“หลักสากล” สำหรับการชุมนุมและการสลายการชุมนุม

“หลักสากล” สำหรับการชุมนุมและการสลายการชุมนุม

1. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ข้อ 21 กำหนดว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น 

2. หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ที่รับรองโดยสหประชาชาติครั้งที่ 8 ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อจำเลย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2533 ที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ข้อ 12 กำหนดว่า ประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสงบ ซึ่งถ้าหากมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้กำลังนั้นก็จะต้องเป็นไปอย่างจำกัด ตามหลักการที่ว่า 

1) หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้เท่าที่จำเป็น 

2) หากเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่านี้ได้ 

3. หลักปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) ที่ได้รับการรับรองโดยมติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติที่ 34/169 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2522 ข้อ 2 กำหนดว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และในข้อ 3 ได้ระบุว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งและเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น 

4. แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR เป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าสองปี การยกร่างและการปรึกษาหารือของ OHCHR ร่วมมือกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ แนวปฏิบัตินี้จัดทำเสร็จในปี 2019 เพื่อจะเติมเต็มช่องว่างในการตีความหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและการบังคับใช้กฎหมาย ในส่วนคำนำของแนวปฏิบัติระบุว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงที่จะตัดสินใจว่าการใช้กำลังนั้นจำเป็นสำหรับสถานการณ์หนึ่งๆ และแค่ไหนเพียงใดจะได้สัดส่วนกับภัยคุกคามที่ต้องเผชิญหน้า หลายครั้งเจ้าหน้าที่จะต้องตัดสินใจชั่งน้ำหนักในเวลาไม่กี่วินาทีภายใต้เงื่อนไขที่ซับซ้อนและเป็นอันตราย จึงต้องรำลึกไว้เสมอถึงหลักการใช้กำลังและหลักสิทธิมนุษยชนสากล

 

ปืนใหญ่ฉีดน้ำ และสารเคมีระคายเคือง (Water Cannon and Chemical Irritant)

การชุมนุมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ช่วงปี 2563-2564 เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารประเทศลาออก ให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เผชิญหน้ากับการปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการตั้งข้อหาดำเนินคดี การจับกุม และการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งการตัดสินใจใช้กำลังและใช้อาวุธของฝ่ายตำรวจแต่ละครั้งแทบไม่ได้สอดคล้องกับหลักสากลที่มีอยู่

16 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุม “คณะราษฎร63” นัดหมายกันที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ในเวลา 17.00 น. ต่อมาเมื่อพบความพยายามปิดกั้นโดยตำรวจจึงย้ายไปที่สี่แยกปทุมวัน โดยในช่วงเวลาประมาณ 18.45-19.30 น. ตำรวจชุดปราบจราจล พร้อมโล่ กระบอง และรถฉีดน้ำ เข้าใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยเริ่มจากการกระชับพื้นที่เข้าใกล้ผู้ชุมนุม และประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม โดยให้เวลา “5 นาที” เมื่อผู้ชุมนุมไม่เลิกจึงเกิดการปะทะกันบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม เป็นครั้งแรกของปี 2563 ที่เกิดการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม

ฝ่ายตำรวจใช้กำลังหลายร้อยนายตั้งแถวหลายชั้นเดินเข้าหาผู้ชุมนุม และใช้รถแรงดันน้ำฉีดไปที่ผู้ชุมนุมหลายครั้ง จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแรงดันน้ำและถอยแนวร่นไปทางสี่แยกปทุมวัน โดยยังมีการใช้น้ำสีฟ้าฉีดสลับกัน ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า รู้สึกแสบตาและแสบบริเวณผิวหนัง

สำหรับการใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำ และใช้สารระคายเคือง ตามหลักสากลได้กำหนดวิธีการใช้อาวุธแต่ละประเภทไว้ชัดเจน ดังนี้

ปืนใหญ่ฉีดน้ำ หรือ Water Cannon ออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะสลายการรวมกลุ่ม เพื่อปกป้องทรัพย์สินหรือหยุดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง โดยทั่วไปแล้ว ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะใช้ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้าง “เท่านั้น” โดยวัตถุประสงค์ที่จำเป็นและได้สัดส่วน การตระเตรียมการใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะต้องวางแผนการอย่างดี และควรใช้ภายใต้คำสั่งที่เคร่งครัด ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง

– ปืนใหญ่ฉีดน้ำ ไม่ควรใช้ยิงใส่บุคคลในระดับสูง ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บระดับสอง (Secondary Injury) ความเสี่ยงอื่นๆ รวมถึงอาการช็อคเพราะอุณหภูมิร่างกายต่ำลงจากน้ำเย็นในภาวะที่อากาศหนาว และความเสี่ยงจากการลื่นล้ม หรือการถูกฉีดอัดกับกำแพง การใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำนั้นต้องให้ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถใช้แบบเล็งไปที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะได้

การใช้สารที่ก่อและความระคายเคืองทางเคมี (Chemical Irritants) ต้องใช้จากระยะไกลต่อกลุ่มคนที่เข้าร่วมก่อความรุนแรง มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัวและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง การใช้สารดังกล่าวในพื้นที่ปิดอาจทำให้เกิดการเหยียบย่ำกันเองของฝูงชน และก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่เลือกฝ่ายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของทิศทางลมและอากาศ เกิดอันตรายต่อชีวิตหากใช้ในพื้นที่ปิดในจำนวนมาก การใช้สารดังกล่าวกับบุคคลที่ใช้ความรุนแรงอาจทำให้บุคคลดังกล่าวขยับเข้ามาใกล้ผู้บังคับใช้กฎหมายมากขึ้นทำให้มีความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากันมากขึ้น การใช้สารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองทางเคมีอาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการหายใจ อาการเวียนหัว อาเจียน หรือการระคายเคืองในระบบหายใจ ต่อมน้ำตา ลูกตา อาการกระตุก เจ็บหน้าอก ผิวหนังอักเสบ หรืออาการแพ้ ในจำนวนมากอาจเกิดน้ำท่วมปอด เซลล์ในระบบหายใจและระบบย่อยอาหารตาย และเลือดออกภายใน คนที่ถูกสารเหล่านี้ต้องได้รับการฆ่าเชื้ออย่างเร่งด่วนที่สุด

– การใช้กระสุนเคมีระคายเคืองต้องไม่ยิงไปหาบุคคล หากโดนหน้าหรือหัวอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิต และต้องไม่ใช้ในพื้นที่ปิดหรือที่ไม่มีอากาศถ่ายเทพอ ไม่ควรใช้สารเคมีที่ก่อความระคายเคืองที่มีระดับของสารอันตรายสูง

 

แก๊สน้ำตา (Tear Gas)

17 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมสภามีนัดพิจารณาเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยร่างที่จะพิจารณามีทั้งหมด 7 ร่าง เป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และภาคประชาชนที่รวบรวมรายชื่อมากกว่าหนึ่งแสนรายชื่อ มีกลุ่มประชาชนหลายฝ่ายนัดชุมนุมกันเพื่อส่งเสียงเรียกร้อง สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นในเวลาประมาณ 14.00 น. ที่การ์ดคณะราษฎรเริ่มรื้อแนวลวดหนามที่บริเวณหน้าบุญรอด ก่อนถึงรัฐสภา โดยแนวดังกล่าวนอกจากรั้วลวดหนามยังมีแบร์ริเออร์ปูนขวางอีกชั้นด้วย เมื่อการ์ดเริ่มรื้อรั้ว ตำรวจเริ่มฉีดน้ำสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรกเวลา 14.22 น. ครั้งต่อๆ มามีการผสมแก๊สน้ำตาและยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม โดยก่อนการฉีดแก๊สน้ำตาครั้งแรกมีการแจ้งผู้ชุมนุมก่อน

ต่อมาเวลา 14.30 น. ผู้ชุมนุมจากแยกบางโพได้เข้าประชิดแนวกั้นแยกเกียกกาย ตำรวจมีการฉีดสลายการชุมนุมเช่นกัน ตำรวจไม่มีการประกาศว่า ในน้ำมีการผสมสารเคมี ผู้ชุมนุมแสดงอาการแสบร้อนตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่ถูกน้ำ จนกระทั่งเวลาประมาณ 20.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มคุมพื้นที่และผลักดันเข้ามาทางแนวกั้นหน้าบุญรอดและแยกเกียกกายมารวมตัวกันที่หน้ารัฐสภา ถนนสามเสนได้ ตำรวจมีการฉีดน้ำและแก๊สน้ำตารวมกันเป็นเวลาประมาณ 5 ชั่วโมง คือ เริ่มฉีดครั้งแรกเวลา 14.22 น. และครั้งล่าสุดเวลา 19.22 น. 

สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น วชิรพยาบาลรายงานว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมในช่วงเวลาตั้งแต่ 17.10-19.30 น. ที่บริเวณหน้ารัฐสภาเกียกกาย มีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 18 คน เป็นชาย 12 คน หญิง 6 คน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการใช้แก๊สน้ำตา, มีแผลตามร่างกายจากการโดนลวดบาด, ถูกฉีดน้ำ และมีผู้ชุมนุมศีรษะแตก 1 คน โดยผู้บาดเจ็บบางส่วนเดินทางกลับบ้านแล้ว

สำหรับการใช้แก๊สน้ำตา ตามหลักสากลได้กำหนดวิธีการใช้ไว้ชัดเจน ดังนี้

การใช้แก๊สน้ำตาต้องใช้โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องยิงใส่กลุ่มบุคคลที่ก่อความรุนแรงจากระยะไกลเพื่อใช้รับมือกลุ่มหรือบุคคลที่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้การใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมหรือยุติความรุนแรง แก๊สน้ำตาแบบกระจายระยะไกลที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายคือแบบ “CS” ซึ่งจะส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงทางเคมีกระจายไปในระยะไกล โดยแก๊สน้ำตามีทั้งแบบยิงวิถีโค้งและยิงจากปืนยิงแก๊สน้ำตา  

ความเสี่ยงเป็นพิเศษ

– ความเสี่ยงด้านสถานที่ แก๊สน้ำตาอาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอนในพื้นที่เปิดเนื่องจากการเปลี่ยนผันของทิศทางลม และอาจสร้างความแตกตื่นแก่ฝูงชนในพื้นที่ปิดอย่างสนามฟุตบอล รวมถึง อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหากใช้ในพื้นที่อับอากาศซึ่งส่งผลให้แก๊สมีความเข้นข้นสูง หรืออาจทำให้เกิดการเผาไหม้หากพลุไฟวิถีโค้งถูกยิงไปตกใกล้กับวัตถุไวไฟ

– ความเสี่ยงด้านสุขภาพ การใช้แก๊สน้ำตาสามารถทำให้มีอาการหายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ต่อมน้ำตาและดวงตา อาการกระตุก เจ็บหน้าอก ผิวหนังอักเสบ หรืออาการแพ้ หากได้รับในปริมาณมาก อาจทำให้เซลล์ในระบบทางเดินหายใจและระบบย่อยอาหารตาย ปวดบวม และเลือดออกภายใน จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแก๊สน้ำตาซ้ำๆ หรือเป็นเวลานาน ทั้งยังควรชำระล้างโดยเร็วที่สุดหากสัมผัสแก๊สน้ำตา

สถานการณ์ที่การใช้แก๊สน้ำตาอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

– การยิงแก๊สน้ำตาแบบวิถีโค้งไปที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และการเล็งไปที่ศีรษะหรือใบหน้า อาจทำให้ผู้ที่ถูกยิงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัสได้

– การยิงแก๊สน้ำตาในพื้นที่อับอากาศที่ไม่มีทางออกหรือการระบายอากาศที่เพียงพอ อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัสจากภาวะขาดอากาศหายใจเเละก่อให้เกิดอาการเนื้อเยื่อทางเดินหายใจถูกทำลายเเละอาการเลือดออกภายใน หากได้รับเเก๊สน้ำตาในปริมาณที่มากเกินไป

– เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ควรใช้แก๊สน้ำตาชนิดที่สารระคายเคืองมีระดับความเป็นพิษที่ต่ำที่สุดแต่ยังคงมีประสิทธิภาพดีอยู่ ไม่ควรนำสารที่ออกฤทธิ์เป็นอันตรายมาใช้ 

จากการสอบถามข้อมูลเรื่องการใช้แก๊สน้ำตาควบคุมฝูงชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในทางทฤษฎี เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนถูกฝึกให้ยิงกระสุนบรรจุเเก๊สน้ำตาให้ตกบริเวณด้านหน้าเเละด้านหลังของกลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นอยู่กับทิศทางลม ทำให้โอกาสที่กระสุนจะโดนกลุ่มผู้ชุมนุมลดลง เเต่ในทางปฎิบัติ เจ้าหน้าที่จะปากระป๋องบรรจุเเก๊สน้ำตาเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด การโยนเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมก็ช่วยลดความจำเป็นในการประเมินทิศทางลม เนื่องจากก๊าซจะส่งผลกระทบต่อฝูงชนอย่างแน่นอน และโอกาสที่กระสุนจะพุ่งไปผิดทิศทางนั้นแทบจะเป็นศูนย์ ส่วนองศาการยิง ขึ้นอยู่กับระดับความสูงของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเเละกลุ่มผู้ชุมนุม โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 45 องศาหรือใกล้เคียง

 

กระสุนยาง (Kinetic Impact Projectiles) 

28 กุมภาพันธ์ 2564 การชุมนุมของกลุ่ม RE DEM ที่ประกาศนัดหมายผ่านเพจ Free Youth ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและเดินขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์ หรือ ‘ราบ1’ ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักข้าราชการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกระสุนยาง มาใช้กับประชาชน โดยมีภาพและคลิปจำนวนมาก ที่ตำรวจใช้ปืนยิงไปทางผู้ชุมนุม มีเสียงดังและประกายไฟออกจากปากกระบอกปืนชัดเจน มีผู้พบปลอกกระสุน และลูกกระสุนยางหลายแห่งที่เป็นจุดปะทะ รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บเป็นรอยแผลฟกช้ำสีแดงเข้ม

ภาพการใช้กระสุนยางเกิดขึ้นหลายครั้งระหว่างการชุมนุม รวมทั้งหลังการชุมนุมยุติแล้ว แต่เหลือผู้ชุมนุมที่ยังไม่กลับบ้าน และยาวมาจนถึงหลังเวลา 23.00 น. ที่หน้า สน.ดินแดง ก็ยังมีภาพการใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมอยู่

แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR กำหนดวิธีการใช้กระสุนยาง (Kinetic Impact Projectiles) ไว้ดังนี้

วิธีการใช้และการออกแบบ

ขอบเขตของการใช้กระสุนยางต้องใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ (ตำรวจ) เพื่อใช้รับมือกับบุคคลที่ใช้ความรุนแรง รวมถึงการใช้ทางเลือกอื่นที่มีความรุนแรงน้อยกว่าอาวุธที่ทำให้อันตรายถึงชีวิตได้ กระสุนดัดแปลงมีหลายชื่อ เช่น กระสุนยาง กระสุนพลาสติก ฯลฯ

สถานการณ์ที่อาจนำกระสุนยางมาใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

กระสุนยางควรถูกใช้ในการยิงที่เล็งไปที่ช่วงท้องส่วนล่างหรือขาของบุคคลที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น และเฉพาะในกรณีที่เล็งเห็นว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือสาธารณชน

ความเสี่ยงเป็นพิเศษ

การเล็งไปที่หน้าหรือหัว อาจส่งผลให้กระโหลกศีรษะแตกและสมองบาดเจ็บ เกิดอันตรายต่อดวงตา รวมไปถึงอาจก่อให้เกิดอาการตาบอดถาวร หรืออาจเสียชีวิตได้ การยิงกระสุนยางจากทางอากาศหรือที่สูง เช่น ระหว่างการชุมนุม มีแนวโน้มจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะยิงโดนศีรษะของผู้ชุมนุม การยิงไปที่ลำตัวผู้ชุมนุมอาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ และอาจทะลุลำตัวผู้โดนยิง โดยเฉพาะเมื่อยิงในระยะใกล้ ขนาดของลำกล้องและความเร็วของวิถีการยิง รวมไปถึงส่วนประกอบอื่น ล้วนส่งผลต่อการก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บและความรุนแรงของการบาดเจ็บนั้นทั้งสิ้น

การใช้กระสุนยางที่จะเป็นไปตามหลักสากล ต้องเป็นการยิงจากกระสุนที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 เซนติเมตรและยิงตรงไปยังเป้าเท่านั้น การยิงกระสุนลงพื้นอาจทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจยอมรับได้เนื่องจากความไม่แม่นยำของวิถีกระสุน 

สถานการณ์ที่การนำกระสุนยางมาใช้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

– กระสุนยางไม่ควรใช้ยิงในโหมดอัตโนมัติ

– การยิงทีละหลายๆ นัด ในคราวเดียวกันนั้นโดยทั่วไปไม่มีความแม่นยำ การยิงเช่นนั้นยังขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน กระสุนโลหะ เช่น ที่ยิงจากปืนสั้น (shotguns) ไม่ควรนำมาใช้

– กระสุนควรมีการนำไปทดสอบและได้รับการอนุมัติให้ใช้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความแม่นยำเพียงพอที่จะใช้ยิงไปในบริเวณที่ปลอดภัยต่อเป้าหมายที่มีขนาดเท่ามนุษย์ ในระยะที่กำหนด และโดยไม่ใช้รุนแรงเกินควร ซึ่งอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ

– การใช้กระสุนยางไม่ควรเล็งไปที่หัว หน้าหรือคอ กระสุนโลหะหุ้มยางเป็นอันตราย ไม่ควรนำมาใช้

 

ปืนช็อตไฟฟ้า Conducted Electrical Weapons (“Tasers”)

7 สิงหาคม 2564 การชุมนุมของกลุ่ม RE DEM ที่ประกาศนัดหมายผ่านเพจ Free Youth บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และประกาศจะเดินขบวนไปพระบรมมหาราชวัง ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า ตำรวจควบคุมฝูงชนหรือ คฝ.จำนวนหลายนายพกพา “ปืนสั้นสีเหลือง” ไว้ที่บริเวณเอว ซึ่งภายหลังทราบว่าเป็น “ปืนช็อตไฟฟ้า (Taser)” โดยเหตุการณ์นี้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้สังเกตการณ์พบเห็น คฝ. พกพาอาวุธปืนช็อตไฟฟ้า หรืออาวุธลักษณะใกล้เคียงกัน

สำนักข่าวอิศราออนไลน์รายงานว่า อาวุธปืนช็อตไฟฟ้าได้รับการจัดซื้อเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ลงนามสัญญาจัดซื้อปืนช็อตไฟฟ้า จำนวน 2,700 กระบอก สำหรับสถานีตำรวจ 1,483 แห่งทั่วประเทศ รวมเป็นเงิน 215,730,000 บาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 79,000 บาทต่อหนึ่งกระบอก จากบริษัท ฟิกซ์เทคจำกัด ตามสัญญา เลขที่ สพ. 23/2563 โดยในวันที่ 23 กันยายน 2563 ได้มีการเรียกตัวตำรวจทั่วประเทศเข้ามาฝึกใช้ปืนช็อตไฟฟ้า กองบัญชาการตำรวจแห่งละ 5 นาย ณ ห้องเรียนกองสรรพาวุธ

แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมุนษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งระบุถึงหลักการใช้ปืนช็อตไฟฟ้าไว้ ดังนี้

วิธีการใช้และการออกแบบ

โดยทั่วไปแล้ว ปืนช็อตไฟฟ้าทำหน้าที่ส่งพัลส์ของประจุไฟฟ้าซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อของเป้าหมายหดเกร็งและทำงานไม่ประสานสัมพันธ์กันตลอดจนไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ เรียกว่า “การสูญเสียการควมคุมกล้ามเนื้อ” โดยกระแสไฟฟ้าจะถูกส่งผ่านลูกดอกที่ถูกยิงไปทางเป้าหมายซึ่งเชื่อมต่อทางไฟฟ้ากับตัวปืนด้วยลวดแบบบาง เมื่อเป้าหมายสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าไปควบคุมตัวเป้าหมายได้โดยวิธีการตามปกติ อาทิกุญแจมือ เป็นต้น ปืนช็อตไฟฟ้าหลายๆ รุ่น ใช้ไนโตรเจนอัดเพื่อยิงลูกดอก 2 ลูก ซึ่งดึงสายไฟฟ้ากลับไปยังตัวปืน ทั้งนี้ เมื่อลูกดอกยิงไปโดนร่างกาย ประจุไฟฟ้าแรงสูงจะถูกส่งผ่านสายเคเบิลไปยังตัวเป้าหมาย

ปืนช็อตไฟฟ้าหลายๆ อันยังสามารถทำให้เกิดไฟช็อตได้อีกด้วย หากยิงใส่บุคคลโดยตรงหรือเรียกว่า Drive-Stun Mode อย่างไรก็ตามผลลัพธ์คือการสร้างความรู้สึกเจ็บปวดแก่เป้าหมาย แต่จะไม่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียการควมคุมกล้ามเนื้อ

สถานการณ์ที่ปืนช็อตไฟฟ้าสามารถนำมาใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

ปืนช็อตไฟฟ้าสามารถใช้งานได้โดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น เพื่อทำให้เป้าหมายสูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเองจากระยะไกล หากเป้าหมายมีพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้ตนเองและผู้อื่นตกอยู่ในอันตราย ในบางสถานการณ์เจ้าหน้าที่อาจเลือกใช้ปืนช็อตไฟฟ้าแทนอาวุธปืนจริง และในสถานการณ์อื่นๆ ปืนช็อตไฟฟ้าถูกใช้แทนอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำที่อาจเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่และเป้าหมายได้มากกว่า การใช้แสงเลเซอร์สีแดงหรือการเล็งอาจช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้กฎหมายที่ชอบด้วยกฎหมายได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องออกอาวุธ

ปืนช็อตไฟฟ้าทุกกระบอกควรมีระบบตัดไฟฟ้าแบบอัตโนมัติเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องสงสัยถูกช็อตไฟฟ้านานเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักตั้งค่าอยู่ที่ 5 วินาที อย่างไรก็ตามในปัจจุบันไม่ใช่อาวุธทั้งหมดจะมีระบบนี้

ความเสี่ยงอันเกิดจากการใช้ปืนช็อตไฟฟ้า

1. ความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้ปืนช็อตไฟฟ้า ได้แก่ อาการบาดเจ็บระดับปฐมภูมิจากประจุไฟฟ้า หรือจากการโดนลูกดอกฝังอยู่ในผิวหนัง โดยผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะได้รับการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและกระดูกจากการหดตัวของกล้ามเนื้อที่เกิดจากปืนช็อตไฟฟ้าได้มากกว่าคนอื่นๆ

ปืนช็อตไฟฟ้าไม่ควรใช้กับเป้าหมายที่อยู่ในที่สูง เนื่องจากโดยปกติแล้วหากบุคคลโดนช็อตด้วยปืนช็อตไฟฟ้า ร่างกายจะไม่สามารถใช้มือรองรับแรงกระแทกได้หากตกจากที่สูง จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับการบาดเจ็บระดับทุติยภูมิโดยเฉพาะที่บริเวณศีรษะ ซึ่งการบาดเจ็บดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากการตกลงสู่พื้นจากที่สูง หรือตกลงบนพื้นผิวที่แข็ง

2. ความเสี่ยงของการบาดเจ็บหนักหรือเสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นในบางสภาวะ เช่น บุคคลที่โดนไฟฟ้าช็อตเป็นโรคหัวใจ หรือได้รับยาตามคำสั่งของแพทย์ ตลอดจนเสพสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ หรือเหตุผลอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดผลข้างเคียงต่อหัวใจ

ทั้งนี้ คำแนะนำของบริษัทเทเซอร์ (TASER™) เสนอแนะว่า หากเป็นไปได้ผู้ใช้งานควรหลีกเลี่ยงการยิงไปที่บริเวณหน้าอกซึ่งใกล้กับหัวใจเพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งเด็กและผู้ใหญ่รูปร่างผอมบางมีความเสี่ยงที่จะได้รับการบาดเจ็บภายในจากลูกดอกที่เจาะเข้าไปในเนื้อเยื่อได้มากขึ้นเนื่องจากมีลำตัวทีบางกว่าคนอื่นๆ

การช็อตปืนไฟฟ้าอาจก่อให้เกิดอาการชักในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคลมชักไม่ว่าลูกดอกจะฝังตัวในตำแหน่งไหนของร่างกายก็ตาม เจ้าหน้าที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปืนช็อตไฟฟ้าในบริเวณอวัยวะเพศหรือส่วนบอบบางอื่นๆ ของร่างกายเช่นกัน

3. พฤติกรรมรุนแรงบางประเภทซึ่งอาจเกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิต อุปสรรคทางภาษา ความผิดปกติทางการได้ยิน ความบกพร่องทางสายตา ความผิดปกติทางพัฒนาการหรือทางระบบประสาท หรือภาวะการเรียนรู้บกพร่อง มีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ปืนช็อตไฟฟ้า ดังนั้น เจ้าหน้าที่ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้ที่ทำงานในสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะพบกับกลุ่มบุคคลข้างต้น ได้รับคำแนะนำโดยละเอียดและได้รับการฝึกให้สามารถสังเกตและรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว ตลอดจนมีความรู้ ความสามารถ และมีเครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ให้ลดระดับสถานการณ์รุนแรงที่อาจทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ปืนช็อตไฟฟ้า

4. การใช้ปืนช็อตไฟฟ้าในบริเวณที่มีสารไวไฟหรือสารที่อาจก่อให้เกิดการระเบิด ส่งผลให้เกิดไฟไหม้ ไฟลุกลาม หรือกระทั่งการระเบิดได้ อีกทั้งสารละลายในสเปรย์ที่ทำให้ระคายเคืองอาจติดไฟได้ ซึ่งเป็นผลมาจากลูกดอกของปืนช็อตไฟฟ้า

5. การใช้ปืนช็อตไฟฟ้าเพื่อป้องกันหรือจำกัดพฤติกรรมการทำร้ายตัวเองของบุคคลต้องมีเหตุผลอันสมควรตามสถานการณ์

6. แม้ว่าการใช้ปืนช็อตไฟฟ้าในรูปแบบ Drive-Stun จะถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่อาจใช้ได้ผลดีกับบุคคลที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต หรือกับบุคคลที่ไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด เช่น ผู้ป่วยทางจิตที่ขาดสติหรือความตระหนักรู้จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการบาดเจ็บสาหัส

สถานการณ์ที่การนำปืนช็อตไฟฟ้ามาใช้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ปืนช็อตไฟฟ้าไม่ควรถูกนำมาใช้ในกรณีที่เป้าหมายไม่ได้แสดงอาการต่อต้านด้วยการต่อสู้ เมื่อเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการช็อตไฟฟ้าซ้ำๆ นานเกินไป หรือต่อเนื่องกัน

ความเสี่ยงที่เกิดจากความเจ็บปวดหรือความทรมานนั้นอาจมากจนถึงขั้นนับว่า เป็นการทรมานหรือการปฏิบัติอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือ เป็นการใช้อาวุธเกินเหตุจำเป็น และเมื่อปืนช็อตไฟฟ้าถูกใช้ในโหมด Drive-Stun เพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าสู่บุคคลโดยตรง อาจส่งผลให้บุคคลเกิดพฤติกรรมที่รุนแรงและก่อให้เกิดความเจ็บปวดในที่สุด

 

กระบองตำรวจ (Police Baton, Truncheon, or Nightstick)

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 เวลา 18.00 น. รายการโอเวอร์วิว-วอยซ์ทีวี รายงานผ่านถ่ายทอดสดว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กันยายน 2564 มีรายงานเกี่ยวกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เป็นผู้หญิงสองคนที่ขับรถมอเตอร์ไซค์กลับจากที่ทำงาน เมื่อมาถึงบริเวณที่ชุมนุมทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล รายหนึ่งมีอาการแขนบวม ศีรษะบวม ส่วนอีกรายศีรษะแตกเป็นแผลลึกกว่า 8 เซนติเมตร หลังเข้ารับการรักษาทั้งสองเปิดเผยว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย โดยอาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้ทำร้ายร่างกายทั้งสองมีกระบองตำรวจรวมอยู่ด้วย   

หากอ้างอิงตามคู่มือยุทธวิธีตำรวจสำหรับครูฝึก ออกโดยกองบัญชาการศึกษา พ.ศ. 2561 การใช้อาวุธที่ไม่มีอันตรายถึงชีวิตรวมถึงกระบองตำรวจจัดเป็นการใช้กำลังขั้นที่ 5 จากทั้งหมด 6 ขั้น โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะสามารถใช้กระบองตำรวจกับผู้ชุมนุมได้ต่อเมื่อบุคคลเป้าหมายใช้อาวุธและอาจทำอันตรายต่อผู้อื่นถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และไม่หยุดการกระทำดังกล่าวแม้จะถูกแจ้งเตือน ซึ่งกรณีของผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองคนข้างต้นน่าจะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่จะสามารถใช้กระบองได้

ในทางสากลแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมุนษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งระบุถึงหลักการใช้กระบองตำรวจที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนไว้ ดังนี้

วิธีการใช้และการออกแบบ

กระบองตำรวจเป็นอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement Officer) ใช้กันโดยทั่วไป กระบองตำรวจส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ ยาง พลาสติก หรือโลหะ นอกจากนี้ ยังมีให้เลือกหลากหลายขนาด บางอันอาจมีความยาวถึงหนึ่งเมตร ลักษณะของกระบองที่มีขายอย่างแพร่หลายในปัจจุบันได้แก่ กระบองตรง กระบองที่มีด้ามจับ (ทอนฟา) และกระบองยืดสไลด์ 

กระบองมีประโยชน์หลายอย่างในขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมาย สามารถใช้เป็นอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำเพื่อให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายสามารถใช้ป้องกันตัวเองจากผู้ที่จู่โจมอย่างรุนแรง หรือยังสามารถใช้เพื่อทำการจับกุมโดยชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ต้องสงสัยที่ขัดขืนอย่างรุนแรงอีกด้วย 

สถานการณ์ที่กระบองตำรวจสามารถนำมาใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

โดยทั่วไปแล้ว กระบองถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับบุคคลที่ทั้งจะทำร้าย หรือขู่ว่าจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายหรือประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรใช้กระบองจู่โจมไปที่ขาหรือแขนของผู้จู่โจมเท่านั้น 

ความเสี่ยงอันเกิดจากการใช้กระบองตำรวจ

การใช้กระบองฟาดไปยังบริเวณกระดูกหรือข้อต่อมีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดภาวะข้อเคลื่อน กระดูกหัก และการบาดเจ็บบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน ควรหลีกเลี่ยงการใช้กระบองกระทุ้งหรือกระแทกไปบริเวณทรวงอก คอ หรือศีรษะ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บและอาจทำให้อวัยวะสำคัญฉีกขาด

สถานการณ์ที่การนำกระบองตำรวจมาใช้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรหลีกเลี่ยงการใช้กระบองจู่โจมไปยังจุดบอบบางของร่างกาย ได้แก่ ศีรษะ คอและลำคอ กระดูกสันหลัง ไต และท้อง ไม่ควรใช้กระบองรัดคอเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ถูกรัดคอจะถึงแก่ความตาย หรือบาดเจ็บสาหัสจากการถูกกดทับที่เส้นเลือดใหญ่หรือทางเดินหายใจ และยังมีความเสี่ยงให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณกล่องเสียง หลอดลม และกระดูกไฮออยด์ (กระดูกใต้โคนลิ้น) อีกด้วย 

นอกจากนี้ ไม่ควรใช้กระบองกับผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือผู้ที่ไม่มีพฤติกรรมคุกคามรุนแรง เพราะการใช้งานแบบนั้นมีแนวโน้มที่จะมีความโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือแม้กระทั่งเป็นการทรมาน 


อ้างอิง

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ