จับตาคำพิพากษาอุทธรณ์ คดี ม. 112 ของปาฏิหาริย์ กรณีคอมเมนท์ใต้โพสต์ข่าวลือ ร. 10 ป่วยของสมศักดิ์ เจียมฯ 

พรุ่งนี้ (14 สิงหาคม 2567) ศาลอาญานัดปาฏิหาริย์ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการคอมเมนท์ใต้โพสต์เฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องอาการประชวรของรัชกาลที่สิบ หลังเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จากวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 เนื่องจากจำเลยป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และกำลังพักรักษาตัวอยู่ ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้  โดยคดีนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกสามปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกหนึ่งปี หกเดือน ไม่รอลงอาญา

พ่อลูกอ่อนกับหมายจับคดี 112 

ปาฏิหาริย์มีลูกสาววัยประมาณสองขวบ ซึ่งเขาเป็นกังวลอย่างมากหากจะต้องถูกจำคุก ประกอบกับเขาเป็นคนที่หาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลักด้วย เหตุในคดีนี้สืบเนื่องมาจากวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เฟซบุ๊ก “Somsak Jeamteerasakul” โพสต์ทำนองว่า มีใครสามารถยืนยันข่าวที่ว่า รัชกาลที่สิบทรงพระประชวรอยู่ที่ศิริราชได้บ้าง ปาฏิหาริย์จึงเข้าไปแสดงความคิดเห็นและโพสต์ภาพของรัชกาลที่สิบประกอบ สามวันถัดมาศาลอาญาอนุมัติหมายจับปาฏิหาริย์และจับกุมในวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ตำรวจระบุด้วยว่า เคยออกหมายเรียกแล้วสองครั้งแต่ปาฏิหาริย์ไม่ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกจึงขอศาลออกหมายจับแทน

อย่างไรก็ตามปาฏิหาริย์ไปไล่ย้อนดูวงจรปิดไม่พบว่า มีการมาติดหมายตามที่ตำรวจระบุ ระหว่างคุมตัวที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มีตำรวจนำเอกสารมาให้เขาเซ็น แต่เขายืนยันที่จะไม่เซ็นเนื่องจากทนายความแจ้งไว้แล้วว่า ไม่ให้เซ็นเอกสารอะไรไปก่อนที่ทนายความจะไปถึง ตำรวจยื่นขอฝากขังแต่ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวและให้วางหลักทรัพย์ 100,000 บาท 

ศาลชั้นต้นมองพฤติการณ์ร้ายแรงไม่มีเหตุให้รอลงอาญา

ในชั้นศาล เขาให้การปฏิเสธ แต่ภายหลังในนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ปาฏิหาริย์ได้แถลงขอกลับคำให้การเดิมจากปฏิเสธ เป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลจึงให้งดการสืบพยาน และมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย ก่อนมีคำพิพากษาในวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 

“เห็นว่า สภาพพฤติการณ์ความผิดและคำให้การของจำเลย ปรากฏว่า จำเลยใช้เพจเฟซบุ๊กของตัวเอง ในวันเกิดเหตุขณะกำลังดูเฟซบุ๊ก มีฟีดข่าวของ Somsak Jeamteerasakul ซึ่งเป็นบุคคลที่จำเลยไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นมาก่อน โพสต์ข่าวลือเรื่องการประชวรของรัชกาลที่ 10 จำเลยรู้สึกสนใจเนื่องจากเห็นข้อความผ่านหน้าฟีดข่าว 2-3 ครั้ง เป็นข่าวที่โด่งดัง มีผู้กดไลค์และคอมเมนต์จำนวนมาก จำเลยจึงเข้าไปดูและคอมเมนต์อย่างคนอื่นบ้าง หลังจากผ่านไป 5 วัน มารดาเห็นคอมเมนต์ของจำเลย จึงต่อว่าและร้องไห้ จำเลยรู้สึกผิดจะเข้าไปลบคอมเมนต์ดังกล่าว แต่จำเลยหาไม่เจอ จึงโกหกมารดาว่าลบคอมเมนต์ไปแล้ว”

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุกสามปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกหนึ่งปี หกเดือน เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยมีความร้ายแรง กระทบต่อประมุขของประเทศ แม้จำเลยประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงดูครอบครัว ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และความประพฤติทั่วไปไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรงก็ตาม ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลย

หลังจากนั้นจึงได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ในเวลา 15.20 น. ทนายความแจ้งว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางเงินหลักประกันจำนวน 100,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

อุทธรณ์ยืนคุก 1 ปี 6 เดือนตามศาลชั้นต้น

19 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดปาฏิหาริย์ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากการคอมเมนต์ใต้โพสต์เฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเกี่ยวกับข่าวลือเรื่องอาการประชวรของรัชกาลที่สิบ  เหตุในคดีนี้สืบเนื่องมาจากวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เฟซบุ๊ก “Somsak Jeamteerasakul” โพสต์ทำนองว่า มีใครสามารถยืนยันข่าวที่ว่า รัชกาลที่สิบทรงพระประชวรอยู่ที่ศิริราชได้บ้าง ปาฏิหาริย์จึงเข้าไปแสดงความคิดเห็นและโพสต์ภาพของรัชกาลที่สิบประกอบ 

เวลา 09.11 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ เนื่องจากปาฏิหาริย์ไม่มาศาล ศาลจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ทนายจำเลยฟัง สรุปความว่า ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยมีความร้ายแรง เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามซึ่งทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนชาวไทย แม้ว่า จำเลยจะขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อให้เห็นว่าสำนึกผิดแล้วก็ไม่อาจลบล้างความผิดของจำเลยได้ การที่จำเลยขอให้รอการลงโทษเนื่องจากต้องเลี้ยงดูบุตรนั้นเป็นเหตุผลส่วนตัวของจำเลย และการกระทำของจำเลยนั้นร้ายแรงจึงต้องกำราบให้เป็นเยี่ยงอย่าง ศาลอุทธรณ์จึงยืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยหนึ่งปี หกเดือน 

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post