จำเลยขอศาลอย่าปิดทางสู้ สืบพยาน #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

3

13 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ศาลอาญา นัดพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 22 คนสืบพยานโจทก์ในคดี  “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112,  ยุยงปลุกปั่น  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, กีดขวางทางสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558 และอื่นๆ จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

เวลา 9.30 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์และพิเคราะห์กรณีที่จำเลยมาศาลไม่พร้อมหน้ากัน ระหว่างการปรึกษาหารือกับทนายจำเลย ไบร์ท-ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ขอแถลงต่อศาลด้วยถ้อยคำว่า

“ปกติผมไม่เคยขอพูดอะไรมาก แต่วันนี้ผมขอพูดในฐานะตัวแทนของผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ผมก็อยากจะขอร้อง วิงวอนต่อท่านอยากให้ศาลชั้นต้นอย่างที่ท่านบอกเมื่อสักครู่นี้ว่าการให้ประกันตัวมันเลยอำนาจขอบเขตของศาลชั้นต้น ในเมื่อเรื่องในสังคมมันเกิดขึ้นแบบนี้ ผมขอวิงวอนต่อท่าน ให้ท่านได้ปรึกษากับผู้บริหารศาลได้ไหม เรื่องของหลักการในการประกันตัว ท่านรู้ไหมครับว่าคดีที่พวกผมโดนมันเป็นคดีที่เกี่ยวกับความคิด โดยเฉพาะผมที่มีลูกถึงสามคน คนโตอายุเก้าขวบ คนกลางอายุเพียงสี่ขวบ และคนเล็กอายุแปดเดือนคนกลางเพิ่งจะเริ่มเข้าเรียนเตรียมอนุบาล แล้วภรรยาของผมเป็นคนลาว ซึ่งผลกระทบของการได้รับการประกันตัว ทำให้ครอบครัวของผมต้องแตกแยก และเด็กที่เพิ่งเกิดและพึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังหลักของชาติของบ้านเมืองเขาจะคิดอย่างไรกับท่าน

ตอนนี้ผมไม่รู้หรอกนะครับว่าเด็กอาจจะยังไม่ได้คิดอะไรเลยเพราะเด็กอาจจะยังคิดไม่ถึง แต่วันหนึ่งถ้าเขาโตมา เขาอาจจะมองท่านในแง่มุมหนึ่ง ว่าท่านคือส่วนหนึ่งของการที่ทำให้พ่อของเขา ต้องถูกจองจำอยู่แบบนี้ไปตลอดโดยที่ไม่มีโอกาส โดยเฉพาะผม ผมยอมทุกอย่าง ให้ความร่วมมือกระบวนการยุติธรรมหมดทั้งสิ้น มิหนำซ้ำผมยังสารภาพในสิ่งที่ผมกระทำผิด สำนึกในสิ่งที่กระทำผิด เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินมาแล้วผมก็ยังอยู่ในกระบวนการการยื่นอุทธรณ์ก็มีการขอประกันตัวแต่ก็ไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งผมก็ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี แต่ศาลก็พยายามที่จะใช้เงื่อนไขโดยใช้คำพูดว่าที่ไม่ให้ประกันตัวเพราะเกรงว่าผมจะหลบหนีซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติการณ์นั้นเลย 

ผมก็ไม่เข้าใจว่าการพิจารณาของท่านเอาความรู้สึกของคนอื่นมาตัดสินผมหรือไม่ ผมจึงอยากให้ท่านได้ไปปรึกษาหารือกับศาลชั้นสูงที่ท่านกล่าวมาว่ามีอำนาจในการให้ประกันตัวเมื่อสักครู่นี้ได้ไหมครับว่าให้มาหาทางออกร่วมกันเพื่อให้สังคมได้เดินหน้าต่อไปแล้วไม่ต้องมาจมอยู่กับความขัดแย้งอีกต่อไปแล้วขอพูดเพียงเท่านี้ครับท่าน” 

เวลา 11.30 น. ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อจำเลยมาไม่ครบและในการสืบพยานครั้งนี้จะต้องเบิกตัวอานนท์ นำภา มาร่วมสืบพยานในฐานะทนายความร่วมด้วยจึงให้การสืบพยานเลื่อนออกไปเป็นช่วง 13.00 น. ของวันเดียวกันนั้น

ต่อมาในเวลา 13.00 น ภายใต้ห้องพิจารณาที่มีทนายจำเลยมากกว่าสิบคนรวมทั้งอานนท์ นำภา ที่ถูกเบิกตัวมาพร้อมกับชุดนักโทษและสองข้อเท้าที่ถูกล็อคด้วยกุญแจเท้า บรรยากาศในห้องพิจารณาเริ่มตึงเครียดเนื่องจากการสืบพยานปากแรกของคดีนี้ คือ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม โดยก่อนหน้านี้อัยการได้สืบพยานปากนี้ไปแล้ว นัดนี้จึงเป็นการถามค้านพยานโจทก์ของทนายจำเลย ทว่าทนายจำเลยเห็นพ้องกันว่าฝ่ายจำเลยได้ทำเอกสารขอพยานเอกสารซึ่งเป็นสาระสำคัญในการดำเนินคดี เช่น เอกสารการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของรัชกาลที่สิบ ระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2563 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ บริษัทการบินไทย และคําเบิกความพยานโจทก์ ในคดีหมายเลขคดีดําที่ 197/2482 ที่กระทรวงการคลังเป็นโจทก์ฟ้องรัชกาลที่เจ็ดกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ ศาลแพ่ง และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขคดีดําที่ 197/2482 ที่กระทรวงการคลังเป็นโจทก์ ฟ้องรัชกาลที่เจ็ดกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ ศาลอุทธรณ์ แต่กลับไม่ได้เอกสารจากหน่วยงานที่ขอไปและไม่ได้รับเหตุผลในการปฏิเสธการให้เอกสารดังกล่าว 

ศาลพยายามชี้แจงให้ทนายจำเลยถามค้านโดยไม่ต้องใช้พยานเอกสาร โดยกล่าวว่าต้องการให้ “กระบวนการพิจารณาเดินต่อไปได้” อานนท์ นำภาจึงกล่าวโดยสรุปใจความได้ว่า หากไม่มีพยานเอกสารการสืบพยานในครั้งนี้จะทำให้พยานโจทก์ถึงแม้จะรู้หรือไม่รู้ในสิ่งที่จำเลยถามค้านก็จะตอบว่า “ไม่ทราบ” “ไม่รู้” เพราะรู้อยู่แล้วว่าศาลไม่มีทางออกพยานเอกสารมาให้ จึงเสนอแนวทางว่าให้ศาลส่งคำขอไปแล้วรอการตอบกลับจากองค์กรต้นทางว่าเหตุใดจึงไม่สามารถส่งเอกสารมาให้ได้ ถ้าเกิดมีเหตุผล ตัวเขาเองก็จะยอมให้มีการสืบพยานต่อได้ แต่ถ้าศาลไม่ส่งเอกสารไปเลยนั่นหมายความว่าศาลปฏิเสธต้นทางของความยุติธรรม 

๐ อ่านคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสาร ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/10269 

ไผ่-จตุภัทรชี้การถูกกล่าวหาในมาตรา 112 ปิดสิทธิในการสู้คดี

ระหว่างที่มีการปรึกษาหารือสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 4 ขอแถลงโดยมีใจความโดยสรุปว่าคดีของเขาโดนกล่าวหาทั้งมาตรา 116 และมาตรา 112 เดิมทีเขาถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 อย่างเดียว แต่ต่อมาก็มาเพิ่มมาตรา 112 และถูกรีบส่งอัยการโดยใช้เวลาแค่ห้าวันในการฟ้องศาล เขากล่าวต่อว่าการกล่าวหาด้วยมาตรา 112 เป็นเรื่องที่ร้ายแรง ถ้าศาลได้ไปอ่านในคำปราศรัยจะเห็นว่าในสิ่งที่สมยศปราศรัยเป็นความปรารถนาดี และสิ่งที่พูดถึงคือสิ่งที่รัชกาลที่ 10 ประทับอยู่ต่างประเทศในความรับรู้ของเขา ทำให้สมยศขอตารางการบินเป็นพยานเอกสารไว้ ซึ่งเขาเข้าใจว่าขอไปแล้วศาลก็ได้รับไว้ตอนนัดพร้อมครั้งแรก แต่พอครั้งนี้ไม่มีเอกสารแล้วเขาจึงตั้งคำถามว่าจะสามารถถามค้านได้อย่างไรเพราะว่าพยานเอกสารนี้เป็นสาระสำคัญในข้อกล่าวหา

โดยทนายได้แถลงเพิ่มว่าเหตุผลที่ต้องใช้พยานเอกสารฉบับที่สมยศได้ขอไปเนื่องจาก ณ ขณะเกิดเหตุสภาผู้แทนราษฎรแห่งประเทศเยอรมนีได้อภิปรายในกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงประทับอยู่ ณ ประเทศเยอรมนีเป็นเวลายาวนาน แต่อย่างไรก็ดี ศาลยังยืนยันว่าต้องการให้การสืบพยานในวันนี้ไปต่อได้ ขอให้มีการถามค้านไปก่อนเพราะโดยหลักในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ศาลเชื่อได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิด หากโจทก์ไม่สามารถทำให้ศาลเชื่อได้ก็เป็นผลดีต่อจำเลย

จากนั้นไผ่-จตุภัทร์ลุกขึ้นขอแถลงต่อศาลว่า “ผมเรียนอย่างนี้ครับ ผมว่าหลักการมันไม่ได้อยู่ที่พยานอย่างเดียว แต่มันคือการนำสืบให้ศาลเห็นซึ่งหมายความว่าเวลาพยานโจทก์กล่าวหาเราว่าเราพูดเป็นเท็จ ในการนำสืบมันก็ต้องมีพยานหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เราพูดไม่ได้เป็นเท็จ ไม่อย่างนั้นมันคงไม่เป็นคดีตั้งแต่แรก ถึงแม้ว่าพยาน(โจทก์) จะรับหรือไม่รับแต่การที่เอาพยานเอกสารมาให้ศาลพิจารณามันจะทำให้ศาลเห็นว่าพวกเราไม่ได้พูดความเท็จ โดยเฉพาะการถูกกล่าวหาในมาตรา 112 มันปิดสิทธิในการสู้คดีของเรา แต่การมีพยานเอกสารจะเป็นตัวยืนยันว่าถึงแม้ว่าพยานอีก 100 ปากจะไม่รับแต่เราก็จะพยายามทำให้ศาลเห็น”

ณัฐชนนย้ำคดี #19กันยา ไม่ได้ตัดสินแค่ชีวิตของจำเลยยี่สิบสองคนแต่ตัดสินว่าอะไรคือความจริงในประเทศนี้

3

ภายใต้บรรยากาศที่น่ากระอักกระอ่วนบนข้อถกเถียงที่วกไปวนมาของศาลที่ย้ำว่าสามารถสืบพยานต่อได้แม้ไม่มีพยานเอกสารและเอ่ยว่าพยานโจทก์ที่มาในวันนี้ก็มาหลายนัดแล้วแต่ไม่ได้มีอะไรคืบหน้าเสียที เป็นการสร้างภาระให้แก่พยานโจทก์ด้วย ทำให้ณัฐชนน ไพโรจน์ หนึ่งในจำเลยของคดีนี้ขอแถลงต่อศาลว่า 

“ผมก็สงสัยเหมือนกันนะครับว่า การบอกว่าพยานมาหลายนัดมากซึ่งในทางหนึ่งจำเลยทุกคนหรือแม้แต่ผมก็มาแทบทุกนัด ในทางหนึ่งเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความจำเป็นที่จะต้องมาสืบพยานในคดีนี้มันมากน้อยแค่ไหนแต่ว่าพวกเราก็ยินดีที่จะมาทุกนัดเพื่อจะมาพิสูจน์ความจริง 

ท่านถามว่าพวกเราสืบได้ไหม ไม่รู้ว่าผมเข้าใจถูกไหมนะ แต่ผมเชื่อว่าพวกเราสืบได้แต่ว่าเรื่องของพยานเอกสารมันไม่ใช่แค่ว่าเบิกได้หรือเบิกไม่ได้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องว่าเราสู้กันอย่างเต็มที่หรือเปล่า ผมเชื่อว่าที่นี่คือศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมไม่เหมือนกับสนามรบ ศาลยุติธรรมพร้อมจะอำนวยความยุติธรรมทำให้เราต่อสู้กันได้อย่างเต็มที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่ใช่สนามรบที่เป็นสถานที่ที่ฉวยเอาโอกาสแล้วเอาชนะกันในตอนนั้น 

ท่านบอกว่ามันเป็นปัญหาเดิม ใช่ครับท่าน ผมมาศาลคดีนี้แล้วเราก็เจอปัญหาเดิมๆ ว่าเราตกลงกันไม่ได้เสียทีซึ่งผมก็คิดว่าผมเห็นด้วย แต่พวกเราคิดว่าคดีนี้เป็นคดีที่จุดจบมันจะอยู่ตรงไหน มันจะจบที่จำเลยทั้ง 22 คนนี้จะติดคุกใช่หรือไม่ ชีวิตของจำเลยทั้ง 22 คนนี้เป็นอย่างไร แต่ในความเห็นของผมคดีนี้เป็นคดีการเมือง คดีนี้ไม่ได้ตัดสินชีวิตของพวกผมแค่ 22 คน แต่คดีนี้ตัดสินว่าอะไรคือความจริงในประเทศนี้ อะไรที่ต้องแก้ไขในประเทศนี้ ดังนั้นเรื่องนี้มันใหญ่กว่า เรื่องที่เราจะสืบต่อไปได้ไหมโดยที่ไม่มีพยานเอกสาร ผมจึงอยากพูดว่าเราต้องทำให้มันถูกต้องที่สุด”

ศาลสั่งสืบพยานเท่าที่ไม่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสารที่ยังขอมาไม่ได้ก่อน

เวลา 16.30 น. ศาลอ่านกระบวนการพิจารณาโดยสรุปว่าการสืบพยานในวันนี้มี พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร เป็นพยานปากที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้ทำการซักถามไปยังพยานปากนี้แล้ว โดยให้พยานจำเลยถามค้านพยานปากนี้ต่อ แต่ทนายจำเลยส่วนใหญ่เห็นว่า พยานปากนี้เป็นผู้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด ซึ่งจำเลยแถลงว่าสิ่งที่จำเลยกล่าวปราศรัยในวันเกิดเหตุเป็นเรื่องจริง และกระทำไปโดยสุจริต โดยจำเลยต้องการเอกสารที่ออกหมายเรียกไว้ มาประกอบการถามค้าน ศาลตรวจสอบเอกสารที่จำเลยที่ 7 ที่ 9 ที่ 11 ขออ้างคำเบิกความไปยังคดีหมายเลขดำที่ 197/2482 ศาลแพ่ง ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 โดยมีหนังสือบอกกล่าวไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง และขออ้างคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ ที่ 197/2482  ศาลแพ่ง ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 และมีหนังสือบอกกล่าวไปยังประธานศาลอุทธรณ์ให้ส่งเอกสารมาตามที่ขอแล้ว แต่ศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้ส่ง ยังไม่ได้จัดส่งเข้าสำนวน 

ดังนั้นทนายจำเลยจึงประสงค์ให้ได้รับเอกสารตามคำขอก่อนจึงจะถามพยานปากนี้ ศาลหารือโจทก์ จำเลยและทนายจำเลยทั้งหมดแล้ว เกี่ยวกับพยานโจทก์ที่สามารถสืบต่อไปได้ เพื่อให้คดีดำเนินไปโดยไม่ขัดข้อง โจทก์แถลงว่าพยานปากที่จะสืบพยานได้ต่อไปคือผู้อำนวยการเขตพระนครและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่ได้ออกหมายเรียกไว้แล้วและจำเลยไม่ขัดข้องโจทก์จะนำพยานสองปากเข้าสืบวิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อทนายจำเลยทั้งหมดไม่ประสงค์ถามค้านพ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร จึงอนุญาตให้สืบพยานโจทก์ปากอื่นไปก่อนเพื่อให้กระบวนพิจารณาเดินต่อไปได้ จึงให้มีการสืบพยานต่อในวันที่ 14 พฤศจิกายนและ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 9.00 น. หากจำเลยคนใดประสงค์ให้ศาลพิจารณาเนื่องจากเหตุเจ็บป่วยหรือเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ให้ยื่นขอคำร้องพิจารณาลับหลังต่อศาล หากมาศาลโดยไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องถือว่าผิดสัญญาประกัน

 อ่านเพิ่มเติม

๐ รายละเอียดคดี

๐ กรณีการไม่ออกไม่เรียกพยานเอกสารเพื่อสู้คดี

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ