลืมคุณดาไปแล้ว เขาลืม ครย.112 ไปแล้ว แต่ไม่เป็นไร ผมเชื่อว่าเขาได้ยิน และทุกครั้งที่เราพยายามพูด ทุกครั้งที่เราพยายามมารวมตัวกัน จะช่วยส่งเสียงไปให้ถึงพวกเขาเรื่อยๆ”

“ไม่ว่าทางข้างหน้า การนิรโทษกรรมจะเป็นอย่างไร เราจะยังพยายามช่วยกันพูดเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เติมจิ๊กซอว์ ค่อยๆหยดน้ำในมหาสมุทร จนถึงวันที่สมควร กฎหมายที่เป็นมาตราที่ใช้ในทางการเมืองมากที่สุดก็จะมีวันที่ผันเป็นอย่างใดอย่างอื่นอีก มันอาจจะไม่ตรงไปตรงมาเป็นการแก้ไขยกเลิกหรือการนิรโทษกรรมก็ได้ แต่สุดท้ายกฎหมายนี้ก็จะแปรผันไปตามบรรยากาศทางการเมือง” ยิ่งชีพทิ้งท้าย

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ