ข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.รวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย สำหรับพิจารณาโดยประชาชน

ปลายปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ น้ำท่วมขังเป็นเวลาหลายเดือนในกว่า 20 จังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตครั้งนี้กรุงเทพมหานครเองก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น 

ภัยพิบัติครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนอย่างมหาศาลแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งกันและกันของคนในประเทศอีกด้วย ผู้คนจำนวนมากบริจาคเงิน สิ่งของ และเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือ นักประดิษฐ์ก็คิดค้นนวัตกรรมทั้งการทำเสื้อชูชีพ การทำเครื่องตรวจไฟฟ้ารั่ว นักวิทยาศาสตร์ก็ถกเถียงกันเรื่องน้ำเน่า หมอก็เร่งให้ความรู้เรื่องโรคที่อาจมากับน้ำ 
 
นอกจากนี้ นักกฎหมายและผู้ที่สนใจการมีส่วนร่วมทางกฎหมายก็ได้เปิดหน้ารณรงค์ผ่านทางเฟซบุ๊คชื่อว่า “ท่วมหมื่นชื่อ” เพื่อเสนอให้ประชาชนเข้าชื่อกันหนึ่งหมื่นชื่อผลักดันร่างกฎหมายออกมาแก้ไขเยียวยาวิกฤตการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้และในอนาคต
 
“ร่างพระราชบัญญัติ รวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย พ.ศ. ….” ถูกร่างขึ้นโดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายที่เฝ้ามองสถานการณ์น้ำท่วมและเห็นความไม่โปร่งใส่ ไม่เป็นธรรมหลายประการ ร่างกฎหมายนี้มีแนวคิดที่น่าสนใจจำนวนมาก ต่างจากกฎหมายป้องกันบรรเทาสาธารณภัยที่มีอยู่แล้ว เช่น 
 
1. เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีสาธารณภัยรุนแรงถึงขั้นวิกฤต แต่งบประมาณและทรัพยากรที่รัฐมีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจขอความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อประกาศ “ภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย” โดยรัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิบวัน
 
2. ให้มีกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย มีรายได้จากเงินบริจาค จากเงินของของกองทุนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๔๔ และจากมาตรการพิเศษที่เรียกเก็บตามกฎหมายนี้
 
3. ในระหว่างประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัย นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดมาตรการพิเศษทางภาษีอากรหรือเงินประกันสังคมเพื่อจัดเก็บรายได้เข้ากองทุนโดยต้องไม่เรียกเก็บจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย
 
4. หากมาตรการทางภาษีไม่เพียงพอ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดมาตรการพิเศษ โดยให้รัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้า ประปา และโทรคมนาคมมีอำนาจเพิ่มมูลค่าหนี้เกินกว่าความเป็นจริงในใบเรียกเก็บหนี้จากผู้ใช้บริการได้ ให้รัฐวิสาหกิจนำส่งเป็นรายได้เข้ากองทุนโดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายหรือค่าดำเนินการ และต้องไม่เรียกเก็บจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย
 
5. ต้องมีวิธีการเพื่อรักษาความเป็นธรรมในกรณีที่ภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดพลอยได้รับประโยชน์เกินกว่าที่ควรด้วย
 
6. หากคณะรัฐมนตรีเห็นว่า มีเหตุสมควรให้ตรวจสอบค้นหาความจริงถึงสาเหตุของสาธารณภัยที่เกิดขึ้น   ประสิทธิภาพของหน่วยงานในการจัดการกับปัญหา ความเสมอภาคและเป็นธรรมในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ความขัดแย้งระหว่างชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ หรือแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาในระยะยาว ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้คณะกรรมการอิสระชุดหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบค้นหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
 
7. เมื่อกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่ารัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบให้ประกาศภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัยมีระยะเวลาหนึ่งปี และให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการอิสระ
 
 
 
 
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ผู้เสนอเล็งเห็นว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังตื่นตัวอย่างมากกับปัญหาน้ำท่วม จึงตั้งใจจะระดมรายชื่อให้ครบหนึ่งหมื่นชื่อโดยเร็ว เพื่อเสนอต่อรัฐสภาในขณะที่กลิ่นอายของปัญหายังอยู่ในสังคม โดยคาดหวังว่าจะให้เป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนฉบับแรกที่ผ่านการพิจารณาของสภา
 
แต่ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเป็น “แนวคิดไม่ปิดตาย” กล่าวคือ อยู่ในระหว่างนำเสนอต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนทุกคนร่วมกันพิจารณา ถกเถียง ระดมความเห็น และหาแนวคิดที่อาจจะเป็นคำตอบร่วมกันให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนมาตรการสำหรับภาวะรวมใจแก้วิกฤตสาธารณภัยในปี 2554 นี้ และประเด็นอื่นๆ อีกมากที่ยังอยากชวนคิดชวนคุยด้วยกัน
 
 
 
ไฟล์แนบ