“เมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ” บันทึกถึงเสรีภาพในยุค คสช.

หนังสือ ‘เมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ’ เป็นการบันทึกข้อมูลของศูนย์ข้อมูลและคดีเสรีภาพเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพในยุคที่ทหารปกครองบ้านเมืองนำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยคำว่าปรับทัศนคติเป็นคำที่คณะรัฐประหารนิยามขึ้น แทนที่ข้อเท็จจริงที่ว่านี่คือกระบวนการสร้างและขยายความกลัวไปสู่บุคคลที่ต่อต้านขัดขืน หรือแสดงความเป็นปรปักษ์ต่อผู้ยึดอำนาจจากประชาชน

หลังการเปิดตัวหนังสือเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ในร้านหนังสือ bookmoby ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไอลอว์ตัดสินใจมาเปิดวงคุยถึงหนังสือเล่มดังกล่าวอีกครั้งในภาคอีสานที่จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับร้านหนังสือ Abdul Book โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ กองบรรณาธิการ Way magazine และบรรณาธิการหนังสือ ‘เมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ’, อานนท์ ชวาลาวัณย์ หัวหน้าฝ่ายศูนย์ข้อมูลและคดีเสรีภาพ และผู้เขียน และ วาสนา เคนหล้า นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวอุดรธานี และหนึ่งในเจ้าของเรื่องผู้เคยผ่านการปรับทัศนคติมาแล้ว

 

“ปรับทัศนคติ” สงครามจิตวิทยาระหว่างทหารกับประชาชน

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ ในฐานะบรรณาธิการหนังสือ กล่าวว่า “ต้นฉบับสิบห้าเรื่อง ตอนแรกชื่อเรื่องแต่ละเรื่องจะไม่ใช่ชื่อเหมือนในหนังสือเล่มนี้ ทีนี้ผมเลยลองเปลี่ยนชื่อที่มันแทนตัวตนของคนในเรื่อง เช่น การ์ตูนนิสต์ นักข่าว พอเราเปลี่ยนเป็นแบบนี้ เราจะเห็นว่า ใครก็ได้มีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะโดน คสช.เรียก ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับเขา”

“แม้แต่คุณศรีสุวรรณ จรรยา ในเรื่องนี้ก็ถูกเรียกปรับทัศนคติ หรืออย่างพี่ติ๋ม วาสนา ก็ถูกเรียก ทั้งที่ขั้วอุดมการณ์ความคิดของคนทั้งสองไม่เหมือนกัน แต่เขาก็ถูกปฏิบัติเหมือนกัน คือถูกเรียกเข้าค่ายทหาร ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า ทหารมองใครเป็นศัตรู หรือก็คือ ประชาชนเป็นศัตรู”

“ถ้าเราย้อนกลับไปวันที่มีการรัฐประหาร เราจะเห็นรายชื่อที่เรารู้จัก เป็นบุคคลสาธารณะ เป็นนักการเมือง ไปจนถึงชื่อที่เราไม่รู้จัก ช่วงเวลานั้นเขาทำให้เรากลัวได้ เราคือผู้ที่ยังไม่ถูกเรียก เราเห็นแม้กระทั่งคนออกไปกินแซนด์วิช หรือชูสามนิ้ว อ่านหนังสือ 1984 แล้วมีภาพที่ออกมาว่ามีการใช้กำลังพอสมควร สิ่งเหล่านี้ทำให้เรากลัวพอสมควร”

“เมื่อผมได้ทำหนังสือเล่มนี้ ผมมีความกลัวน้อยลง แม้เรื่องจากทั้งสิบห้าคนจะมีรายละเอียดที่ต่างกัน แต่วิธีการที่เขาถูกคุกคาม วิธีการเรียก สถานที่ ฉาก มันเหมือนกันหมดเลย หรือการใช้จิตวิทยากับผู้ที่ถูกเรียกก็คล้ายๆ กัน จะมีน้ำร้อนน้ำเย็น ไม้แข็งไม้อ่อน ถึงชื่อหนังสือชื่อว่าเมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ แต่เนื้อเรื่องกลับแสดงวิธีคิดของทหารได้อย่างประหลาด”

“กระบวนการปรับทัศนคติเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความกลัว และผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้มีแค่คนที่ถูกเรียก แต่ความกลัวมันถูกแผ่ออกมาสู่สังคม ผมอยากจะเปรียบเทียบเหตุการณ์นี้กับช่วง 6 ตุลาฯ ที่ใครออกมาเคลื่อนไหวจะถูกข้อหา ‘ภัยสังคม’ มีคนถูกตั้งข้อหาเป็นพันๆ คน มันเป็นเครื่องมือของผู้ปกครองในตอนนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างกันมันเป็นเครื่องมือสร้างความกลัว”

“แต่สถานการณ์ในตอนนี้มันไม่ใช่สถานการณ์เหมือนเมื่อในตอนนั้น สถานการณ์ปัจจุบันมันมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยผู้คนที่กำลังเติบโตขึ้นมา เมื่อห้าปีที่แล้วมันไม่ได้เป็นเหมือนตอนนี้ ผมคิดว่าคนที่ต้องเรียนรู้มากที่สุด คือ ทหาร ทหารต้องเรียนรู้มากที่สุดไม่ใช่ประชาชน ว่าเครื่องมือที่เขาใช้อยู่มันสามารถใช้ได้จริงไหม และมันเหมาะสมกับสภาพเวลาตอนนี้หรือเปล่า”

 

กระบวนการปรับทัศนคติ คือการข่มเหงทางความคิด

วาสนา เคนหล้า นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวอุดรธานี ผู้ถูกเรียกไปปรับทัศนคติอย่างน้อยสามครั้ง กล่าวว่า “ในการแสดงออกของพี่ในรอบสิบปีที่ผ่านมา เราเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ต้องการให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ในความรู้สึกของเราเรารู้สึกประเทศของเรามันถอยหลัง ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นก้าวไปข้างหน้า ทำไมเรายังย่ำอยู่กับที่ ทำไมถึงมีการรัฐประหาร ทำไมทหารเขาไม่อยู่ในที่ของเขา ทำไมเขาไม่ให้นักการเมืองแก้ปัญหาทางการเมือง ให้นักการเมืองทำหน้าที่ของเขา ก็เลยออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 49 จนถึงการรัฐประหารในปี 57”

“พอรัฐประหารก็โดนหลายๆ เรื่อง เลยหนีไปอยู่ลาวประมาณหนึ่งเดือน จนแน่ใจว่ามันไม่มีอะไรก็กลับมา แต่พอกลับมามันไม่ใช่อย่างงั้น พอกลับมาเขาก็เรียกเข้าค่ายทหารไปเซ็น MOU ไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง พี่ก็เลยบอกว่าการต่อสู้ตรงนี้ เราไม่ได้ประท้วง เราไม่ได้ต่อต้าน เราแค่ต้องการสิทธิของเรา อยากให้มีการเลือกตั้ง มันเป็นสิทธิของเราที่เราจะเลือกคนมาบริหารประเทศ ไม่ใช่ให้ใครหามาให้ มันเป็นสิทธิของเราที่เราจะปกครองตัวเอง”

“กระบวนการปรับทัศนตินอกจากปรับความคิดเราไม่ได้ เรายังรู้สึกเหมือนโดนข่มเหง คือเรามีความคิดแบบนี้ๆ แล้วคุณจะมาเปลี่ยนความคิดเราได้อย่างไรเพียงแค่สิบนาที ที่คุณบอกว่าอยากให้เราคิดเหมือนคุณ แต่คนทั้งโลกมันไม่มีทางคิดเหมือนกันได้ แต่ละคนก็มีความคิดเป็นของตัวเอง ถามว่าเราผิดไหมที่ไม่ได้คิดเหมือนคุณ คนเราคิดเห็นต่างกันได้ คุณอยากทำอะไรก็ทำไป เราก็จะอยู่ของเราแบบนี้”

“เขาเรียกไปรายงานตัวในค่ายทหารสามถึงสี่ครั้ง เวลาเราไปรายงานตัว ก็จะบอกให้เราหยุด คุณอย่าเคลื่อนไหวนะ คุณอย่านำมวลชนนะ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เคลื่อนไหว แค่ไปเจอพี่น้องที่ต่อสู้มาด้วยกัน เคลื่อนไหวมาด้วยกัน หนีตายมาด้วยกันในปี 53 มันเป็นความบอบช้ำ ภาพที่เห็นในทีวีมันยังไม่ถึงครึ่งของภาพจริงที่อยู่ในนั้น เราหนีตายจริงๆ เราเห็นเพื่อนเราตายจริงๆ เราเห็นเลือดนองเต็มพื้น พอเราเคยโดนตรงนั้น มันฝังในใจของเราว่า เขาทำเราทำไม เราไม่มีอะไร มีแค่มือไม้ แล้วจะมาเปลี่ยนให้เราเชื่อว่าคุณทำถูก คุณเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง” 

“ตอนเรียกตัวไปค่ายทหารพี่ไม่ได้นอนค่ายต้องไปกลับ เพราะไม่มีคนเฝ้าบ้าน แต่ต้องไปถึงค่ายทหารประมาณแปดโมงเช้า เข้าไปก็พยายามโน้มน้าวให้เราคิดตามเขา ให้เราทำแบบที่เขาอยากให้เราเป็น แล้วก็สั่งเราว่าอะไรทำไม่ได้ อะไรห้ามทำ อะไรที่ล่อแหลม ห้ามทำกิจกรรมอะไรที่เราเคยทำ อย่างบ้านเราคนอีสานไปไหนไปด้วยกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็หาว่าเรามาชุมนุมกัน แล้วร้านพี่เป็นร้านขายของพี่ก็มีเพื่อนเยอะ มานั่งคุยกัน เจ้าหน้าที่ก็มาละ”

“ตอนนั้นยังไม่มีการเลิกคำสั่งมาตรา 44 ก็มีทหารมาบ้าน เพราะที่บ้านมีปฏิทินแจก พอทหารมาก็ถามว่ามีปฏิทินไหม เราก็บอกว่ามี ก็ตอบซื่อๆ ไปว่ามี เพราะแจกปฏิทินมันก็ไม่ได้ผิดอะไร เขาก็เลยจะขอ แต่เราเหลือแค่สองอัน เราไม่ให้ เขาก็เลยขอดู พอดูเสร็จก็ขอถ่ายรูป เราก็เลยถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กสิว่าทหารมา ก็เขามาจริง เสร็จแล้วพอผ่านไปสามชั่วโมง ทหารก็มาบ้าน มีตำรวจด้วย มาขอให้ลบโพสต์เฟสบุ๊ก บอกว่าเราทำให้เขาเสียหาย ตอนนั้นขึ้นข่าวหน้าหนึ่งเลย”

“แล้วอีกรอบหนึ่งก็มาอีกตอนศูนย์ปราบโกงฯ ตอนนั้นรถทหารมาเต็มเลย แล้วก็มาจับพวกพี่สี่ห้าคน ทั้งที่พวกเราแค่มาเปิดป้าย ขึ้นป้ายยังไม่ถึงห้านาทีเลย แล้วก็เอาเราไปขังไว้หนึ่งวัน เขาเชิญเราขึ้นรถที่พี่เรียก ‘รถขังหมา’ ซึ่งเราไม่ใช่นักโทษ เราทำผิดอะไร เราช่วยคุณนะ เราเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ไม่ให้มีการคดโกงในการลงประชามติ เรามาช่วยเขาสอดส่องว่าอย่าโกงกันนะ ชื่อมันก็บอกอยู่ว่าศูนย์ปราบโกงฯ แต่เขาบอกว่าผิด ซึ่งมันขัดแย้งในความรู้สึกเราว่าผิดตรงไหน แต่เขาบอกว่าเราต่อต้านเขา”

 

กักขังตัวได้ ทำให้กลัวได้ แต่เปลี่ยนความคิดไม่ได้

อานนท์ ชวาลาวัณย์ หัวหน้าฝ่ายศูนย์ข้อมูลและคดีเสรีภาพ ไอลอว์ กล่าวว่า “ไอลอว์โดยหลักแล้วจะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในทางกฎหมายและการเมือง แต่ในขณะเดียวกันงานของเราก็คือการบันทึกการจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะการแสดงออก ซึ่งหนังสือปรับทัศนคติก็จะเป็นรูปแบบหนึ่งของการบันทึกข้อมูล”

“ถ้าย้อนความทรงจำของพวกเรากลับไปในวันที่มีการยึดอำนาจ เราก็จะเห็นว่าทีวีทุกช่องออกรายการเดียวกัน มีนายทหารคนหนึ่งมานั่งอ่านคำสั่งเรียกคนให้ไปรายงานตัวในเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ไปรายงานตัวก็จะมีโทษทั้งจำคุก หรือโทษปรับ เราก็เลยพยายามติดตามเฝ้ามองว่ามีใครที่ถูกเรียกไปรายงานตัวบ้าง”

“แรกๆ ก็มีการเรียกบุคคลสำคัญที่อาจจะเป็นนักการเมืองเข้าไปเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่ในช่วงหลังมันเริ่มลามไปถึงคนอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้มีบทบาท ไม่ได้มีอำนาจ ไม่ได้มีพละกำลังที่จะท้าทายอำนาจ คสช. หรือผู้ยึดอำนาจเลย บางคนอาจจะแค่แสดงความคิดเห็นต่างๆ บางคนอาจจะแค่ออกมาชูสามนิ้ว ซึ่งมันไม่สามารถทำให้ความมั่นคงของรัฐสั่นคลอนได้เลย แต่พวกเขาก็ถูกเรียกไปเข้าค่าย และเราก็เฝ้ามองด้วยความเป็นห่วงและตัดสินใจทำเป็นงานบันทึกเล่มนี้ขึ้นมา”

“เท่าที่เราเก็บข้อมูลคนที่ถูกเรียกไปรายงานตัวผ่านสื่อโทรทัศน์มีไม่น้อยกว่า 300 กว่าคน แล้วขยายตัวจากโทรทัศน์ไปสู่การเรียกตัวด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งมีความน่ากังวลมากกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุดการเรียกผ่านโทรทัศน์มันยังปรากฏชื่อว่าใครถูกเรียก แต่การเรียกตัวแบบไม่เป็นทางการ คนเหล่านี้เราไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง และไม่อาจทราบชะตากรรม”

“สำหรับผม กระบวนการปรับทัศนคติ มันเป็นกระบวนการปิดปาก เขาไม่ได้ต้องการให้คุณเปลี่ยนวิธีคิด แต่ต้องการหยุดให้คุณไม่กระทำการบางอย่างที่เขาไม่ชอบใจ หลายๆ กรณีเป็นอย่างนั้น อย่างเคสอดีตนักโทษการเมือง ชื่อพี่ณัฐ ซึ่งอยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย เขาบอกว่าห้าหกวันที่แกต้องเข้าไปอยู่ในค่ายทหาร แกแทบไม่ได้ทำอะไรเลย คือเขาไม่ได้ต้องการให้แกเปลี่ยนอะไร แค่เอาคนไปเก็บไว้เงียบๆ ซึ่งสิ่งที่แกสะท้อนออกมาก็คือ แกเบื่อ และเสียเวลา” 

“กระบวนการนี้มันส่งพลังมากพอที่จะทำให้คนไม่ออกไปเคลื่อนไหว เพราะไม่อยากเบื่อและเสียเวลา เขารู้ว่าเขาเปลี่ยนคุณไม่ได้หรอก ต่อให้คุยกันยาวเจ็ดวัน กักตัวไว้นานเจ็ดวัน เขาเอาคุณไปขังได้ แต่สิ่งที่เขาเปลี่ยนไม่ได้ คือ ความคิดคุณ แต่สิ่งที่เขาทำได้ และมันทรงพลัง คือ มันทำให้คนเลือกที่จะไม่ทำเพราะมองว่ามีราคาต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เสียเวลา หรือทำให้ตกอยู่ในความกลัว ที่ไม่รู้ว่าเจ็ดวันนี้เราจะปลอดภัยหรือเปล่า เราจะได้กลับไปเจอผู้เจอคนไหม จนทำให้เรายอมที่จะเซ็นชื่อว่าจะยอมยุติการเคลื่อนไหว”