เอฟทีเอว็อทช์ ยื่นศาลปกครอง ฟ้องประธานสภาและเลขาธิการสภาฯที่ไม่รับร่าง ปชช.หมื่นชื่อ

จากกรณีที่ภาคประชาชนได้เข้าชื่อกัน 10,378 ชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ โดยยื่นต่อรัฐสภาแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของสภา พิจารณาว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอกฎหมายเรื่องนี้ ไม่เข้าตามหมวด 3 และหมวด 5 ซึ่งเป็นหมวดที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าประชาชนเสนอกฎหมายได้

วันนี้ (20 ต.ค. 52) เมื่อเวลา 10.30 น. นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานโครงการพัฒนากระบวนการจัดทำหนังสือสัญญา ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) พร้อมด้วย นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้เดินทางมาที่ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นฟ้อง นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เป็นจำเลยที่ 1 และ นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลปกครองกลางในกรณีที่ไม่รับร่างพ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ….ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภาไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 โดยใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าหลักการของร่างพ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. …. ไม่เข้าเงื่อนไขในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
นายจักรชัย โฉมทองดี ตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า การที่เอฟทีเอ ว็อทช์ต้องมาพึ่งศาลปกครอง เพราะประธานรัฐสภา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.๒๕๔๒ และประกาศรัฐสภาเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.๒๕๔๒ ให้อำนาจประธานรัฐสภาในการวินิจฉัยสั่งการว่าเรื่องที่มีผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเรื่องใดเข้าหลักการที่บัญญัติในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ การใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการดังกล่าวของประธานรัฐสภาจึงเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติธรรมดา เมื่อมีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนในฐานะเป็นผู้เข้าชื่อและผู้แทนการเสนอกฎหมาย จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก ศาลย่อมมีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณา
 
“คำสั่งไม่รับร่าง พรบ. ดังกล่าว เป็นการลิดรอนขัดขวางการใช้สิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนที่จะเสนอกฎหมายที่มีหลักการและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของประชาชน เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการประกันสิทธิในการได้รับทราบข้อมูล คำชี้แจงอันเป็นสาระสำคัญและเหตุผลจากรัฐบาล รวมทั้งมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองต่อรัฐบาลและต่อรัฐสภาอย่างเพียงพอ ก่อนที่รัฐบาลไปตกลงผูกพันกับนานาประเทศเพื่อทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้าหรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ร่าง พรบ.นี้จึงเป็นกฎหมายที่มีหลักการเกี่ยวกับเรื่องที่บัญญัติในหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญฯ ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 มาตรา 5 วรรคสองบัญญัติไว้ แต่ประธานรัฐสภาอ้างในว่ากฎหมายนี้ อยู่ในมาตรา 190 ตามหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญจึงเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในการจัดทำกฎหมายเท่านั้น ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน เพราะหลักการข้อนี้ไม่อาจตีความเกินเลยไปได้ว่าการที่คณะรัฐมนตรีมีอำนาจจัดทำกฎหมายนั้น เป็นการห้ามมิให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือภาคส่วนอื่นๆเช่น ส.ส. เข้าชื่อกันเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อรัฐสภาด้วย
 
นอกจากนี้ที่ผ่านมาประธานรัฐสภาคนก่อนๆ เคยรับร่าง พรบ.ที่เสนอโดยประชาชน ด้วยการตีความอย่างกว้างมีลักษณะยืดหยุ่น โดยคำนึงถึงหลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติว่าเข้าหลักการของหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ เป็นสำคัญยิ่งกว่าการที่ต้องอ้างอิงบทมาตราในรัฐธรรมนูญฯ ทั้งสองหมวดดังกล่าว เช่น ร่างพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดภูเวียง พ.ศ. …., ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดฝาง พ.ศ. …., นอกจากนี้ แนวทางการตีความของประธานรัฐสภาที่ผ่านมายังยอมรับให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภาในเรื่องต่าง ๆ ที่มีหลักการเนื้อหาหลากหลายโดยที่ไม่ได้ระบุว่าหลักการของกฎหมายที่เสนอนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติหรือข้อความใดในหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตัวอย่างเช่น พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …., ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการจดทะเบียนและซื้อขายหลักทรัพย์ของกิจการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์และบุหรี่ พ.ศ…
 
ไม่เพียงเท่านั้น การกระทำของประธานรัฐสภาและเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมและมาตรฐานในการปฏิบัติราชการทางปกครองตามที่บัญญัติในมาตรา 37 ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 อย่างชัดแจ้งในเรื่องสิทธิของประชาชนที่จะได้รับทราบเหตุผลประกอบคำสั่งไม่รับคำขอฯ ทั้งนี้ พวกเราจึงขอพึ่งศาลปกครองให้พิจารณาเรื่องดังกล่าว และสั่งการให้ประธานรัฐสภา และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารตามขั้นตอนการพิจารณากฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อตามกระบวนการต่อไป”
 
ทั้งนี้ ตัวแทนเอฟทีเอ ว็อทช์ ยังกล่าวอีกว่า การรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชน ไม่ได้มีเพียง ร่าง พรบ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เท่านั้น แต่ยังมีร่างกฎหมายอีกหลายฉบับที่อยู่ระหว่างการดำเนินการรวบรวมรายชื่อ, ตรวจสอบรายชื่อ อาทิ พรบ.ยา, พรบ.สิทธิบัตร, พรบ.ผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข, พรบ.เข้าถึงยา ฯลฯ “ดังนั้นการวินิจฉัยของประธานรัฐสภาเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนอย่างรุนแรง”

ไฟล์แนบ