ธันวาคม 2558: กดไลค์ แชร์ผัง นั่งรถไฟ คนไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด

ช่วงเวลา ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร – 
31-ธันวาคม
2558
ยอดรวมเฉพาะเดือนธันวาคม 
2558
คนถูกเรียกรายงานตัว 829 43
คนถูกจับกุมคุมขัง
จากการชุมนุมโดยสงบ
214 2
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร 155 3
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน 47
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท
พระมหากษัตริย์ฯ (ม.112)
62 4
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว
และที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี 
ในเดือนธันวาคม 2558
50

ความเคลื่อนไหวคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

คดีป่วน Bike for Dad ยุ่ง ทนาย-ทหารผลัดกันแจ้งความ จับผิดตัว ฝากขังเพิ่มอีกราย

 
เดือนสุดท้ายของปี 2558 สถานการณ์คดี 112 ยังคงเข้มข้นต่อเนื่องจากปลายเดือนพฤศจิกายน ที่มีการออกหมายจับ 9 ผู้ต้องหาวางแผนป่วนกิจกรรม Bike for Dad (ดูรายละเอียดคดีในฐานข้อมูลคดี ที่นี่) หลังผู้ต้องหารายหนึ่งมอบอำนาจให้ทนายแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบคดีนี้ทั้งหมด ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ทำให้เสียชื่อเสียง เนื่องจากกล่าวหาว่าตนทำความผิดทั้งที่ยังถูกควบคุมตัวในเรือนจำด้วยคดีอื่น
 
หลังการแจ้งความมีเจ้าหน้าที่เข้ามาพุดคุยกับตัวผู้ต้องหาและทนายจนทั้งสองรู้สึกว่าถูกคุกคามก่อนจะมีการเจรจากันเพื่อถอนแจ้งความ หลังจากนั้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2558 พล.ต.วิจารณ์ จดแตง และ พล.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ก็เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับทนายความ ในข้อหาแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา  
 
ในวันที่ 1 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่นำตัวฉัตรชัย หนึ่งในเก้าผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ กลับมาส่งที่บ้าน หลังจับกุมตัวไปตั้งแต่ 29 พฤศจิกายน พร้อมกับแจ้งญาติของเขาว่าเป็นการจับผิดตัว แต่ได้ทำการจับกุม ฉัตรชนก น้องชายฝาแฝดของฉัตรชัยไปแทน  ฉัตรชนกได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 8 ธันวาคม 2558 แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียดเหตุการณ์ระหว่างถูกควบคุมตัว 
 
ในวันที่ 4 ธันวาคม 2558 วีรชัย ผู้ต้องหาตามหมายจับอีกคนหนึ่ง ติดต่อขอมอบตัวที่ค่ายเปรมติณสูลานนท์ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และถูกควบคุมตัวมาขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังครั้งที่ 1 ในวันที่ 6 ธันวาคม  
 

กดไลค์-โพสต์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง ถูกตีความให้ผิดมาตรา 112

 
14 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวฐนกร ลูกจ้างบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่ง มาขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขัง โดยคำร้องขอฝากขังระบุว่า ฐนกรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 และมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยมี พฤติการณ์ คือ
 
1. กดถูกใจภาพที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯบนเฟซบุ๊กของบุคคลอื่นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2558 2. คัดลอกภาพที่มีข้อความประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงจำนวนจากทวิตเตอร์ มาโพสต์บนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2558 3. คัดลอกภาพ ‘เปิดปมทุจริตอุทยานราชภักดิ์’ จากทวิตเตอร์ แล้วเผยแพร่ไปบนเฟซบุ๊กเพจ ‘สถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ’ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 
 
ฐนกรถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2558 โดยระหว่างวันที่ 9-14 ธันวาคม ญาติและทนายความไม่ทราบว่าฐนกรถูกควบคุมตัวไว้ที่ใด  

จับผู้ต้องหาปลอมเฟซบุ๊กเพื่อนโพสต์หมิ่นสถาบัน

 
24 ธันวาคม 2558 พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นำตัว วิชัย มาขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังผลัดแรก โดยผู้ต้องหาไม่ขอประกันตัวเพราะไม่มีหลักทรัพย์
 
วิชัยถูกควบคุมตัวจากลานจอดรถของหอพักแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 326, 328 (หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่า ปลอมเฟซบุ๊กของบุคคลคนและโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์บนเฟซบุ๊กปลอมนั้นเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลอื่น
 
นับจากการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงเดือนธันวาคม 2558 มีผู้ถูกจับกุม ตั้งข้อหา และดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแสดงออกด้วยวิธีการต่างๆ อย่างน้อย 62 คน คลิกที่นี่เพื่อดูตารางคนถูกตั้งข้อหาทั้งหมด   
 

พิพากษาจำคุก 6 ปี หนุ่มใหญ่แจกใบปลิว

 
1 ธันวาคม 2558 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดอ่านคำพิพากษาคดีของชาญวิทย์ (ดูรายละเอียดคดี ที่นี่)นักกิจกรรมวัย 60 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแจกใบปลิวที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในงานชุมนุมที่ท่าน้ำนนท์ หลังการสืบพยาน ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ให้จำคุก 6 ปี  
 
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าข้อความในใบปลิวพาดพึงถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และสมเด็จพระเทพ มาแยกฟ้องเป็นความผิด 4 กรรม ชาญวิทย์ให้การปฏิเสธและขอให้ศาลวินิจฉัยด้วยว่า สมเด็จพระเทพเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองโดยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในคำพิพากษา ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียว มิใช่การกระทำ 4 กรรม ดังโจทก์ฟ้อง และจึงไม่วินิจฉัยประเด็นสมเด็จพระเทพตามที่จำเลยขอ    
 

คดีเครือข่ายบรรพตยังไม่จบ ‘เหน่ง จั๋งหนับ’ จำคุก 8 ปี อีก 2 รายรอชี้ขาดเขตอำนาจศาล

 
28 ธันวาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุก 8 ปี ธนิตศักดิ์ หรือ ‘เหน่ง จั๋งหนับ’ (ดูรายละเอียดคดี ที่นี่) อดีตผู้ช่วยช่างภาพของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับหัสดินหรือ ‘บรรพต’ ผลิตคลิปเสียงที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ธนิตศักดิ์ให้การรับสารภาพ ศาลลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 4 ปี 
 
ในวันเดียวกัน ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การคดี “ทวีสิน”-“ขวัญใจ” ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเครือข่ายบรรพต (ดูรายละเอียดคดีเครือข่ายบรรพต ที่นี่) ที่ประสงค์จะต่อสู้คดี ในนัดนี้จำเลยแถลงคัดค้านเขตอำนาจศาลทหาร เนื่องจากการกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นก่อนมีคำสั่ง คสช.ให้คดีมาตรา 112 ขึ้นศาลทหาร ศาลทหารจึงสั่งให้อัยการทำความเห็นส่งศาลภายใน 15 วัน เพื่อที่ศาลจะได้ทำความเห็นส่งศาลอาญาต่อไป และสั่งระงับการพิจารณาคดีชั่วคราวจนกว่าจะได้ข้อยุติเรื่องเขตอำนาจศาล 
 

คดีแอบอ้างฯ กับแนวโน้มการตีความกฎหมายแบบขยายความ 

 
21 ธันวาคม 2558 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดสอบคำให้การคดีอัษฎาภรณ์ กับพวกรวม 4 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการร่วมกันปลอมเอกสารของกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แล้วนำไปแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จ.กำแพงเพชร และผู้เสียหายอีกหลายคน พร้อมอ้างว่าสามารถทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาร่วมพิธีของวัดได้ ทั้งยังอ้างตนเป็นหม่อมหลวง และเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ 
 
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาตามฟ้องโจทก์ โดยจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ในประเด็นสถานะของสมเด็จพระเทพฯ ว่าเป็นผู้ที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ โดยระบุถึงหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความโดยเคร่งครัด และหลัก “ไม่มีความผิด และไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” และขอให้ศาลยกฟ้องจำเลยในความผิดนี้ แต่ศาลให้ยกคำร้อง และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559
 
นับตั้งแต่การรัฐประหาร พฤษภาคม 2557 จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2558 มีผู้ถูกจับกุม ตั้งข้อหา และดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบัน อย่างน้อย 37 คน (ดูตารางการตั้งข้อหาคดีแอบอ้าง ที่นี่)   
 

สถานการณ์การตั้งข้อหาตามมาตรา 116, ชุมนุมเกิน 5 คน และ คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 

‘อุทยานราชภักดิ์’ ประเด็นอ่อนไหวของ คสช.

 
7 ธันวาคม 2558 กลุ่มประชาธิปไตยศึกษาจัดกิจกรรม ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’  แต่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสกัดกั้นที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง แล้วควบคุมตัวผู้จัดและผู้ร่วมกิจกรรมรวม 36 คนไปที่กองบัญชาการชั่วคราวในพุทธมณฑล โดยขอให้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วนปฏิเสธ ต่อมาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำวันเดียวกัน
 
[[wysiwyg_imageupload:379:]]
รถไฟที่นักกิจกรรมโดยสารไปอุทยานราชภักดิ์ ถูกที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
8 ธันวาคม 2558  ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา นำโดย ‘นิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ จัดแถลงข่าว กรณีถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าควบคุมตัวสิรวิชญ์และห้ามแถลงข่าว หลังการเจรจา เจ้าหน้าที่ยอมให้สิรวิชญ์ให้สัมภาษณ์สื่อราว 20 นาที ก่อนจะขอให้ยุติการสัมภาษณ์
 
10 ธันวาคม 2558 เวลา 09.30 น. เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเป็นทหาร 3 นายและตำรวจ 1 นาย เดินทางไปที่บ้านของฉัตรมงคลหรือบอส ก่อนคุมตัวเขาขึ้นรถออกจากบ้าน และแจ้งแม่ของเขาว่าขอนำตัวไปคุยแล้วจะนำกลับมาส่ง 
 
แม่ของฉัตรมงคลเปิดเผยว่า ลูกชายเคยถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่หน่วยทหารชั่วคราวในเขตบางมดหลายรอบ โดยเจ้าหน้าที่กำหนดให้เขาต้องไปรายงานตัวเป็นประจำและสั่งไม่ให้ร่วมกิจกรรมทางการเมือง แต่เมื่อมีกิจกรรมตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ฉัตรมงคลก็ไปเข้าร่วมและไม่ได้ไปรายงานตัว ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการคุมตัวครั้งนี้
 
จากนั้นประมาณ 14.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวฉัตรมงคลมาส่งที่บ้าน โดยแจ้งว่าพาไปทานข้าวร่วมกันเท่านั้น เนื่องจากเขาไม่ได้ไปรายงานตัวตามกำหนด 
 
บ่ายวันเดียวกัน กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ก็จัดการอ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่ามกลางการเฝ้าสังเกตการณ์ของตำรวจนอกเครื่องแบบ  
 
11 ธันวาคม 2558  พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ เข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.รถไฟธนบุรี ให้ดำเนินคดีกับ 11 นักกิจกรรมส่องกลโกงราชภักดิ์ ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ด้วยการชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งต่อมาทั้ง 11 คน ถูกออกหมายเรียก
 
นอกจากการออกหมายเรียกหรือดำเนินคดีผู้ที่ร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์แล้ว ผู้ที่โพสต์หรือแชร์ภาพเกี่ยวกับการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ก็ถูกดำเนินคดีเช่นกัน  
 
1 ธันวาคม 2558 เวลาประมาณ 10.30 น. ตำรวจสน.พระโขนงนำตัวจุฑาทิพย์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ไปฝากขังที่ศาลทหารในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลให้ฝากขังและให้ประกันตัวด้วยเงินสด 100,000 บาท  
 
8 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวฐนกร  ลูกจ้างบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่งจากที่ทำงาน เพราะเชื่อว่า เขาเป็นผู้คัดลอกภาพ ‘เปิดปมทุจริตอุทยานราชภักดิ์’ จากทวิตเตอร์ ไปเผยแพร่บนเฟซบุ๊กเพจ ‘สถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ’ ฐนกรถูกควบคุมตัวในสถานที่ปิดลับนับจากถูกควบคุมตัวจนถึง 14 ธันวาคม ก่อนจะถูกนำตัวมาฝากขังต่อศาลทหารด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 112 กับเขาด้วย จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม ฐนกรถูกฝากขังและไม่ได้รับการประกันตัว     
 
13 ธันวาคม 2558 ธเนตร (ดูรายละเอียดคดี ที่นี่)หนุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และนักกิจกรรมทางสังคม  ที่ร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์  ถูกควบคุมตัวที่โรงพยาบาลสิรินธรระหว่างทำการรักษาตัว และถูกนำตัวไปกักไว้ในสถานที่ปิดลับ ก่อนจะถูกนำตัวมาแถลงข่าวและฝากขังต่อศาลทหารในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะเผยแพร่ภาพเกี่ยวกับการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จนรัฐบาลและกองทัพได้รับความเสียหาย
 
[[wysiwyg_imageupload:381:]]

 

ธเนตรขณะถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลทหาร

 

โพสต์ข่าวลือรัฐประหารซ้อน ถูกพิพากษาแบบไม่ทันตั้งตัว

 
ไม่เพียงกรณีอุทยานราชภักดิ์เท่านั้นที่เป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับคสช. เพราะการโพสต์ข่าวลืออื่นๆ เกี่ยวกับรัฐบาล ก็นำไปสู่การถูกตั้งข้อหาและจับกุมคุมขังได้เช่นกัน ดังกรณีของ ชญาภาที่โพสต์ข่าวลือการรัฐประหารซ้อน (ดูรายละเอียดคดี ที่นี่)ซึ่งทำให้เธอถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และมีการขยายผลไปดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความอื่นด้วย
 
คดีของชญาภาน่าสนใจตรงที่ จำเลยพึ่งได้รับการแจ้งนัดในคืนวันที่ 14 ธันวาคม ขณะที่ศาลทหาร นัดสอบคำให้การวันที่ 15 ธันวาคม ส่วนทนายของชญาภาก็ไม่ได้รับหมายนัด ชญาภาจึงรับสารภาพโดยไม่ได้ปรึกษากับทนาย และไม่มีทนายอยู่ด้วยในการสอบคำให้การ หลังชญาภารับสารภาพ ศาลพิพากษาจำคุกรวม 14 ปี 60 เดือน ก่อนลดโทษเหลือ 7 ปี 30 เดือน เพราะชญาภารับสารภาพ เนื่องจากการกระทำตามข้อกล่าวหาของคดีนี้เกิดหลังยกเลิกกฎอัยการศึก จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คดีต่อศาลทหาร ซึ่งทนายจำเลยมีแผนจะอุทธรณ์คดีต่อไป     
 

เริ่มมีความหวัง? ศาลทหารชี้คดีรินดาไม่เข้าข่ายยุยงปลุกปั่น

 
21 ธันวาคม 2558 ศาลทหารนัดรินดา (ดูรายละเอียดคดี ที่นี่) จำเลยคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข่าวลือเรื่องพล.อ.ประยุทธ โอนเงินไปต่างประเทศสอบคำให้การ
 
ก่อนถามคำให้การ ศาลบอกกับคู่ความว่า คดีนี้ไม่น่าเป็น คดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่เป็นคดีหมิ่นประมาท ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาและจะส่งสำนวนให้ศาลยุติธรรมต่อไป 
 
อย่างไรก็ตาม อัยการทหารคัดค้านว่าเป็นคดีความมั่นคง และศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดี ศาลจึงสั่งให้อัยการทำความเห็นมาภายใน 15 วัน เพื่อศาลจะทำความเห็นส่งศาลยุติธรรมต่อไปโดยระหว่างนี้ให้ระงับกระบวนพิจารณาคดีไว้ก่อน 
 

ความเคลื่อนไหวกรณีถูกเรียกรายงานตัวและส่งทหารเยี่ยมบ้าน

 
14 ธันวาคม 2558 พล.ต.อชิร์ฉัตร โรจนะภิรมย์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 สั่งให้เชิญตัว สมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย มาปรับทัศนคติที่ค่ายสรรพสิทธิประสงค์วารินชำราบ ในจ.อุบลราชธานี หลังโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ อยากได้จำนำข้าวเหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยสมคิดยินยอมที่จะลบข้อความดังกล่าว และได้ลงนามในข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย  
 
17 ธันวาคม 2558 ภรรยาของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่ทหาร  4 นาย ขับรถฮัมวี่่มาจอดหน้าบ้าน และขอพบธเนศ แต่ตนตอบไปว่าสามีไม่อยู่บ้าน เจ้าหน้าที่ขอถ่ายรูปบริเวณหน้าบ้านพร้อมแจ้งว่าจะมาทุกวันที่ 15 ของเดือนและให้บอกธเนศว่าหากจะไปต่างประเทศต้องขออนุญาตคสช.ก่อน เจ้าหน้าที่ยังปฏิเสธที่จะบอกสังกัดด้วย
18 ธันวาคม 2558 จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน โพสต์รูปพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ทหารมาที่บ้านและถ่ายรูปกับพ่อของตน
 
19 ธันวาคม 2558 วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น โพสต์รูปพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า  ทหารไปถ่ายรูปที่บ้านในจ.ลำปาง และแจ้งภรรยาของตนว่านายสั่งให้มาตามตัว โดยก่อนหน้านี้วีระไปยื่นหนังสือร้องเรียน ขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริงอุทยานราชภักดิ์ 
ในเดือนธันวาคม 2558 มีบุคคลถูกเรียกรายงานตัวหรือถูกทหารเยี่ยมบ้านอย่างน้อย 43 คน รวมเป็นจำนวน 829 คน นับจากการรัฐประหาร พฤษภาคม 2557 
 

สถานการณ์เสรีภาพสื่อ ในยามที่สื่อไม่ค่อยมีเสรีภาพ

 

ถอดข่าวจากหนังสือพิมพ์ New York Times ครั้งที่ 4

 
15 ธันวาคม 2558  บริษัทอีสเทิร์น พรินติ้ง ผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ เดอะ อินเตอร์เนชั่นแนล นิวยอร์กไทมส์ ในประเทศไทย ถอดรายงานการควบคุมตัวฐนกร ผู้ถูกสงสัยว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ด้วยการกล่าวเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงและกดไลค์โพสต์ที่น่าจะผิดกฎหมาย ออกจากหน้าแรกและหน้า Asia ของฉบับวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2558 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 3 เดือนที่มีการถอดข่าวออกจากหน้าหนังสือพิมพ์ดังกล่าว (ดูรายละเอียดการถอดข่าวครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 3    
 

ยอมให้ FCCT จัดเสวนา แต่ทหารขอเข้าฟังด้วย

 
16 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย  เพื่อเจรจากับทางสมาคม กรณีที่มีกำหนดจัดเสวนาเรื่องเสรีภาพทางวิชาการภายใต้รัฐบาลทหาร ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน โดยเจ้าหน้าที่อนุญาตให้จัดงานได้ แต่ขอส่งเจ้าหน้าที่ทหารเข้าร่วมฟังการเสวนาด้วย 
 

ฎีกายืนจำคุก 8 เดือน ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท

 
23 ธันวาคม 2558  ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จีรนุช ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท (ดูรายละเอียดคดี ที่นี่) มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 ในฐานะผู้ให้บริการที่จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้ข้อความซึ่งเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ปรากฏบนเว็บบอร์ดของตน โดยให้ลงโทษจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี
 
โดยศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยยังไม่ระมัดระวังมากพอดังที่อ้างในคำฎีกา เพราะจำเลยไม่ส่งข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ให้แก่เจ้าหน้าที่ทันทีหลังได้รับแจ้งเตือนเกี่ยวกับกระทู้หรือความเห็นที่ผิดกฎหมาย จำเลยยังลบข้อมูลเหล่านั้นเมื่อครบกำหนด 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้
 

บริษัททุ่งคำฟ้องหมิ่นประมาทนักเรียน ม.4

 
22 ธันวาคม 2558  ญาติของนักข่าวพลเมืองที่เป็นเยาวชน ได้รับหมายเรียกซึ่งออกในวันที่ 14 ธันวาคม ระบุให้นักข่าวพลเมืองซึ่งถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทบริษัททุ่งคำ ไปที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 เวลา 10.00 น. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่จากสน. มีนบุรีก็ให้ข่าวว่า จะเลื่อนการนัดรายงานตัวผู้ต้องหาออกไปก่อน เพราะเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังช่วงปีใหม่ ก่อนจะสรุปสำนวนว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่
 
สำหรับเหตุแห่งการแจ้งความดำเนินคดีเยาวชนนักข่าวพลเมืองครั้งนี้ น่าจะมาจากการรายงานข่าวในรายการนักข่าวพลเมือง ตอน ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ซึ่งออกอากาศทางช่อง ThaiPBS เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 เพราะเนื้อหาของรายการพูดถึงผลกระทบของการทำเหมืองแร่ทองคำใน อ.วังสะพุง จ.เลย
 

‘Insects in the Backyard’ รอมา 5 ปีก็ยังไม่ได้ฉาย 

 
25 ธันวาคม 2558 ศาลปกครองพิพากษายกฟ้อง กรณีธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับและนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (ดูรายละเอียดการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ที่นี่)โดยศาลเห็นว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวปรากฎภาพการสอดใส่อภัยเพศอยู่ 3 วินาที จึงเข้าข่ายที่จะถูกห้ามฉาย อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของเรื่องไม่ได้มุ่งปลุกกามารมณ์ หากตัดฉากดังกล่าวก็สามารถฉายได้
 

สถานการณ์เสรีภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจ

 

สั่งฟ้องกลุ่มชูป้ายต้านรัฐประหารที่ท่าน้ำนนท์ 

 
21 ธันวาคม 2558  พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจอำเภอเมืองนนทบุรี มีความเห็นสั่งฟ้องไชยวัฒน์ และพวกอีก 3 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จากการชูป้ายคัดค้านรัฐประหารที่ท่าน้ำนนท์ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 (ดูรายละเอียดคดี ที่นี่
 

คดีแถลงการณ์ ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ เหลือผู้ต้องหา 2 คน

 
24 ธันวาคม 2558  อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ดูรายละเอียดคดี ที่นี่)เดินทางเข้ายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวน ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก หลังทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวโทษในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปซึ่งขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่3/2558  หลังร่วมกับกลุ่มนักวิชาการในนาม ‘เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย’ อ่านแถลงการณ์ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558
 
อรรถจักรเปิดเผยหลังพบพนักงานสอบสวนว่า คดีนี้เหลือผู้ต้องหาเพียง 2 คน เพราะนักวิชาการอีก 6 คนได้เดินทางเข้าพูดคุยกับผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ภายในค่ายกาวิละ และเซ็นข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว