3 กันยายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ #conforall จัดกิจกรรม “1 ปี รัฐธรรมนูญใหม่? : Move On เร่งเดินหน้า ทำสัญญาให้เป็นจริง” ยื่นหนังสือถึงแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เร่งดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
เส้นทางการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เคยริเริ่มขึ้นแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 อย่างไรก็ดี ระหว่างที่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วเสร็จในวาระสองและจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระสาม ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในผู้ยื่นเสนอร่างฉบับแรก และสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ยื่นรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ โดยศาลชี้ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่สำเร็จในการพิจารณาวาระสาม เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่กลัวฝ่าฝืนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จึงเทโหวต ไม่ประสงค์จะลงคะแนน 136 เสียง งดออกเสียง 94 เสียง ขณะที่เสียงเห็นด้วยมี 208 เสียง และเสียงไม่เห็นด้วย 4 เสียง เมื่อไม่ผ่านเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งนั้นจึงจบไป
หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 รัฐบาลนำโดยเศรษฐา ทวีสิน มีคำมั่นในข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลว่าจะมีการเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ช่วงเดือนสิงหาคม 2566 องค์กรภาคประชาสังคมได้รวมตัวกันในนามกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ “CONFORALL” เชิญชวนประชาชนมาร่วมกันเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติต่อ ครม. ภายใต้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” โดยใช้กลไกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 (พ.ร.บ. ประชามติฯ) ที่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอต่อ ครม. ให้ทำประชามติได้
หลังจากรวบรวมรายชื่อประชาชน 211,904 รายชื่อ และยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 เพื่อให้ส่งเรื่องต่อไปยัง ครม. เป็นเวลา 1 ปีเต็มแล้ว ที่ประชาชนแสดงเจตจำนงชัดเจนว่ามีความต้องการที่จะให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาประชามติ ที่ครม. ตั้งขึ้นมา และมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้น 3 ครั้ง ทางเครือข่าย conforall เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ตอบรับหรือกล่าวถึงความคืบหน้าของคำถามประชามติที่ประชาชนได้เข้าชื่อเสนอไปแต่อย่างใด นำมาสู่ความกังวลว่าเจตจำนงของประชาชนที่ร่วมเข้าชื่อไปนั้นอาจไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกลดทอนความสำคัญลง และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่อาจเกิดขึ้นได้ หรือหากเกิดขึ้นก็อาจไม่ทันในระยะเวลา 4 ปีอันเป็นวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน
เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นและมาจากประชาชนอย่างแท้จริง เครือข่ายภาคประชาชนจึงขอให้ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี นำข้อเสนอของภาคประชาชนไปเสนอแก่แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ครม. เมื่อ ครม. ชุดใหม่ได้ปฏิญาณตนและแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ ครม. เร่งเดินหน้าสู่กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน เพื่อเปิดทางให้มี สสร. จากการเลือกตั้งมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
เวลา 10.30 น. ธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล รองเลขาธิการรองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลมารับหนังสือจากเครือข่ายภาคประชาชน ธิติวัฐชี้แจงว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันได้ผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาเสียงข้างมากสองชั้น (double majority) ซึ่งในขณะนี้ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว คาดว่าภายหลังจากแก้ไขกฎหมายประชามตินี้แล้วเสร็จ รัฐบาลจะจัดให้มีการทำประชามติ พร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าทันในกำหนดวาระของรัฐบาล
ในส่วนของรายละเอียด สสร. ขึ้นอยู่กับรัฐสภา รัฐบาลเชื่อว่ารัฐสภาเป็นสถานที่ที่สะท้อนเสียงและการแสดงออกของประชาชนในหลักการและหลักเกณฑ์ของประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริงเราจึงมอบหมายให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ และขอส่งสารนี้ให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย
ธิติวัฐระบุต่อไปว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหลายวาระหลายครั้ง จากนี้เราไม่ปฏิเสธที่จะรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชน เราน้อมรับและยินดีความคิดเห็นของทุกกลุ่มทุกคนทุกความคิดเห็นที่ประชาชนจะสะท้อนขึ้นมาให้เราได้ยิน