เปิดกฎหมายอุทยานและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ภาคต่อนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ของคสช.

National Park Act &  Wildlife Conservation and Protection Act
National Park Act & Wildlife Conservation and Protection Act

7 มีนาคม 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารลงมติผ่านกฎหมายสองฉบับภายในวันเดียว ประกอบด้วย พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562) และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562) ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านจากภาคประชาชนถึงตัวเนื้อหาที่ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและจังหวะเวลาการผ่านกฎหมายที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น

การผ่านกฎหมายใหม่สองฉบับเพื่อยกเลิก พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ด้วยความเร่งรีบนั้น เกิดขึ้นหลังจากการดำเนิน “นโยบายทวงคืนผืนป่า” ตลอดช่วงระยะเวลาการอยู่ในอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านการออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้ถึงเป้าหมายที่ร้อยละ 40 ทั้งนี้ นโยบายทวงคืนผืนป่าได้นำมาสู่การจับกุมและฟ้องร้องประชาชนที่อาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่ป่าอย่างมากมาย จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจับชาวบ้านมากกว่าการปราบปรามการบุกรุกป่าของนายทุนอย่างแท้จริง

พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จึงเป็นส่วนต่อขยายของนโยบายทวงคืนผืนป่า แม้จะกำหนดให้ชุมชนสามารถมีส่วนร่วม แต่ก็ไม่ได้มีกลไกที่รับประกันได้ว่าเสียงของชุมชนจะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจจริง ในทางกลับกัน กฎหมายฉบับใหม่เพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายรัฐอย่างมหาศาล ผ่านการเพิ่มโทษ การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นโดยไม่ต้องใช้หมายค้น การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ทรัพยากรของประชาชน และการใช้มติ ครม. ที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือ คำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เป็นหลักในการพิสูจน์สิทธิทำกินของประชาชน 

ย้อนดูนโยบายทวงคืนผืนป่า “ยาแรง” ในยุคคสช.

หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หนึ่งในนโยบายแรก ๆ ของรัฐบาลทหารก็คือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศไทยให้ครบร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมดตามแผนแม่บทป่าไม้ปี 2528 โดย คสช. การออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เปิดทางให้อำนาจทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สามารถเข้าไปตรวจสอบและยึดที่ดินของชาวบ้านได้ จากเดิมที่อำนาจนี้เป็นของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั้น ต่อมาอีกเพียงสามวันให้หลัง มีการออกคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เพื่อเพิ่มกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยมีการยกเว้นให้ไม่ต้องดำเนินการกับผู้ยากไร้ มีรายได้น้อย หรือไร้ที่ดินทำกิน ที่อาศัยอยู่ที่นั้น ๆ ก่อนที่คำสั่งจะมีผลบังคับใช้ 

ผลของการออกคำสั่งทั้งสองฉบับทำให้เกิดการไล่ที่และจับกุมชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่าอย่างกว้างขวาง แม้คำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 จะมีการระบุว่าให้ยกเว้นกลุ่มคนยากไร้ที่อาศัยอยู่เดิมในพื้นที่ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ก็มักจะใช้คำนิยามที่ไม่ชัดเจนนี้ในการจับกุมชาวบ้านโดยอ้างว่าชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้ยากไร้และกระทำความผิดซึ่งหน้า ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมชาวบ้านได้โดยอำนาจตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 ให้อำนาจทหารสามารถเข้าตรวจค้นสถานที่ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ทำให้เกิดการนำกำลังทหารไปปิดล้อมและตรวจค้นทั้งหมู่บ้านของชาวบ้านโดยใช้นายทหารยศร้อยตรีเพียงแค่คนเดียว เจ้าหน้าที่ยังใช้วิธีการลงไปสำรวจพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านแสดงตัว หลังจากนั้นก็ให้เซ็นเอกสารซึ่งระบุว่าหากอยู่ในพื้นที่ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 จะต้องคืนพื้นที่ โดยอ้างว่าให้เซ็นเพื่อจะได้ไม่ต้องมีปัญหาในภายหลัง

ตลอดระยะเวลาห้าปีของการบังคับใช้นโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้นของ คสช. รัฐบาลสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้เพียง 750,000 ไร่ จากที่ต้องการทั้งหมด 26 – 28 ล้านไร่เพื่อให้พื้นที่ป่าถึงร้อยละ 40 ตามเป้าหมาย ขณะที่การดำเนินคดีกับประชาชนมีทั้งหมดไม่น้อยกว่า 46,000 คดี แม้รัฐบาลจะพยายามป่าวประกาศว่าเป็นการทวงคืนผืนป่าจาก “นายทุน” แต่ก็ไม่เคยมีการออกมาเปิดเผยว่าป่าที่ยึดคืนมานั้นมาจากใครบ้าง หรือนายทุนที่ว่านี้ใช้เกณฑ์ใดตัดสิน ไม่ต่างกับความคลุมเครือของคำว่าผู้ยากไร้ก่อนหน้านี้ ในทางกลับกัน พบว่ามีชาวบ้านจำนวนมากถูกยึดพื้นที่ทำกินของตัวเอง และถูกฟ้องร้องในชั้นศาลในฐานะ “คดีนโยบาย” โดยมีหลายส่วนที่ถูกกดดันให้รับสารภาพไม่ให้ต่อสู้คดี

คดีหนึ่งที่เกิดจากนโยบายทวงคืนผืนป่าคือกรณีการดำเนินคดีชาวบ้านบ้านซับหวาย ตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติไทรทอง รวมทั้งหมดอย่างน้อย 14 คน 18 คดี แม้ชาวบ้านจะกล่าวว่าที่ดินของตนเองนั้นได้รับการตกทอดมาในครอบครัวที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพปลูกมันสำปะหลังมานานหลักสิบปีแล้ว ประกอบกับหลายคนก็อ้างว่าตนเป็นผู้ยากไร้ที่ได้รับการยกเว้นตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 แต่เจ้าหน้าที่ก็ค้านว่าได้ให้ชาวบ้านเซ็นคืนพื้นที่แก่รัฐไปแล้ว ซึ่งเมื่อมาพิสูจน์ในศาล การพิสูจน์สิทธิทำกินนั้นก็จะใช้มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งออกในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัยเป็นหลักเกณฑ์ โดยมีใจความสำคัญกำหนดให้การพิสูจน์สิทธิทำกินนั้นต้องอยู่บนหลักของการทำกินอย่างต่อเนื่อง และให้ใช้ภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารนับตั้งแต่ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าหวงห้ามเป็นหลักฐานพิสูจน์ อย่างไรก็ดี ชาวบ้านจำนวนมากนั้นตกสำรวจทำให้ไม่สามารถพิสูจน์หลักฐานการอยู่อาศัยทำกินของตนเองได้ นอกจากนี้ การพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้ยากไร้ยังเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะนิยามที่กำกวมอีกด้วย

จากการสำรวจข้อกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ใช้ฟ้องร้องชาวบ้านหวายบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง เจ้าหน้ารัฐมีแนวโน้มที่จะใช้กฎหมายทั้งหมดสามฉบับพร้อมกัน คือ มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี ของ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 26/4, 26/5, 31 ของ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ มาตรา 4, 5, 6, 8, 16 (1) (2) (4) (13), 24, 27 ของ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504  โดยศาลชั้นต้นก็จะเลือกลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษสูงสุด คือ มาตรา 14 และ 31 วรรคหนึ่งของพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ให้ลงโทษจำคุกและปรับแตกต่างกันไปตามแต่กรณี และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 

การใช้กฎหมายสามฉบับพร้อมกันแสดงให้เห็นถึงความซ้ำซ้อนของกฎหมายอนุรักษ์ธรรมชาติ กล่าวคือ ข้อความในตัวบทกฎหมายหลายฉบับมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ทำให้เวลาเจ้าหน้าที่รัฐฟ้อง ก็จะฟ้องเป็นชุด ตัวอย่างที่สำคัญคือมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และมาตรา 16 (1) ของ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งระบุห้ามไม่ให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่าเหมือนกัน ในการฟ้องร้องคดีบุกรุกป่าอย่างเช่นในกรณีของชาวบ้านบ้านซับหวาย เราจึงมักเห็นบทบัญญัติทั้งสองมาตราในกฎหมายสองฉบับนี้มาด้วยกันเสมอ

สนช. ผ่านพ.ร.บ. อุทยานฯ และพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากภาคประชาชน

7 มีนาคม 2562 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเพียงสองสัปดาห์ สนช. มีมติเห็นชอบวาระสองและวาระสามของ ร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ด้วยคะแนน 140 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง หลังจากที่เริ่มต้นกระบวนการยกร่างมาตั้งแต่ปี 2559 ช่วงเวลาการออกกฎหมายทั้งสองฉบับยังประจวบเหมาะเพียงหนึ่งเดือนก่อนการพิจารณาให้อุทยานแก่งกระจานเป็นมรดกโลกในการประชุมมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ได้รับการอนุมัติเพราะองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) ยังมีข้อกังวลถึงการละเมิดสิทธิชุมชนอยู่

กระบวนการผลัดดันและพิจารณาร่างพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วนั้น กระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่ไม่เอื้อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ประกอบกับรวมถึงไม่สนใจร่างกฎหมาย พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ฉบับที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อกว่า 10,000 รายชื่อ ส่งผลให้ภาคประชาชนยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครอง ภายหลังจากนั้น ในวันเดียวกันกับที่กฎหมายได้รับการเห็นชอบ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ได้ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับการผ่านกฎหมายของ สนช. โดยเห็นว่า “ร่างกฎหมายดังกล่าวทั้งสองฉบับของ สนช. มีพฤติกรรมไม่ชอบ และอาจขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหลายมาตรา อันเป็นการกระทบต่อหลักการปกครองตามระบบประชาธิปไตย และวิถีชีวิตของประชาชนจำนวนมากในนามของประชาชน” 

อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้ว กฎหมายทั้งสองฉบับก็สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษาได้ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 และมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันต่อมา 25 พฤศจิกายน 2562

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

เนื้อหาของ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีรายละเอียดมากกว่าพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยสาระสำคัญของพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่เปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายเก่า ประกอบไปด้วยการกำหนดให้ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ปรับโครงสร้างคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติให้ข้าราชการการเมืองและเอกชนข้ามามีส่วนร่วม เพิ่มหมวดการเก็บค่าบริหารและค่าตอบแทน ปรับอัตราโทษให้สูงขึ้นอย่างมาก และวางหลักเกณฑ์ในการพิสูจน์สิทธิทำกิน

กำหนดเขตอุทยานแห่งชาติ จัดทำแผนบริหารพื้นที่อุทยาน ต้องฟังความคิดเห็นประชาชนประกอบ

พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กำหนดเงื่อนไขใหม่ที่ไม่มีใน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฉบับเก่า โดยกำหนดว่ากรณีที่จะมีการกำหนดเขตพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ ต้องมีเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเสียก่อน 

ในมาตรา 18 กำหนดให้ทุกอุทยานแห่งชาติต้องจัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ต้องมีรายละเอียดและแนวเขตการจัดการพื้นที่ รวมถึงให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเช่นกัน โดยให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้วางหลักเกณฑ์และให้ความเห็นชอบแผน

อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตหนึ่งที่อาจทำให้เสียงของประชาชนอาจจะไปไม่ถึงก็คือ กฎหมายเพียงระบุให้จัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็น “เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ” เท่านั้น ไม่ได้มีกลไกที่จะทำให้เสียงของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด 

รมต. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั่งประธานคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเอกชน

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงใน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 คือการเปลี่ยนโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติให้ข้าราชการการเมืองและภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น เดิมทีใน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กำหนดให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ นั่งเป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้แทนกรมมหาดไทย ผู้แทนกรมที่ดิน และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 11 คนซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรแต่งตั้ง ส่วนในพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติใหม่ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองเข้ามาเป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการโดยตำแหน่งจากข้าราชการประจำอีกแปดตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังเปิดพื้นที่ให้บุคคลนอกวงงานราชการเข้าไปมีส่วนเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคน โดยในจำนวนเจ็ดคนนี้ต้องแต่งตั้งจากผู้แทนภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งอีกด้วย

นอกจากโครงสร้างของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อำนาจของคณะกรรมการฯ ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยในพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กำหนดให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษากับรัฐมนตรีในเรื่องการกำหนด ขยาย หรือเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ และเรื่องที่รัฐมนตรีปรึกษา ขณะที่อำนาจของคณะกรรมการฯ ตามพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 นั้นไม่ใช่เพียงแต่การให้คำปรึกษาเหมือนคณะกรรมการฯ ตามกฎหมายเก่า แต่ยังรวมไปถึงการกำหนดนโยบายและการให้ความเห็นชอบ โดยในมาตรา 16 กำหนดอำนาจของคณะกรรมการอุทยานไว้ ดังนี้

1. กำหนดนโยบายการจัดการอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ

2. เสนอแนะการกำหนดพื้นที่ใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายหรือการเพิกถอนอุทยาน แห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ

3. พิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดพื้นที่ใดเป็นวนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ และ สวนรุกขชาติ รวมทั้งการขยายหรือการเพิกถอนวนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ

4. พิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวง ประกาศ หรือ ระเบียบที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

5. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นหรือตามที่คณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีมอบหมาย

กรมอุทยานฯ เก็บค่าบริการและค่าตอบแทนได้ ไม่ต้องนำส่งคลัง

พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ได้เพิ่มหมวดเงินค่าบริการและค่าตอบแทน โดยระบุให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถเรียกเก็บค่าบริการหรือตอบแทนในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติได้ อย่างไรก็ดี ค่าบริการและค่าตอบแทนดังกล่าวนั้น จะต้องแบ่งให้กับเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นที่ตั้งของอุทยานนั้น ๆ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เรียกเก็บได้ เพื่อนำไปส่งเสริมการอนุรักษ์และสนับสนุนการปฏิบัติงาน

เงินค่าบริการและค่าตอบแทนที่เก็บได้โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งหมายความว่าค่าบริการหรือตอบแทนก็จะถูกนำไปจัดสรรใช้จ่ายสำหรับการรักษาสภาพ ความปลอดภัย ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย การให้บริการ และการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ต้องรองบประมาณที่รัฐจัดสรรเพียงอย่างเดียว โดยสามารถนำไปใช้เพื่อการคุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในอุทยาน เป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้กระทำผิด เป็นเงินสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการบำรุงสถานที่ ฝึกอบรม และการบริหารจัดการต่าง ๆ 

โทษอาญาแรงกว่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจค้นไม่ต้องใช้หมาย

ความเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งของพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 คือการเพิ่มนิยามพื้นที่ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย โดยใน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  ต่างก็กำหนดนิยาม “อุทยานแห่งชาติ” ไว้เช่นกัน แต่ข้อแตกต่างในพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 คือ เพิ่มนิยาม “วนอุทยาน” “สวนพฤกษศาสตร์” และ “สวนรุกขชาติ” เข้ามา การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และการกำหนดบทลงโทษทางอาญาจึงกว้างขวางขึ้นในแง่ของการบังคับใช้กับการกระทำความผิดบนพื้นที่นั้นๆ

ในมิติของบทลงโทษทางอาญา พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กำหนดโทษทางอาญาไว้สูงกว่าพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2504 หลายฐาน ตัวอย่างเช่น

๐ ความผิดฐานเข้าไปดำเนินการหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติ เดิมตามพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2504 กำหนดบทลงโทษมีเพียงโทษปรับห้าร้อยบาท ขณะที่พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการนำโทษจำคุกเข้ามาใช้กับความผิดฐานนี้จากเดิมที่มีเพียงโทษปรับเท่านั้น

๐ ความผิดฐาน ครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2504 กำหนดโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในการวินิจฉัยขี้ขาด ผู้พิพากษาก็สามารถใช้ดุลยพินิจลงโทษจำคุกได้เป็นเวลาเท่าใดก็ได้ไม่เกินห้าปี ไม่มีเพดานขั้นต่ำ โทษปรับเองก็เช่นกัน ขณะที่พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีเพดานขั้นต่ำในการตัดสินลงโทษคือจำคุกสี่ปี ส่วนโทษปรับเพดานขั้นต่ำคือสี่แสนบาท และหากกระทำความผิดฐานครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 หรือพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือพื้นที่เปราะบางของระบบนิเวศหรือความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษหนักขึ้นกึ่งหนึ่ง

๐ ความผิดฐานเก็บหาทรัพยากรธรรมชาติ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ 2504 กำหนดโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถึงแม้ว่าโทษจำคุกจะยังคงไว้เท่าเดิม แต่เพดานของโทษปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่ากฎหมายเก่า อย่างไรก็ดี หากทรัพยากรนั้นมีมูลค่ารวมไม่เกินสองพันบาท จะเป็นโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท แต่ถ้าเป็นไม้ท่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร จะต้องโทษจำคุกสี่ถึงยี่สิบปี ปรับสี่แสนถึงสองล้านบาท

มีข้อสังเกตว่า การกำหนดโทษกรณีเก็บของป่าหรือการเก็บทรัพยากรธรรมชาตินั้นกำหนดไว้สูงอย่างมากในขณะที่ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่าสิ่งใดบ้างที่ประชาชนสามารถเก็บหาได้ ขณะที่ร่างพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ฉบับประชาชน ที่พลเอกประยุทธ์ปัดตกไม่รับรองจนไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติได้นั้นมีการกำหนดนิยามของคำว่า “ของป่า” ไว้  ว่าหมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรืออยู่ตามธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ เช่น ถ่าน เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เมล็ด ผลไม้ หน่อไม้ ชันไม้ น้ำมันจากไม้ ยางไม้ หญ้า อ้อ พง แขม 

ในด้านของการให้อำนาจต่อเจ้าหน้าที่ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  ยังคงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ยังมีอำนาจสั่งให้บุคคลที่ทำผิดออกจากอุทยานแห่งชาติ รวมถึงสั่งให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกได้เหมือนกับในพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

ส่วนอำนาจที่เพิ่มขึ้นมานั้น มาตรา 36 (3) (4) ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจค้นสถานที่และยานพาหนะใด ๆ ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ถ้าหากมีเหตุให้สงสัยว่าจะมีการกระทำผิด และเชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้จะมีการยักย้าย ซุกซ่อน ส่ง หรือนำออกนอกราชอาณาจักร หรือทำลายทรัพย์สิน วัตถุ สิ่งของ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำ เจ้าหน้าที่สามารถยึดหรืออายัดทรัพย์สิน วัตถุ สิ่งของ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดีได้

หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ก็อาจจะต้องเจอกับโทษที่ตามมา เช่น หากเจ้าหน้าที่สั่งให้ออกจากอุทยานแห่งชาติแล้วไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 49 ก็วางโทษไว้จำคุกไว้หกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท รวมถึงปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทจนกว่าจะปฏิบัติตาม ส่วนบุคคลใดที่ไม่อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้น ก็จะต้องโทษตามมาตรา 51 ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ใช้มติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เป็นหลักเกณฑ์ในการพิสูจน์สิทธิทำกิน

พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กำหนดในบทเฉพาะกาล มาตรา 64 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่ทำกินภายในเขตอุทยานแห่งชาติภายใน 240 วันนับตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ หมายความว่าจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 หลังจากนั้นรัฐบาลก็จะต้องมีนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินผ่านการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

สำหรับประชาชนที่จะได้รับความช่วยเหลือตามพระราชกฤษฎีกา มาตรา 64 วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกิน และอยู่อาศัยตามกรอบเวลาตามมติ ครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 กล่าวคือ ประชาชนที่จะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่ออยู่อาศัยในพื้นที่ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ซึ่งเป็นวันประกาศคำสั่ง คสช.

ทั้งนี้ การใช้เกณฑ์วันที่ 17 มิถุนายน 2557 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ นอกจากการที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปกดดันให้ชาวบ้านเซ็นเอกสารคืนที่ให้แก่รัฐ ศาลก็มีแนวโน้มอาจจะไม่รับคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ไว้พิจารณาอีกด้วย เช่น กรณีชาวบ้านบ้านซับหวาย ศาลฎีกามีคำพิพากษาไม่ยอมรับคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เนื่องจากศาลมองว่าคำสั่งคสช. เป็นเพียงคำสั่งให้ดำเนินนโยบายเท่านั้น ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย 

นอกจากนี้ ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าแม้แต่มติ ครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ก็มีปัญหาเช่นกัน ที่ผ่านมามีผู้ที่ตกหล่นจากการสำรวจมากมาย การพิสูจน์สิทธิยังเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะต้องใช้ภาพถ่ายทางอากาศเพื่อเป็นหลักฐาน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำกินในพื้นที่นั้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่ได้ทำกินแม้แต่เพียงปีเดียว พื้นที่นั้นก็จะกลายเป็นเขตป่าและเมื่อกลับมาทำกินอีกครั้ง ชาวบ้านก็อาจถูกจับกุมได้ สถิติการพิสูจน์สิทธิในปี 2551 พบว่ามีประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ก่อนการประกาศเขตพื้นที่ป่าไม้เพียงร้อยละ 16 เท่านั้น ขณะที่อีกกว่าร้อยละ 84 ไม่มีหลักประกันในที่ดินทำกินของตนเอง

กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน

ในบทเฉพาะกาล มาตรา 65 มีการกล่าวถึงการจัดทำโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กล่าวคือ อุทยานแห่งชาติมีหน้าที่ต้องสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ภายใน 240 วันหลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 หากเห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดใหม่ได้เหล่านั้นมีเพียงพอสำหรับการเก็บโดยไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ และเป็นกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดำรงชีพตามวิธีชุมชนดั้งเดิมที่อยู่โดยรอบอุทยาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็สามารถจัดทำโครงการอนุรักษ์ฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเสนอรัฐมนตรีได้

โครงการอนุรักษ์ฯ นี้จะมีระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี “เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและลดการพึ่งพิงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ” โดยจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้สามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ชนิด จำนวน หรือปริมาณของทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับอนุญาตให้เก็บหาหรือใช้ประโยชน์ หน้าที่ในการอนุรักษ์และฟื้นฟู มาตรการในการติดตามกับดูแล และการสิ้นสุดการอนุญาต

ตามโครงการอนุรักษ์ฯ เจ้าหน้าที่รัฐจะมีอำนาจมากขึ้นในการกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน ผ่านการอนุญาต กำหนดชนิดและปริมาณการใช้ทรัพยากร รวมถึงกำหนดมาตรการติดตามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแล ตรวจสอบติดตาม การประเมินผล และการสิ้นสุดการอนุญาต

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

กฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสนช. เมื่อ 7 มีนาคม 2562 เช่นกัน คือ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งถูกนำมาใช้แทนพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535  โดยมีเนื้อหาหลักประกอบด้วยการเพิ่มจำนวนสัตว์ป่าสงวนรวมถึงเงื่อนไขการเพิ่มหรือลดจำนวนสัตว์ป่าสงวนในอนาคต เพิ่มหมวดค่าบริหารและค่าตอบแทน ปรับโทษให้สูงขึ้นอย่างมาก รวมถึงส่วนที่คล้ายคลึงกับที่ปรากฏใน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เช่น การกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

เพิ่ม-ถอดชนิดสัตว์ป่าสงวนได้ เพิ่มชนิดสัตว์ป่าควบคุม และสัตว์ป่าอันตราย

เดิมทีในพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ระบุชนิดของสัตว์ป่าสงวนไว้ทั้งหมด 15 ชนิด และไม่สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนได้ มาตรา 6 ของ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ผ่อนคลายมากขึ้น สามารถกำหนดเพิ่มได้ว่าสัตว์ป่าชนิดใดควรสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าสงวนชนิดใดจำนวนเพิ่มขึ้นจนไม่ใกล้สูญพันธุ์และไม่จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์อย่างเข้มงวดอีกต่อไป ก็ให้ถอนออกจากการเป็นสัตว์ป่าสงวนได้ โดยทั้งสองกรณีทำเป็นพระราชกฤษฎีกา 

สำหรับบัญชีของสัตว์ป่าสงวน พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 กำหนดสัตว์ป่าสงวนไว้ 19 ชนิด เพิ่มจากพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ขึ้นมาสี่ชนิด ได้แก่

1. วาฬบรูดา (Balaenoptera edeni)

2.วาฬโอมูระ (Balaenoptera omurai)

3.เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea)

4. ฉลามวาฬ (Rhincodon typus)

พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพิ่มนิยามชนิดของสัตว์ขึ้นมาสองชนิด คือ สัตว์ป่าควบคุมและสัตว์ป่าอันตราย จากเดิมที่ในพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีเพียงแค่สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ส่งผลต่อบทลงโทษทางอาญาด้วย เช่น มาตรา 15 ห้ามไม่ให้ปล่อยสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือสัตว์ป่าควบคุม หรือทำสิ่งใดให้สัตว์ป่าพ้นจากการดูแลของตน หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ที่มีสัตว์ป่าอัตรายไว้ในครอบครอง ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมสัตว์ป่าอันตราย ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งหรือปล่อยเป็นอิสระซึ่งสัตว์ป่าอันตรายหรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เพิ่มหมวดเงินค่าบริการและค่าตอบแทน

พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพิ่มหมวดเงินค่าบริการและค่าตอบแทน โดยระบุให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถเรียกเก็บค่าบริการหรือตอบแทน เพื่อประโยชน์ในการรักษาระบบนิเวศ ความปลอดภัย การให้บริการและการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าได้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ไม่ได้มีการกำหนดให้แบ่งรายได้ให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเหมือน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ออกมาในเวลาเดียวกันแต่อย่างใด

เงินที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเก็บได้นั้นสามารถนำไปใช้เพื่อการคุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในเขต เป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้กระทำผิด เป็นเงินสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการบำรุงสถานที่ ฝึกอบรม และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า 

ปรับโทษแรงขึ้นกว่ากฎหมายเก่า แยกโทษล่าสัตว์สงวนกับล่าสัตว์คุ้มครอง

เดิมพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดโทษของการล่า ครอบครอง ค้า หรือส่งออก สัตว์สงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากนั้นไม่ต่างกัน คือ โทษจำคุกไม่เกินสี่ปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 กำหนดโทษต่างกัน มาตรา 89 ของกฎหมายฉบับใหม่ ความรุนแรงของโทษหากกระทำต่อสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่างกัน หากล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าดังกล่าว มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าล่าสัตว์ป่าสงวน ค้า หรือนำเข้า ส่งออก สัตว์สัตว์ป่าสงวน ซากสัตว์ป่าสงวน หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าสงวน รับโทษหนักขึ้นจำคุกตั้งแต่สามถึงสิบห้าปี ปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เปิดรับความคิดเห็น เจ้าหน้าที่ตรวจค้นโดยไม่ต้องใช้หมายค้น จำกัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีหลายส่วนที่มีเนื้อความเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านการพิจารณาจากสนช. ในวันเดียวกัน 

(1) เมื่อต้องการกำหนดให้พื้นที่บริเวณใดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (มาตรา 48) และเมื่อมีการจัดทำแผนการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (มาตรา 52) พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนด้วย 

(2) เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าไปตรวจค้นสถานที่หรือยานพาหนะใด ๆ ได้หากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้จะมีการยักย้าย ซุกซ่อน ส่ง หรือนำออกนอกราชอาณาจักร หรือทำลายทรัพย์สิน วัตถุ สิ่งของ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด โดยไม่ต้องจำเป็นต้องใช้หมายค้น (มาตรา 81)

(3) ให้มีการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินภายในเขตคุ้มครองสัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ ภายใน 240 วันหลังจากกฎหมายบังคับใช้ หลังจากนั้นให้มีการจัดทำโครงการอนุรักษ์และการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินโดยใช้หลักเกณฑ์ตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 หรือคำสั่ง คสช. 66/2557 (มาตรา 121) ให้มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเฉกเช่นเดียวกับใน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

(4) หากหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเห็นว่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดใหม่ได้และสามารถนำมาเก็บหาได้โดยไม่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ ให้จัดทำโครงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมจากชุมชนได้ ซึ่งโครงการก็ต้องคำนึงถึงชนิดและปริมาณของทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงมาตรการการตรวจสอบการใช้ด้วย (มาตรา 57)

กำเนิดแผนแม่บทการบริหารจัดการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ระบุถึง แผนแม่บทการบริหารจัดการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 

ตลอดกฎหมายทั้งฉบับกว่า 121 มาตรา ไม่ปรากฏรายละเอียดของแผนแม่บทฯ นี้มากนัก โดยมีการกล่าวถึงเพียง สี่ครั้งเท่านั้น แต่แผนแม่บทฯ นี้กลับมีบทบาทในการกำกับควบคุมการบริหารงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยการจัดทำแผนการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์และการมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า หรือการใช้จ่ายเงินที่เก็บได้ก็ต้องสอดคล้องตามที่แผนแม่บทฯ กำหนดทั้งสิ้น

ไฟล์แนบ

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ