รู้จักกับอติรุจกับคดี 112 จากการตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จ

อติรุจ หรือ รุจ เป็นโปรแกรมเมอร์วัย 26 ปี เขาถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และต่อสู้ขัดขวางฯตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 เหตุสืบเนื่องจากวันที่ 15 ตุลาคม 2565 เขาไปเดินเล่นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างเดินทางกลับมีขบวนเสด็จของรัชกาลที่สิบและพระราชินี ตำรวจนอกเครื่องแบบถามเขาว่า จะนั่งรับเสด็จหรือไม่ และเมื่อเขาปฏิเสธ ตำรวจนับสิบนายมายืนล้อมเขา ภายใต้สถานการณ์กดดันเช่นนี้เขาจึงตะโกนออกไปว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ซึ่งเป็นการตะโกนที่จนถึงวันนี้เขาเองก็ไม่แน่ใจว่า บุคคลที่อยู่ในขบวนเสด็จจะได้ยินหรือไม่เนื่องจากบริเวณที่เขาอยู่กับขบวนเสด็จมีระยะค่อนข้างห่าง

ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล เขาให้การรับสารภาพในข้อกล่าวหาแรกแต่ให้การสู้คดีข้อกล่าวที่สอง วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่า มีความผิดตามมาตรา 112 และต่อสู้ขัดขวางฯ จำคุกรวมสองข้อหา หนึ่งปีกับแปดเดือน เขาได้รับการประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์ ชวนทำความรู้จักกับตัวตนของรุจและคดีมาตรา 112 ของเขา

คนตรงไปตรงมา หนอนหนังสือ นักเรียนเขียนโปรแกรม

รุจเติบโตมาในครอบครัวธรรมดาทั่วไปในจังหวัดเล็กๆจังหวัดหนึ่ง เขาบอกว่า ครอบครัวมีส่วนในการบ่มเพาะนิสัยตรงไปตรงมา สอนให้พูดคุยกันด้วยหลักการความเป็นเหตุเป็นผล และให้อิสระในการใช้ชีวิต “ที่บ้านเลี้ยงค่อนข้างปล่อย ผมอาจจะไปค่ายตั้งแต่เด็กตั้งแต่อนุบาล ไปค่ายเรียน ค่ายภาษาตั้งแต่เด็กแล้ว เขาค่อนข้าวปล่อยให้ไปค่ายคนเดียว ที่บ้านไม่ได้ไปด้วย ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ค่ายดูแลไปเลย ก็เลยรู้สึกว่าดูแลตัวเองได้ เลยรู้ว่าต้องจัดการตัวเองอย่างไรเวลาไปอยู่ที่อ่านคนเดียว อาจจะทำให้ได้ความมั่นใจเพิ่มขึ้นมา”

ช่วงชีวิตวัยมัธยมฯ รุจย้ายเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ อาจเรียกเขาว่า เป็นหนอนหนังสือ นักอ่านตัวยงก็ว่าได้ “ช่วงมัธยมฯต้นอ่านเป็นนิยายไทยแปลกระแสหลัก นิยายสืบสืบสวนหรือนิยายแจ่มใสก็เคยลองอ่านมาแล้ว ตอนนี้ที่อ่านเยอะขึ้นคือมังงะ เพราะอ่านง่ายย่อยง่าย ชอบเนื้อเรื่องและการเล่าเรื่อง ตอนนี้ตามอ่านตามอ่านวันพีซรายสัปดาห์ หนึ่งเรื่องที่ชอบที่สุดหนึ่งเล่มคงเป็น ‘หัวไฟกับถั่วงอก’ เป็นหนังสือของคุณทรงศีล เป็นศิลปินไทย ชอบเล่มนี้เพราะอ่านตั้งแต่ประถม ออกประมาณปีหรือสองปีเล่ม เป็นหนังสือภาพและข้อความ แต่ละหน้าจะไม่เต็ม อ่านง่ายมากสำหรับเด็ก”  เมื่อถามว่า ทำไมถึงชอบเรื่องนี้รุจบอกว่า “เนื้อเรื่องสนุก การออกแบบตัวละครค่อนข้างเท่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กกำพร้าที่ตื่นมาบนกองขยะแล้วไปพบกับหัวไฟ เป็นตัวละครในเรื่องที่เป็นเด็กกำพร้าเหมือนกัน แต่อาจไม่ได้ถูกเลี้ยงดูโดยสถานเลี้ยงเด็กหรือครอบครัว เขาจะมีความต้องการที่จะครอบครองโลก นี่คือบทเปิดของเรื่อง ซึ่งน่าสนใจและน่าติดตาม”

จากนั้นมีโอกาสเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นอีกช่วงชีวิตในต่างแดนที่มีส่วนประกอบสร้างตัวตนความเป็นเขาไม่น้อย ไม่ว่าจะเรื่องความชอบอย่างกีฬาเอ็กซ์ตรีมและการเขียนโปรแกรม รวมถึงแนวคิดเรื่องหลักการประชาธิปไตย  “ไปแลกเปลี่ยนมาหนึ่งปี ได้มีโอกาสเข้าคลาสภาษาโปรแกรมมิ่ง เมื่อกลับมาที่ประเทศไทยรู้สึกว่าชอบ จึงกลับมาเรียนสาขาวิศวะฯคอมพิวเตอร์ที่ธรรมศาสตร์”

ชีวิตมหา’ลัยกับการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย

ในปี 2559 รุจเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) เขาเล่าว่า เหมือนนักศึกษาปกติทั่วไป เป็นคนทำกิจกรรม เป็นกรรมการนักศึกษา เที่ยวเล่นกับเพื่อนเหมือนนักศึกษาปกติ โดยเริ่มสนใจเรื่องประวัติศาสตร์หรือการเมืองจากกลุ่มเพื่อนที่สนใจ สิ่งที่ชอบทำสมัยเรียนคือ เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ เล่นกีฬา อ่านหนังสือเช่นเดิม ขณะที่สเก็ตบอร์ดเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่เขาเล่นและมาใช้ในชีวิตประจำวัน “สเก็ตบอร์ดเป็นทั้งกีฬาและวิธีในการเดินทาง เพราะสำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต การเดินทางไม่ใช่เรื่องง่าย หากใช้จักรยานคิดว่ายากที่จะเก็บ จึงเลือกใช้สเก็ตบอร์ดเพราะทั้งสนุกและเดินทางไวขึ้น สามารถเดินทางไปกับเพื่อนที่ขี่จักรยานได้ด้วยเช่นกัน มันอาจจะทำให้เด่นในสายตาคนอื่นเพราะไม่ได้มีใครใช้สเก็ตบอร์ดตามทางแต่เราก็ไม่ได้สนใจเพราะมันก็สนุกดีสำหรับเรา ตอนนี้ก็ยังไถได้อยู่”

ในปี 2559 เป็นช่วงที่เรียนคาบเกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่เก้า เวลาดังกล่าวทำให้เขารู้ว่า การเมืองส่งผลต่อชีวิตของเขาจากการที่มหาวิทยาลัยเริ่มงดจัดงานรื่นเริงต่าง ๆ หลายปี ในปี 2563 เขาเรียนจบมาแล้วประมาณหนึ่งปี เริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองและปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รุจเป็นอีกหนึ่งในจำนวนมากที่ไปร่วมการชุมนุม เช่น การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปทำเนียบรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2563  เวลานั้นความคิดของเขาถูกส่งผ่านป้ายข้อความเท่านั้น ไม่ได้แปรเปลี่ยนเป็นเสียงปราศรัยในที่ชุมนุม

ส่งเสียงแรกวิจารณ์ขบวนเสด็จเปลี่ยนคนธรรมดาเป็นจำเลย 112

  • 1 ตุลาคม 2562 – แฮชแท็กตั้งคำถามเรื่องขบวนเสด็จติดเทรนด์ทวิตเตอร
  • 14 ตุลาคม 2563 – ขบวนเสด็จราชินีผ่านม็อบราษฎรนำสู่คดีประวัติศาสตร์มาตรา 110 ที่ศาลยกฟ้อง
  • 6 ตุลาคม 2565 – ปูพรมแดงเจ้าหน้าที่ตั้งแถวเพื่อเชิญพวงมาลาพระราชทานของเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯไปวางที่เกิดเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู 

สามเหตุการณ์นี้คือ ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของขบวนเสด็จและการเตรียมการที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยเหตุการณ์หลังสุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่บ่มเพาะความรู้สึกให้เข้มข้นจนตัดสินใจตะโกนว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” เสียงแรกในที่สาธารณะที่พลิกชีวิตคนธรรมดาอย่างเขาสู่จำเลยมาตรา 112

รุจเล่าย้อนไปในวันที่เป็นเหตุในคดีมาตรา 112 ว่า วันนั้นตั้งใจเดินทางไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันแรกที่รัชกาลที่สิบและพระราชีนีจะเสด็จมาเปิดงาน “รู้ว่า มีขบวนเสด็จไปในวันนั้นเพราะข่าว เพื่อนก็แซวว่า ไปวันนี้เลยหรือ แต่ไม่ได้วางแผนว่าจะไปเจอขบวนเสด็จ เพราะเราไม่รู้เวลา (เวลาเสด็จ) เราตั้งใจไปเดินงานหนังสือเฉย ๆ พอออกจากงานก็ตั้งใจจะเดินกลับ แต่ขณะที่กำลังจะเดินทางกลับมีขบวนเสด็จผ่านพอดี ตอนที่กำลังจะขึ้นวินไปบีทีเอสก็ถูกถามว่าไปนั่งรอขบวนเสด็จไหมจึงปฏิเสธไป” 

เมื่อปฏิเสธเขาถูกกลุ่มบุคคลในชุดนอกเครื่องแบบยืนล้อมนับสิบคน ซึ่งเขาไม่ทราบว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นใครและมีการเดินตามล้อมอยู่นับสิบนาที รุจบอกว่า สำหรับคนฟังสิบนาทีดูเหมือนจะไม่นาน แต่คนหนึ่งคนที่ต้องเผชิญหน้ากับคนนับสิบเป็นเวลาหลายนาทีสร้างแรงกดดันต่อเขา บวกเข้ากับเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู ในเดือนตุลาคม 2565 มีการปูพรมแดงเพื่อรอการเชิญพวงมาลาพระราชทาน ในช่วงเวลาเดียวกันมีภาพที่ครอบครัวผู้สูญเสียมายืนข้างพรมแดง เรื่องนี้เขามองว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควร เมื่อสองเรื่องมารวมกัน ทั้งการถูกกดดันคุกคามจึงเป็นเหตุให้ตะโกนออกไปว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ซึ่งทุกวันนี้รุจยังคงตั้งคำถามว่า บุคคลที่อยู่ในรถพระที่นั่งจะได้ยินหรือไม่ เนื่องจากมีระยะค่อนข้างห่าง หลังจากนั้นตำรวจนายหนึ่งจึงใช้มือปิดปากเขา จากนั้นตำรวจประมาณ 5-6 นายพยายามยกตัวเขาขึ้นไปที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมภายในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลานั้นเขาดิ้นรนด้วยไม่รู้จริงๆว่า บุคคลเหล่านี้เป็นใคร เป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่และสังกัดหน่วยงานใด ซึ่งนั่นเป็นเหตุสู่ข้อกล่าวหาที่สองว่าด้วยการต่อสู้ขัดขวางฯ

นอนโรงพักสองคืน แถมแพคเก็จตรวจจิตเวชโดยไม่ยินยอม

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตำรวจคุมตัวรุจไปที่สน.ลุมพินี บุคคลใกล้ชิดและประชาชนจำนวนหนึ่งจึงติดตามไปที่ สน.ลุมพินี แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี กลับปฏิเสธการให้ข้อมูลว่า รุจถูกควบคุมตัวอยู่ที่สน.หรือไม่ ผ่านไปราว 4 ชั่วโมง ในเวลาประมาณ 22.00 น. ผู้กำกับการ สน.ลุมพินี จึงยืนยันว่า อติรุจถูกควบคุมอยู่ภายใน สน.ลุมพินี “ตอนแรกไม่ได้คาดหวังว่าจะโดน 112 แต่พอโดนแล้วก็แบบ อืม ก็โดน คือตอนนั้นมันก็เป็นคดีการเมือง เราที่ติดตามคดีการเมืองเราก็รู้ว่า เออ คดีนี้มันค่อนข้างที่จะใช้กับเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เรื่องขบวนเสด็จจะโดนก็ไม่แปลกใจอะไรเท่าไร หลังจากนั้นเป็นโดนจับนอนอยู่สถานีตำรวจสองคืน แล้วก็ไปศาลอีกวันหนึ่ง”

ระหว่างที่ถูกคุมตัวอยู่ที่สน.ลุมพินี และผู้ไว้วางใจออกไปข้างนอกทั้งหมด ตำรวจส่งตัวเขาไปตรวจร่างกายและอาการทางจิตเวชที่โรงพยาบาล เขาพยายามขอดูเอกสารจากเจ้าหน้าที่และยืนยันที่จะไม่ไปต้องการจะรอผู้ไว้ใจ ทนายหรือญาติ แต่กลับถูกปฏิเสธและพาขึ้นรถตู้ไปที่โรงพยาบาล เมื่อถึงโรงพยาบาลเขาถูกมัดมือและเท้าติดกับเก้าอี้ รุจแจ้งกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลว่า ไม่ยินยอมให้ตรวจ แต่ได้รับคำตอบว่า “ถ้าไม่ยินยอมให้ตรวจก็อย่าโดน[จับ]แต่แรก” ท้ายสุดเขาถูกเจาะเลือดเท่านั้น ไม่ได้มีการตรวจจิตเวช 

ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2565 พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังในชั้นสอบสวนต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายของเขายื่นขอประกันตัวในชั้นสอบสวน ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว รุจได้รับการประกันตัวเรื่อยมาทั้งในชั้นสอบสวนของตำรวจและศาลชั้นต้น ระหว่างการพิจารณาคดีรุจให้การรับสารภาพในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่สู้ในส่วนการต่อสู้ขัดขวางฯตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138

มาตรา 112 กับชีวิตที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

“ผมรู้สึกว่าการโดน 112 มันไม่ได้ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนอะไรเยอะมาก อย่างที่บอก มันเป็นคดีการเมือง ผมไม่ได้ฆ่าใครตาย ไม่ได้ขโมยของใคร สิ่งที่ผมทำวันนั้นคือผมตะโกน แค่นั้นเลย คนที่อยู่ในรถได้ยินผมไหม ผมยังไม่รู้เลย … เราเชื่อว่ากฎหมายนี้มีปัญหา”  รุจตอบอย่างสงบเมื่อถูกถามว่า ชีวิตเขาเปลี่ยนไปหรือไม่หลังถูกดำเนินคดีมาตรา 112  มันแทบไม่เปลี่ยนแปลงจริงๆ เขายังทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์และลางานเพื่อไปศาลในนัดพิจารณาคดี แม้กระทั่งวันนัดพิพากษาชี้ขาดอิสรภาพ เขายังจองตั๋วคอนเสิร์ตในตอนเย็นวันนั้นด้วยคิดว่า มันเป็นแค่วันธรรมดาวันหนึ่งและยังมีหวังว่า เขาจะได้รับการรอลงโทษในคดีมาตรา 112 

แม้จะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แต่ความฝันเขาก็เหมือนกับคนธรรมดาทั่วไปที่อยากใช้ชีวิตปกติ มีเงินเก็บ เกษียณ ไปเที่ยวปกติ ไม่ได้มีความต้องการอะไรเป็นพิเศษ เขามองว่า ถ้าประเทศไทยสามารถดีขึ้นกว่านี้ได้ก็จะอาจจะส่งผลดีต่อเขาในวัยเกษียณ

ว่าด้วยครอบครัว ครอบครัวมีส่วนหล่อหลอมตัวตนของเขาและเป็นลมใต้ปีก เขาเล่าว่า พ่อแม่ของเขามีความเข้าใจและไม่สนับสนุนกฎหมายมาตรา 112 อยู่แล้ว แต่หัวอกพ่อแม่ก็ไม่ได้คาดคิดว่า วันหนึ่งผู้ที่ต้องเป็นหนึ่งในจำเลยมาตราดังกล่าวต้องเป็นลูกของตัวเอง วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ในนัดฟังคำพิพากษา เขามาพร้อมกับพ่อแม่ หิ้วกระเป๋าผ้าสกรีนชื่อวง The Script วงดนตรีโปรดของเขาและผูกข้อมือด้วยโบว์สีขาว  วันดังกล่าวศาลพิพากษาว่า เขามีความผิดตามมาตรา 112 และ 138 วรรคสอง เป็นความผิดต่างกรรม ลงโทษทุกกรรมแบ่งเป็นมาตรา 112 จำคุก 3 ปี และมาตรา 138 จำคุก 2 เดือน รับสารภาพมาตรา 112 เป็นประโยชน์ในการพิจารณาลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน รวมลงโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา ทำให้เขาต้องลงไปรอผลประกันตัวที่ห้องคุมตัวด้านล่าง ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์

ข้อคิดเห็นต่อการนิรโทษกรรมจำเลยทางการเมือง

ปัจจุบันมีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหลักสองฉบับคือ ฉบับแรกที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลและอีกฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน รุจมองว่า การนิรโทษกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็น “ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ในระยะสองถึงสามปีที่ผ่านมา มันชัดเจนมากว่าคดีทางการเมืองต่าง ๆ ถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้งและปิดปากในเรื่องพวกนี้โดยเฉพาะ และใช้โดยรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารเป็นหลัก ในเมื่อทุกคนออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องที่พูดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน หากใช้ 112 ในการมาปิดปาก แปลว่ารัฐบาลกำลังเห็นประชาชนเป็นคู่ขัดแย้ง”

“หากรัฐบาลไม่ได้เห็นภาคประชาชนเป็นคู่ขัดแย้ง ร่างนิรโทษกรรมก็ควรที่จะผ่าน เพราะอดีตรัฐบาลเพื่อไทยก็เคยมีเหตุให้ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งมีเงื่อนไขคล้ายคลึงกับปัจจุบัน แต่ถ้าสองร่างนี้ถูกปัดตก อาจหมายความว่ารัฐบาลเห็นว่าประชาชนเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงและไม่คิดจะเจรจาด้วย ปล่อยความขัดแย้งเป็นแบบนี้ต่อไปเหมือนกับรัฐบาลรัฐประหาร สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นว่ารัฐบาลนี้เป็นแค่รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร ถ้าอยากแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมา อย่างน้อยที่สุดควรรับสองร่างนี้เข้าไปพิจารณา”