นัดสืบพยานครั้งสุดท้าย คดี ม.112 “ไผ่-ใหญ่” ปราศรัยหน้า สภ.ภูเขียว วิจารณ์กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันฯ

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษา 13 กันยายน 2567 หลังอัยการมีคำสั่งฟ้อง ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ‘ครูใหญ่’ อรรถพล บัวพัฒน์ และ ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก ในฐานความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มาตรา 112, ฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากการชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ ของกลุ่ม “ราษฎร” บริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียวและหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

ข้อกล่าวหาตามฟ้องของอัยการ

สำหรับข้อหาตามมาตรา 112 อัยการฟ้องว่า เนื้อหาที่ทั้งสามคนปราศรัยเป็นความเท็จ เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจําเลยทั้งสามมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

ในส่วนของความผิดตามมาตรา 116 คำฟ้องกล่าวหาว่า จําเลยทั้งสามกับพวกได้กล่าวคําปราศรัยบนเวที และไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ มีสาระสําคัญโจมตีการทํางานของรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทําการจาบจ้วง หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ซึ่งมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 

และจําเลยทั้งสามกับพวกยังติดป้ายผ้าหน้าสถานีตํารวจภูธรภูเขียว มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” “ผูกขาดวัคซีนหาซีนให้เจ้า” “ประยุทธ์ออกไป” “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” อันเป็นการปลุกปั่น ยุยง ประชาชนให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และการบริหารงานของรัฐบาล ถึงขนาดที่จะไปชุมนุมกดดันให้นายกฯ ลาออก และขู่เข็ญหรือบังคับพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ประชาชน อันจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เป็นเหตุให้ประชาชนที่ได้รับฟังคําปราศรัยดังกล่าว ตะโกน โห่ร้อง ปรบมือสนับสนุน อันเป็นการทําให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

ตลอดการสืบพยานที่ผ่านมาเริ่มตั้งแต่ 17 เมษายน 2567 จำเลยทั้งสองคนยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อีกทั้ง “ใหญ่” จำเลยที่ 2 ขึ้นถามค้านพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยและพยานผู้กล่าวหาจำเลยในคดีนี้ด้วยตนเอง โดยขั้นต้นคดีนี้มีจำเลยอีกคนหนึ่ง คือ ภาณุพงษ์ จาดนอก หรือไมค์ แต่ระหว่างการสืบพยานไมค์ ไม่ได้เข้าร่วมการพิจารณาคดีต่อ

ข้อต่อสู้ของจำเลย

ด้านจำเลยทั้งสองคนเบิกความยอมรับว่า เป็นผู้ปราศรัยตามวันเกิดเหตุจริง ในส่วนคำกล่าวของใหญ่นั้น จำเลยยืนยันว่ากล่าวเรียกร้องให้ “จำกัด” งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กล่าวว่าให้ “กำจัด” งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่พยานโจทก์บางคนกล่าวหา และการปล่าวปราศรัยนั้นเป็นการเรียกร้องเรื่องจากเห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎหมายที่ขยายพระราชอำนาจในยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายฉบับ

ส่วนคำกล่าวของไผ่นั้น จำเลยยืนยันว่า การกล่าวปราศรัยเนื่องมาจากพบเห็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย เห็นคนยากคนจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริยเป็นการพูดถึงองค์กรที่มีองค์ประกอบหลายอย่างเกี่ยวข้องกัน ไม่ได้หมิ่นประมาทหรือให้ร้ายบุคคลใดบุคคลหนึ่งในฐานจะตัวบุคคล 

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ทนายความของจำเลยนำพยานเข้าสืบ 1 ปาก ได้แก่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ที่มาเบิกความว่า เนื้อหาที่จำเลยกล่าวปราศรัยตามฟ้องในคดีนี้ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 112 โดยอธิบายแนวทางการตีความมาตรา 112 ที่ไม่ครอบคลุมพระมหากษัตริย์ในอดีต และคุ้มครองตัวบุคคลไม่ได้คุ้มครองตัวสถาบัน

ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ทนายความนำพยานเข้าสืบอีก 1 ปาก คือ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ที่เบิกความในประเด็นการออกกฎหมายในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคสช. ที่เป็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์อันนำมาสู่ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษา 13 กันยายน 2567 สาเหตุที่นัดช้าเนื่องจากจำเลยทั้งสองคนติดสืบพยานคดีอื่นๆ อีกหลายคดีทำให้หาวันว่างตรงกันเพื่อมาฟังคำพิพกาษาไม่ได้