ไผ่-จตุภัทร์ ขอให้เปิดเผยสัญญาซื้อขายเพกาซัส แต่ NSO ขอแค่ “จ่ายแล้วจบ” ไม่รับผิด

21 มิถุนายน 2567 ที่ศาลแพ่งมีนัดไกล่เกลี่ยคดีที่ไผ่ จตุภัทร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทผลิตอาวุธไซเบอร์จากอิสราเอลฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งฝ่ายจำเลยส่งตัวแทนฝ่ายกฎหมายจากอิสรเอลมาขอเจรจา แต่สุดท้ายตกลงกันไม่ได้เพราะทางฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับผิด เสนอให้เพียงเงินบางส่วน และยังตั้งเงื่อนไขห้ามเผยแพร่สัญญาประนีประนอมยอมความไม่เช่นนั้นจะเอาเงินคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย การไกล่เกลี่ยจึงไม่สำเร็จ

คดีนี้จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ยื่นฟ้องบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป จำกัด บริษัทผลิตอาวุธไซเบอร์จากประเทศอิสราเอลเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ฐานผลิตและใช้งานสปายแวร์เพกาซัสเพื่อเจาะระบบเข้ามาล้วงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของนักกิจกรรมไทยรวม 35 คน ซึ่งจตุภัทร์เป็นหนึ่งในคนที่ถูกเจาะระบบโทรศัพท์ จึงฟ้องคดีต่อศาลแพ่งขอให้ “หยุด” การใช้เพกาซัส ขอให้เปิดเผยข้อมูลการซื้อขายเพกาซัสกับรัฐบาลไทย และขอเรียกค่าเสียหาย 2,500,000 บาท ฐานละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว

หลังจากยื่นฟ้องแล้ว ฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นบริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอิสราเอลได้แต่งตั้งทนายความในประเทศไทยเข้ามาต่อสู้คดี และยื่นคำให้การโดยอธิบายว่า บริษัท เอ็นเอสโอ เป็นเพียงผู้คิดค้นและพัฒนาสปายแวร์เพื่อจำหน่ายภายใต้ใบอนุญาต แต่ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมการใช้งานและไม่รู้ว่าเป้าหมายของลูกค้าที่ต้องการเจาะโทรศัพท์คือบุคคลใด แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าได้ใช้สปายแวร์นี้เจาะโทรศัพท์ของจตุภัทร์หรือไม่ ซึ่งต่อมาทนายความของจำเลยติดต่อขอเจรจาไกล่เกลี่ยกับโจทก์ และตกลงกันได้เป็นวันที่ 21 มิถุนายน 2567 โดยฝ่ายจำเลยมี ชมูเอล ซันเรย์ (Shmuel Sunray) หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย (chief legal counsel) ของบริษัทเอ็นเอสโอเดินทางมาเจรจาด้วยตัวเอง

ก่อนถึงวันนัดหมายทนายความของโจทก์ได้ยื่นข้อเสนอเป็นเอกสารไปว่า หากจำเลยต้องการเจรจาให้ถอนฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยเปิดเผยสัญญาซื้อขายสปายแวร์เพกาซัสที่ทำกับหน่วยงานของรัฐไทย หากยอมเปิดเผยข้อมูล ฝ่ายโจทก์ก็จะไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ เพิ่มเติม หรือหากจำเลยยอมเปิดเผยข้อมูลบางส่วน เช่น ชื่อหน่วยงานที่ซื้อขายสปายแวร์เพกาซัสและบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตี ก็จะขอเรียกร้องค่าเสียหายเพียงครึ่งเดียว คือ 1,250,000 บาท แล้วยินยอมถอนฟ้องคดีนี้

ในระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยคดีนี้ ฝ่ายจำเลยขอให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องที่มาสังเกตการณ์คดีนั่งรออยู่นอกห้อง โดยจำเลยไม่ได้เสนอว่าจะยอมรับข้อเรียกร้องใดจากโจทก์ได้บ้างตามที่โจทก์เสนอไว้ จำเลยเพียงร่างข้อความแถลงต่อศาลขึ้นมาใหม่ว่า บริษัทเอ็นเอสโอเป็นผู้ผลิตเพกาซัสสปายแวร์ที่มีธรรมนูญในการใช้งานและบริษัทจริงจังที่จะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงใดๆ ว่ามีการละเมิดสิทธิต่อจตุภัทร์ ไม่ยอมรับว่ามีการใช้งานสปายแวร์เพกาซัสในประเทศไทย แต่พร้อมเสนอที่จะจ่ายเงินให้จตุภัทร์เป็นจำนวน 1,250,000 บาท โดยไม่ระบุว่าเป็น “ค่าเสียหาย” ระบุเพียงว่าเป็นเงินจำนวนนี้เท่านั้น 

ฝ่ายโจทก์พยายามเสนอให้จำเลยยอมรับเพียงว่า หากมีการใช้งานสปายแวร์ในทางที่ผิดในประเทศไทย บริษัทเอ็นเอสโอก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ฝ่ายจำเลยก็ยังไม่ยอมแถลงด้วยคำว่า “จะตรวจสอบ” ยอมรับได้เพียงถ้อยคำว่า “มีการตรวจสอบ” (would be investigated) และยอมรับได้เพียงคำว่า ถ้ามีการใช้งานในประเทศนั้น (was in the country) โดยไม่ได้ระบุสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นการเฉพาะ

การเจรจากันเกือบจะเกิดผลที่พอสามารถรับกันได้ แต่ทางฝ่ายจำเลยเสนอเงื่อนไขให้เขียนในสัญญาประนีประนอมยอมความทำนองว่า ฝ่ายโจทก์จะไม่นำสัญญาประนีประนอมยอมความไปเผยแพร่ต่อบุคคลอื่น หากมีการเผยแพร่ให้มีผลบังคับทันทีว่า ฝ่ายโจทก์ต้องคืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ซึ่งฝ่ายโจทก์ไม่เห็นด้วย แม้โจทก์ยินยอมที่จะไม่เผยแพร่สัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว แต่ภายใต้เงื่อนไขนี้ฝ่ายจำเลยอาจจะเป็นคนเผยแพร่เอกสารเองแล้วมาเอาเงินคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยด้วยก็ได้ เมื่อฝ่ายโจทก์ไม่ยอมตกลงเงื่อนไขนี้ ฝ่ายจำเลยก็ไม่ยอมที่จะไม่เขียนเงื่อนไขนี้ด้วย จึงตกลงกันไม่ได้ และเลิกการไกล่เกลี่ย เข้าสู่กระบวนการต่อไปคือการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันใหม่

คดีนี้มีนัดสืบพยานในวันที่ 3-6 และ 10 กันยายน 2567 โดยฝ่ายโจทก์เตรียมพยานเข้าสืบเก้าปาก เป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ผู้ตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ และนักวิจัยที่ติดตามข้อมูลเรื่องการใช้งานเพกาซัส ด้านฝ่ายจำเลย ชมูเอล ซันเรย์ ก็จะมาเป็นพยานเบิกความที่ศาลแพ่งด้วย

สปายแวร์เพกาซัส เป็นเครื่องมือสอดส่องข้อมูลประชาชน ที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคหนึ่ง โดยผู้ผลิตระบุว่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยรัฐในการป้องกันการก่อการร้าย การปราบปรามยาเสพติดและปฏิบัติการฟอกเงิน แต่ในความเป็นจริงเพกาซัสถูกรัฐบาลหลายสิบประเทศใช้งานเพื่อแอบดูข้อมูลและปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐเผด็จการอันนำสู่การทำลายหลักการสิทธิมนุษยชน 

สำหรับในประเทศไทย เพกาซัสเป็นที่รู้จักในวงกว้างครั้งแรกในหลังจากเดือนพฤศจิกายน 2564 Apple ส่งอีเมล์แจ้งเตือนนักกิจกรรม นักวิชาการและผู้ทำงานภาคประชาสังคมผู้ใช้งาน iPhone ว่า อาจเป็นเป้าหมายจากการโจมตีของผู้โจมตีที่สนับสนุนโดยรัฐ จึงเกิดความร่วมมือกับ Citizen Lab และ DigitalReach SEA เพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง และสรุปเป็นรายงานเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2565 พบว่า มีผู้ถูกโจมตีด้วยสปายแวร์นี้อย่างน้อย 35 คน แทบทั้งหมดมีส่วนในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563-2564

จากข้อมูลที่ค้นพบนำไปสู่การฟ้องร้องคดีเพื่อพิสูจน์การละเมิดสิทธิครั้งนี้สามคดี โดยมีคดีที่ยังอยู่ในกระบวนการสองคดี ได้แก่ คดีในศาลแพ่งของไผ่-จตุภัทร์และคดีในศาลปกครองของอานนท์ นำภาและยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กรณีของไผ่ ตามรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ระบุว่า เขาถูกโจมตีโดยเพกาซัสสามครั้ง คือ วันที่ 23 และ 28 มิถุนายน และวันที่ 9 กรกฎาคม 2564

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ