สร้างหลักฐานใหม่-อธิบายขัดแย้งกันเอง เปิดแท็กติกสู้คดีของผู้ผลิตสปายแวร์เพกาซัส

ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมทางการเมืองที่ตรวจพบว่า ไอโฟนของเขาถูกสปายแวร์เพกาซัสโจมตีในช่วงที่จัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2564 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป จำกัด สัญชาติอิสราเอล (NSO) ที่เป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและพัฒนาสปายแวร์เพกาซัส ต่อศาลแพ่งของไทย โดยเรียกค่าเสียหาย 2,500,000 บาทและขอให้ศาลสั่งให้ NSO หยุดใช้สปายแวร์เพกาซัสละเมิดความเป็นส่วนตัวของพลเมืองไทย

นับตั้งแต่ฟ้องคดีเมื่อ 13 กรกฎาคม 2566 คดีนี้นับเป็นคดีแรกของโลกที่ NSO ตกเป็นจำเลยและต่อสู้คดีจนกระทั่งสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 3-6 และ 10 กันยายน 2567 จากการสังเกตการณ์คดีพบว่า NSO พยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้เนื้อหาการต่อสู้คดีเป็นความลับ โดยไม่เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับลูกค้าโดยเด็ดขาด ให้การขัดแย้งตนเองกลับไปกลับมาว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้หรือควบคุมสปายแวร์เพกาซัส แต่ในขณะเดียวกันก็มีช่องทางตรวจสอบและปิดระบบจากทางไกล ทนายความจำเลยยังพยายามสร้างข้อสงสัยว่าโจทก์ถูกจ้างมาฟ้อง หรือมีผู้อยู่เบื้องหลังคดีนี้ ในขณะที่ประกาศต่อหน้าศาลว่า หากมีนัดสืบพยานเพิ่มเติม จำเลยจะไม่เดินทางมาศาลให้โจทก์ได้ถามเพิ่มอีก และใช้เอกสารที่ยื่นต่อศาลซึ่งเผยแพร่ก่อนสืบพยานไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

พยายามทำให้เนื้อหาคดีเป็นความลับ

หลัง NSO ได้รับหมายนัดของศาลแพ่ง และแต่งตั้งทนายความในประเทศไทยเป็นตัวแทนต่อสู้คดี จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มประสานงานเพื่อนำไปสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 โดยมีชมูเอล ซันเรย์ (Shmuel Sunray) หัวหน้าฝ่ายกฎหมายมาเจรจาด้วยตนเอง ฝ่ายโจทก์ยื่นข้อเสนอไปก่อนวันนัดไกล่เกลี่ยว่า หาก NSO ยินยอมเปิดเผยสัญญาซื้อขายสปายแวร์เพกาซัสกับรัฐไทย โจทก์จะไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายและถอนฟ้อง แต่ฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับผิด และไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลใดๆ เสนอให้เพียงเงินบางส่วน พร้อมตั้งเงื่อนไขว่า หากมีการเผยแพร่สัญญาประนีประนอมยอมความ จะบังคับเอาเงินคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ทำให้การไกล่เกลี่ยล้มเหลว นำไปสู่ขั้นตอนการสืบพยานเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษา

เมื่อไอลอว์เผยแพร่สรุปเหตุการณ์วันดังกล่าว ต่อสาธารณะ ทนายความของ NSO ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งลบรายงานข่าวชิ้นนี้ถึง 2 ครั้งก่อนเริ่มสืบพยาน แต่ศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อ 3 กันยายน 2567 ว่า ศาลไม่มีอำนาจสั่งให้ไอลอว์ลบเนื้อหา เพราะไอลอว์ไม่ใช่คู่ความในคดีนี้ พร้อมตักเตือนไม่ให้จตุภัทร์เผยแพร่ความลับในกระบวนการไกล่เกลี่ย

10 กันยายน 2567 ทนายความของ NSO ยังยื่นคำร้องขอให้ลงโทษจตุภัทร์ฐานละเมิดอำนาจศาล จากการนำข้อมูลการไกล่เกลี่ยไปเล่าให้ไอลอว์ทราบ และแชร์ลิ้งก์รายงานข่าวสรุปเหตุการณ์การไกล่เกลี่ยที่ไอลอว์เผยแพร่ แต่ศาลเห็นว่า จตุภัทร์แชร์ลิ้งก์ดังกล่าวก่อนที่ศาลจะออกข้อกำหนดเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 จึงไม่สามารถลงโทษได้ หาก NSO ได้รับความเสียหายต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่

นอกจากนี้ ก่อนเริ่มสืบพยาน ทนายความของ NSO ยังยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ โดยอ้างว่ามีข้อมูลและพยานหลักฐานในคดีที่เป็นความลับอันเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ฝ่ายโจทก์คัดค้านและแถลงต่อศาลว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีแต่ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะอยู่แล้ว ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ แต่อาจจะถามคำถามเกี่ยวข้องกับสัญญาที่ NSO ทำกับหน่วยงานความมั่นคงของไทย ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว สั่งให้คดีนี้พิจารณาโดยเปิดเผย ทำให้ผู้สังเกตการณ์ร่วมฟังการสืบพยานได้

อ่านเพิ่มเติม: NSO พยายามที่จะทำให้คดีเพกาซัส “เงียบ” แต่ยังไม่สำเร็จ

เขียนคำให้การอย่าง เบิกความอีกอย่าง ขัดแย้งกันเอง

คำฟ้องของจตุภัทร์ระบุว่า NSO เป็นผู้พัฒนา ผลิต และจำหน่ายสปายแวร์เพกาซัส ที่ถูกออกแบบมาให้เจาะระบบ สอดแนม และเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลในโทรศัพท์มือถือของเป้าหมาย โดยวิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ตกเป็นเป้าหมายไม่สามารถป้องกันตนเองได้ และแม้จะขายสิทธิการใช้งานให้หน่วยงานของรัฐบาลต่างๆ แล้ว จำเลยยังมีหน้าที่ต้องดูแลและควบคุมการใช้สปายแวร์เพกาซัสให้เป็นไปตามข้อตกลง และตามวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงเท่านั้น

26 ตุลาคม 2566 NSO ยื่นคำให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ใจความว่า จำเลยไม่ได้ดูแล ควบคุม หรือใช้เพกาซัสสปายแวร์กับเป้าหมาย จำเลยเป็นเพียงบริษัทผู้คิดค้นและพัฒนาเพื่อจำหน่ายให้แก่รัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ผ่านการตรวจสอบและคัดกรองภายในของจำเลยแล้ว ภายใต้ใบอนุญาตการส่งออกที่เข้มงวดของรัฐบาลอิสราเอล หากตรวจพบว่ามีการใช้งานที่ไม่ถูกต้องจะเพิกถอนสิทธิการใช้ทันที จำเลยเป็นเพียงผู้พัฒนาและให้สิทธิการใช้งานแก่ลูกค้า รวมถึงช่วยบำรุงรักษา แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน ลูกค้าเท่านั้นที่เป็นผู้ใช้ จำเลยไม่ได้ควบคุมการใช้งาน จึงไม่มีทางรู้ว่าเป้าหมายของลูกค้าคือใคร และไม่ได้เข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเป้าหมาย

อ่านคำให้การของจำเลยเพิ่มเติมได้ คลิกที่นี่

อย่างไรก็ตาม ชมูเอล ซันเรย์ ในฐานะตัวแทนของ NSO เบิกความต่อศาลแพ่ง ยอมรับว่า NSO สามารถตรวจสอบการใช้งานสปายแวร์เพกาซัสของลูกค้า โดยมีบันทึกกิจกรรมของผู้ปฏิบัติงานหรือ Activity Log ที่ฝังไว้ในซอฟต์แวร์ แต่ NSO จะตรวจสอบต่อเมื่อได้รับรายงานว่ามีการใช้ผลิตภัณฑ์ในทางที่ผิด โดยเริ่มจากการตรวจสอบกับลูกค้า ขอข้อมูลว่าเป็นเป้าหมายโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ขอดูหมายศาล ขอดูระยะเวลาที่ใช้งาน ถ้าลูกค้าไม่ให้ข้อมูลจึงจะตรวจสอบจาก Activity Log ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากลูกค้าก่อน ในกรณีที่ร้ายแรงหรือลูกค้าไม่ให้ความร่วมมือในกระบวนการตรวจสอบ จำเลยอาจระงับการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ชั่วคราว โดยปิดระบบได้จากระยะไกล (Kill Switch) ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดอาจยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

อ่านคำเบิกความของชมูเอลเพิ่มเติมได้ คลิกที่นี่ 

ในเอกสารคำให้การของจำเลยยืนยันว่า จำเลยไม่รู้ว่าเป้าหมายที่ลูกค้าใช้สปายแวร์เพกาซัสเจาะระบบคือใคร แต่ในการเบิกความตัวแทนของ NSO แสดงให้เห็นว่า NSO มีช่องทางที่จะทราบว่าเป้าหมายของลูกค้าคือใครผ่านทาง Activity Log ซึ่งฝังไว้ในระบบตั้งแต่แรก รวมถึงสามารถควบคุมการใช้งานของลูกค้าจากทางระยะไกลได้อีกด้วย แต่จำเลยกลับไม่ยอมอธิบายต่อศาลว่า มีการตรวจสอบการใช้งานสปายแวร์เพกาซัสในทางที่ผิดในกรณีของคดีนี้หรือไม่

นอกจากนี้ NSO ยังตั้งประเด็นการสู้คดีในระหว่างสืบพยานว่า สปายแวร์ที่เจาะระบบไอโฟนของจตุภัทร์อาจไม่ใช่สปายแวร์เพกาซัส การตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์โดยซิติเซ่นแล็บ (Citizen Lab) ซึ่งเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) ไม่น่าเชื่อถือ เพราะสามารถปลอมผลตรวจได้ โดยนำยูวัล เอลโลวิช หัวหน้าศูนย์วิจัยความปลอดภัยไซเบอร์ มหาวิทยาลัยเบนกูเรียน มาให้การเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ศาลเชื่อว่าซิติเซ่นแล็บใช้เครื่องมือชื่อว่า MVT ที่พัฒนาโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ในการตรวจสอบ เพราะเป็นข้อมูลเดียวที่พยานหาเจอ และยังอ้างอิงบทความที่เผยแพร่ก่อนวันสืบพยานเพียงหนึ่งสัปดาห์ว่ามีสปายแวร์หลายตัวที่มีรูปแบบการโจมตีคล้าย NSO ซึ่งเป็นการตั้งประเด็นใหม่ขึ้นอีก

อ่านคำเบิกความของยูวัล เอลโลวิชเพิ่มได้ คลิกที่นี่

การที่ NSO เพิ่งตั้งประเด็นเรื่องความไม่น่าเชื่อถือของผลการตรวจสอบของโจทก์ในระหว่างสืบพยานจำเลย ทำโจทก์ไม่สามารถนำพยานมาให้การเพื่ออธิบายประเด็นนี้ให้ชัดเจนขึ้นได้อีกแล้ว เพราะการสืบพยานของโจทก์เสร็จสิ้นก่อนสืบพยานจำเลย และ NSO ไม่เคยยกประเด็นนี้ขึ้นมากล่าวอ้างทั้งในคำให้การเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 และในนัดชี้สองสถานที่ศาลกำหนดประเด็นในการต่อสู้คดีเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งที่เป็นประเด็นที่หากเป็นความจริง NSO ก็น่าจะสามารถยืนยันประเด็นนี้ได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วในฐานะที่เป็นผู้พัฒนาและผู้ผลิตที่รู้จักสปายแวร์เพกาซัสอย่างดีที่สุด

ถามซ้ำไปมา ต้องแปลผ่านล่าม จนโจทก์มีโอกาสถามค้านน้อย

10 กันยายน 2567 ในวันนัดสืบพยานวันสุดท้าย ทนายความของ NSO ประกาศกลางห้องพิจารณาคดี ว่า ชมูเอล ซันเรย์ ตัวแทน NSO จะไม่เดินทางมาให้การต่อศาลไทยอีกหากมีนัดสืบพยานเพิ่มเติม ทำให้ทนายความโจทก์ตัดสินใจแถลงหมดคำถามค้าน เนื่องจากฝ่ายจำเลยแสดงเจตนาไม่ให้ความร่วมมือในการสืบพยาน และอาจทำให้คดีล่าช้าออกไปโดยไม่ได้ข้อเท็จจริงใดเพิ่ม

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการที่ฝ่ายจำเลยขอนัดสืบพยานฝ่ายตนไว้เพียง 1 วัน ในขณะที่พยานจำเลยทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ ต้องเบิกความเป็นภาษาอังกฤษโดยอาศัยล่ามแปลเพื่อให้ศาลบันทึกคำให้การพยานจากคำแปลของล่าม รวมถึงล่ามยังต้องแปลคำถามของทนายความจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้พยานเข้าใจคำถาม ซึ่งกินเวลามากกว่าการสืบพยานตามปกติ และพยานของจำเลย คือ ยูวัล ยังไม่สามารถมาเบิคกวามตามวันนัดสืบพยานจำเลยได้ จนต้องอาศัยวันสืบพยานของโจทก์มาสืบพยานของฝ่ายจำเลย

ศาลแพ่งกำหนดให้คู่ความส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยานให้อีกฝ่ายล่วงหน้าก่อนการสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ในปากของยูวัล เอลโลวิช พยานผู้เชี่ยวชาญของ NSO ทนายความจำเลยเพิ่งส่งบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยานให้ฝ่ายโจทก์ในคืนก่อนที่สืบพยานเท่านั้น และเมื่อโจทก์คัดค้านบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยานดังกล่าว ทำให้ทนายความจำเลยต้องเริ่มถามให้พยานเบิกควาทุกประเด็นใหม่ตั้งแต่ต้น การสืบพยานปากนี้ใช้เวลาทั้งวัน ในขณะที่ฝ่ายโจทก์นำส่งคำเบิกความโดยละเอียดเป็นเอกสารล่วงหน้า จึงสืบพยานได้ 2-3 ปากต่อวัน

ส่วนชมูเอล ซันเรย์ ตัวแทน NSO แม้จะส่งบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยานล่วงหน้า แต่ทนายความจำเลยยังคงถามเพิ่มในประเด็นพื้นฐานทั่วไป เช่น ประวัติการทำงานของชมูเอล ซันเรย์ วัตถุประสงค์ที่ต้องผลิตสปายแวร์เพกาซัส ซึ่งจำเลยตอบย้อนไปถึงประวัติศาสตร์การสอดแนมในโลกสมัยก่อนที่จะมีไอโฟน และอธิบายระบบการทำงานของจำเลยโดยละเอียด 

นอกจากนี้ หลายประเด็นที่ทนายความจำเลยถามเพิ่ม ก็ซ้ำกับเนื้อหาในบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยาน เช่น หลักการขายและให้สิทธิการใช้สปายแวร์เพกาซัส การโต้แย้งประเด็นในคำฟ้องว่า NSO ไม่ได้ดูแล ควบคุม หรือใช้เพกาซัสสปายแวร์กับเป้าหมาย การโต้แย้งคำสัมภาษณ์ของอดีตผู้บริหาร NSO ที่โจทก์ยื่นมาเป็นหลักฐานในคดี ประเด็นเรื่อง Activity Log, Black Box, และ Kill Switch ซึ่งชมูเอล ซันเรย์ ก็ตอบคำถามทนายความของตนหลายครั้งว่า คำตอบอยู่ในคำให้การที่ยื่นต่อศาลไปแล้ว ในการเบิกความที่ต้องแปลภาษาและจดบันทึกในประเด็นซ้ำไปซ้ำมาเหล่านี้ทำให้เสียเวลาไปมาก จนสุดท้ายฝ่ายโจทก์มีเวลาถามค้านไม่เพียงพอ ไม่ได้ถามครบทุกคำถาม ขณะที่ศาลพยายามหาวันนัดเพิ่มเติม พยานจำเลยที่ใช้เวลาพูดฝ่ายเดียวไปนานก็ประกาศว่าจะไม่เดินทางกลับมาเบิกความอีกแล้ว

สร้างหลักฐานใหม่ก่อนสืบพยานไม่กี่ชั่วโมง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยื่นหนังสือเพื่อนศาล (amicus) เข้ามาในคดีนี้ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 เพื่ออธิบายความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจว่า ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ NSO ได้รับการแจ้งเตือนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์เพกาซัสมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับไม่ได้เปิดเผยข้อมูลของกระบวนการตรวจสอบแก่สาธารณะตามสมควร หรือไม่ได้มีมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย โดยในเอกสารของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ฝ่าย NSO ไม่เคยตอบกลับหนังสือที่พวกเขาส่งไปทักท้วงเลย

9 กันยายน 2567 ก่อนสืบพยานปากสุดท้าย เว็บไซต์ของ NSO เผยแพร่เอกสารตอบโต้ความเห็นของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ว่า NSO ปฏิเสธข้อกล่าวหาใดๆที่เกี่ยวกับการใช้งานที่ผิดโดยสิ้นเชิง และย้ำถึงความสำคัญของเครื่องมือข่าวกรองไซเบอร์สำหรับหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการปกป้องสังคมพลเรือนต่อภัยคุกคามร้ายแรง เช่น การก่อการร้ายและอาชญากรรมที่มีการไตร่ตรองวางแผนไว้ก่อน NSO ยึดมั่นในข้อผูกพันต่อสิทธิมนุษยชนและดำเนินการสอบสวนข้อเรียกร้องที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

ชมูเอล ซันเรย์ ตัวแทน NSO นำเอกสารนี้ยื่นส่งศาล ประกอบคำให้การในวันที่ 10 กันยายน 2567 ซึ่งถือเป็นการตอบโต้ในทางสาธารณะเกี่ยวกับการใช้สปายแวร์แพกาซัสในไทยของ NSO เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีรายงานข่าวเผยแพร่ทั่วโลกตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2565 ซึ่งหาก NSO มีเจตนาที่จะตรวจสอบและชี้แจงต่อกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจริงๆ ก็สามารถทำได้ก่อนหน้านี้เป็นเวลาสองปีแล้ว หรืออย่างน้อยก็ควรชี้แจงทันทีหลังได้รับคำฟ้องคดีนี้เพื่อให้ฝ่ายโจทก์ทราบจุดยืนและข้อเท็จจริงด้วย แต่กลับเพิ่งทำในช่วงกลางคืนไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ตัวแทนของ NSO จะต้องขึ้นเบิกความ

รักษาความลับลูกค้า จึงไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริงในคดี

เอกสารตอบโต้ความเห็นของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลของ NSO ระบุถึงประเด็นการเปิดเผยรายละเอียดการสืบสวนว่า NSO มีข้อตกลงที่เคร่งครัด การรักษาความลับไม่ใช่ทางเลือก แต่คือความจำเป็นทางกฎหมายและการดำเนินงาน อีกนัยหนึ่งคือ จะไม่มีการกล่าวถึงว่าเคยมีการสืบสวนการใช้งานที่ผิดของรัฐบาลไทยหรือไม่ และหากมีก็จะไม่เปิดเผยรายละเอียด

มากไปกว่านั้น 10 กันยายน 2567 ชมูเอล ซันเรย์ ตัวแทนของ NSO ยังยื่นคำแถลงจะขอใช้สิทธิไม่เบิกความในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของลูกค้า เนื่องจากลูกค้าของจำเลยเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงทั้งหมด หากมีคำถามที่เกี่ยวข้องก็จะขอไม่ตอบอีกด้วย ทำให้ในการต่อสู้คดีนี้ไม่มีการเปิดเผยว่า NSO เคยขายสปายแวร์เพกาซัสให้กับหน่วยงานของรัฐในประเทศไทยหรือไม่ และไม่ยอมรับหรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ การต่อสู้คดีของ NSO จึงมีเพียงการนำเสนอแนวปฏิบัติกว้างๆ ในกรณีทั่วไปของจำเลยเอง แต่ไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีที่ถูกฟ้อง

เมื่อตัวแทน NSO ถูกทนายความโจทก์ถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ของสภาผู้แทนราษฎรไทย เคยเชิญจำเลยมาชี้แจงเกี่ยวกับการใช้สปายแวร์เพกาซัส ชมูเอล ซันเรย์ ตอบว่า ทราบ แต่ที่ไม่ไปชี้แจง เพราะไม่มีอะไรจะพูดมากไปกว่าที่พูดในคดีนี้

ถามคำถามที่ไม่เกี่ยวข้อง ใช้ข่าวปลอมหลอกถามพยาน

ในการถามค้านพยานโจทก์ ทนายความ NSO มักจะถามว่า มีส่วนไหนจากหลักฐานทั้งหมดในสำนวนของศาล ที่ระบุว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง แม้ว่าพยานบางคนเป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความเห็นทางวิชาการในกรณีทั่วๆ ไปเท่านั้น ทำให้ถูกศาลตักเตือนว่า ขอให้ถามเฉพาะข้อเท็จจริงในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับพยานคนนั้นๆ แต่หลายครั้ง ทนายความก็ยังคงถามคำถามในทำนองเดิมว่า มีหลักฐานใดแสดงว่า NSO เป็นผู้ใช้หรือควบคุมสปายแวร์เพกาซัส

ทนายความจำเลยยังพยายามถามคำถาม “ข้อกฎหมาย” ที่อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐสอดแนมประชาชนกับปริยกร ปุสวิโร พยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ของโจทก์ และถามว่าการปฏิบัติตามกฎหมายถือเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ ทั้งที่พยานโจทก์มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ คือ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ที่มาอธิบายทั้งหลักการทางกฎหมายและตัวอย่างการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอยู่แล้ว หากทนายความจำเลยต้องการได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและคดีความก็ควรตั้งคำถามต่อพยานที่เกี่ยวข้องและมีความรู้เรื่องนั้นจริงๆ ไม่ใช่การถามกับพยานที่น่าจะไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ

นอกจากนี้ทนายความของจำเลยยังใช้เอกสารที่เป็น “ข่าวปลอม” มาถามพยานนักคอมพิวเตอร์ว่า ทราบหรือไม่ว่าคดีที่ NSO ถูกฟ้องที่ประเทศสเปน ศาลบาร์เซโลนาพิพากษายกฟ้อง ทราบหรือไม่ว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยอมรับว่า ผลตรวจการสปายแวร์เพกาซัสในโมร็อกโกผิดพลาด และทราบหรือไม่ว่ามหาวิทยาลัยโทรอนโตและซิติเซ่นแล็บให้เงินสนับสนุนสปายแวร์ ซึ่งไม่ใช่ความจริง และไม่เกี่ยวข้องกับพยานปากนี้

อ่านเพิ่มเติม: NSO ต่อสู้คดีสปายแวร์เพกาซัส โดยใช้ทั้งข่าวปลอมและวิทยาศาสตร์เทียม

พยายามสร้างข้อสงสัยว่าโจทก์ถูกจ้างมาฟ้อง

ในการสืบพยานจตุภัทร์ วันที่ 3 กันยายน 2567 ทนายความของ NSO ถามค้านว่า ที่จตุภัทร์มาฟ้องคดีนี้ มีคนจ่ายเงินให้มาเป็นโจทก์ใช่หรือไม่ แต่จตุภัทร์ยืนยันว่าต้องการฟ้องคดีด้วยตนเอง แม้จะไม่ได้เป็นคนจ่ายค่าทนายความในคดีก็ตาม

วันเดียวกัน ทนายความจำเลยยังถามค้าน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการไอลอว์ ที่มาเบิกความเป็นพยานในฐานะผู้สืบสวนการใช้สปายแวร์เพกาซัสในประเทศไทยว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนี้ พยาน หรือแอคเซสนาว (Access Now) เป็นผู้จ่าย ยิ่งชีพอธิบายว่า ในคดีที่พยานและผู้เสียหายรวมแปดคนฟ้องเป็นคดีเดียวกัน และศาลแพ่งยกฟ้อง เขาจ่ายค่าทนายความ ส่วน Access Now ให้งบประมาณสำหรับสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่องรอยการใช้สปายแวร์เพกาซัสในไทย ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้ใช้หมดแล้วตั้งแต่ปี 2565 ส่วนค่าทนายความในคดีนี้ ทนายความโจทก์เป็นผู้จัดหางบประมาณเอง ตัวเขาไม่ใช่คนจ่าย

นอกจากนี้ ชมูเอล ซันเรย์ ตัวแทน NSO ให้การต่อศาลแพ่งในวันที่ 10 กันยายน 2567 เกี่ยวกับการที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งความเห็นต่อศาลในคดีนี้ว่า พยานเชื่อว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีแรงจูงใจเบื้องหลังคดีนี้ และไม่เชื่อว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีวาระเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีเจตนาไม่สุจริต

ช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น เมื่อทนายความโจทก์แถลงต่อศาลว่า ยังมีคำถามที่ต้องการถามจำเลยอีกหลายคำถาม แต่หมดเวลาราชการแล้ว ทนายความของ NSO แจ้งให้โจทก์ทราบว่า ต่อให้ศาลจะนัดวันเพื่อสืบพยานต่อ แต่ชมูเอล ยืนยันจะไม่เดินทางมาให้การที่ประเทศไทยอีก เว้นแต่โจทก์จะจ่ายค่าเดินทางให้ จากนั้นทนายความจำเลยหันมาทางผู้สังเกตการณ์คดีในห้องพิจารณา แล้วถามขึ้นมาลอยๆ ว่า วันนี้มีตัวแทนของแอมเนสตี้มาด้วยหรือไม่ ไม่ทราบว่าจะจ่ายค่าเดินทางให้ได้หรือไม่

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ