28 มิถุนายน 2567 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ iLaw และ We Watch ร่วมกันจัดงานเสวนา “เลือกสว. จะได้ประกาศผลหรือไม่ ปัญหาการฮั้วกกต. จะสอยอย่างไร?” ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจัทร์ พูดคุย แลกเปลี่ยน วิเคราะห์ทิศทางอนาคตหลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 เสร็จสิ้นไปหลังการเลือกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567
งานเสวนาครั้งนี้มีปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิชาย รัตนติลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้เข้าร่วมวงเสวนา หลังจากทั้งสามคนได้ติดตามกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 มาตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ
ทั้งสามเห็นพ้องต้องกันว่ากระบวนการเลือก สว. มีปัญหาทั้งในเชิงกระบวนการจัดและแง่มุมทางกฎหมาย อย่างไรการเรียกร้องให้กกต. รีบประกาศผล และเริ่มต้นการจับตาการทำงานของสว. ชุดใหม่ต้องรีบเกิดขึ้นโดยไว เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยออกจากสว.ชุดพิเศษ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยไว
พิชาย: เครือข่ายสีน้ำเงินคุมสภาสูง-เครือข่ายสีแดงอ่อนแอ สะท้อนภาพใหญ่การเมืองประเทศ
พิชายกล่าวว่า รูปแบบของระบบการเลือกสว. ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการฮั้วลงคะแนนแต่ในความเป็นจริงกลับล้มเหลวในการป้องกันปัญหานี้ได้ เพราะการฮั้วกันมีตั้งแต่เครือข่ายระดับจังหวัดจากผู้ทรงอิทธิพลในพื้นที่ ไปจนถึงเครือข่ายระดับประเทศที่อยู่ในร่มเดียวกันที่เรียกว่า “เครือข่ายสีน้ำเงิน” ซึ่งเครือข่ายสีน้ำเงินคิดว่าคนไทยไม่ได้สนใจกระบวนการเลือกสว. มากนัก ทำให้มีการจัดตั้งผู้สมัครที่ไม่มีคุณสมบัติตรงกับกลุ่มที่สมัครมาสมัคร อย่างไรก็ตามเครือข่ายสีน้ำเงินนี้คาดว่ามีความสัมพันธ์กับผู้ทรงอิทธิพลระดับชาติเพราะสังเกตจากความนิ่งเฉยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อบุคคลกลุ่มนี้ตลอดกระบวนการเลือก
พิชายวิเคราะห์ว่า เครือข่ายสีน้ำเงินอาจจะมีการจัดตั้งมาตั้งแต่ต้นแล้วค่อยขยายตัวเป็นพันธมิตรชั่วคราวกับเครือข่ายอื่นๆ ในระหว่างวันเลือก จนทำให้สามารถกวาดที่นั่งของวุฒิสภาได้มากกว่าร้อยละหกสิบ ปัจจุบันพูดได้ว่าเครือข่ายนี้ควบคุมการดำเนินงานของวุฒิสภา อีกทั้งการเลือกครั้งนี้นอกจากแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการจัดตั้งคนของเครือข่ายนี้แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่าศักยภาพในการจัดตั้งคนของเครือข่ายจังหวัดเชียงใหม่ หรือ “เครือข่ายสีแดง” ตกต่ำลงเป็นอย่างมาก ปรากฎการณ์นี้อาจจะหมายความว่าชนชั้นนำไทยไม่ไว้ใจเครือข่ายสีแดงเท่าที่ผ่านมาจึงเปลี่ยนไปสนับสนุนเครือข่ายสีน้ำเงินแทน
เครือข่ายสีน้ำเงินมีความเป็น “อนุรักษ์นิยมเชิงอุปถัมภ์” ที่มีความเข้มข้นน้อยกว่า “อนุรักษ์นิยมจารีต” แบบสว.ชุดพิเศษ คนกลุ่มนี้จึงอาจจะมีศักยภาพที่จะปรับเปลี่ยนสูงกว่าอนุรักษ์นิยมเชิงจารีต การปรับเปลี่ยนจุดยืนของพวกเขาจึงเป็นหนึ่งในโอกาสของกลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยต่อไป ปัจจุบันนี้พิชายคาดว่ามีสว. ที่มีจุดยืนประชาธิปไตยชัดเจนจำนวนอยู่ถึงร้อยละสิบของจำนวน สว. ทั้งหมด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะขยายเพิ่มเป็นร้อยละสี่สิบของจำนวนสว. ทั้งหมด เพราะเครือข่ายอื่นๆ ในวุฒิสภาอาจจะสามารถเป็นพันธมิตรชั่วคราวในบางประเด็นได้เช่นกัน
พิชายจึงฝากการบ้านให้สว. ประชาธิปไตยว่าต้องขยายแนวร่วมเพิ่มเติม เครือข่ายหลายสายที่กำลังเข้าไปสู่วุฒิสภาต่างไม่ได้เป็นชนชั้นสูงมาก่อนทำให้พวกเขายังสามารถเปลี่ยนใจได้เสมอ รวมถึงอยากให้ช่วยกันทำให้วุฒิสภามีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นด้วย
การเลือกสว. ครั้งนี้พิชายระบุว่า อาจจะสามารถนำมาทำนายอนาคตการเลือกตั้งได้ เครือข่ายสีแดงที่มีอุดมการณ์ประชานิยมแบบขวาพ่ายแพ้ในสนามสว. ขณะเดียวกันก็อ่อนแอลงด้านนโยบายและวิสัยทัศน์ในสนามสส. ปี 2566 การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานีที่กำลังจะมาถึงจึงอาจเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายในการวัดศักยภาพของเครือข่ายสีแดง และทำนายศักยภาพของเครือข่ายนี้และเครือข่ายอื่นๆ ในสนามเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า
ปริญญา: กฎหมายไม่กำหนดกรอบเวลา กกต. ต้องรีบประกาศผลโดยเร็ว
ปริญญามีคำถามต่อผลการเลือกสว. ว่า หากผลออกมาเป็นแบบนี้ควรเปลี่ยนระบบการเลือกสว. เป็นการเลือกทางตรงเลยหรือไม่ เพราะทุกสิ่งที่ทำนายไว้ก่อนการเลือกว่า หากผู้สมัครกลุ่มใดมี “เพื่อนเยอะ” พร้อมมากับ “ดวงดี” ก็จะได้เป็นสว. ทำนายออกมาถูกต้องทุกประการ
การมี “เพื่อนเยอะ” ต้องใช้การจัดตั้งคนมาลงสมัครทำให้ต้องใช้ค่าสมัครคนละ 2,500 บาท ใครมีเงินมากกว่าก็ได้เปรียบกว่าผู้สมัครคนอื่น ต้องมีการจัดตั้งข้ามกลุ่มอาชีพและข้ามจังหวัดเป็นวงกว้าง เครือข่าย “บ้านใหญ่” ทั้งสองสีจึงต้องแข่งขันกันในการหาผู้สมัครมาลงสมัคร ขณะเดียวกันการมี “ดวงดี” ก็มีความจำเป็นเนื่องจากต้องใช้ในการจับสลากสายเพื่อทำให้ตัวเองมีโอกาสไปต่อ หรือจับสลากหากมีคะแนนเท่ากันกับผู้สมัครคนอื่น
ระบบการเลือกผู้แทนปวงชนที่พึ่งพา “เพื่อนเยอะ” กับ “ดวงดี” จึงไม่ใช่ระบบที่พึงปรารถนา อย่างไรก็ตามปริญญาระบุว่าสว.ชุดพิเศษ ของ คสช. จะยังดำรงตำแหน่งอยู่ในฐานะสว.รักษาการ จนกว่าจะมีสว. ชุดใหม่ คำถามสำคัญ คือ การประกาศสว. ชุดใหม่ จำเป็นต้องประกาศ “ครบ 200 คน” หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ระบุชัดเจนเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดขั้นต่ำของจำนวนสว. ที่จะถูกนับเพื่อตีความว่าประเทศไทยมีสว. ชุดใหม่แล้ว ความคลุมเครือที่ยังไม่ได้รับการตีความนี้จะส่งผลต่อการดำรงตำแหน่งรักษาการของสว.ชุดพิเศษ อย่างแน่นอน
ต่อมา ปริญญาระบุว่าว่าการประกาศผลไม่ได้มีกรอบระยะเวลาแน่นอน เพราะกำหนดไว้เพียง “ไม่น้อยกว่าห้าวัน” แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาชัดเจนว่าต้องห้ามเกินเมื่อใด กำหนดไว้เพียงว่า หากกกต. เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเมื่อใด เมื่อพ้นระยะเวลาห้าวันหลังวันเลือกไปแล้วจึงจะสามารถประกาศผลได้ จุดนี้ปริญญาชี้ว่าเป็นการเขียนกฎหมายที่แปลกประหลาด
ปริญญากล่าวต่อไปว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 62 กกต. มีอำนาจ “สอยทีหลัง” หลังการประกาศผลการเลือกสว. ได้ ผ่านการยื่นต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าว ซึ่งสามารถนำไปสู่การหยุดปฏิบัติหน้าที่สว. จนกว่าจะมีการตัดสินของศาลฎีกา
อย่างไรก็ตามการคำนวณว่าระยะเวลาร้องเรียนห้าวันควรจะเริ่มนับเมื่อใดก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะกระบวนการเลือกระดับประเทศเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 เกิดขึ้นข้ามวัน อีกทั้งวันที่ 29-30 มิถุนายน 2567 ก็เป็นวันเสาร์อาทิตย์ที่ไม่มีความชัดเจนว่ากกต. ยังทำงานรับเรื่องร้องเรียนอยู่หรือไม่ และหากกกต. ยังสอบสวนเรื่องเรียนไม่เสร็จจนขอขยับกรอบเวลาประกาศผลสว. 2567 ออกไปจากวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ก็สามารถกระทำได้หากมีการระบุกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน แต่ไม่ควรเลื่อนการประกาศผลออกไปเรื่อยๆ เพราะจะยิ่งเป็นการต่อเวลาให้สว.ชุดพิเศษสามารถดำรงตำแหน่งอยู่ในรัฐสภาต่อไป
ปริญญาเสนอให้กกต. ประกาศผลผู้ชนะการเลือกสว. ให้ครบ 200 คน แล้ว “สอย” ผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติหรือมีคุณสมบัติต้องห้ามภายหลังด้วยหลักฐานที่สามารถรวบรวมได้ภายในระยะเวลาห้าวันตามกฎหมาย ยังดีเสียกว่าการรอให้มีสว. ครบ 200 คนแล้วต่อเวลาให้สว.ชุดพิเศษ ต่อไปเรื่อยๆ หรือหากต้องเลื่อนวันประกาศผลผู้ชนะออกไปก็ต้องมีคำอธิบายและกรอบเวลาที่ชัดเจน นอกจากนี้ปริญญายังเสนอให้เปิดเผยบันทึกของกล้อง CCTV ทั้งหมดให้แก่ประชาชนเพื่อช่วยกกต. ตรวจสอบได้อีกด้วย
ปุรวิชญ์: ชวนจับตาสว. ชุดใหม่เลือกองค์กรอิสระ
ปุรวิชญ์เห็นด้วยกับปริญญาที่กกต. ต้องประกาศผลผู้ชนะทั้ง 200 คนไปก่อนเพื่อให้สว.ชุดพิเศษออกจากตำแหน่งโดยไวโดยไว เพราะกกต. ไม่น่าจะสามารถตรวจสอบคำร้องหลายร้อยคำร้องเสร็จสิ้นภายในกรอบห้าวันอยู่แล้ว การประกาศรายชื่อไปก่อนถือเป็นการปลดล็อกกระบวนการเปลี่ยนผ่านแบบเฉพาะหน้าที่กกต. ควรทำ
ต่อมา ปรุวิชญ์ระบุว่าองค์ความรู้ทางวิชาการยังวิ่งตามสิ่งที่เรียกว่า “Coordinate Block-votes” หรือโครงข่ายการบล็อกโหวต สภาพการการเมืองภายในสว. ชุดใหม่จะใกล้เคียงกับการแบ่งมุ้งของสว. ปี 2543 ที่ชัดเจน โดยจะแสดงออกมากขึ้นในช่วงการเลือกองค์กรอิสระ อีกทั้งคาดเดาได้ว่าจะมี “สว.ฝ่ายค้าน” ในวุฒิสภา รวมถึงจะมีความชัดเจนของสีและมุ้งในวุฒิสภามากขึ้นกว่าช่วงการเลือกสว. ที่ผ่านมา จุดนี้ปรุวิชญ์ชี้ว่าหลายมุ้งหลายกลุ่มสีจะขยายจำนวนขึ้นกว่าปัจจุบันแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ปริญญาเสริมแนวคิดการสังเกตการทำหน้าที่สว. ของปุรวิชญ์ว่า นอกจากสังเกตกลุ่มก้อนในการคัดเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระแล้ว ยังสามารถสังเกตแต่แรกได้ผ่านการเลือกประธานวุฒิสภาเช่นเดียวกัน