ร่าง พ.ร.บ.สลากฯเพื่อสังคม เพื่อความโปร่งใส หยุดขายเกินราคา นำเงินมาพัฒนาสังคม

ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557 กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก มีการเคลื่อนไหวผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.กิจการสลากเพื่อสังคม พ.ศ. … (ฉบับประชาชน) เบื้องต้นทางเครือข่ายฯ เปิดรับการลงรายชื่อบุคคลทั่วไปเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสลากเพื่อสังคมโดยมี เป้าหมายที่ 1,000,000 รายชื่อ เพื่อแสดงให้เห็นพลังที่ต้องการให้เกิดกองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
 
เหตุผลในการออกร่าง พ.ร.บ.สลากเพื่อสังคม พ.ศ. … (ฉบับประชาชน)
 
สลากไม่ควรเป็นเครื่องมือหารายได้ของรัฐ เพราะจะทำให้ประชาชนเล่นพนันสลากจนทำให้มีคุณภาพชีวิตแย่ลง เช่น ทำให้เกิดปัญหาจากการใช้เงินไม่เหมาะสมกับรายได้ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว หรือเข้าข่ายป่วยเป็นโรคติดการพนัน โดยปัญหาที่จะต้องปฏิรูป เช่น ปัญหาด้านการบริหารกิจการสลากตามหลักธรรมาภิบาล การจัดสรรโควตาไม่โปร่งใส ขาดความเอาใจใส่ต่อผู้จำหน่ายสลากรายย่อย ไม่มีแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภค การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างจำกัด และไม่มีมาตรการป้องกันและลดผลกระทบทางสังคมจากปัญหาการพนัน และเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากส่วนใหญ่เป็นเงินของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจัดเก็บรายได้จากการจำหน่ายสลาก นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินสูงถึงร้อยละ 28
 
ด้วยเหตุนี้รัฐจึงควรนำเงินส่วนนี้มาสนับสนุนภาคประชาสังคม คนในชุมชนท้องถิ่น เพื่อช่วยพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิต จึงต้องออกกฎหมายในการตรวจสอบการจัดสรรเงิน เพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และการแทรกแซงจาก
ฝ่ายการเมืองที่นำเงินกองทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มตนเอง และเห็นว่าควรยกเลิกการใช้พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และให้มีกฎหมายว่าด้วย “กิจการสลากเพื่อสังคม”
 
รูปอ้างอิงจาก  www.whitelottery.com/
 
สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.กิจการสลากเพื่อสังคมฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
1. จัดแบ่งโครงสร้างในการบริหารใหม่ ให้มีการสรรหาที่เปิดกว้าง โปร่งใส มีวาระการดำรงตำแหน่งชัดเจน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยแบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ได้แก่
 
“คณะกรรมการกำกับกิจการสลากเพื่อสังคม” มีอำนาจหน้าที่ 1)กำหนดประเภทสลากที่อนุญาตให้จำหน่ายได้ 2)ออกใบอนุญาตให้องค์กรที่ต้องการดำเนินกิจการสลาก 3)ปฏิรูประบบจัดสรรโควตาสลาก 4)กำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบของกองทุนสลากเพื่อสังคม 5)แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผล และ 6)จัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนและประเมินผลกระทบจากการดำเนินกิจการสลาก โดยเฉพาะการออกสลากรูปแบบใหม่
 
“องค์การสลากแห่งประเทศไทย” มีอำนาจหน้าที่ 1)บริหารกิจการสลากทุกประเภท 2)กำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก จัดตั้ง “กองทุนองค์การสลาก” เพื่อรับซื้อคืนสลากจากผู้ค้าสลากรายย่อย 3)การให้กู้ยืมหรือการจัดสวัสดิการให้ผู้ค้าสลากรายย่อย และสนับสนุนกิจกรรมป้องกันผลกระทบจากการพนัน 4)ให้มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค 5)ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้สาธารณชนรับทราบ 6)ให้มีการวิจัยและประเมินผลการดำเนินงานทุกปี
 
“คณะกรรมการกองทุนสลากเพื่อสังคม” ทำหน้าที่บริหาร “กองทุนสลากเพื่อสังคม” มีอำนาจหน้าที่หลักคือ บริหารเงินกองทุนที่ได้รับจัดสรรจากการจำหน่ายสลาก เพื่อสนับสนุนกองทุนด้านพัฒนาสังคมที่มีกฎหมายจัดตั้ง
 
2. ให้มีการจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลากใหม่ โดย ร้อยละ 60 ของรายได้เป็นเงินรางวัล ไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้ เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและการจำหน่ายสลาก โดยให้ความสำคัญกับผู้ค้าสลากรายย่อย ร้อยละ10 ของรายได้ เป็นภาษีสลากหรือนำส่งเป็น
รายได้แผ่นดิน และเงินเหลือของส่วนอื่นๆที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 เป็นเงินนำส่งกองทุนสลากเพื่อสังคม
 
ให้คณะกรรมการบริหารองค์การสลากจัดตั้ง “กองทุนองค์การสลาก” เพื่อนำเงินที่ได้รับจัดสรรส่วนนี้ไปใช้ปฏิบัติภารกิจสำคัญ 3 ประการ ตามลำดับดังนี้ 1) รับซื้อคืนสลากที่จำหน่ายไม่หมด 2) ให้กู้ยืมหรือจัดสวัสดิการให้ผู้ค้าสลากรายย่อย 3) สนับสนุนกิจกรรม ลด ละ เลิก และลดผลกระทบจากปัญหาการพนัน
 
3.การจัดสรรเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากเพื่อสังคม ควรกำหนดการจัดสรรไปยังกองทุนด้านสังคมที่มีกฎหมายจัดตั้งผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือ ร้อยละ 35 ของรายได้  ให้จัดสรรไปยังกองทุนที่จัดตั้งตามกฎหมาย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้  ให้จัดสรรไปยังกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่นๆ เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการสนับสนุนงานของภาคประชาสังคม และด้านพัฒนาสังคมในด้านการศึกษา กีฬา ศิลปวัฒนธรรม หรือการป้องกันและลดผลกระทบจากการพนัน และอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของรายได้  ให้จัดสรรไปยังกองทุนใหม่ที่จะมีการจัดตั้งในอนาคตคือ “กองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม” โดยควรจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งกองทุนนี้เป็นการเฉพาะ มีคณะกรรมการบริหารกองทุนที่เป็นอิสระเหมือนต่างประเทศ ส่วนที่เหลือร้อยละ 5 ของรายได้  ให้จัดสรรเพื่อเป็นค่าบริหารจัดการ การตรวจสอบและประเมินผล
 
ร่วมลงรายชื่อ สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสลากเพื่อสังคมผ่านทางเว็บไซต์ที่ : www.thaicivilfund.com
 
ดาวน์โหลด ร่าง พ.ร.บ. ฉลากฯเพื่อสังคมตัวเต็มได้ที่ http://www.thaicivilfund.com/