พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข ก้าวแรกของการปฏิรูประบบสาธารณสุขของไทย

 

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 สมาคมวิชาชีพสาธารณสุขยื่นเสนอ พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขเข้าสู่สภาเพื่อรับการพิจารณา 
 
การผลักดันร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขเพื่อให้มีกฎหมายรองรับการทำงานของหมอ โดยการจัดตั้งสภาวิชาชีพสาธารณสุขตามร่างพ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขขึ้นนั้น เพื่อส่งเสริมการประกอบวิชาชีพกำหนดมาตรฐานจริยธรรมและควบคุมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ และควบคุมมิให้มีการแสวงหาประโยชน์มิชอบจากบุคคลซึ่งมีความรู้ไม่เพียงพออันจะก่อให้เกิดภัยและความเสียหายต่อสุขภาพของบุคคลและชุมชนรวมทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานและจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพเพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยและการเกิดโรค และสร้างความมั่นใจกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องรับการบริการจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศกว่า 40,000 คน 
 
ดังมาตรา 3 ของร่างพ.ร.บ.ที่เขียนไว้ว่า
 
“วิชาชีพการสาธารณสุข” หมายความว่าวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยโดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์ และศิลปะแห่งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคและการอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชนและให้หมายความรวมถึงกิจกรรมต่อเนื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องที่มีความมุ่งหมายดังกล่าวด้วย
 
ทั้งนี้ไม่หมายรวมถึงการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะหรือการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ"
 
โดยสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข มีดีงนี้
 
  • มีการกำหนดมาตรฐานและจรรยาบรรณรวมถึงสิทธิและความเป็นธรรมของผู้ที่ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข
  • มีการส่งเสริมให้มีการวิจัยและเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนและองค์กรเกี่ยวกับการสาธารณสุข
  • มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขอย่างชัดเจน เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และต้องมีความรู้ในวิชาชีพสาธารณสุขโดยได้รับปริญญาในวิชาชีพสาธารณสุขที่สภาวิชาชีพการสาธารณสุขรับรอง เป็นต้น
  • กำหนดให้เฉพาะบุคคลที่มีใบอนุญาตถึงจะมีสิทธิปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขได้ โดยมีข้อยกเว้นเฉพาะการกระทำในฐานะข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น 
  • กำหนดข้อจำกัดเงื่อนไขและจรรยาบรรณของการประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขของผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพสาธารณสุข รวมถึงหากมีกรณีมีผู้เสียหายก็สามารถทำหนังสือร้องเรียนผู้ที่กระทำความผิดนั้นยื่นต่อสภาวิชาชีพสาธารณสุขมีบัญญัติบทลงโทษโดยในขั้นสูงสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุข ถ้าผู้ประกอบวิชาชีพนั้นได้กระทำความผิดจริง 
 
 
ที่มาภาพ OKnation
 
วันที่ 18 มกราคม 2553 ตัวแทนสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหมออนามัยจาก 4 ภาคกว่า 1,000 คน เดินทางไปยังสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อทวงถามความชัดเจนในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิชาชีพสาธารณสุขและร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคแห่งชาติ จากปลัดกระทรวงสาธารณสุข
 
นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข กล่าวว่า การเดินทางมาชุมนุมครั้งนี้ ต้องการเรียกร้องใน 5 ข้อ ได้แก่
 
1.กระทรวงสาธารณสุขต้องทำหนังสือชี้แจงไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยระบุถึงการรับรองและสนับสนุนการให้มี พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขที่เป็นฉบับที่ยื่นเสนอโดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต และฉบับภาคประชาชนที่ร่วมกันยื่นในวันที่ 19 สิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นร่างพ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน
 
2.ควรเร่งตอบข้อหารือต่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนการมี พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข ฉบับที่เสนอเข้าสู่สภาไปแล้ว และอีกหนึ่งฉบับคือ พ.ร.บ.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแห่งชาติ
 
3.จากการตอบข้อหารือ จากกระทรวงสาธารณสุขไปยังสภาผู้แทนราษฎร และการลงนามของ นพ.เสรี หงส์หยก ในบันทึกเสนอนายวิทยา แก้วภราดัย ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นไปในลักษณะไม่สนับสนุนร่างพ.ร.บ.นี้ แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการขัดขวางไม่ให้มี พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข เท่ากับผู้บริหารมีความผิดพลาดและบกพร่องอย่างรุนแรง ถือว่าผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขขาดความจริงใจต่อเรื่องนี้ จึงขอให้มีการพิจารณาเปลี่ยน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่แทนนพ.เสรี หงส์หยก
 
4.ควรแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณา เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาของกฎหมายร่วมกับสภาวิชาชีพต่างๆ ในขั้นตอนการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการเพื่อพิจารณารับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และ 
 
5.สาธารณสุขควรเร่งปฏิรูประบบสาธารณสุขใหม่โดยให้มีการแยกบทบาทการทำงานในมิติการส่งเสริมสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนในสังคมไทยที่มีมาตรฐานและมีความชัดเจนยิ่งขึ้นโดยสนับสนุนการตราเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยตรง 
 
และเมื่อวันที่ 21 – 22 ธันวาคม 2554 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมเรื่องด่วนตามวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้ง22 อยู่ในลำดับที่ 19 ขณะนี้สมาคมวิชาชีพสาธารณสุขกำลังสรรหากรรมาธิการวิสามัญเพื่อร่วมพิจารณา ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข กับคณะกรรมาธิการของสภาฯ ซึ่งเป็นผลจากการเสนอกฎหมายในนามภาคประชาชน ตามที่สภาฯ 
แจ้งโควตากรรมาธิการวิสามัญจำนวน 20 คนมายังสมาคมฯ ซึ่งสมาคมฯ กำลังจัดส่งรายชื่อไปให้รัฐสภาเร็วๆ นี้ 
 
ผลสำเร็จที่จะได้จากการผ่านร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขจะส่งผลต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยเป็นการทำงานแบบ "สร้างนำซ่อม" อย่างแท้จริง แทนระบบที่มีการผูกขาดอยู่ในปัจจุบัน และเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันในระบบเก่าๆ ของคนกลุ่มหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุข 
 
“หากมีกฎหมายคุ้มครองผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการประชาชนในด้านสาธารณสุขจะส่งผลต่อความภาคภูมิใจ ความมีศักดิ์ศรีในอาชีพของพวกเราและเกิดความทัดเทียมเสมอภาคกับวิชาชีพอื่นในวงการสาธารณสุข ประการที่สำคัญ การมีมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมแห่งวิชาชีพจะทำให้มีความซื่อสัตย์และมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติงานให้บริการประชาชนได้อย่างมีคุณภาพและทั้งหมดล้วนเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในสังคมไทยทั้งสิ้น ทั้งนี้” นายไพศาล บางชวดกล่าว