ร่วมลงชื่อ เพื่อสิทธิคนทำงานบ้าน

แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่มีบทบัญญัติคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานให้แก่นายจ้าง ให้ได้รับค่้าจ้าง สวัสดิการ วันหยุด ค่าชดเชย การคุ้มครองจากงานบางประเภท ฯลฯ และสิทธิประํโยชน์ต่างๆ อยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็มีกฎกระทรวง (ตามไฟล์แนบ) ที่ยกเว้นไม่ให้สิทธิต่างๆ นี้ครอบคลุมไปถึงกรณีลูกจ้างที่ทำงานบ้านด้วย

ทั้งที่ในปี พ.ศ. 2553 มีคนที่มีอาชีพทำงานในบ้าน หรือ คนทำงานบ้าน ที่จะทะเบียนถึงกว่า 80,000 คน และที่ไม่จดทะเบียนซึ่งมีทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายอีก คาดว่าไม่น้อยกว่า 500,000 คน ซึ่งแรงงานที่ทำงานบ้านส่วนใหญ่จะพักอาศัยอยู่ในบ้านกับเจ้าของบ้าน ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องค่าแรง วันหยุด และสวัสดิการต่างๆ ซ้ำร้ายยังไม่มีกฎหมายใดๆ คุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงานที่ทำงานบ้านเหล่านี้เลย

สถานการณ์ของแรงงานทำงานบ้านเหล่านี้ จึงมักตกเป็นเหยื่อทีุ่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างอยู่เป็นประจำ ส่วนใหญ่ได้ค่้าตอบแทนต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีวันหยุด ไม่มีเวลาพัก และเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นหญิงวัยรุ่นถึงวัยกลางคนจึงเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้างได้ง่าย

เนื่องในโอกาสตัวแทนจากรัฐบาลไทยจะไปเข้าร่วมประชุมองค์กรระหว่างประเทศ (ILO) ที่กรุงเจนีวาในเดือนมิถุนายน 2554 นี้ กลุ่มแรงงานทำงานในบ้านทั้งที่เป็นพี่น้องแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (ม.พ.ด.) และมูลนิธิ HOMENET ได้รวมตัวกัน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ รัฐบาลไทยสนับสนุน ร่างกฎหมายของ ILO เรื่องการคุ้มครองแรงงานทำงานในบ้าน กำหนดมาตรการแรงงานทำงานบ้านคุ้มครองที่เป็นรูปธรรม เช่น ให้มีวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วันและวันหยุดตามประเพณี ให้มีค่าตอบแทนเท่ากับค่าแรงขึ้นต่ำ รวมทั้งการมีสภาพการทำงานและการอยู่อาศัยในบ้านนายจ้างอย่างปลอดภัย

โดยทางกลุ่มแรงงานทำงานในบ้านจะนำแถลงการณ์นี้พร้อมกับรายชื่อผู้ร่วมสนับสนุน ไปมอบให้กับตัวแทนรัฐบาลไทย ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมลงชื่อเป็นส่วนหนึ่งเพื่อส่งเสริมสิทธิของแรงงานทำงานบ้าน

 

วิธีการลงชื่อ คือ

1. เขียนชื่อจริง นามสกุลจริง 

2. อาชีพ

3. เบอร์โทรศัพท์ หรือ ที่อยู่

4. เลขบัตรประจำตัวประชาชน

ส่งอีเมล์ไปที่ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ดนัยกฤต ศรีคาน [email protected]

 

 

แถลงการณ์ข้อเรียกร้องแรงงานทำงานในบ้าน
“สิทธิแรงงานทำงานในบ้าน คือสิทธิแรงงาน และ สิทธิมนุษยชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน”

แรงงานทำงานบ้านมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของคนในบ้านและสังคม ในประเทศไทยเอง จำนวนแรงงานทำงานในบ้านทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยนั้นมีจำนวนไม่น้อย สถิติอย่างเป็นทางการล่าสุดจากสำนักงานบริหารต่างด้าว พบว่า จำนวนแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนบัตรอนุญาติทำงานอาชีพทำงานในบ้านในปี พ.ศ. 2553 มีถึง 80,000  กว่าคน เมื่อนำไปรวมกับจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ไม่จดทะเบียน โดยประมาณการว่ามีอีกเป็นเท่าตัว* และที่เป็นแรงงานไทยที่ทำงานในบ้าน คาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 500,000 คน ความต้องการแรงงานทำงานในบ้านมีเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่สมาชิกวัยแรงงานของครอบครัวส่วนใหญ่ ต้องออกมาทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถดูแลงานในบ้านด้วยตนเองได้อย่างเพียงพอ ดังนั้น แรงงานทำงานในบ้าน จึงนับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สภาพเศษรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้โดยราบรื่นอย่างปฏิเสธไม่ได้

แต่สภาพการทำงานรวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานทำงานในบ้านเอง กลับไม่มีความราบรื่นอย่างที่แรงงานพึงได้รับ เนื่องจากกฎหมายยังไม่ให้การยอมรับว่า งานบ้านคืองาน ทำให้งานบ้านถูกรวมเข้าเป็นงานนอกระบบ ที่ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะให้การคุ้มครองสิทธิแก่แรงงานเหล่านี้ ส่งผลให้ชีวิตของแรงงานทำงานในบ้านไม่ต่างกับการเสี่ยงโชค ไม่รู้ว่าตนจะเจอนายจ้างแบบไหน ค่าจ้างจะได้เท่าไร สภาพการทำงานและความเป็นอยู่ในบ้านนายจ้างจะเป็นเช่นไร คนทำงานในบ้านจึงขาดกลไกการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นวันหยุดประจำสับดาห์ วันหยุดประจำปี เวลาทำงานที่แน่นอน ค่าจ้างที่เป็นธรรม รวมทั้งสภาพการทำงานและการอยู่อาศัยในบ้านนายจ้างอย่างปลอดภัย ซึ่งแรงงานทำงานในบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ จึงมีความเสี่ยงเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มเข้ามาอีก การขาดกฎหมายคุ้มครองประกอบกับความโดดเดี่ยวในบ้านนายจ้าง นอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดแล้ว ยังปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิอีกด้วย จึงนับว่าแรงงานทำงานในบ้านในประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิเป็นอย่างมาก ชึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าวกลุ่มแรงงานทำงานในบ้านในประเทศไทยร่วมกับองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติจึงร่วมกันรณรงค์เพื่อสิทธิของแรงงานทำงานในบ้านมาโดยตลอด เนื่องในโอกาสตัวแทนจากรัฐบาลไทยจะไปเข้าร่วมประชุมองค์กรระหว่างประเทศ (ILO) ที่กรุงเจนีวาในเดือนมิถุนายน 2554 นี้ กลุ่มแรงงานทำงานในบ้านทั้งที่เป็นพี่น้องแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (ม.พ.ด.) และมูลนิธิ HOMENET ได้รวมตัวกัน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้มีการ

* ขอให้รัฐบาลไทยสนับสนุน ร่างกฎหมายของ ILO เรื่องการคุ้มครองแรงงานทำงานในบ้าน
* ขอให้รัฐบาลไทยช่วยดูรายละเอียดเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน จริงจัง เป็นธรรม รอบด้าน ตลอดจนดูแล และเอาใจใส่ เพื่อให้มีการ
   คุ้มครองแรงงานทำงานในบ้านอย่างแท้จริง และภายใต้กฎหมายนี้ขอให้มีการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติรวมอยู่ด้วย
* กำหนดมาตรฐานการจ้างแรงงานทำงานในบ้านด้วยการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานทำงานในบ้าน
* ให้มีกลไกการคุ้มครองสิทธิอย่างรอบด้าน รวมทั้งจะต้องให้การคุ้มครองวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน ต่อสัปดาห์
  โดยไม่หักค่าจ้าง
* การกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอน, การมีวันหยุดตามประเพณี
* การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งการมีสภาพการทำงานและการอยู่อาศัยในบ้านนายจ้าง
   อย่างปลอดภัย

โดยทางกลุ่มแรงงานทำงานในบ้านจะนำแถลงการณ์นี้พร้อมกับรายชื่อผู้ร่วมสนับสนุน ไปมอบให้กับตัวแทนรัฐบาลไทย ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2554   
  

ท้ายที่สุดนี้กลุ่มแรงงานทำงานในบ้านขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลายในสากลโลกจงคุ้มครองตัวแทนจากรัฐบาลไทยให้เดินทางเข้าร่วมการประชุมฯ โดยสวัสดิภาพและเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับข่าวดีหลังการประชุมนี้เรื่องการมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานทำงานในบ้าน
 

 

โดยกลุ่มแรงงานทำงานในบ้านในประเทศไทยจากจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร

  24 พฤษภาคม 2554

 

*การประมาณโดยมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation)

 

 

ไฟล์แนบ