ปี 2563 เป็นปีที่การชุมนุมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในกระแสสูง นักเรียนมัธยมเป็นประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาร่วมการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง นักเรียนของสถาบันการศึกษาบางแห่ง เช่น เตรียมอุดม ศึกษานารี และสตรีวิทยา ต่างมีความพยายาม ที่จะจัดการชุมนุมในสถาบันการศึกษาของตัวเอง บางที่สามารถจัดได้ บางที่ถูกทางโรงเรียนห้ามจัด
เมื่อการชุมนุมโดยเฉพาะช่วงหลังเดือนกรกฎาคมเริ่มขยับจากพื้นที่สถาบันการศึกษามาสู่พื้นที่สาธารณะอย่างท้องถนนมากขึ้นนักเรียนเองก็ออกมาเคลื่อนไหวนอกพื้นที่โรงเรียนมากขึ้นและยังนำวัฒนธรรมร่วมสมัยของพวกเขาอย่างการวิ่งแฮมทาโรและวิ่งนารูโตะมาปรับใช้ในการชุมนุมด้วย
เสรีภาพในการรวมตัวสมาคมและเสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นเสรีภาพเด็กที่ได้รับความคุ้มครองไว้ในข้อที่ 15 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีร่วมมาตั้งแต่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 แต่กลายเป็นกว่าเมื่อเด็กและเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวและแสดงออกทางการเมืองทางการเมือง พวกเขากลับถูกดำเนินคดีไล่ตั้งแต่คดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินอย่างข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปจนถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
เมื่อเด็กหรือเยาวชนถูกดำเนินคดี พวกเขาจะถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชนและเยาวชน ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินคดีที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ โดยพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯที่เป็นกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีกับเด็กหรือเยาวชนมีเจตนารมณ์และบทบัญญัติที่มุ่งฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิดทางอาญามากกว่ามุ่งลงโทษ
คดีอาญาของใครบ้างที่ต้องพิจารณาภายใต้พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ) คือกฎหมายที่กำหนดขั้นตอนและวิธีการพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุม การสอบสวน จนถึงขั้นการพิจารณาคดีและพิพากษาในชั้นศาล โดยกฎหมายฉบับนี้มีจำนวนมาตรา 206 มาตรา
บุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและเยาวชนมีสองประเภท ได้แก่
“เด็ก” หมายถึงบุคคลที่มีอายุเกินกว่าสิบปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ และ
“เยาวชน” ซึ่งหมายถึง บุคคลที่อายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์
นอกจากนั้น เมื่อมีการพิจารณาคดีในชั้นศาลแล้ว มาตรา 97 วรรค 1 ของพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯยังกำหนดว่า ในกรณีที่ศาลที่พิจารณาคดีธรรมดา พิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญาและนิสัย แล้วเห็นว่าบุคคลที่มีอายุเกิน 18 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี บริบูรณ์ มีสภาพเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชน ให้ศาลนั้นมีคำสั่งโอนคดีมาให้พิจารณาคดีในศาลเยาวชนและครอบครัวได้โดยให้ถือว่าบุคคลดังกล่าว เป็นเด็กหรือเยาวชน
ขณะเดียวกับมาตรา 97 วรรค 2 ก็กำหนดในทางกลับกันว่า ให้ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาโอนย้ายคดีของเด็กและเยาวชนที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์ แต่ศาลเยาวชนฯพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าในขณะกระทำความผิด หรือระหว่างการพิจารณาคดีบุคคลดังกล่าวมีสภาพเช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปก็สามารถโอนคดีไปให้ศาลที่พิจารณาคดีบุคคลธรรมดาพิจารณาคดีได้
ทั้งนี้หากพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่าเงื่อนไขในการพิจารณาการโอนคดีตามกฎหมายได้แก่ สภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญาและนิสัย ก็มีถ้อยคำที่คลุมเครือเเละยังจะเป็นคำที่เปิดให้ศาลแต่ละองค์คณะใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง
การออกหมายจับเเละการจับกุมเด็กหรือเยาวชนเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหรือทำเป็นทางเลือกสุดท้าย
มาตรา 67 ของพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ กำหนดว่าก่อนจะออกหมายจับเด็กหรือเยาวชน ศาลจะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องอายุ เพศ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการออกหมายจับทั้งต่อสภาพจิตใจและต่อการเรียนหรือการประกอบอาชีพของตัวเด็กและเยาวชน หากพิจารณาแล้วเห็นว่าการออกหมายจับจะส่งผลกระทบทางจิตใจแก่เด็กหรือเยาวชนอย่างรุนแรงโดยไม่จำเป็น ให้หลีกเลี่ยงการออกหมายจับและติดตามตัวด้วยวิธีการอื่นก่อน
ซึ่งเกี่ยวกับกรณีนี้ ทนายคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ให้ความเห็นในบทความของ The Matter ว่าไม่ควรออกหมายจับเด็กในทุกกรณี สำหรับขั้นตอนการจับกุมตัวเด็กและเยาวชน พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯวางข้อกำหนดไว้ในมาตรา 66 โดยมีสาระสำคัญคือ
การจับกุมตัวเด็กซึ่งมีอายุเกิน 10 ปี บริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 15 ปี บริบูรณ์ จะกระทำได้เฉพาะกรณีที่เด็กคนดังกล่าวกระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับหรือคำสั่งศาลเท่านั้น
ส่วนกรณีของเยาวชนที่มีอายุเกิน 15 ปี บริบูรณ์ เเต่ไม่เกิน 18 ปี บริบูรณ์ ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ คือ
การจับกุมบุคคลต้องใช้หมายจับ หากเป็นการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ จะต้องเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุอันน่าสงสัยตามสมควรว่าบุคคลดังกล่าวจะไปก่อเหตุภยันตราย เช่น มีอาวุธหรือสิ่งของที่สามารถใช้ก่อเหตุ หรือมีเหตุเร่งด่วนที่คาดว่าจะออกหมายจับไม่ทันแม้บุคคลดังกล่าวจะอยู่ในข่ายที่ถูกออกหมายจับได้ หรือเป็นการจับกุมบุคคลที่หลบหนีหลังได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี
เมื่อทำการจับกุมตัวแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งกับเด็กหรือเยาวชนว่าถูกจับ แจ้งฐานความผิดและสิทธิทางกฎหมายต่อเด็กหรือเยาวชนที่ถูกจับด้วย หากมีหมายจับจากศาล ต้องแสดงต่อผู้ถูกจับกุม พร้อมทั้งนำตัวผู้ถูกจับไปยังสถานีตำรวจผู้รับผิดชอบท้องที่ทันที
มาตรา 69 วรรค 3 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ยังกำหนดเเนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในระหว่างการจับกุมด้วยว่า การจับกุมและการควบคุมตัวต้องทำโดยไม่ใช้ความรุนแรงและไม่มีลักษณะเป็นการประจาน รวมไปถึงไม่ใช้เครื่องพันธนาการด้วย นอกจากนั้นมาตรา 76 ยังกำหนดห้ามไม่ให้ผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวนจัด อนุญาต หรือยินยอมให้มีการบันทึกภาพของเด็กหรือเยาวชนที่ถูกจับกุมด้วย เพื่อรักษาสิทธิในความเป็นส่วนตัวของเด็กและเยาวชน ยกเว้นการบันทึกภาพเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน
จะสังเกตได้ว่าในกรณีของเด็ก จะมีข้อยกเว้นเรื่องการจับกุมโดยไม่มีหมายจับน้อยกว่ากรณีของเยาวชนที่ใช้กฎหมายเดียวกับผู้ใหญ่
ศาลต้องตรวจสอบการจับกุมเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กเเละเยาวชน
เมื่อเด็กหรือเยาวชนถูกนำตัวมาส่งให้พนักงานสอบสวนแล้ว ในขั้นตอนการสอบสวนจะต้องมีผู้ปกครองอยู่ในกระบวนการด้วยเพราะถือว่าเป็นตัวแทนทางกฎหมายของเด็กด้วย การสอบสวนเด็กจะต้องทำในสถานที่ที่เหมาะสมและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาคนอื่นและต้องไม่มีบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในลักษณะเป็นการประจาน หลังการสอบปากคำ เจ้าหน้าที่จะต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบการจับกุม โดยนับจากเวลาที่เด็กหรือเยาวชนที่ทำการของพนักงานสอบสวน แต่หากพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วว่าผู้ปกครองทางกฎหมายของเด็กหรือเยาวชนสามารถปกครองดูแลเด็กหรือเยาวชนนั้นได้ อาจมอบให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปยังศาลภายใน 24 ชั่วโมง
เมื่อเด็กหรือเยาวชนมาอยู่ต่อหน้าศาล ให้ศาลตรวจสอบว่าเป็นเด็กหรือเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ รวมทั้งการจับกุมและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากการจับเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป
ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า พ.ร.บ.เด็กฯ ไม่ได้ระบุว่าหากเจ้าหน้าที่หรือผู้ปกครองไม่สามารถส่งตัวเด็กหรือเยาวชนได้ภายใน 24 ชม. จะต้องดำเนินการเช่นใด
คดีเด็กและเยาวชน ศาลมีอำนาจกำหนดมาตราการพิเศษเเทนการลงโทษทางอาญาเด็กเเละเยาวชน
ในชั้นพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัว จำเลยที่เป็นเด็กเเละเยาวชนจะมีทนายคอยแก้ต่างให้ไม่ได้ แต่จะมี “ที่ปรึกษากฎหมาย” ซึ่งทำหน้าที่ทำนองเดียวกับทนายความ คอยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแทน หากเด็กหรือเยาวชนไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ศาลจะต้องแต่งตั้งให้ และศาลอาจแต่งตั้งให้ผู้ปกครองทางกฎหมายเป็นผู้ดูแลเด็กหรือเยาวชนในระหว่างการพิจารณาคดี โดยผู้ปกครองต้องคอยดูแลความสะดวกของเด็กหรือเยาวชนระหว่างการพิจารณาคดี
อย่างไรก็ตามในระหว่างการพิจารณาคดี หากปรากฎข้อเท็จจริงว่าการกระทำของเด็กหรือเยาวชนมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรงหรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมเด็กหรือเยาวชนไว้ในสถานพินิจหรือในสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควรได้
การพิจารณาคดีและการอ่านคำพิพากษาของเด็กหรือเยาวชนจะต้องทำเป็นความลับ มีเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งได้แก่ จำเลย, ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลย, ผู้ควบคุมตัวจำเลย, บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วย, พนักงานศาล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร, โจทก์ และทนายโจทก์, พยาน ผู้ชำนาญการพิเศษ และล่าม, พนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นของสถานพินิจ, บุคคลอื่นที่ศาลเห็นสมควรอนุญาต เท่านั้นมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดีและฟังคำพิพากษา
ในขั้นตอนของการทำคำพิพากษา มาตรา 115 กำหนดให้ ศาลต้องนำข้อมูลส่วนตัวเช่น ประวัติ อายุ ความประพฤติ สติปัญญา สภาพแวดล้อม นิสัย สภาพจิตใจ มาเป็นประเด็นในการพิจารณาด้วย นอกจากนั้นมาตรา 74 ก็กำหนดให้ศาลต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ ฉะนั้นการควบคุมหรือคุมขังเด็กหรือเยาวชนต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย
มาตรา 86 กำหนดโดยสรุปได้ว่า ว่าในกรณีที่คดีมีอัตราโทษจำคุกสุงสุดไม่เกินห้าปี ผู้ต้องหาเด็กหรือเยาวชนไม่เคยต้องคำพิพากษาเป็นที่สุดให้รับโทษจำคุก รวมทั้งจำเลยเด็กหรือเยาวชนสำนึกในการกระทำก่อนมีการฟ้องคดี หากผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นอาจกลับตัวเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้องคดี ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจจัดทำแผนเเก้ไขบำบัดฟื้นฟู โดยแผนดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากตัวเด็กหรือเยาวชน หากคดีมีผู้เสียหายต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายด้วย อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากอัยการ หากอัยการไม่เห็นชอบกับแผนดังกล่าวสามารถสั่งให้แก้ไขหรือสั่งดำเนินคดีต่อไปได้ หากทั้งอัยการเเละจำเลย รวมไปถึงผู้เสียหายยังไม่เห็นพร้อมกันทุกคน อัยการมีหน้าที่จะเลือกว่าจะเเก้ไขเเผนต่อหรือยกเลิกเเผนเเล้วดำเนินคดีต่อเลย
หากอัยการเห็นชอบกับแผนแก้ไขที่ได้รับการปรับปรุงให้แจ้งต่อศาลทราบและดำเนินการได้ทันที โดยแผนดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากตัวเด็กหรือเยาวชน หากคดีมีผู้เสียหายต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายด้วย และศาลมีหน้าตรวจว่าเเผนเเก้ไขบำบัดฟื้นฟูขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ถ้าขัดต่อกฎหมาย ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจจัดการต่อตามเหมาะสม
มาตรา 132 กำหนดโดยสรุปได้ว่า กรณีที่ศาลเห็นว่าคดีไม่สมควรมีคำพิพากษา หรือผู้ปกครองทางกฎหมายร้องขอ ศาลอาจมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขตามดุลพินิจของศาลเช่น การให้เข้ามารายงานตัวต่อศาล, เข้ารับการแก้ไขฟื้นฟู, หรือ จัดทำแผนเเก้ไขบำบัดฟื้นฟู
โดนมีหลักเกณฑ์ดังนี้:
1. คดีต้องเสร็จการพิจารณาเเล้ว
2. พฤติการณ์ไม่เป็นอันตรายร้ายเเรงต่อสังคมเกินสมควร
3. มีเเนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
4. อายุจำเลยไม่เกิน24ปี บริบูรณ์
มาตรา 133 หากมีการปฎิบัติตามเงื่อนไขเเละระยะเวลาเเล้วตามมาตรา 132 ให้ศาลสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาเเละสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ
ขณะที่มาตรา 142 ให้อำนาจกับศาลในการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยได้แก่
(1) เปลี่ยนโทษจำคุก เป็นการส่งตัวเด็กหรือเยาวชน ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้ แต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์
(2) เปลี่ยนโทษปรับเป็นการคุมความประพฤติ โดยจะกำหนดเงื่อนไขข้อเดียวหรือหลายข้อก็ได้
ดู พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ปี 2553