นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนตุลาคม 2567

เดือนตุลาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 13 คดี โดยมีหกคดีที่เป็นคำพิพากษาอุทธรณ์ ที่ผ่านมาแนวคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ยังมีความไม่แน่นอน หลายคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลสูง ศาลกลับคำตัดสินของศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้จำเลยคดีมาตรา 112 ต้องโทษและมีแนวโน้มที่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลสูงแล้วศาลจะไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 มีผู้ต้องขังทางการเมืองอย่างน้อย 51 คน เป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 รวม 27 คน 

ณัฐพลทวีตภาพและข้อความเกี่ยวกับร. 10

1 ตุลาคม 2567 ศาลจังหวัดสงขลานัดณัฐพลฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.635/2567 คดีนี้สืบเนื่องจากทรงชัย เนียมหอม แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.คอหงส์ จังหวัดสงขลา กล่าวหาว่า ณัฐพลทวีตข้อความว่า “เคยได้ยินตอนเด็กๆ มีครูมาเม้าให้ฟัง สรุปมันจริงหวะ” และมีการรีทวีตข้อความที่โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ครั้งยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์คู่กับผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นเหตุให้ณัฐพลที่มีภูมิลำเนาที่กรุงเทพมหานครต้องเดินทางไกลไปสู้คดีที่จังหวัดสงขลา

ทอปัดโพสต์ภาพวาดลงไอจี

ตุลาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัด ทอปัด ศิลปินนักวาดภาพอิสระ ฟังคำพิพากษา หมายเลขคดีดำที่ อ.2366/2565 กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพวาดของในหลวงรัชกาลที่สิบ ที่มีลักษณะบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ผู้กล่าวหาเห็นว่าการเผยแพร่ดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจากการสืบสวนสอบสวน น่าเชื่อว่า บัญชีอินสตาแกรมดังกล่าวเป็นของผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับและต่อมาศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหา

อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกันนั้นศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า โดยมีประกันในวงเงิน 90,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหากระทำการใดในลักษณะหรือทำนองเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ในระหว่างการปล่อยชั่วคราว มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญาประกัน ให้ตั้งผู้กำกับดูแลผู้ต้องหา โดยให้ผู้ต้องหาไปรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุก 15 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ก่อนหน้านี้วันที่ 29 สิงหาคม 2567 ศาลอาญาเคยนัดทอปัดฟังคำพิพากษาแล้วหนึ่งครั้งแต่เธอไม่ได้มาปรากฎตัวที่ศาล ศาลจึงสอบถามไปยังทนายความว่าเหตุใดจำเลยจึงไม่มาศาล โดยทนายความชี้แจงต่อศาลว่าทนายความไม่สามารถติตต่อจำเลยได้ ศาลพิจารณาเห็นว่าการที่จำเลยไม่มาศาลโดยไม่มีเหตุจำเป็นจึงต้องออกหมายจับทอปัดเพื่อให้มาฟังคำพิพากษา ศาลกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาใหม่เป็นวันที่ 3 ตุลาคม 2567

สุริยศักดิ์ อดีตแกนนำนปช.ส่งข้อความผ่านไลน์

8 ตุลาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดสุริยศักดิ์ ฉัตรพิทักษ์กุล อดีตแกนนำนปช. ชาวจังหวัดสุรินทร์ ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีนี้เริ่มต้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560 มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบจากหลายหน่วย ทั้งหน่วยในกรุงเทพฯ และหน่วยจากพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มากกว่า 10 นาย พร้อมอาวุธปืนยาวร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อยห้านาย เข้าจับกุมและนำตัวสุริยศักดิ์ไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) โดยการจับกุมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการบุกค้นเก้าจุด เพื่อทลายเครือข่ายอาวุธสงครามของ โกตี๋หรือ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ แนวร่วมนปช. ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ที่ต่อมาถูกอุ้มหายไปยังไม่ทราบชะตากรรม 

เริ่มแรกสุริยศักดิ์ถูกจับกุมในข้อหาก่อการร้ายและครอบครองอาวุธปืนจากการชุมนุมในปี 2553 ร่วมกับผู้ต้องหาอีกแปดคน แต่ต่อมา 17 กรกฎาคม 2560 อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทุกคนจึงถูกปล่อยตัว แต่ขณะกำลังจะออกจากเรือนจำ พนักงานสอบสวนจาก ปอท. เดินทางมาขออายัดตัวสุริยศักดิ์เพียงคนเดียว เพื่อดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 จากการส่งข้อความพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ ชื่อกลุ่มว่า “คนนอกกะลา” ในทำนองโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อ 13 กรกฎาคม 2559

ทั้งนี้ หลักฐานที่โจทก์ใช้กล่าวหาเป็นเพียงกระดาษหนึ่งใบที่พิมพ์ภาพถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์เป็นภาพแชทไลน์ โดยเป็นภาพผู้ใช้ไลน์บัญชีที่ตั้งชื่อว่า “Suriyasak” ส่งข้อความคุยกันและมีข้อความกล่าวถึงระบอบกษัตริย์ที่ปกครองบ้านเมืองมาหลายร้อยปี โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่น แต่รูปโปรไฟล์ในไลน์มีภาพรถยนต์ ซึ่งเป็นหมายเลขทะเบียนจดทะเบียนด้วยชื่อของสุริยศักดิ์

จากนั้นสุริยศักดิ์ถูกนำตัวไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้องเป็นเวลาสองคืน ก่อนเจ้าหน้าที่จะไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขัง ท่ามกลางกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า สุริยศักดิ์ได้รับการประกันตัวในวันที่ 12 มิถุนายน 2562 นั่นแปลว่าเขาอยู่ในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดีนานเกือบสองปี และผ่านไปนานห้าปี คดีของเขาเริ่มสืบพยานที่ศาลอาญา เมื่อ 16-17 และ 25 สิงหาคม 2565 เนื่องจากภายหลังการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งที่หมดความจำเป็น ส่งผลให้คดีความทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวถูกย้ายไปที่ศาลยุติธรรม  

5 ตุลาคม 2565 ศาลอาญาพิพากษายกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย เนื่องจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีมีความขัดแย้งกันและพบพิรุธหลายประเด็น เช่น การเบิกความของพยานโจทก์ การพิสูจน์ตัวตนของจำเลยในการใช้บัญชีไลน์

ฮ่องเต้ปราศรัยระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบ ล้านนาต้านศักดินาทัวร์

ตุลาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฮ่องเต้-ธนาธร วิทยเบญจางค์ ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1304/2564 จากกรณีการอ่านแถลงการณ์และปราศรัยระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 5 และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 โดยถูกกล่าวหาว่า เนื้อหาแถลงการณ์และคำปราศรัยทำให้คนฟังเข้าใจได้ว่า กล่าวถึงรัชกาลที่สิบ และมีลักษณะใส่ความ จาบจ้วง ทำให้รัชกาลทีสิบ เสื่อมเสียพระเกียรติ 

วันที่ 21 สิงหาคม 2566 ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกินกว่า 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุกหนึ่งเดือน ส่วนข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จากการอ่านแถลงการณ์บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ที่ฮ่องเต้อ่านนั้นเป็นการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์โดยคำว่า “สถาบันกษัตริย์” ในแถลงการณ์ดังกล่าว ศาลเห็นว่าไม่ได้ระบุเจาะจงถึงตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์ ยังไม่ชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนากล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้องในกระทงความผิดนี้ 

อย่างไรก็ดีศาลเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในกระทงที่ให้การรับสารภาพจากการปราศรัยที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ลงโทษจำคุกสามปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกหนึ่งปีหกเดือน และฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุกหนึ่งเดือน รวมจำคุกหนึ่งปีเจ็ดเดือน ไม่รอการลงโทษ ต่อมาในวันเดียวกันนั้นศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวฮ่องเต้ระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ 150,000 บาท  ก่อนหน้านี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่เคยนัดฮ่องเต้ฟังคำพิพากษาอุทธรณ์แล้วเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 แต่ฮ่องเต้ไม่ปรากฏตัวที่ศาล ศาลจึงนัดหมายใหม่อีกครั้งเป็นวันที่ 9 ตุลาคม 2567

ปีเตอร์’ ปราศรัยงบสถาบันกษัตริย์ในชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง

9 ตุลาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดอุดรธานีนัด ‘ปีเตอร์’ ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ อ.713/2565 คดีนี้สืบเนื่องจากการที่เขาขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #กฐินราษฎร์ตลาดหลวง ที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 มีเนื้อหาเช่น การขอให้สถาบันกษัตริย์ยกเลิกการพระราชทานยศสุนัขทรงเลี้ยงและงบประมาณของสถาบันกษัตริย์โดยเปรียบเทียบการนำภาษีของประเทศไปอุดหนุนสถาบันกษัตริย์ระหว่างไทยและเบลเยียม

โตโต้-ปิยรัฐติดป้ายวัคซีนพระราชทาน 

11 ตุลาคม 2567 เวลา 9.30 น. ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์นัดโตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ อดีตผู้อำนวยการ We Volunteer และสส. พรรคประชาชนฟังคำพิพากษาในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดทำป้ายไวนิลวิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของรัฐบาล มีเนื้อหาที่เป็นการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 และโพสต์บนเฟซบุ๊ก “โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat chongthep” และทวิตเตอร์ “We Volunteer” ไวนิลจำนวนเจ็ดแผ่นมีข้อความเช่น หาวัคซีนให้วังและผูกขาดวัคซีนบริษัท

สินธุ’ คอมเมนต์โพสต์เพจ The MalaengtaD

28 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดพัทลุงนัด ‘สินธุ’ ชาวจังหวัดจันทบุรีฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.345/2567 คดีนี้สืบเนื่องจากทรงชัย เนียมหอม แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสภ.ตะโหมด จังหวัดพัทลุง กล่าวหาว่า ‘สินธุ’ หมิ่นประมาทกษัตริย์จากการคอมเมนท์ใต้โพสต์ภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีที่มีข้อความประกอบว่า “ในหลวง พระราชินี” ไม่เคยได้รับเงินเดือนหรือทรงไม่รับเงินปีที่รัฐบาลถวายพระองค์ละ 60 ล้านบาทต่อปี เงินทั้งหมดคืนให้ประชาชนทุกบาททุกสตางค์ของเพจเฟซบุ๊ก The MalaengtaD เขาคอมเมนท์ในทำนองที่แปลความได้ว่า ให้เก็บเงินไว้ใส่ปากยามที่เสียชีวิต 

ต้นไม้’ ขายปฏิทินเป็ดล้อเลียนกษัตริย์

28 ตุลาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญาตลิ่งชันนัด ‘ต้นไม้’ ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2564 คดีนี้สืบเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2563 ช่วงที่รัฐสภากำลังจะมีการพิจารณาเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมเจ็ดร่าง กลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรได้ประกาศว่า ไปปิดล้อมรัฐสภา ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ โดยไฮไลท์ของการปิดล้อม “ทางน้ำ” คือการเดินทัพของกองทัพเป็ดยางเป่าลมสีเหลืองราว 60 ตัวที่ผู้ชุมนุมขนเตรียมขนไปที่หน้ารัฐสภาเกียกกายแต่ถูกสลายการชุมนุมเป็ดยางขนาดยักษ์ที่ผู้ชุมนุมตั้งใจนำมาใช้เป็นพร็อพประกอบการชุมนุมจึงถูกใช้เป็นโล่จำเป็น นอกจากนั้นในวันเดียวกันก็มีเหตุปะทะระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและผู้ชุมนุมที่บริเวณใกล้เคียงเหล่าเป็ดยางสีเหลืองนี้จึงถูกหยิบยืมมาใช้เป็นโล่กำบังจำเป็นอีกครั้ง ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว เป็ดยางก็ได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า “พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” และกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการประท้วงของผู้ชุมนุมและมีคนนำไปผลิตเป็นสินค้าประจำม็อบ ไม่ว่าจะเป็นกิ๊บติดผม เสื้อ พวงกุญแจ พัด สติ๊กเกอร์ ตุ๊กตา

ทั้งนี้สินค้าอย่างปฏิทินเป็ดกลับนำมาซึ่งการตั้งข้อหาตามมาตรา112 เนื่องจากถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการล้อเลียนรัชกาลที่สิบ แม้เนื้อหาในปฏิทินดังกล่าวจะไม่ได้มีการเอ่ยชื่อบุคคลใด หรือมีตราสัญลักษณ์ทางการของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

เดิมคดีนี้มีจำเลยสองคนคือ ‘ต้นไม้’ และพิชญ แต่ระหว่างการพิจารณาคดีไม่สามารถติดตามตัวพิชญได้ ตามคำฟ้องระบุการกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์เช่น เดือนมกราคม 2564 มีข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” และห้อยที่คอรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลือง และมีภาพการ์ตูนบนรูปสุนัขว่า “ทรงพระเจริญ” และเดือนพฤษภาคม 2564 มีรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองและตัวเลข 10 บนตัว พร้อมข้อความ “ไอโอนะ ยูโอไหม?” ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2566 ให้ลงโทษจำคุก ‘ต้นไม้’ ผู้จัดส่งปฏิทินดังกล่าวเป็นเวลาสามปี โดยไม่รอลงอาญา

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ศาลอาญาตลิ่งชันนัด ‘ต้นไม้’ ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาแล้วหนึ่งครั้ง แต่เขาไม่มาปรากฏตัวที่ศาล ทำให้ต้องนัดหมายใหม่อีกครั้งเป็นวันที่ 28 ตุลาคม 2567

‘สมพล’ปาสีแดงใส่รูปร. 10 ในพื้นที่ปทุมธานีและกทม. รวมสามคดี

เดือนตุลาคม 2567 ศาลนัด ‘สมพล’ ฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 จากการปาถุงบรรจุน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบรวมสามคดี  ‘สมพล’ เป็นพนักงานบริษัท คดีที่เขาถูกกล่าวหาเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการขับรถจักรยานยนต์ไปปาถุงบรรจุน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ทั้งหมดหกคดีคือ ศาลจังหวัดปทุมธานีสองคดี ศาลจังหวัดธัญบุรีสองคดี ศาลจังหวัดนนทบุรีหนึ่งคดี และศาลอาญาหนึ่งคดี ศาลทยอยมีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของเขาออกมาแล้วห้าคดี คำพิพากษาในศาลชั้นต้นสี่คดีในกรณีที่ปาถุงบรรจุน้ำสีแดงนั้นศาลยกฟ้องมาตรา 112 และลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์แทน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีหนึ่งคดีในศาลจังหวัดธัญบุรีที่มีคำพิพากษาอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 112  นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาอีกหนึ่งคดี เป็นกรณีพ่นสีสเปรย์ที่มีข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์ทับป้ายบอกทางสองจุดในจังหวัดปทุมธานีในศาลจังหวัดธัญบุรีที่ในชั้นต้นศาลเห็นว่า มีความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

สำหรับเดือนนี้สมพลต้องขึ้นศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สองคดีในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ศาลจังหวัดปทุมธานี คือ คดีหมายเลขดำที่ อ.477/2565 เหตุจากการปาถุงบรรจุน้ำสีแดงที่ริมถนนติวานนท์ จังหวัดปทุมธานีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ​2565 และคดีหมายเลขดำที่ อ. 488/2565 เหตุจากการปาถุงบรรจุน้ำสีแดงในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ​2565 รวมสามจุด และอีกคดีหนึ่งในวันที่ 20 ตุลาคม 2567 เวลา 9.00 น. เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1744/2566 เหตุจากการปาถุงบรรจุน้ำสีแดงในพื้นที่เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานครรวมสี่จุด

สิงโต คอมเมนต์ใต้โพสต์ภาพร. 10 และเจ้าฟ้าทีปังกร

29 ตุลาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีนัด ‘สิงโต’ ฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.249/2566 กรณีคอมเมนต์ใต้ภาพรัชกาลที่ 10 และเจ้าฟ้าทีปังกรฯ ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมีขณะที่อยู่ในโรงภาพยนตร์ คดีนี้มีผู้ร้องทุกข์คือ ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ เป็นบุคคลที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในการชุมนุม และรัชกาลที่สิบทรงกล่าวข้อความชมว่า “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ” ระหว่างการรับเสด็จเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563

เก็ทปราศรัยในการชุมนุมวันแรงงานสากล

29 ตุลาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดเก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรงฟังคำพิพากษากรณีปราศรัยวันแรงงาน หมายเลขคดีดำที่ อ.732/2566 จากกรณีการปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากล ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 โดยถูกกล่าวหาว่า คำปราศรัยใช้ถ้อยคำเสียดสี พาดพิง ซึ่งก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนรู้สึกเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมสี่ข้อความ โดยสามข้อความ มีเนื้อหากล่าวพาดพิงถึงเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และสถาบันกษัตริย์ 

คดีนี้ในวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ศาลอาญาเคยนัดฟังคำพิพากษาแล้ว แต่ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งแก่จำเลยว่าโจทก์ (อัยการ) ได้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องและศาลได้อนุญาตแล้ว ทำให้ทนายจำเลยแถลงคัดค้านต่อศาล ศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนการพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 29 ตุลาคม 2567

RELATED TAGS

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ