เลือกตั้ง 62: ย้อนตำนาน “งูเห่า” การเมืองไทย กับความเป็นไปได้ของงูเห่าภาค 3 เมื่อสภาเสียงปริ่มน้ำ

ชาวนากับงูเห่า เป็นหนึ่งในนิทานของอีสป กวีชาวกรีกที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวนาที่ช่วยเหลืองูเห่าที่กำลังจะแข็งตายเพราะอากาศหนาว แต่ปรากฎว่าเมื่อได้รับการช่วยเหลือจนฟื้นกำลังงูก็กัดชาวนาจนถึงแก่ความตาย นิทานของอีสปถูกนำมาใช้เป็นคติสอนใจเรื่องการทำประโยชน์กับคนไม่ดีซึ่งท้ายที่สุดผู้ให้ความช่วยเหลือจะเป็นคนเดือดร้อนเสียเอง 

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คำว่า “งูเห่า” ถูกนำมาใช้เรียกขานส.ส.ที่ฝืนมติพรรคไปยกมือสนับสนุนบุคคลที่อยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี โดยผู้ที่นำคำว่า “งูเห่า” มาใช้เรียกขานปรากฎการณ์ทางการเมืองครั้งแรกคือสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 และอดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทย

งูเห่าภาคแรก: วัฒนา อัศวเหม แหกมติพรรคประชากรไทยชู ‘ชวน’ เป็นนายก

ในเดือนพฤศจิกายน 2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศลาออกหลังมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทจนส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง หลังการลาออกของพล.อ.ชวลิต ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นต่างพยายามรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่ฝ่ายตัวเองสนับสนุน 

พรรครัฐบาลในขณะนั้นซึ่งประกอบด้วยพรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคประชากรไทย และพรรคมวลชน มีมติจะสนับสนุนพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป  ขณะที่ พรรคฝ่ายค้านเดิม นำโดย พรรคประชาธิปัตย์  พรรคชาติไทย พรรคเอกภาพ  พรรคพลังธรรม พรรคไท และอดีตร่วมรัฐบาลสมัย พล.อ.ชวลิตอีกสองพรรค ได้แก่ พรรคกิจสังคม และ พรรคเสรีธรรม ก็พยายามรวบรวมเสียงเพื่อสนับสนุน ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเป็นนายกรัฐมนตรี 

ณ เวลานั้น พรรคร่วมรัฐบาลสามารถรวบรวมเสียงเบื้องต้นได้ 197 เสียงขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคพันธมิตรที่หนุนชวน หลีกภัยเป็นนายกสามารถรวบรวมเสียงเบื้องต้นได้ 196 เสียงซึ่งน้อยกว่าพรรครัฐบาลเดิมเพียงเสียงเดียว พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นไปชักชวนส.ส.พรรคประชากรไทยกลุ่มของวัฒนา อัศวเหม จำนวน 13 คนให้ยกมือสนับสนุนชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่มติของพรรคประชากรไทย พรรคต้นสังกัดของส.ส.กลุ่มนี้มีมติสนับสนุนพล.อ.ชาติชาย การย้ายข้างของส.ส.กลุ่มนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคที่สนับสนุน ชวน หลีกภัย รวบรวมเสียงได้ 209 เสียง มากกว่าพรรครัฐบาลเดิมและดันให้ชวน หลีกภัยเป็นนายกได้สำเร็จ 

สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยต้นสังกัดของวัฒนาและส.ส.กลุ่มปากน้ำ พูดถึงกรณีการยกมือสนับสนุนชวน หลีกภัย ของลูกพรรคว่า  ตัวเขาเป็นเหมือนชาวนาในนิทาน”ชาวนากับงูเห่า” เพราะเก็บงูที่กำลังจะหนาวตายมาไว้ในอกเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่นแต่กลับถูกกัดตาย โดยไทยรัฐออนไลน์ตั้งข้อสังเกตว่าสมัครน่าจะเปรียบเทียบตัวเองในลักษณะดังกล่าวเพราะส.ส. กลุ่มของวัฒนา อัศวเหม เดิมเคยสังกัดพรรคชาติไทย แต่ต่อมามีปัญหากับบรรหาร ศิลปอาชา จนถึงต้องออกจากพรรคแล้วได้มาสังกัดพรรคประชากรไทย แต่ต่อมากลับมาลงคะแนนเลือกชวน หลีกภัยซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดมติพรรค 

การที่สมัครใช้คำว่า “งูเห่า” เรียกส.ส.กลุ่มของวัฒนาได้กลายเป็นคำเรียกที่สื่อในสมัยนั้นใช้เรียกส.ส.กลุ่มเหล่านั้นต่อมา หลังเกิดเหตุการณ์ยกมือขัดมติพรรค ส.ส.กลุ่มของวัฒนาถูกขับออกจากพรรคประชากรไทย และมีส.ส.ในกลุ่มสี่คนที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีของชวน หลีกภัย ได้แก่ วัฒนา อัศวเหม ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประกอบ สังข์โต เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมและ ยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

งูเห่าภาค 2 : กลุ่มเพื่อนเนวินซบภูมิใจไทยหนุนมาร์คเป็นนายก

เหตุการณ์ยกมือเลือกนายกแบบย้ายข้างเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2551 เมื่อส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินที่แยกตัวไปสนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายค้านในขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดเป็นตำนาน “งูเห่า” ภาค 2 

วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย จากกรณีที่มีการกล่าวหาว่ายงยุทธ ติยะไพรัช จากพรรคพลังประชาชน มณเฑียร สงฆ์ประชา จากพรรคชาติไทย และสุนทร วิลาวัลย์ จากพรรคมัชฌิมาธิปไตยทุจริตการเลือกตั้ง โดยที่ทั้งสามมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองทั้งสามและสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งสามพรรคเป็นเวลา 5 ปี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ซึ่งเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนอยู่ในขณะนั้นก็พ้นจากตำแหน่ง 

ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบส่วนหนึ่งย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองที่ก่อตั้งใหม่ในช่วงเดือนกันยายน 2551 ขณะที่ส.ส.ของอดีตพรรคพลังประชาชนกลุ่มเพื่อนเนวิน เช่น บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ และ ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ไม่ได้ย้ายตามมาพรรคเพื่อไทยแต่ไปร่วมกับพรรคภูมิใจไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2551 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ โดยมีวาระสำคัญคือการเลือกบุคคลดำรงตำแหน่บงนายกรัฐมนตรีแทนสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะพรรคพลังประชาชนถูกยุบและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง พรรคเพื่อไทยซึ่งประกอบด้วยส.ส.ที่มาจากพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบสนับสนุน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์สนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและอดีตผู้นำฝ่ายค้านเป็นนายกรัฐมนตรี  

สำหรับการรวบรวมเสียงในขณะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ติดต่อสี่พรรคร่วมรัฐบาลเดิม คือ พรรคชาติไทย สมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดินบางส่วน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ในการสนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคเพื่อไทยพยายามรวมเสียงกับส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินบางส่วนและพรรคประชาราชเพื่อสนับสนุนพล.ต.อ.ประชา พรหมนอกเป็นนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นไปทาบทามเนวิน ชิดชอบ ซึ่งแม้จะอยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีจากกรณีที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบในปี 2550 แต่ยังคงมีพวกพ้องที่เป็น ส.ส. ของอดีตพรรคพลังประชาชน 24 คน 

ให้ย้ายข้างมาสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกจนท้ายที่สุด พรรคประชาธิปัตย์รวบรวมเสียงได้ 235 เสียง ขณะที่พรรคเพื่อไทยและฝ่ายที่สนับสนุนพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รวบรวมเสียงสนับสนุนได้ 198 เสียง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้เป็นนายกและทำการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำขณะที่ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินเช่น บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ และ ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ที่ย้ายข้างมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้รับตำแหน่งในครม.อภิสิทธิ์ บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนประจักษ์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 

การย้ายข้างทางการเมืองอาจจะดูเป็นเรื่องปกติแต่เหตุที่การย้ายขั้วของส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินถูกเรียกขานว่าเป็นปรากฎการณ์ “งูเห่า” ภาค 2 น่าจะเป็นเพราะความสัมพันธ์ของเนวิน ชิดชอบ กับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นที่รับรู้ในทางสาธารณะว่ามีความเกี่ยวข้องกับทั้งพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย (ในสมัยอดีตพรรคพลังประชาชนหาเสียงเคยใช้คำขวัญ “ชอบสมัคร รักทักษิณ เลือกเบอร์ 12” ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองก็มีอดีตนักการเมืองคนสำคัญอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เคยร่วมงานกับอดีตนายกทักษิณตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยมาเป็นแกนนำในการลุยศึกเลือกตั้ง 62 รวมทั้งประกาศจะใช้นโยบายเศรษฐกิจของอดีตพรรคไทยรักไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ) มีความแนบแน่น ตามรายงานของ New TV เนวิน ชิดชอบเป็นผู้ที่สนับสนุนทักษิณมาตลอดตั้งแต่สมัยอยู่พรรคไทยรักไทย และในช่วงที่ทักษิณถูกยึดอำนาจเนวินก็ประกาศว่าจะสู้เพื่อทักษิณ New TV ยังอ้างด้วยว่าการจัดตั้งกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)  และกลุ่มคนรักทักษิณไม่เอาเผด็จการก็เป็นการผลักดันของเนวิน ชิดชอบ 

ในวันที่ 25 กันยายน 2550 เนวิน ชิดชอบ ยังเคยปราศรัยคัดค้านการยึดอำนาจของทหารรวมถึงพูดถึงอดีตนายกทักษิณในลักษณะปกป้องว่า

“1 ปี กับ 6 วันที่เราสูญเสียประชาธิปไตยให้กับเผด็จการ และยังสูญเสียนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งที่ประชาชนรักที่สุด วันนี้พิสูจน์แล้วว่าการรัฐประหารที่มีข้อกล่าวหามากมายนั้นใครชั่วและใครดี และพ.ต.ท.ทักษิณไม่ดีจริงๆ ประชาชนคงไม่คิดถึงขนาดนี้ 1 ปี 6 วันที่อยู่ใต้เผด็จการผมไม่เคยออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นเวลา 1 ปี 6 วัน ที่มีความหมายกับชีวิตการเมือง”  

สำหรับเหตุที่เนวินตัดสินใจย้ายข้าง สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์วิเคราะห์ไว้ว่าน่าจะเกิดจากกรณีที่หลังสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีเป็นพิธีกรจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ส่งสัญญาณให้ส.ส.พรรคพลังประชาชนไม่สนับสนุนสมัครเป็นนายกต่อเป็นสมัยที่สองก่อนจะไปผลักดันสมชาย วงศ์สวัสดิ์แทน 

โดยคอลัมน์พิเศษของผู้จัดการออนไลน์ที่เผยแพร่หลังอดีตนายกสมัคร สุนทรเวช เสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งตับเปิดเผยว่า ทักษิณติดต่อกับเนวินให้แจ้งส.ส.ในกลุ่มเพื่อนเนวินว่าให้ยกมือสนับสนุนสมัครเป็นนายกต่อ แต่เมื่อถึงวันที่ 12 กันยายน 2551 ซึ่งเป็นวันที่จะมีการประชุมสภาเพื่อเลือกนายกส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลกลับไม่มาร่วมประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบเปิดประชุมไม่ได้ หลังจากนั้นในวันที่ 17 กันยายน 2551 พรรคพลังประชาชนก็เสนอชื่อสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นนายกคนต่อมา 

ไทยรัฐออนไลน์วิเคราะห์ต่อไปว่าการไม่สนับสนุนสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เนวินรู้สึกเหมือนถูกหลอกใช้และต่อมาเมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ก็มีข่าวลือว่า “กลุ่มวังบัวบาน” ของเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของทักษิณและภริยาของอดีตนายกสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะคัดกรองไม่ให้ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินบางส่วนมาสังกัดพรรคเพื่อไทย ทำให้ท้ายที่สุดส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินจึงไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย และย้ายมาสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกแทนพล.ต.อ.ประชา พรมนอก ในที่สุด ซึ่งเนวินเองเคยพูดถึงการสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกว่า “ผมยอม เสียเพื่อน เสียนาย เสียพรรค เพื่อร่วมงานกับ พรรคประชาธิปัตย์”   

เมื่อเสียง “ปริ่มน้ำ” งูเห่าอาจหวนคืน

ในการเลือกตั้ง หากพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งชนะด้วยเสียงข้างมากจนยากที่ขั้วตรงข้ามจะรวบรวมเสียงได้ใกล้เคียง ปัญหาเรื่อง “ส.ส.งู” หรือ ส.ส.ที่ไปโหวตเลือกนายกแบบสวนมติพรรคคงเกิดขึ้นได้ยากเพราะพรรคการเมืองที่ต้องการพลิกสถานการณ์ของตัวเองอาจไม่มีทรัพยาการมากพอที่จะไปต่อรองให้เกิดการย้ายข้างและแม้จะต่อรองให้ส.ส.ขั้วตรงข้ามย้ายข้างได้สำเร็จการรวมเสียงก็อาจไม่พอจะพลิกสถานการณ์ได้ ขณะเดียวกันตัวส.ส.ที่จะย้ายข้างเองก็แบกราคากับความรับผิดชอบกับฐานเสียงของตัวเองไว้ด้วย โดยเฉพาะกรณีที่ส.ส.คนดังกล่าวชนะการเลือกตั้งเพราะความนิยมของพรรคการเมืองที่ตัวเองสังกัด หากดูแล้วการย้ายข้างของตัวเองไม่สามารถพลิกสถานการณ์ให้พรรคที่เคยเป็นคู่แข่งของตัวเองได้ก็คงไม่คุ้มที่จะเอาคะแนนนิยมของตัวเองไปเสี่ยง  แต่หากคะแนนเสียงของพรรคการเมืองที่เป็นขั้วต่างกันไม่มากระดับ 10 – 20 เสียง การย้ายข้างของส.ส.ก็อาจเกิดขึ้นไม่ยากนักเพราะจำนวนส.ส.ที่ต้องชักชวนให้ย้ายข้างลดลงขณะที่ตัวส.ส.เองก็อาจมองเห็นความเป็นไปได้ที่เมื่อย้ายข้างไปแล้วอีกฝ่ายตั้งรัฐบาลได้สำเร็จตัวเองก็จะได้รับการปูนบำเน็จอย่างงาม

สำหรับการเลือกตั้ง 2562 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีพรรคการเมือง 6 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ  พรรคอนาคตใหม่ พรรคพลังปวงชนไทย ที่ประกาศร่วมกันว่าจะจัดตั้งรัฐบาลและต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. โดยที่ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลานี้ พรรคเพื่อไทยน่าจะได้ส.ส. 137 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 87 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 11 เสียง พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง พรรคประชาชาติ 6 เสียง และพรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง รวมกันได้ 247 เสียง ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มี 500 หากพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่ได้มาร่วมกันแถลงข่าวกับอีก 6 พรรค ทั้งนี้หัวหน้าพรรคเคยประกาศตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจและให้สัมภาษณ์ยืนยันคำพูดตัวเองหลังการเลือกตั้ง ตัดสินใจมาร่วมกับพรรคเพื่อไทยและอีกห้าพรรคที่เหลือ พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรก็จะมีเสียงเพิ่มอีก 6 เสียง รวมเป็น 253 เสียงซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับพรรคการเมืองที่ประกาศชัดเจนว่าเป็นขั้วตรงข้ามพรรคเพื่อไทยและจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อในเวลานี้มีพรรคพลังประชารัฐซึ่งตามผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการน่าจะได้ส.ส. 118 เสียง กับพรรครวมพลังประชาชาติไทยซึ่งน่าจะได้ส.ส. 5 เสียงรวมเป็น 123 เสียง ขณะที่พรรคการเมืองอีกสองพรรค อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่น่าจะได้ส.ส. 54 เสียง และพรรคภูมิใจไทยที่น่าจะได้ส.ส. 52 เสียงยังไม่ประกาศตัวชัดเจนว่าจะไปจับขั้วกับฝ่ายไหนโดยที่พรรคภูมิใจไทยเองก็ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ประกาศทิศทางใดๆจนกว่ากกต.จะรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 

อย่างไรก็ตามการประเมินความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้นอกจากจะต้องประเมินคะแนนเสียงส.ส.ที่ประชาชนเลือกตั้ง 500 คนแล้ว ยังต้องประเมินความเป็นไปได้ของการลงคะแนนเลือกนายกที่มาจากส.ว.อีก 250 คน ที่คสช.เป็นผู้แต่งตั้งด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้การเลือกนายกในช่วง 5 ปีแรกนับจากมีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเลือกร่วมกันระหว่างส.ส. 500 คน กับส.ว. อีก 250 คน รวมเป็น 750 คน ทำให้ถึงที่สุดแม้พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะตัดสินใจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีจากขั้วของพรรคเพื่อไทยเพื่อยืนยันหลักการว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร ก็จะรวมกันแล้วได้เสียงเพียง 359 เสียง  

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น