รวมข้อมูล 250 ส.ว. แต่งตั้ง : กลไกหลักสืบทอดอำนาจจากยุค คสช.

ทำความรู้จัก ส.ว. ชุดพิเศษ กลไกสืบทอดอำนาจ คสช.

14 พฤษภาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน ที่มีที่มา “พิเศษ” โดยการคัดเลือกอย่างดีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ในส่วนของบทเฉพาะกาล พร้อมทั้งประกาศรายชื่อสำรองอีก 2 ชุด รวมแล้ว มีรายชื่อ ส.ว. สำรอง 100 คน

แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะกำหนดที่มาของ ส.ว. เอาไว้แล้วโดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ในระยะเวลา 5 ปีแรก นับตั้งแต่ 2562-2567 ส.ว. ก็ยังมีที่มาแบบ “พิเศษ” กว่าปกติอีก โดยประกอบด้วยสมาชิก 250 คน มีที่มาสามช่องทาง ช่องทางแรก ให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา 9-12 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมจำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน ช่องทางที่สอง มาจากผู้ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และช่องทางที่สาม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือก ส.ว. โดย “แบ่งกลุ่มอาชีพ” เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน 

เมื่อรายชื่อของ ส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน ประกาศออกมา ก็พบว่า มีคนชื่อคุ้นเคย อยู่มาก เช่น ปรีชา จันทร์โอชา, อภิรัชต์ คงสมพงษ์, พรทิพย์ โรจนสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน, วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ฯลฯ พบว่า มีคนหน้าซ้ำ เคยรับตำแหน่งยุค คสช. ถูกแต่งตั้งเป็น ส.ว. 157 คน, มียศนายพล 103 คน รวมแล้วมีอดีตข้าราชการอย่างน้อย 143 คน, มี 51 คน ที่นั่งควบตำแหน่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศด้วย

ส.ว. ชุดพิเศษที่มีที่มาแบบพิเศษ ก็ยังมีอำนาจ “พิเศษ” อยู่หลายประการ อำนาจสำคัญ คือ การร่วมกับ ส.ส. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดอนาคตของประเทศ และทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้หลังการเลือกตั้ง นอกจากนั้นก็ยังมี อำนาจลงมติร่วมกับ ส.ส. เพื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ “ปฏิรูปประเทศ”, อำนาจการลงมติด้วยเสียง 1 ใน 3 เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจแบบปกติเช่นเดียวกับ ส.ว. ชุดปกติ เช่น การพิจารณากฎหมาย การพิจารณาเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ก็ยังอยู่ในมือของ ส.ว. ชุดนี้ด้วยเช่นกัน

หลังจาก ส.ว. ชุดพิเศษได้มีรายชื่อออกมา ไอลอว์ (iLaw) ได้ยื่นหนังสือต่อ กกต. และสำนักงานเลขาธิการ คสช. ไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 เพื่อขอทราบข้อมูล และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 รวมทั้งรายชื่อผู้ที่ “เข้ารอบสุดท้าย” ก่อนถูกคัดเลือกโดย คสช. ระยะเวลาผ่านไปนานกว่า 7 เดือน จนกระทั่ง ส.ว. ชุดพิเศษทั้ง 250 คน ทำหน้าที่ไปเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จึงเพิ่งถูกเปิดเผย

ส.ว. ชุดพิเศษ เข้ารับตำแหน่งและทำผลงานในการพิทักษ์ระบอบของ คสช.​ ได้อย่างเต็มที่ เริ่มจากการลงมติเลือกให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ชนิดเอกฉันท์ เสียงไม่แตกเลย อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญ คือ การลงมติว่าจะ “ไม่” แก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นที่มาและอำนาจของพวกเขา ซึ่งประสบความสำเร็จไปแล้วอีกหลายยก นอกจากนี้เรายังพบข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของ ส.ว. ที่น่าสนใจเพิ่มเติม ดังนี้

ทำความรู้จัก ส.ว.ชุดใหม่หลัง ส.ว. ชุดพิเศษ พร้อมที่มาแบบใหม่โดยการให้ “เลือกกันเอง”

หลังจากที่ครบวาระห้าปีนับตั้งแต่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ชุดแรกที่ถูกแต่งตั้งมาใช้อำนาจเฉพาะกิจสานต่อช่วงรอยต่อของการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็จะหมดอายุไป โดยที่มาของส.ว.ชุดใหม่ ก็ไม่เหมือน ส.ว. ชุดพิเศษ ตามบทเฉพาะกาลอีกต่อไป และมีจำนวนลดลงเหลือเพียง 200 คน แตกต่างจาก ส.ว. ชุดพิเศษตามบทเฉพาะกาลที่มีถึง 250 คน

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดหลักการที่มาและจำนวนวุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก โดยให้ส.ว.มีจำนวน 200 คน  วาระดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี ซึ่งจะเริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่กรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผล มีที่มาจากการที่ผู้สมัครตามแต่ละกลุ่มอาชีพ “เลือกกันเอง”  โดยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน ทำงานหรือเคยทำงานด้านๆ ต่าง ที่หลากหลายของสังคม 

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post