ขอเชิญร่วมลงชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติผู้ลี้ภัย

            “ผู้ลี้ภัย” หมายถึง บุคคลซึ่ง

            (๑) เนื่องด้วยความหวาดกลัวอย่างสมเหตุสมผลต่อการถูกสังหารอันเนื่องมาจากเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ การเป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคมซึ่งเฉพาะเจาะจง หรือความคิดเห็นทางการเมือง ต้องอยู่ภายนอกประเทศซึ่งตนมีสัญชาติและไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะแสวงหาประโยชน์จากการคุ้มครองของประเทศเจ้าของสัญชาติตนเพราะความหวาดกลัวดังกล่าว หรือบุคคลที่ไม่มีสัญชาติและต้องอยู่ภายนอกประเทศซึ่งเป็นสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสําคัญก่อนหน้านี้ และเนื่องด้วยเหตุดังกล่าวบุคคลนั้นไม่สามารถหรือไมเต็มใจที่จะเดินทางกลับประเทศอันเนื่องมาจากความหวาดกลัวนั้น หรือ
            (๒) บุคคลใดก็ตามที่ถูกบังคับให้เดินทางออกจากสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสําคัญเพื่อแสวงหาที่พักพิงในที่อื่นภายนอกประเทศต้นทางของบุคคลนั้นอันเนื่องมาจากการรุกรานหรือการยึดครองจากภายนอก การครอบงําจากต่างประเทศ หรือสถานการณ์อื่นที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทุกส่วนของประเทศต้นทางของบุคคลนั้น
 
นี่คือความหมายของผู้ลี้ภัยตามที่ปรากฏในมาตรา 4 ของร่างพระราชบัญญัติผู้ลี้ภัยฉบับประชาชน
 
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนแล้วเกือบ 102,000 คนและ ผู้ขอลี้ภัยอีก 12,500 คน ซึ่งส่วนมากเป็น ชนกลุ่มน้อยจากประเทศพม่า ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาศัย อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งใน 4 จังหวัดของประเทศไทยบริเวณชายแดนไทย-พม่า
 
นอกจากนี้ประเทศไทยยังเผชิญกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่มาจากจากชาติต่างๆ เช่น ศรีลังกา บังคลาเทศ เวียดนาม และอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่อาจหนีอันตรายจากสงครามกลางเมือง หรือการคุกคามทางการเมืองเพื่อมาหาสถานที่ที่สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยกว่า
 
แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย และประเทศไทยไม่มีกฎหมายใดที่รองรับสถานะความเป็นอยู่ รองรับสิทธิของบุคคลเหล่านี้ ทำให้การบริหารจัดการผู้ลี้ภัยจำนวนมากในประเทศไทยอยู่ภายใต้ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหาประชาชาติ (UNHCR) และผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้รับการพิจารณารับรองจาก UNHCR ก็จะอยู่ในประเทศไทยอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ด้วยสถานะของคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเท่านั้น 
 
ทั้งที่ผู้ลี้ภัยเป็นกลุ่มคนที่หนีภัยอันตรายมา ควรได้รับการช่วยเหลือในฐานมนุษยธรรม แต่เนื่องจากกฎหมายของประเทศไทยไม่เอื้อต่อการให้สิทธิพักพิงเพื่อหลบหนีจากภยันตรายดังกล่าว กลุ่มผู้ลี้ภัยที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยจึงต้องอยู่อย่างหวาดกลัวภัยอันตรายจากรัฐต่อไปโดยไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของโลก
 
มูลนิธิเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล จัดทำร่างพระราชบัญญัติผู้ลี้ภัย พ.ศ. …. ออกมา และเปิดให้ประชาชนคนไทยทุกคนที่มีสิทธิ ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยร่างกฎหมายฉบับนี้วางหลักเกณฑ์สำหรับการจัดการผู้ลี้ภัยไว้ กล่าวโดยสรุปได้ว่า
  1. คนต่างด้าวที่จะเข้ามาเป็นผู้ลี้ภัยมีสิทธิคำร้องขอสถานภาพผู้ลี้ภัยต่อกรรมาธิการผู้ลี้ภัย ซึ่งมีตัวแทนส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของชาติ โดยกรรมาธิการผู้ลี้ภัยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 30 วัน ระหว่างระยะเวลานี้ห้ามไม่ให้มีการควบคุมตัว ไม่ให้ลงโทษฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย และคนต่างด้าวนั้นจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากทนายความ รวมถึงการมีล่ามด้วย (มาตรา14, 15, 26)
  2. เมื่อกรรมาธิการผู้ลี้ภัยอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยให้แล้ว ผู้ลี้ภัยจะได้เอกสารรับรองสถานะและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทยได้ 1 ปี และระหว่างนี้ให้ดำเนินการส่งตัวผู้ลี้ำภัยไปตั้งรกรากในประเทศที่สาม (มาตรา16, 20)
  3. ในกรณีที่คำขอสถานะผู้ลี้ภัยถูกปฏิเสธ บุคคลนั้นสามารถยื่นอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมาธิการผู้ลี้ภัยได้ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบมาจากตัวแทนด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
  4. ในกรณีที่คณะกรรมาธิการผู้ลี้ภัยตัดสินว่าบุคคลนั้นไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย ให้กฎหมายคนเข้าเมืองมีผลบังคับใช้กับบุคคลนั้นตั้งแต่วันที่มีคำสั่งปฏิเสธสิทธิเป็นต้นไป (มาตรา 18)
  5. ในระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยมีสิทธิได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ มีเสรีภาพเท่าเทียนกับคนไทยในการนับถือศาสนา มีสิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การศึกษา การสาธารณสุข และบริการสาธารณะต่างๆ (มาตรา24)
  6. ในระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยต้องพักอาศัยในเขตที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด หากจะย้ายไปจังหวัดใดต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบด้วย (มาตรา 27)

 

สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติผู้ลี้ภัย พ.ศ. … ได้โดย

1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ข.ก.1 ตามเอกสาแนบ กรอกข้อมูลและลงนามให้ครบถ้วน

2. แนบสำเนาบัตรประชาชน (หรือบัตรอื่นใดที่ของทางราชการที่มีรูปถ่ายแสดงตน) พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง

3. แนบสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
 
4. รวมเอกสารทั้งหมด 3 แผ่น ส่งมายัง “149/212 อาคารโมเดิร์น โฮมทาว์เวอร์ ชั้น 25 ถ.นนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
 
 
คำแนะนำในการกรอกแบบฟอร์ม
 
1. ต้องมีทั้งนำสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน
2. ลายเซ็นในเอกสารทั้งหมด ต้องเป็นแบบเดียวกัน
3. ในส่วนบนของหนังสือที่เขียนว่า “เขียนที่” นั้น ให้เขียนที่อยู่ สถานที่ไหนก็ได้ที่ท่านกรอกแบบฟอร์ม 
4. ใน ข้อ 5 ของแบบฟอร์มข.ก.๑ ที่มีคำว่า พ.ศ. …และ ฉบับที่…“ไม่ต้อง“ เติมข้อความใดๆ ในช่องจุดจุดจุด

 

 

 

ไฟล์แนบ