ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจาการบริการสาธารณสุข เยียวยาในมุมมองของแพทย์

จากกรณีที่เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้บริโภค จับมือกันเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. … เมื่อกลางปี พ.ศ.2553 ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข อย่าง แพทย์ พยาบาล นำโดยแพทยสภาไม่เห็นด้วยกับหลักการในร่างดังกล่าวจึงออกมาต่อต้าน เพราะเห็นว่าผู้ให้การบริการสาธารณสุขไม่ได้รับความเป็นธรรมจากร่างกฎหมายฉบับนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเกรงว่าจะเปิดช่องให้เกิดการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ให้บริการสาธารณสุขมากขึ้น และจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมาก

โดยทางกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพก็ได้จัดกิจกรรมแต่งชุดดำคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข มีการจัดกิจกรรมตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย ถึงขนาดมีการขู่ว่าจะนัดหยุดงาน ขณะที่ฝ่ายภาคประชาชนที่เข้าชื่อกันเสนอกฎหมายก็เร่งจัดกิจกรรมรณรงค์ผลักดันกฎหมายด้วยเช่นกัน ก่อให้เกิดวิวาทะข้อถกเถียงในสังคมเป็นจำนวนมาก [ดูรายละเอียดย้อนหลังที่นี่]

 
ในช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายต่างจัดกิจกรรมรณรงค์ในแบบของตัวเองนั้น  ทางกลุ่มวิชาชีพผู้ให้บริการสาธารณสุขได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งพวกเขาคิดว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหาที่ฝ่ายเครือข่ายผู้ป่วยต้องการได้ และยังสามารถป้องกันการฟ้องร้องบุคลากรสาธารณสุขได้ นั่นก็คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. … เป็นกฎหมายที่มีหลักการคล้ายกัน แต่ในชื่อกับรายละเอียดหลายประการก็แตกต่างกัน
 
วิวาทะที่ร้อนแรงในสังคมทำให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ตัดสินใจชะลอการพิจารณาร่าง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขออกไปก่อน [ดูข่าวเก่าได้ที่นี่] กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักสาธารณสุข ฯลฯ จึงใช้โอกาสนี้รวบรวมรายชื่อกันให้ได้ครบหนึ่งหมื่นชื่อเพื่อนำเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. … ของกลุ่มตัวเอง ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาเพื่อนำไปพิจารณาประกอบกับร่างของเครือข่ายผู้ป่วยที่เข้าไปรออยู่ก่อนหน้านี้แล้ว 
 
 
ที่มาภาพ Truthout.org
 
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2553 สมาพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่ง นำโดยนางอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ได้นำรายชื่อบุคลากรสาธารณสุขทุกสาขาและประชาชนทั่วไป จำนวน 12,999  รายชื่อ ไปยื่นต่อรัฐสภาเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข 
 
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุผลว่า ระบบบริการสาธารณสุขในประเทศไม่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งบุคลากร ความพร้อมของสถานพยาบาล ขีดจำกัดของเครื่องมือแพทย์ และงบประมาณที่ถูกจัดสรรออกไปดำเนินงานตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545  ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรักษาพยาบาล  และประชาชนก็มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องขั้นตอนการรักษาพยาบาลและความคาดหวังต่อการรักษาไม่เท่ากัน  จึงอาจเกิดการฟ้องร้องบุคคลากรสาธารณสุขได้ แม้จะกระทำไปโดยสุจริตใจและมีเจตนาดีต่อผู้ป่วยก็ตาม 
 
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุขมีสาระสำคัญดังนี้
1) บุคลากรทางการแพทย์จะได้รับความคุ้มครองจากความรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา หากผลกระทบที่เกิดกับร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยนั้น เกิดจากการกระทำไปเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยหรือป้องกันไม่ให้เกิดความพิการ  เว้นแต่ว่าการทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยนั้น ทำไปโดยเจตนา
2) ผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุขจะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากกองทุน โดยไม่ต้องสืบหาผู้กระทำผิด เว้นแต่ว่าผลกระทบนั้นเป็นอาการตามธรรมดาของโรค และเป็นผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการรักษา
3) เมื่อผู้ได้รับผลกระทบฯ ได้รับเงินเยียวยาแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาได้อีก หากผู้ได้รับผลกระทบฯ ทำการฟ้องร้อง การพิจารณารับเงินเยียวยาก็จะสิ้นสุดลง
 
ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข ฉบับของผู้ประกอบวิชาชีพ ถูกนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งหลังการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554  เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ฉบับของกลุ่มผู้ป่วย
 
กฎหมายประชาชนทั้งสองฉบับนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่จารึกเรื่องราวความขัดแย้งของกลุ่มคนที่ยืนอยู่คนละฟากฝั่งความเห็น ระหว่างผู้ป่วยที่รอบรับบริการ กับผู้ประกอบวิชาชีพที่มีหน้าที่ให้บริการด้านสาธารณสุข ซึ่งปลายทางของกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ยังรอการพิจารณาของผู้แทนปวงชนชาวไทยอยู่ว่าจะออกมาอย่างไร 
 
ต้องจับตาดูกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดจะถูกประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย หรือจะเป็นร่างฉบับผสมผสาน หรือจะเป็นกฎหมายที่มีหน้าตาอีกแบบหนึ่งเลย ซึ่งนั่นจะบ่งบอกถึงมาตรฐานของการบริการสาธารณสุข และสิทธิมนุษยชนของผู้รับบริการต่อไปในวันข้างหน้า