ประเทศไทยพยายามขอเสียงสนับสนุนจากนานาชาติเพื่อชิงตำแหน่งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Right Council: HRC) วาระปี 2025-2027 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศของไทยก็ยังมีคำถามมากมาย กลไกของสหประชาชาติส่งเสียงแสดงความกังวลต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนของไทยหลายประเด็นต่อเนื่องเรื่อยมา ซึ่งปฏิกริยาจากกลไกระหว่างประเทศเหล่านี้จะถูกบันทึกและเผยแพร่อย่างเป็นทางการให้ทั้งคนไทยและโลกได้เห็น
ประชาชนสามารถเข้าไปอ่านทุกรายงานการสื่อสาร (Communication Report) ที่สหประชาชาติแสดงความกังวลมาถึงรัฐบาลไทยได้ทางเว็บไซต์ Communication Report and Search ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights: OHCHR)
รายงานการสื่อสารเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่กลไกพิเศษของสหประชาติ (Special Procedures) ได้รับฟังข้อกล่าวหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เห็นว่ามีมูลและจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไข ป้องกัน หรือเยียวยาอย่างเร่งด่วน จึงส่งข้อกังวลสู่รัฐบาลของประเทศที่ถูกกล่าวหา ซึ่งมีความรวดเร็วและเร่งด่วนมากกว่ากลไกอื่นอย่างกลไกตามสนธิสัญญา (Treaty Bodies) หรือกลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐ (Universal Periodic Review: UPR) ที่มีวาระทุกสี่ปีครึ่ง
การสำรวจว่าที่ผ่านมาสหประชาชาติแสดงความกังวลเรื่องใดต่อประเทศไทยมาแล้วบ้างจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อการใช้งานกลไกพิเศษนี้ทุกคนสามารถเขียนเรื่องร้องเรียนของตัวเองส่งไปยังผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติได้โดยไม่ต้องส่งเรื่องผ่านองค์กรอื่น การสำรวจเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมาจึงช่วยป้องกันการส่งข้อร้องเรียนซ้ำ และช่วยให้การติดตามปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลไทยรับทราบจากนานาชาติไว้แล้วทำได้ง่ายยิ่งขึ้น
เว็บไซต์รวมเสียงจากสหประชาชาติ ใช้อย่างไร? อ่านตรงไหน?
เว็บไซต์ Communication Report and Search เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของกลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดยประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าไปได้ที่ เพื่อค้นหารายงานการสื่อสารระหว่างผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติและรัฐบาลของแต่ละประเทศ ซึ่งเว็บไซต์นี้สามารถช่วยคัดกรองให้แสดงผลเฉพาะประเทศที่ต้องการจะค้นหาได้ ตามขั้นตอนต่อไปนี้
- เลือกกรองการค้นหา
ขั้นแรก กดเลือกกรองการค้นหาเป็น “All Session” เพื่อค้นหารายงานการสื่อสารในทุกรอบที่ผ่านมา และเลือกช่อง “Replies received?” ให้เป็น “All” เพื่อค้นหารายงานการสื่อสารทุกฉบับทั้งที่รัฐบาลตอบกลับมาและไม่ตอบกลับมา
ต่อมา ช่องการค้นหาในรายประเด็น (Mandates) นั้นไม่จำเป็นต้องเลือกในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งก็ได้ แต่หากสนใจประเด็นใดเป็นพิเศษก็สามารถติ้กถูกเพื่อให้เว็บไซต์แสดงผลเฉพาะข้อมูลของประเด็นนั้นได้เช่นกัน เช่น การใส่เครื่องหมายถูกหน้าหัวข้อ “Freedom of opinion and expression” ก็จะแสดงผลรายงานการสื่อสารเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก หรือการใส่เครื่องหมายถูกถูกที่หน้าหัวข้อ “Freedom of peaceful assembly and association” เว็บไซต์ก็จะแสดงผลเฉพาะรายงานการสื่อสารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มโดยสงบ เป็นต้น
เพื่อที่จะค้นหาเฉพาะรายงานการสื่อสารระหว่างตัวแทนของสหประชาชาติและรัฐบาลไทย ในช่องกรองการค้นหาระดับภูมิภาค (Region) ให้เลือกติ้กถูกที่หัวข้อ Asia-Pacific Group (กลุ่มภูมิกาคเอเชีย-แปซิฟิก) จากนั้นจึงเลือกติ้กถูกที่ชื่อประเทศไทยในช่อง “State/Entity”
เมื่อตั้งค่าการกรองการค้นหาตามข้างต้นแล้ว จึงกด Search เพื่อค้นหารายงานการสื่อสารตามหัวข้อที่ต้องการได้ทันที
- อ่านรายงานการสื่อสารที่สนใจ
เมื่อกดค้นหารายงานการสื่อสารตามที่ตั้งค่าคัดกรองไว้ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์จะนำไปสู่หน้าจอแสดงผลรายงานการสื่อสารทั้งหมดในรูปแบบของตาราง ซึ่งจะระบุวันที่ส่งการสื่อสารมายังรัฐบาลไทย เลขที่หนังสือของรายงานการสื่อสารประเด็น (Mandates) ของรายงานการสื่อสารนั้นๆ สรุปรายงานการสื่อสารโดยย่อ และวันที่รัฐบาลไทยตอบกลับรายงานการสื่อสารของผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติ
หากต้องการที่จะอ่านเนื้อหาของจดหมายที่ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติส่งไปยังรัฐบาลไทย ให้คลิกที่หมายเลขที่หนังสือของรายงานการสื่อสารที่สนใจ เช่น หากสนใจรายงานการสื่อสารฉบับวันที่ 30 เมษายน 2567 ในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มโดยสงบ หัวข้อความกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นขอยุบพรรคก้าวไกล ให้คลิกที่เลขที่หนังสือ “THA 5/2024” เพื่ออ่านรายงานการสื่อสารฉบับเต็มของผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติ
หากต้องการที่จะอ่านหนังสือตอบกลับของรัฐบาลไทยในประเด็นดังกล่าว ให้คลิกที่วันที่การส่งหนังสือกลับของรัฐบาลไทยภายใต้ช่องที่เขียนว่า “Replies received” ซึ่งในหัวข้อความกังวลที่กกต. ยื่นขอยุบพรรคก้าวไกล ให้คลิกที่ “01 May 2024 (Ack.)” ก็จะเห็นการตอบกลับของรัฐบาลในประเด็นดังกล่าวได้ทันที
ทำไมเราควรอ่านรายงานการสื่อสารระหว่าง UN-รัฐบาลไทย ?
เนื่องจากกลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับข้อร้องเรียนจากภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่รัฐ จึงแตกต่างจากกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอื่นของสหประชาชาติ ที่เป็นพื้นที่การพูดคุยระหว่างรัฐด้วยกันเป็นหลัก ทำให้กลไกพิเศษนี้ส่วนมากจะริเริ่มการดำเนินเรื่องจากภาคประชาสังคม หรือตัวผู้ถูกละเมิดสิทธิ หรือประชาชนทั่วไปก็สามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ผ่านเว็บไซต์ของ OHCHR ทำให้ประเด็นที่กลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติหยิบยกมาดำเนินการจะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลต้องการจะสื่อสาร
อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกคนสามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปยังผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเพื่อเข้าสู่กระบวนการนี้ได้ ทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะมีการส่งเรื่องร้องเรียนซ้ำซ้อนกัน จนทำให้การตอบรับของกลไกพิเศษทำงานได้ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น การเข้าไปตรวจสอบและค้นหาเรื่องร้องเรียนที่ส่งไปแล้วก่อนหน้าจึงจำเป็นสำหรับการพิจารณาที่จะส่งเรื่องร้องเรียนฉบับใดก็ตามไปยังกลไกพิเศษ
นอกจากนี้ เว็บไซต์นี้ยังแสดงบันทึกการตอบกลับของรัฐบาลไทยเอาไว้ในทุกรายงานการสื่อสารที่มีการตอบกลับ ดังนั้นการเข้าไปสำรวจรายงานการสื่อสารที่มีการตอบกลับแล้วจึงมีความสำคัญในฐานะภาพสะท้อนว่ารัฐบาลไทยรับรู้และรับทราบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนใดไปแล้วบ้าง เพื่อให้ทุกคนสามารถติดตามความคืบหน้าของรัฐบาลไทยในประเด็นปัญหาเหล่านั้นต่อไปอย่างใกล้ชิดได้มากยิ่งขึ้น
หากผู้ใดต้องการที่จะส่งเรื่องราวของการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน หรือการถูกละเมิดสิทธิในหัวข้อรายประเด็น (Mandates) อื่นๆ สามารถเข้าสู่การเขียนรายงานการสื่อสารไปยังผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติได้ ผ่านการคลิกที่หัวข้อ “Make your submission to Special Procedures” และปฏิบัติตามขั้นตอนการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังสหประชาชาติบนเว็บไซต์อย่างรัดกุมต่อไป