การดิ้นรนของคนจนเมืองใน “รัฐสงเคราะห์”

เสาร์ที่ 25 เมษายน 2563 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้จัดเสวนาในหัวข้อ “COVID-19 กับชีวิตคนไร้บ้านและชาวชุมชนแออัด” เป็นหัวข้อแรกในชุดการสนทนา “ฟังเสียงเราบ้าง COVID-19 กับชีวิตคนสามัญ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ นุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค และดำเนินรายการโดย ชุมาพร แต่งเกลี้ยง จากกลุ่มโรงน้ำชา

49804739703_d824f769ab_o

นุชนารถชี้ให้เห็นว่า วิกฤติโควิดไม่ได้ส่งผลกระทบกับผู้คนในชุมชนแออัดแค่เรื่องสุขภาวะหรือการติดเชื้อเท่านั้น แต่ในรายละเอียดของการดำเนินชีวิตในฐานะคนจนเมืองและคนไร้บ้านยังถูกโถมทับไปด้วยภาวะความเครียด หนี้สินและปัญหาปากท้อง รวมไปถึงเรื่องปัญหาเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาที่ไม่ตรงจุด ล่าช้า ไม่ทันท่วงที อันเกิดจากรัฐธรรมนูญที่มีกรอบเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งส่งผลให้การบริหารงานในวิกฤติครั้งนี้ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ประสบปัญหา นุชนารถเสนอว่า หนทางช่วยเหลือเยียวยาที่ยั่งยืนทั้งในสถานการณ์วิกฤตินี้และในช่วงเวลาต่อจากนี้ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยฟังเสียงประชาชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วม

 

ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย: การแก้ปัญหากันเองในฐานะคนจนเมืองภายใต้วิกฤติโควิด

นุชนารถระบุว่า ทางเครือข่ายสลัมสี่ภาคได้ตั้งศูนย์อำนวยการโควิดเช่นเดียวกับที่รัฐบาลทำเพื่อช่วยเหลือเยียวยากันเองภายในเครือข่าย ในเบื้องต้นได้มีผู้ประสงค์จะบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภคผ่านเครือข่ายสลัมสี่ภาคและชุมชนแออัด ทางเครือข่ายฯ จึงจัดให้มีการกระจายอาหารและสินค้าไปยังชุมชนที่เดือดร้อน 

เหตุที่ต้องทำเช่นนี้เพราะการเยียวยาของรัฐดูเหมือนจะติดปัญหาบางประการที่ทำให้ชาวชุมชนแออัดส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ในหนึ่งชุมชนมีเพียงไม่ถึงสิบคนที่สามารถเข้าถึงมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ดังนั้น ชาวชุมชนที่มีโอกาสอยู่ร่วมกันและรับรู้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องจึงจัดการช่วยเหลือกันเองตามกำลัง เช่น จัดครัวกลางของชุมชน 

เมื่อมีการจัดการของชุมชนก็ทำให้หน่วยงานภาคประชาสังคมอื่นๆ มองเห็นและเกิดความต้องการช่วยเหลือ ทางเครือข่ายจึงเปิดรับบริจาค ซึ่งขณะนี้ได้ปิดรับไปแล้วเพราะเห็นว่าการบริจาคเป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะหน้า และเนื่องด้วยไม่สามารถประเมินระยะเวลาสิ้นสุดของวิกฤติครั้งนี้ ทางเครือข่ายจึงคิดจะสร้างการช่วยเหลือที่ยั่งยืนและเริ่มให้แต่ละชุมชนสำรวจจุดเด่นหรือกำลังความสามารถของสมาชิกและสำรวจข้อมูลความมั่นคงทางอาหารเพื่อการเสริมสร้างอาชีพและลดรายจ่ายในครัวเรือนเพราะหลังจากสถานการณ์รุนแรงขึ้น เช่น หากมีผู้ที่สามารถทำน้ำพริกได้ก็จะให้รับวัตถุดิบจากผู้เพาะปลูกพืชประกอบอาหาร เริ่มจากพึ่งพากันในชุมชนเพื่อต่อสู้กับความยากจนที่เกิดขึ้น กระนั้นก็ยังมีอุปสรรคคือการจัดจำหน่าย หลายคนแนะนำช่องทางออนไลน์แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย รวมถึงปัญหาเรื่องการกระจายสินค้าที่ต้องนำส่งผู้ซื้อด้วยการขับรถจักรยานยนต์ของตัวเอง ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม การค้าขายออนไลน์เป็นยังไงบ้าง นุชนารถเอ่ยถึงความต้องการที่จะขายน้ำพริก แต่เทคโนโลยีไม่ง่ายสำหรับชาวชุมชนแออัด เพียงแค่มาตรการเยียวยา 5,000 บาท เด็กๆ ในชุมชนยังต้องมาช่วยผู้ใหญ่หลายคนลงทะเบียน

ชาวชุมชนแออัดเกินครึ่งที่เคยประกอบอาชีพรับจ้างรายวัน, ล้างจาน, แม่บ้านในสถานบันเทิงย่าน RCA และทองหล่อต้องตกงานอันเนื่องมาจากคำสั่งเคอร์ฟิวที่ทำให้ผับบาร์ปิดลงชั่วคราว ผู้ที่มีภาระหนี้รายวันและหนี้นอกระบบต้องเริ่มค้าขาย ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยเหลือในกรณีหนี้นอกระบบ หากจะหวังเงินจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาทก็ต้องหมดหวัง เพราะบางรายถูกจัดอยู่ในกลุ่มเกษตรกรแม้ว่าจะอพยพจากครอบครัวเดิมเพื่อมาตั้งถิ่นฐานในเมืองนานแล้ว นอกจากนั้น นุชนารถเล่าอีกว่า อาชีพที่มีปัญหามากอีกอาชีพคือแท็กซี่ เพราะคนใช้น้อย จากการไปถามพบว่า ขับไปก็ไม่มีคนขึ้น เพราะรถสาธารณะเป็นแหล่งเพาะเชื้อ ผู้คนนิยมนำรถส่วนตัวมาใช้ แม้จะเห็นด้วยกับความตื่นตัวในการป้องกันโรคแต่ในทางกลับกัน มันทำให้รายได้ของแท็กซี่ลดลง

“การเยียวยาครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการแตกแยกของประชาชนเช่นกัน ใครได้ก็ว่ารัฐบาลดี ใครไม่ได้ก็ด่ารัฐบาล สิ่งที่รัฐบาลทำ มันเป็นการสร้างความขัดแย้งให้กับประชาชน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือทำยังไงก็ได้ให้เกิดการทั่วหน้า เพราะทุกคนเดือดร้อนหมด วิธีการต้องไม่ใช่การคัดคนออก”

 

วิกฤติด้านสุขภาพจิตจากวิกฤติโรคระบาด

ปัญหาอีกประการในชุมชนคือปัญหาภาวะความเครียด นุชนารถเล่าว่า บางรายเส้นโลหิตในสมองแตกทั้งที่อายุไม่เกิน 40 ปี เหตุเพราะเครียดและกดดันเนื่องจากถูกพักงานไม่มีรายได้แต่ครอบครัวยังมีภาระค่าใช้จ่ายเท่าเดิม นอกจากนั้นสาเหตุการเสียชีวิตส่วนหนึ่งก็มาจากการฆ่าตัวตาย ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือเมื่อมีผู้เสียชีวิตไม่ว่าด้วยสาเหตุใด แพทย์ก็ลงความเห็นว่าอาจจะเกิดจากการติดเชื้อโควิด ส่งผลกระทบต่อมายังเรื่องการประกอบพิธีฌาปนกิจที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคและเคอร์ฟิว เช่น ญาติไม่สามารถเดินทางไปร่วมงานได้หรือเมื่อไปถึงก็ถูกกักตัว หรือแม้แต่การจัดงานก็ต้องจัดด้วยความรวดเร็วคือให้เสร็จภายในหนึ่งถึงสองวัน รวมทั้งผู้ที่ต้องการกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ก็ตัดสินใจที่จะไม่กลับบ้านต่างจังหวัดเพราะกังวลว่าจะนำโรคไปติดคนที่บ้าน มาตรการที่จัดการเช่นนี้เมื่อมาบรรจบกันก็ทำให้บรรยากาศหดหู่และกดดันยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากนุชนารถสอดคล้องกับภาพกราฟของการแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ฆ่าตัวตายและโควิด 19 เห็นได้ว่ากราฟแสดงจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจาก COVID-19 และกราฟแสดงจำนวนผู้ฆ่าตัวตายสะสมในช่วงเดือนเมษายน 2563 ได้มาบรรจบกันที่จำนวน 38 คนพอดีในวันที่ 21 เมษายน และงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่า ส่วนมากผู้ที่ฆ่าตัวตายมักเป็นเพศชาย จำนวนยี่สิบเจ็ดคน และเพศหญิง จำนวนสิบเอ็ดคน ซึ่งส่วนมากเป็นลูกจ้างและประกอบอาชีพอิสระ, พ่อค้าแม่ค้ารถเข็น, พนักงานเสิร์ฟ, ช่างเชื่อม มีบางรายเป็นผู้ประกอบการและผู้ประกอบการรายย่อย

 

การจับกุมคนไร้บ้านในช่วงเวลาเคอร์ฟิวและจับกุมคนแจกอาหาร

นุชนารถให้ความเห็นว่า ภาครัฐควรจะพิจารณาความเป็นจริงด้วย เนื่องจากวิถีชีวิตคนไร้บ้านไม่ได้อยู่กับที่ หากไม่มีศูนย์พักพิง คนไร้บ้านก็ทำได้เพียงค่ำไหนนอนนั่น การปฏิบัติควรดูปัญหาและออกมาตรการแก้หรือปรับเปลี่ยนให้ตรงจุด ไม่ใช่ใช้เคอร์ฟิวเพื่อมาบังคับจับคนไร้บ้านให้เสียค่าปรับหรือจับกุมคุมขัง เพราะแม้แต่เรือนจำยังมีการประกาศว่าจะปล่อยผู้ต้องขังเนื่องจากความแออัด แต่นุชนารถก็ตั้งคำถามต่อว่า หากปล่อยผู้ต้องขังมาในช่วงนี้พวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน หรือหากจับคนไร้บ้านแล้วจะเอาพวกเขาไปไว้ที่ไหน หนทางแก้คือควรช่วยเหลือมากกว่า เช่น แจกอาหาร นุชนารถคาดการณ์ว่า จากนี้คนไร้บ้านจะเพิ่มขึ้นจากการตกงาน เพราะบางคนมาจากต่างจังหวัดแต่กลับบ้านไม่ได้ หรือถูกกักตัวกลายเป็นคนไร้บ้านชั่วคราว ถ้ารัฐยังรับมือการเยียวยาเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาไม่รู้จบ

 

ระยะสั้น สอดคล้อง มีส่วนร่วม คือสิ่งที่รัฐควรจะทำเป็นอันดับแรก

ทางเครือข่ายสลัมสี่ภาคได้พูดคุยกันถึงข้อเสนอต่อรัฐว่า รัฐควรมีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นคือเยียวยาทั่วหน้า ระยะยาวคือควรจะมีหน่วยงานลงมาดูแลอย่างจริงจัง ควรมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดอาชีพหลากหลายสอดรับกับสถานการณ์ที่กำลังเกิด รวมถึงควรมีหน่วยงานที่จะมารับผิดชอบโดยตรง 

นุชนารถเปรียบเทียบสมมติว่า หากเราต้องการน้ำ แต่รัฐกลับเอาข้าวมาให้ เราไม่หายหิวน้ำ เพราะการแก้ปัญหาไม่สอดคล้อง 

“สิ่งสำคัญที่รัฐควรดูแลคือ ความต้องการของประชาชนคืออะไร คุณก็ควรให้เขามามีส่วนร่วม เพราะเขาคือผู้เดือดร้อน ไม่ใช่แค่คนไร้บ้านหรือคนจนเมือง แต่เป็นคนทั้งสังคม และสิ่งที่รัฐควรจะดูแลคือ ดูแลให้สอดคล้องกันและทำแบบถ้วนหน้า คือเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า หากมีรัฐธรรมนูญใหม่ ก็อยากจะให้บัญญัติเรื่องการได้รับสิทธิถ้วนหน้าไว้ในรัฐธรรมนูญ”

 

“รัฐสงเคราะห์”ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นุชนารถให้ความเห็นว่า รู้สึกอึดอัดกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะบางครั้งการดำเนินการแก้ปัญหาไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เพราะไปติดกรอบสิ่งนี้ ทำให้ไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือควรจะแก้รัฐธรรมนูญที่มีอยู่ก่อนเพราะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การดำเนินการต่างๆ มีความล่าช้า

จากปัญหาที่ประสบพบเจอมา รัฐทำอะไรไม่ทันท่วงที แม้หน่วยงานท้องถิ่นอยากทำ แต่รัฐพยายามรวมอำนาจแล้วจัดการแบบสงเคราะห์ ไม่ให้ประชาชนมีโอกาสเติบโต ซึ่งประชาชนไม่ต้องการแบบนั้น รวมทั้งมาตรการที่ออกมารองรับไม่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่จบไม่สิ้น ถ้าหากยังเป็นเช่นนี้คือ รัฐเบ็ดเสร็จในการรวบอำนาจ ท้องถิ่นก็จะไม่สามารถทำอะไรได้ 

“พอติดยุทธศาสตร์ชาติ อะไรก็ติดไปหมด แต่วิกฤติเราก็เห็นโอกาสคือเห็นน้ำใจของคนไทย แต่หลังจากนี้ไป ถ้าเกิดความเหลื่อมล้ำมากกว่านี้ [คนในสังคม]ก็อาจจะเกิดความหวาดระแวงต่อกัน คนรวยก็จะกลัวคนจน หรือกลัวคนมาแย่งอาหารกัน ถ้าไม่หันหลับมาดูอดีต อนาคตก็พัง ถ้าหากจะแก้ให้ดีที่สุด รัฐธรรมนูญต้องมีส่วนร่วม”

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น