ภาครัฐเห็นค้าน ประชาชนขอตั้งองค์กรอิสระป้องกันการทรมาน

อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้ มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือเรียกสั้นๆ ว่าอนุสัญญา CAT มีผลใช้บังคับในไทยตั้งแต่ปี 2550 ประเทศไทยจึงมีหน้าที่หรือพันธกรณีต้องปฏิบัติตามหลักการในอนุสัญญา แต่กฎหมายไทยยังมีข้อจำกัดทั้งในแง่เนื้อหาและวิธีปฏิบัติ  ทุกฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่าประเทศไทยมีภาระหน้าที่ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกียวข้อง อีกหลายประเด็น
 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ติดตามศึกษาหาทางออกของปัญหาการทรมานอย่างเป็นรูปธรรมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยจัดทำร่างพ.ร.บ.ป้องกันและต่อต้านการทรมาน พ.ศ. ….. ขึ้นเพื่อนำเสนอต่อภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ 
 
เนื่องในวันป้องกันและต่อต้านการทรมานสากลวันที่ 26 มิถุนยานของทุกปี องค์กรดังกล่าวจึงจัดงานสัมมนาสาธารณะ “ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและต่อต้านการทรมานรูปธรรมของทางออกในการป้องกันและแก้ไข ปัญหาการทรมานในสังคมไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2554 ที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เพื่อเผยแพร่สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ นำเสนอปัญหาของการทรมาน และรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ

 

พูนสุข พูนสุขเจริญ
 

พูนสุข พูนสุขเจริญ ผู้ประสานงานฝ่ายวิชาการ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นำเสนอร่างพ.ร.บ.ป้องกันและต่อต้านการทรมาน พ.ศ. ….. โดยกล่าวว่า ผู้จัดทำร่างกฎหมายนี้ต้องการทำตุ๊กตาอีกตัวหนึ่งให้ฝ่ายรัฐพิจารณาว่าจะ แก้ไขกฎหมายอย่างไร ให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญาCATที่ไทยต้องปฏิบัติ
 
พูนสุขกล่าวถึงแนวคิดของการร่างกฎหมายครั้งนี้ ว่า คือ การเขียนนิยามคำในกฎหมาย เช่น คำว่า “การทรมาน”  “ความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานทางจิตใจ” กฎหมายนี้จะกำหนดให้การทรมานเป็นความผิดโดยเฉพาะต่างหากจากความผิดฐานทำร้าย ร่างกาย โดยไม่มีข้อยกเว้นแม้จะมีพฤติการณ์พิเศษ ภาวะสงครามหรือสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม กำหนดเขตอำนาจศาลให้เอาผิดกับผู้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรได้  เพิ่มโทษผู้กระทำความผิด กำหนดห้ามส่งกลับผู้ลี้ภัย การไม่ผลักดันส่งผู้ร้ายข้ามแดน และการเยียวยา
 
สำหรับกลไกการบังคับใช้ พูนสุขกล่าวว่าตุ๊กตาที่ตั้งขึ้นมา คือ ให้มีคณะกรรมการป้องกันและต่อต้านการทรมาน จำนวน 12 คน เป็นองค์กรใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะ มีอำนาจทั้งการป้องกันและการเยียวยาปัญหาการทรมาน โดยอาจจะตั้งสำนักงานป้องกันและต่อต้านการทรมานที่มีอำนาจสอบสวนขึ้นมาใหม่ หรืออาจจะให้ดีเอสไอเป็นองค์กรทำหน้าที่สอบสวน ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด
 
ทั้งนี้พูนสุขยอมรับว่า ข้อเสียของการร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่คือ การผลักดัน การหางบประมาณจะลำบาก การที่มีกฎหมายหลายฉบับจะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้จะสับสน และจากประสบการณ์การตั้งองค์กรใหม่ในประเทศไทยก็ยังไม่ได้ผล
 
หลังตัวแทนจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นำเสนอ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและต่อต้านการทรมาน พ.ศ. ….. แล้ว มีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ มาช่วยกันให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้
 
วันชัย รุจนวงศ์ รองอธิบดีกรมอัยการ สำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายของไทยที่มีอยู่สามารถรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีได้อยู่ แล้ว การที่ร่างกฎหมายนี้จะตั้งองค์กรอิสระใหม่ขึ้นมา ต้องระวัง เพราะปัจจุบันอำนาจขององค์กรอิสระในประเทศไทยยังสับสนมาก อำนาจทับซ้อนก้าวก่ายกันเยอะมาก ทำให้ผู้ปฏิบัติเริ่มไม่อยากทำงานแล้ว
 
วันชัยกล่าวถึงเรื่อง การตั้งคณะกรรมการป้องกันและต่อต้านการทรมานขึ้นมาเป็นองค์กรใหญ่อีกองค์กร หนึ่ง ว่า ก่อนหน้านี้งานเรื่องการทรมานซึ่งเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ในอำนาจของคณะ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่แล้ว ถ้าตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่จะแบ่งงานกันอย่างไร จะเอางบประมาณและเจ้าหน้าที่มาจากไหน การที่จะมีกฎหมายนี้เป็นเรื่องดี แต่ต้องดูเรื่องความซ้ำซ้อนขององค์กร การที่องค์กรหนึ่งทำงานไม่ดีก็ตั้งองค์กรใหม่ จะทำให้มีองค์กรเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด
 
วันชัยยังกล่าวอีกว่า ร่างกฎหมายนี้เขียนคำนิยามที่สับสนมาก ที่จริงไม่ควรยกเอาคำจากอนุสัญญามาใส่ในกฎหมายไทยโดยตรง เพราะจะเข้าใจยาก เช่น คำว่า “เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล” “การรบกวนสติหรือบุคลิกภาพอย่างร้ายแรง” นักกฎหมายทั่วไปไม่มีทางเข้าใจได้เลยว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน ทำให้กฎหมายไม่มีความชัดเจน การเขียนกฎหมายเพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญาตามปกติแล้วจะไม่เขียนนิยาม แต่จะเอาเนื้อหามาเขียนเป็นความผิดเลย ซึ่งก็ชัดเจนเพียงพอแล้ว

 

 
สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กล่าวว่า หลักการโดยทั่วไปของอนุสัญญาได้บัญญัติไว้ในร่างกฎหมายนี้อย่างครอบคลุมแล้ว แต่ถ้าจะตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา จากประสบการณ์ที่ผ่านมาการประชุมคณะกรรมการแต่ละครั้งจะนัดกันยากมาก แต่เรื่องการทรมานเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงยากที่จะออกแบบกลไกให้เป็นไปตามหลักการได้ เพราะต้องไปร่างระเบียบ ร่างกฎกระทรวงอีกหลายฉบับ ทุกวันนี้แค่จะขอบุคลากรมา1-2 คนยังยาก หน่วยงานใหม่หลายหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาก็ยังทำงานไม่ได้ จึงไม่อยากให้คาดหวังว่าถ้ามีหน่วยงานใหม่แล้วจะมีประสิทธิภาพช่วยให้ ประชาชนถูกละเมิดน้อยลง อยากให้ช่วยกันพัฒนากลไกที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากกว่า
 
รศ.ดร.ประธาน วัฒนวาณิชย์ อาจารย์พิเศษประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ควรจะระบุให้ชัดเจนให้มีหน่วยงานเดียวทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน หากเป็นดีเอสไอก็ต้องตั้งแผนกพิเศษขึ้นมา อัยการก็ให้มีแผนกเฉพาะ ศาลก็มีศาลเดียวที่พิจารณา ระยะเวลาในการสอบสวนการกระทำความผิดน่าจะเขียนไว้ให้ชัด เพราะความผิดฐานทรมานไม่น่าจะใช้เวลานาน และเสนอให้เขียนเรื่องเขตอำนาจศาลให้ชัดเจนว่า ถ้าผู้ทำการทรมานเป็นคนต่างชาติจะขึ้นศาลไทยได้หรือไม่
 
ผู้เข้าร่วมการสัมนาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ร่วมให้ความเห็นด้วยว่า ถ้าจะบัญญัติร่างกฎหมายเช่นนี้ยังไม่ตรงจุด จะมีแต่โครงสร้างและปฏิบัติไม่ได้ เช่นเดียวกับโครงสร้างองค์กรอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่เชื่อว่าอีกสิบปีจึงจะบังคับใช้ได้ แต่ปัจจุบันมีวิธีการที่ทำได้ทันที คือ สามารถระบุให้คดีทรมานเป็นคดีพิเศษ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตกเป็นผู้ต้องสงสัยก็จะอยู่ในอำนาจการสอบสวนของดี เอสไอได้ วิธีการนี้ง่ายและปฏิบัติได้มากกว่า ทั้งนี้กฎหมายนั้นสามารถพัฒนาได้ให้มีลักษณะเป็นสากล แต่เป็นคนละประเด็นกับประสิทธิภาพ และความสัมฤทธิ์ผลของเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องพัฒนาต่อไป
 
สมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ถ้าจะให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างได้ผล อาจจะต้องแก้ไขกฎหมายประมาณ 20 ฉบับและกฎระเบียบต่างๆ อีกหลายฉบับ เพราะมีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดฐานความผิด การควบคุมตัว การเยียวยา ฯลฯ จึงสนับสนุนให้ทำเป็นกฎหมายพิเศษแยกมาต่างหาก เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะต้องไปแก้อีกหลายฉบับ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายในประเทศไทยนั้นยุ่งยากและใช้เวลานาน
 
ด้านพิกุล พรมจันทร์ ญาติของผู้เสียหายจากการถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้ก็ดี โดยส่วนตัวเห็นด้วยบางข้อ แต่ยังมีข้อบกพร่องบ้าง เช่น การเยียวยา การคุ้มครองพยาน ที่ร่างไว้ดูสวยแต่ในทางปฏิบัติยังไม่เห็นทาง คิดว่าควรจะต้องออกเป็นกฎหมายเฉพาะมากกว่าการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เดิม และควรต้องแนบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนให้เจ้าหน้าที่ด้วย
 
ส่วนประเด็นที่ถกเถียงกันว่าควรจะตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาดูแลหรือใช้องค์กรที่ มีอยู่แล้วนั้น พิกุล เห็นว่า ควรจะมีองค์กรเฉพาะขึ้นมา เพราะถ้าให้องค์กรที่มีอยู่แล้วรับผิดชอบดูแลเรื่องการซ้อมทรมานยังไม่ดีพอ ควรให้เป็นองค์กรอิสระอื่นที่ภาคประชาสังคมต้องสามารถตรวจสอบการทำงานนี้ได้ ด้วย

 

 

ที่มาภาพหน้าแรก Mark Coggins