พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ: ทำความเข้าใจกฎหมายที่ใช้รับมือโควิด-19

24 มีนาคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมฯ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดยเบื้องต้นบังคับใช้เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม

โดยวันที่ 25 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และใช้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งให้อำนาจนายกฯ ในการสั่งการหน่วยงานต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการออกข้อกำหนดในการกำหนดเรื่องการเดินทาง หรือ กำหนดเวลาเข้าออกจากบ้าน รวมถึงการกำกับและควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อีกด้วย

ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือเป็น “ยาแรง” เพราะให้อำนาจรัฐเข้ามาจำกัดสิทธิของประชาชนได้กว้างขวางกว่ากฎหมายเฉพาะอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ หรือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) 

 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจนายกฯ ประกาศเคอร์ฟิว-คุมสื่อ นานสูงสุด 3 เดือน

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน และเมื่อประกาศแล้ว อำนาจหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ให้โอนมาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วไป ให้นายกฯ มีอำนาจออกข้อกำหนด ตาม มาตรา 9 ดังนี้

  • ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด
  • ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ
  • ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย ทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือหรือสื่ออื่นใด ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเกิดความไม่สงบ
  • ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะที่กำหนด
  • ห้ามใช้อาคารหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ หรืออพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด

ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนข้อกําหนด ประกาศ หรือคําสั่งต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้รองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในมาตรา 6 ได้กำหนดโครงสร้างของคณะทำงานตามกฎหมายที่มีชื่อว่า คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ไว้ดังนี้

  • ประธานกรรมการ คือ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย 
  • รองประธานกรรมการ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  • กรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อํานวยการสํานัก ข่าวกรองแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการ 
  • เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ

นั่นหมายความว่า ตามกฎหมายแล้ว ผู้ที่จะเป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน อาจจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ วิษณุ เครืองาม จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หรือ อนุทิน ชาญวีรกูล แต่ทว่าจากข้อมูลที่ปรากฏในสื่อพบว่า ในครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานด้วยตนเอง

 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ยาแรง” กว่ากฎหมายเฉพาะอื่นๆ

โดยทั่วไปแล้วในการรับมือกับโรคระบาด หรืออีกนัยหนึ่งคือโรคติดต่อ รัฐบาลจะมีกฎหมายเฉพาะอย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นหนึ่งในเครื่องมือ โดยมาตรา 34 ของกฎหมายดังกล่าว ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคติดต่อ สั่งให้คนที่เป็นโรคมากักตัว บังคับรักษา จนกว่าจะเป็นที่พอใจว่าจะไม่แพร่เชื้อต่อได้

อีกทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อยังให้เจ้าของบ้านหรือสถานที่ต่างๆ ทำความสะอาด จัดการสุขาภิบาลต่างๆ เพื่อป้องกันโรค และห้ามไม่ให้ทำการใดๆ ที่เป็นบ่อเกิดโรคได้ด้วย เช่น ออกจากที่ควบคุม หรือเข้าไปในพื้นที่ เช่น บ้าน โรงเรือน หรือยานพาหนะที่มีโรคติดต่อ

นอกจากนี้ ในมาตรา 35 ยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่ต่างๆ เช่น ตลาด สถานประกอบอาหาร โรงงาน โรงมหรสพ หรือห้ามจัดกิจกรรม สั่งห้ามการประกอบอาชีพที่ทำให้เกิดโรค และการกำกับโรคระบาดให้ครอบคลุมไปถึงการจัดการกับการเดินทางเข้าออกจากต่างประเทศด้วย

ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ในมาตรา 34 และ 35 จะมีโทษจำคุก โทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

จะเห็นได้ว่า ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นแนวทางเดียวกับการรับมือโรคระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่ต้องการให้มีการรักษาระยะห่างทางสังคมไม่ให้โรคระบาดนั้นลุกลามไปยังภาคส่วนต่างๆ จนทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยไม่สามารถรับมือได้ หรือล้มเหลวในการรักษา

ซึ่งอำนาจข้างต้นมีความคล้ายคลึงกับ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ที่สามารถกักตัวหรือควบคุมตัวบุคคล การเข้าออก ตรวจค้นเคหสถาน การสั่งห้ามใช้อาคารหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ ที่กำหนดได้

แต่ทว่าส่วนที่แตกต่างและให้อำนาจรัฐมากขึ้น ได้แก่ การสั่งห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว) การสั่งห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ การควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และการสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด

ซึ่งในความเป็นจริง รัฐบาลมีกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ให้อำนาจห้ามอยู่ในสถานที่ที่กำหนด หรือการประกาศเคอร์ฟิวเหมือนกัน แต่กลับไม่ถูกนำมาใช้

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post