เลือกตั้ง 62: ทัศนคติต่อการวิจารณ์ของ “ลุงตู่” น่ากังวลหากยังเป็นนายกฯ ต่อ

 
 
8 กุมภาพันธ์ 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศรับคำเชิญพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี พลันที่พล.อ.ประยุทธ์ ตอบตกลง เขาก็มีสถานะ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่งจากเดิมที่เขาเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มและยังเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติผู้มีอำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งสามารถออกคำสั่งทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการใดๆ ก็ได้ออกบังคับโดยมีสถานะเป็นกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 
 
ตลอดระยะเวลาเกือบห้าปี ที่พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศ ตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ก็ควบสองตำแหน่งบริหารประเทศเรื่อยมา กฎหมายและมาตรการต่างๆ ถูกประกาศใช้ออกมาโดยอำนาจในฐานะหัวหน้า คสช. เพื่อเป็นฐานในการจำกัดการแสดงออก การจับกุม ดำเนินคดีกับประชาชน เช่น ใช้เรียกคนไปขังในค่ายทหาร หรือส่งเจ้าหน้าที่ทหารมา “พูดคุย” ที่บ้าน อำนาจพิเศษเช่นนี้ถูกใช้เพื่อสร้างบรรยากาศที่ปิดกั้นอยู่นาน และแม้ว่า กำลังจะมีการเลือกตั้ง แต่หากพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป สถานการณ์เสรีภาพก็ยังมีความน่ากังวล โดยพิจารณาได้จากทั้งคำกล่าวที่แสดงถึงวิธีคิดของพล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับการชุมนุมในโอกาสต่างๆ และแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา
 
โหวกเหวกโวยวาย ถึง อากาศเป็นพิษ ทัศนคติที่น่ากังวลของ “ท่านผู้นำ”
 
การเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศ ย่อมหนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะนโยบายของรัฐย่อมให้คุณให้โทษกับกลุ่มคนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งดำรงอยู่ในสถานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจตามมาตรา 44 ยิ่งต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์หนักยิ่งขึ้นทั้งในเชิงส่วนตัวและเชิงนโยบายที่สามารถให้คุณให้โทษกับประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ได้ 
 
ระหว่างเวลาที่พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนากยกรัฐมนตรี เคยมีกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงการแสดงออกหรือการชุมนุมของคนกลุ่มต่างๆ ในลักษณะเป็นแง่ลบ แสดงถึงความรำคาญหรือไม่ชอบใจ เช่น ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เมื่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดจัดกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้ง ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวตอนหนึ่งพอสรุปได้ว่า 
 
“เรื่องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ตัวเขา(พล.อ.ประยุทธ์) ไม่ต้องการจะขัดแย้งด้วย แต่ขอว่าอย่าทำให้บ้านเมืองขัดแย้งจนเกิดความเสียหาย การประกาศชุมนุมเพิ่มขึ้นก็ต้องไปดูว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนตัวไม่อยากให้ประชาชนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงไปร่วมมือกับเขา (ผู้จัดชุมนุม) มาตรา 44 ที่ห้ามการชุมนุมก็เป็นกฎหมายเชิงป้องกัน ไม่เคยใช้อำนาจมาตรา 44 หรือ คสช.ไปลงโทษ ถ้าจะลงโทษก็จับติดคุก 2 ปี ได้ทั้งหมด” 
 
กลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถูกดำเนินคดี #MBK39 เดินไปเข้ากระบวนการผัดฟ้องศาลแขวงปทุมวัน
 
“นักศึกษา นิสิต ผมคิดว่าสงสารพ่อแม่บ้างเถอะ ต้องไปดูพวกนี้เรียนมากี่ปีแล้ว จะจบเมื่อไร อะไรอย่างไร ไม่งั้นก็ไม่จบหรอก เรียนจบมาก็เป็นแบบนี้ อย่าไปคิดว่าเราจะต้องไปเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง และอย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงโดยทำให้บ้านเมืองเสียหาย ประชาชนเดือดร้อนบาดเจ็บล้มตาย มันไม่ใช่เรื่องในวันนี้ ต่างประเทศเขาทำมา 200 กว่าปี ที่ตายเจ็บกันขนาดนั้น ของเราเพิ่งจะเริ่มมาไม่กี่ปีนี้ โดยที่เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน อย่าให้มันเกิดอีกเลย” 
 
คำให้สัมภาษณ์นี้อาจสะท้อนถึงทัศนคติของพล.อ.ประยุทธ์ต่อกลุ่มนักศึกษาที่เป็นคนจัดกิจกรรมว่า เป็นกลุ่มคนที่ชอบสร้างปัญหา สร้างความวุ่นวายทำให้พ่อแม่เดือดร้อน นอกจากนี้ก็ยังสะท้อนว่าประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเป็นเพียงเหยื่อที่ถูกชักจูงไม่ใช่พลเมืองที่มีวิจารณญาณตัดสินใจเข้าร่วมทำกิจกรรมด้วยเจตจำนงค์อิสระของตัวเอง นอกจากนี้ในส่วนของคำสัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับบทลงโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. หากไม่ใช่สื่อมวลชนรายงานคลาดเคลื่อนก็หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์เองยังไม่ทราบว่าโทษของความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน (คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ออกโดยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557) กำหนดโทษจำคุกกับผู้ฝ่าฝืนไว้ที่ไม่เกินหกเดือน ไม่ใช่สองปี    
 
ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ไปร่วมปลูกต้นไม้ในจังหวัดราชบุรี พล.อ.ประยุทํธ์กล่าวระหว่างการมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า 
 
วันนี้พูดมากปวดหัว พูดทุกวันแต่อากาศดี มีออกซิเจนเข้าปอด แต่เมื่อวานออกซิเจนน้อย เพราะมีชุมนุม คนเยอะอากาศเป็นพิษ แต่ทุกอย่างเรียบร้อย ไม่ลุกลามบานปลาย เพราะประชาชนทุกคนเข้าใจ และรัฐบาลก็ได้ประกาศไปแล้ว แต่เมื่อขออนุญาตแล้วก็อยู่ที่เดียว ขอยืนยันว่า รัฐบาลและคสช.ไม่เป็นศัตรูกับใคร ใครเป็นศัตรูกับตนไม่ทราบ แต่เป็นศัตรูกับกฎหมายไม่ได้ ทั้งนี้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะทหารตำรวจที่แก้ปัญหาอย่างสันติ ไม่มีการตีหรือยิงกัน และย้ำว่ารัฐบาลไม่อยากให้บานปลาย  
 
 
การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในโอกาสครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร
 
โดยการชุมนุมที่พล.อ.ประยุทธ์หมายถึงน่าจะเป็นการชุมนุมครบรอบสี่ปีการรัฐประหารที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ซึ่งท้ายที่สุดมีผู้ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน รวม 62 คน 
 
แม้การพูดเรื่อง “มีชุมนุม คนเยอะ อากาศเป็นพิษ” น่าจะเป็นการพูดในลักษณะตัดพ้อหรือเสียดสี แต่ก็พอจะทำให้เห็นได้ว่าพล.อ.มีทัศนะคติที่ไม่ค่อยจะเป็นบวกต่อการใช้เสรีภาพการชุมนุมของประชาชน  
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จัดการชุมนุมที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐบาล และมีการออกแถลงการณ์ซึ่งพอสรุปได้ว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ทางเครือข่ายเคยยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของทางกลุ่ม ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามแก้ปัญหาและมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีกรวมแปดชุดแยกไปตามกระทรวงต่างๆ แต่ปรากฎว่า กลไกที่จัดตั้งขึ้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เพราะไม่สามารถสั่งการเชิงนโยบายข้ามกระทรวงได้ พีมูฟจึงมาเรียกร้องให้รัฐบาลนำปัญหาที่ทางคณะกรรมการมีข้อยุติแล้วเข้า ครม.เพื่อการพิจารณา  ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ระหว่างที่ผู้ชุมนุมปักหลักที่ด้านข้างทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ก็ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการชุมนุมของทางกลุ่มตอนหนึ่งว่า 
 
“วันนี้มีการโหวกเหวกกันอยู่ข้างนอก ก็ไม่เป็นไร ประชาธิปไตยก็ว่ากันไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ชี้แจงกันไป บางทีทุกคนก็ใจร้อน เราต้องทำความเข้าใจให้ได้มากที่สุด ถ้าทำความเข้าใจได้มากก็จะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก เราต้องร่วมมือกันหาวิธีที่เหมาะสมโดยไม่ทำให้กฎหมายเสียหาย และต้องหาทางปรับแก้” 
ซึ่งแม้ว่าในคำกล่าวนี้พล.อ.ประยุทธ์จะยอมรับว่า การมาของกลุ่ม พีมูฟจะทำได้ตามระบอบประชาธิปไตยแต่ก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจมองการใช้เสรีภาพของประชาชนเพื่อสะท้อนปัญหาของตัวเองว่าเป็นการก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนความปกติสุข และเมื่อทราบถึงการมาชุมนุมเรียกร้องของประชาชนแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็เพียงให้สัมภาษณ์ดังกล่าวแต่ไม่ได้แม้แต่แวะมาเพื่อรับฟังปัญหา หรือพูดคุยกับคนที่มาเรียกร้องแต่อย่างใด
 
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 กรณีที่มีคนเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากประสงค์จะเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สถานะของพล.อ.ประยุทธ์ เสมอภาคกับผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบเรื่องนี้ว่า 
 
“อย่าไปไล่ล่ากันมากนัก พอไล่คนนี้แล้วลาออก แล้วเดี๋ยวมาไล่นายกฯออก ก็กฎหมายว่าอย่างนี้ มึงมาไล่ดูสิ ไล่ให้ได้สิ ผมไม่ท้าทาย แต่ไม่ออก การที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แพ้การเลือกตั้งปี 54 ในการแข่งกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำไมแพ้ล่ะ เป็นรัฐบาลหรือเปล่า ทำไมแพ้ แสดงว่าการเป็นรัฐบาลไม่น่าจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นมาแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมีผลงานหรือไม่ หากไม่มีประชาชนก็ไม่เลือกอยู่แล้ว ก็ไปหวังในสิ่งใหม่ๆ ที่เขาพูดออกมาจริงบ้างไม่จริงบ้าง นั่นคือการเมืองไทย”  
 
การหลุดปากพูดคำว่า “มึงมาไล่ดูสิ” ในระหว่างการแถลงผลงานอาจเกิดขึ้นจากความกดดันที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญจากการถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องอนาคตทางการเมืองที่ในขณะนั้นที่ยังไม่มีความชัดเจน โดยก่อนที่พล.อ. ประยุทธ์จะแถลงผลงาน ในวันที่ 30 มกราคม 2562 สี่รัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.ที่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐนำโดยอุตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐตัดสินในลาออก เพื่อไปทำงานกับพรรคพลังประชารัฐอย่างเต็มตัว  อย่างไรก็ตามการหลุดปากในลักษณะดังกล่าวก็อาจจะก่อให้เกิดคำถามว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถบริหารประเทศโดยต้องเผชิญการตรวจสอบและการตั้งกระทู้ถามจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน พล.อ.ประยุทธ์จะรับมือกับการโต้แย้งได้อย่างมีเหตุผลได้เพียงใด
 
หลังพล.อ.ประยุทธ์หลุดปากพูดคำว่า “มึงมาไล่ดูสิ” ออกมา วันรุ่งขึ้นก็มีนักกิจกรรมสองคนคือ พริษฐ์ หรือ เพนกวิน และธนวัฒน์ หรือ บอลนัดกันไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยนำพริกและกระเทียมไปแขวนที่รั้วเพื่อแสดงแสดงจุดยืนว่าพวกเขามาไล่พล.อ.ประยุทธ์ตามที่ถูกท้า แต่ทั้งสองทำกิจกรรมได้ครู่เดียวก็ถูกควบคุมตัวออกไปจากหน้าทำเนียมรัฐบาลและถูกตั้งข้อกล่าวหา ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ 
 
ชะตากรรมของผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนเสียดสีพล.อ.ประยุทธ์
 
ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร และหัวหน้ารัฐบาล ตลอดระยะเวลาเกือบห้าปีที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์โดยตรง หลายๆ กรณีการวิพากษ์วิจารณ์ก็จบลงโดยไม่มีผลกระทบใดๆ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่การวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีพล.อ.ประยุทธ์จบลงด้วยผลกระทบที่นำไปสู่ผลกระทบอื่นๆ เช่น การเรียกเข้าค่ายปรับทัศนคติ และการดำเนินคดีด้วยข้อหาความมั่นคง 
 
ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า มีคนกลุ่มหนึ่งแชร์ข่าวกล่าวหาว่าเขาโอนเงินกว่าหมื่นล้านบาทไปประเทศสิงคโปร์ ขณะที่พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ระบุในวันเดียวกันว่า ทางการใกล้ได้ตัวผู้ปล่อยข่าวลือดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นในวันที่ 8 กรกฎาคม ก็มีการจับกุมรินดา ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวและมีเคยประวัติเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มนปช.มาก่อน รินดาถูกควบคุมตัวในค่ายทหารหนึ่งคืนจากนั้นเธอจึงถูกสงตัวไปตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รินดาถูกคุมขังในเรือนจำหนึ่งคืนเนื่องจากศาลทหารกรุงเทพไม่ให้ประกันตัวพร้อมให้เหตุผลว่าพฤติการณ์แห่งคดีนี้เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐและผู้ต้องหาอาจเป็นอุปสรรคหรือสร้างความเสียหายต่อการสืบสวน อย่างไรก็ตามในวันถัดมาเมื่อทนายของรินดายื่นเรื่องขอประกันตัวอีกครั้งศาลก็อนุญาต
 
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การคดี และมีคำสั่งว่าข้อความตามฟ้องคดีนี้ นี้ไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่เป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ศาลทหารจึงสั่งจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบ  ในเวลาต่อมาตำรวจสั่งฟ้องคดีรินดาในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกครั้งหนึ่งต่อศาลอาญา คดีของรินดาจบลงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องรินดาทั้งสองชั้น โดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีข้อความใดที่ถึงขั้นจะมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน จนกระทั่งจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการทำงานของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อประเทศได้” 
 
ในวันที่ 3 ตุลาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปประชุมกับองค์การสหประชาชาติที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ศักดาหรือ “เซีย ไทยรัฐ” นักวาดการ์ตูนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐวาดภาพการ์ตูนล้อพล.อ.ประยุทธ์ทำนองว่า ในวันที่ไปแถลงต่อองค์การสหประชาชาติเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน แต่ในประเทศกลับเต็มไปด้วยปัญหาปัญหาสิทธิมนุษยชน เช่น การจับคนเห็นต่างไปปรับทัศนคติ หรือการร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะที่เอื้อให้ คสช. อยู่ในอำนาจต่อไป หลังเผยแพร่การ์ตูนดังกล่าวศักดาถูกเรียกเข้าค่ายเพื่อปรับทัศนคติในวันที่ 4 ตุลาคม 2558 หรือหลังวันเผยแพร่การ์ตูนดังกล่าวเพียงวันเดียว ศักดายอมรับว่าหลังถูกเรียกเข้าค่ายก็จำเป็นต้องปรับวิธีการทำงานไปพอสมควร    
 
เช้ามืดวันที่ 27 เมษายน 2559 เจ้าหน้าที่นำกำลังไปที่บ้านพักของประชาชนรวมแปดคนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดขอนแก่น และจับกุมทั้งแปดคนไปควบคุมยังสถานที่ไม่เปิดเผย ก่อนที่ในวันที่ 28 เมษายน ตำรวจจะนำตัวมาขออำนาจศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขัง โดยแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่กองบังคับการปราบปราม จากการที่บุคคลทั้งแปดเป็นแอดมินเฟซบุ๊กเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งมีเนื้อหาเสียดสีการเมือง ส่วนภาพที่เป็นมูลเหตุในการดำเนินคดีนี้ก็ไม่ได้เป็นภาพที่เพจนี้จัดทำขึ้นเอง แต่เป็นภาพที่ทางเพจแชร์มาจากเฟซบุ๊กของกลุ่ม ประชาธิปไตยศึกษา ซึ่งทำขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม “ลอยกระทงขับไล่(เผด็จการ)อัปมงคล”  ภาพดังกล่าวมีใบหน้าของพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรอยู่บนกระทงที่ลอยอยู่บนแม่น้ำ และมีข้อความ “ลอยกระทงขับไล่(เผด็จการ)อัปมงคล” และมีข้อความเขียนประชาสัมพันธ์กำหนดการของงาน การดำเนินคดีครั้งนี้เป็นการดำเนินคดีกับผู้แชร์ข้อมูล ไม่ใช่ผู้เผยแพร่ต้นฉบับและเป็นการดำเนินคดีภายหลังเหตุการณ์เกิดไปแล้วนานถึงห้าเดือน และใช้อำนาจพิเศษในการเข้าจับกุม ทั้งที่หากพิจารณาจากพฤติการแห่งคดียังไม่ใช่เรื่องร้ายแรงขนาดที่ต้องใช้อำนาจพิเศษที่มีขึ้นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของประเทศ
 
คดีของแปดแอดมินขณะนี้ยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ อยู่ในขั้นตอนของการสืบพยานโจทก์ปากแรกเท่านั้น ส่วนผู้ต้องหาทั้ง 8 คน เคยถูกคุมขังในเรือนจำตามหมายขังคดีนี้ถึง 12 วัน เนื่องจากศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาตประกันตัว แม้จะวางหลักประกันคนละ 100,000 ก่อนที่ในเดือนพฤษภาคมศาลจึงอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งแปดประกันตัว โดยตีราคาประกันสูงถึงคนละ 200,000 บาท  
 
ในเดือนสิงหาคม 2560 ประวิทย์ โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ (Khaosod English) ได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ว่า มีเจ้าหน้าที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษเขาว่า โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเข้าข่ายเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 รวมห้าข้อความ ซึ่งต่อมามีการแยกฟ้องเป็นสองคดี โดยหนึ่งในข้อความที่ถูกกล่าวหาคือโพสต์ที่เขาตั้งคำถามสี่ข้อถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แก่ l
 
1) เมื่อไหร่จะเลือกตั้งแบบเสรีและยุติธรรมจริงๆ แบบไม่เลื่อน?
2) เมื่อไหร่จะเลิกทำตัวเป็นเผด็จการที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนโดยที่ประชาชนมิได้ให้ฉันทานุมัติ?
3) เมื่อไหร่จะขอขมาประชาชนที่ไปยึดอำนาจเขามา?
4) เมื่อไหร่จะเลิกหลอกตนเองและผู้อื่นว่า ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ ?
 
ช่วงปลายปี 2560 ร.ท.หญิงสุณิสาหรือ “หมวดเจี๊ยบ” รองโฆษกพรรคเพื่อไทยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กวิจารณ์รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ทำนองว่า ล้มเหลวในการจัดการงบประมานจนเป็นเหตุให้นักร้องซึ่งน่าจะหมายถึง “ตูน บอดีแสลม” ต้องมาวิ่งระดมทุนให้โรงพยาบาล และวิจารณ์รัฐบาลกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่เดิน “เทใจให้เทพา” คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทำนองว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เปิดทำเนียบต้อนรับนักร้องที่วิ่งระดมทุนก่อสร้างโรงพยาบาล แต่กลับไม่ยอมมาพบผู้ชุมนุมที่เดือดร้อนจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทั้งยังสลายการชุมนุมของประชาชนกลุ่มดังกล่าว 
 
จากกรณีนี้ คสช. ได้มอบหมายให้พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นคดีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  
 
ในเดือนพฤษภาคม 2561 กลุ่มศิลปินพังค์จัดคอนเสิร์ต “จะสี่ปีละนะไอ้สัตว์” ในโอกาสที่กำลังจะครบรอบสี่ปีการรัฐประหาร การจัดคอนเสิร์ตครั้งนั้นดำเนินไปภายใต้การจับจ้องของเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ระหว่างที่คอนเสิร์ตดำเนินไปเจ้าหน้าที่ขอพูดคุยกับผู้จัดงานหลายครั้งเพื่อแสดงความกังวลถึงเนื้อหาของเพลงที่มีการจัดแสดง เมื่อคอนเสิร์ตเดินมาถึงช่วงท้าย วง Blood Soaked Street Of Social Decay เล่นเพลงที่มีเนื้อหาเป็นการโจมตีพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรแบบตรงๆ ด้วยเนื้อหาที่เผ็ดร้อน เจ้าหน้าที่ก็ประสานกับผู้จัดเพื่อเชิญตัวนักดนตรีวงดังกล่าวไปที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ระหว่างที่ถูกควบคุมตัว มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ขอตรวจปัสวะนักดนตรีกลุ่มดังกล่าว ซึ่งพวกเขาตอบเจ้าหน้าที่ว่ายินดีเข้าสู่กระบวนการแต่ขอให้รอทนายความมาถึงก่อน ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่จึงเพียงแต่ซักประวัติและปล่อยตัวพวกเขากลับบ้านไปโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ 
 
ประยุทธ์ยังมีเครื่องมือใช้ “ปิดปาก” อีกมาก แม้ไร้ “ม.44” 
 
หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ไม่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับการลงคะแนนโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กับสมาชิกวุฒิสภา ที่แต่งตั้งมาเอง ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยได้หรือไม่ สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ อำนาจพิเศษ “มาตรา44” จะไม่อยู่ในมือเช่นเคยแล้ว อย่างไรก็ดี หากพล.อ.ประยุทธ์ยังคงไว้ซึ่งทัศนคติเช่นเดิม มองผู้ที่ออกมาชุมนุมในฐานะ “พวกก่อความวุ่นวาย” และไม่พยายามแก้ปัญหาให้ประชาชนตามข้อเรียกร้อง ก็ยังมีกฎหมายอีกมากมายหลายฉบับ ทั้งที่ออกมาเองในยุคของ คสช. และที่มีอยู่ก่อนให้เลือกหยิบยกมาใช้จัดการกับผู้เห็นต่างได้ ตัวอย่างเช่น  
 
ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่เคยนำมาใช้ดำเนินคดีกับบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ บุคคลอื่นๆ ใน คสช. และรัฐบาลชุดนี้ หรือออกมาชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารหรือเรียกร้องการเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 91 คน 
 
ข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(2) ที่กำหนดความผิดไว้อย่างกว้างๆ ต่อผู้นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน ซึ่งนับจากการแก้ไขมาตรานี้ในปี 2560 มีบุคคลอย่างน้อย 51 คนที่ถูกดำเนินคดีในลักษณะ “ปิดปาก” จากการวิจารณ์  ซึ่งในจำนวนดังกล่าวก็มีทั้งกรณีที่เป็นการวิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง หรือกล่าวถึงบุคคลใกล้ชิด เช่น ชาญวิทย์ เกษตรสิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการแชร์ภาพพร้อมข้อความเกี่ยวกับกระเป๋าของภรรยาของพล.อ.ประยุทธ์ หรือกรณีของไทกร พลสุวรรณ ที่โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า พระสงฆ์กว่า 300,000 รูปคว่ำบาตรพล.อ.ประยุทธ์ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นหลังการยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ทั้งในฐานะเครื่องมือที่ใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม และในฐานะเครื่องมือที่ใช้ลดทอนทำให้การชุมนุมต้องยากลำบาก เช่น การกำหนดรัศมีห้ามชุมนุมใกล้เขตพระราชฐาน 150 เมตร ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถชุมนุมใกล้ๆ สถานที่ราชการ ซึ่งเป็นผู็มีส่วนรับผิดชอบกับปัญหาของตัวเองเพราะสถานที่ราชการเหล่านั้นอยู่ในรัศมีห้ามชุมนุมของเขตพระราชฐาน เช่น กรณีการชุมนุมคัดค้านการพิจารณากฎหมายของสนช.ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ต้องย้ายไปชุมนุมบริเวณวัดเบญจมบพิตร แทนการชุมนุมหน้ารัฐสภา รวมทั้งการห้ามเดินขบวนก่อนได้รับอนุญาต ห้ามใช้เครื่องขยายเสียงก่อนได้รับอนุญาตด้วย โดยนับตั้งแต่มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายนี้ไปแล้วอย่างน้อย 191 คน