ก่อนท้องฟ้าจะสดใส : กกต. กำลังทำให้ #สว67 เลือกด้วยระบบปิด ประชาชนเข้าไม่ถึง และเอื้อผู้มีอิทธิพล

26 เมษายน 2567 เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งการให้ “ปิดล็อก” กระบวนการเลือกวุฒิสภา (สว.) ชุดต่อไปให้เกิดขึ้นเพียงในพื้นที่ปิดลับสำหรับผู้สมัคร และตัดการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนออกจากสมการที่จะตัดสินใจว่าใครจะได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยการออกระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 (ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ)  ซึ่งมีเนื้อหาไม่ให้ผู้สมัครแนะนำตัวหรือประกาศตัวต่อสาธารณะ แต่ให้คุยกันเองในวงเล็กๆ ด้วยข้อมูลที่จำกัดเท่านั้น 

ระเบียบที่ประกาศออกมาแล้วใช้บังคับทันทีกำลังทำให้บรรยากาศการเลือก สว. ในปี 2567 เปลี่ยนไป จากที่สังคมกำลังเรียนรู้แล้วเริ่มสนใจกระบวนการเลือกวุฒิสภา และมีผู้ที่เตรียมตัวลงสมัครคัดเลือกทยอยประกาศตัวให้สาธารณะและให้ผู้สมัครคนอื่นได้รู้จัก กลับกลายเป็นบรรยากาศที่ผู้สมัครไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าแนะนำตัว เพราะไม่แน่ใจว่าขอบเขตของการแนะนำตัวอยู่ที่ไหน และทำให้บรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชนลดลง

iLaw ในฐานะผู้รณรงค์สร้างความรับรู้และเชิญชวนประชาชนไปสมัครเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือก สว. มีข้อสังเกตต่อระเบียบฉบับดังกล่าว ดังนี้

1. วันเวลาของการออกระเบียบแสดงถึงความไม่สุจริต

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 36 ให้อำนาจแก่ กกต. ในการออกระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัว ซึ่งกกต. มีเวลาตั้งแต่ปี 2561 ที่จะยกร่างและประกาศใช้ระเบียบดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศในช่วงใกล้วันจัดการเลือก สว. แต่สามารถประกาศใช้ล่วงหน้าหลายปีก็ได้เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เตรียมตัวสมัคร สว. สามารถทำความเข้าใจกฎกติกาได้ล่วงหน้า และวางแผนการหาเสียงหรือการแนะนำตัวได้ถูกต้อง หาก กกต. ประกาศใช้ระเบียบฉบับนี้เร็วก็จะยิ่งช่วยให้ทั้งเจ้าหน้าที่ของ กกต. เอง ผู้สมัคร สื่อมวลชน และประชาชน มีเวลามากขึ้นในการทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา สว. ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ปลอดภัย และมีคุณภาพ

ในปี 2567 เมื่อกำหนดการของการเลือก สว. ชุดต่อไปกำลังใกล้เข้ามาหลายฝ่ายก็สอบถาม กกต. มาอย่างต่อเนื่องว่า จะประกาศหลักเกณฑ์ที่สำคัญนี้เมื่อใด จนกระทั่งวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักงาน กกต. ออกข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่า จะส่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 23 เมษายน 2567 แต่พอถึงวันที่ 23 ก็ไม่มีประกาศฉบับดังกล่าวออกมา และไม่มีคำชี้แจงใดๆ จนกระทั่งวันที่ 26 เมษายน 2567 เวลาประมาณ 20.40 น. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาจึงเผยแพร่ ซึ่งลงนามโดยอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. และลงนามในวันที่ 25 เมษายน 2567 เป็นการลงนามช้ากว่าที่เคยแจ้งต่อสาธารณะ จึงแสดงให้เห็นว่ามีกระบวนการทบทวนหรือพิจารณาระเบียบฉบับนี้ที่ทำให้ใช้เวลามากขึ้นเป็นพิเศษ ในระหว่างวันที่ 18-23 เมษายน 2567

ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ยังกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กล่าวคือ มีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 27 เมษายน 2567 เวลา 00.00 น. หมายความว่า มีเวลาไม่ถึงสี่ชั่วโมงให้ผู้สมัคร สื่อมวลชน และประชาชน ศึกษาและเตรียมตัวก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ หากมีการกระทำใดที่ต้องห้ามก็ต้องเลิกทำภายในสี่ชั่วโมง หากมีผู้ใดที่ไม่ได้ตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดหรือไม่ได้ติดตามข่าวสารในช่วงค่ำวันศุกร์ ก็อาจจะไม่ทราบและไม่ได้หยุดการกระทำได้ตรงเวลา ทำให้มีความผิดได้ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี (พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 70)

การออกระเบียบในลักษณะนี้จึงจงใจไม่ให้ผู้สมัครและประชาชนมีเวลาเตรียมตัว ซึ่งอาจส่งผลร้ายให้บุคคลที่ทำกิจกรรมรณรงค์อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับต้องได้รับโทษทางอาญา

2. ระเบียบการแนะนำตัว ขัดต่อเจตนารมณ์ของการเลือก สว.

ระบบการเลือก สว. ในปี 2567 เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และพ.ร.ป.สว. ฯ ผู้ที่ยกร่าง คือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญ 2560 หน้า 189 เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภาก็ได้กำหนดไว้ว่า “ให้สมาชิกวุฒิสภามีฐานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มิใช่ผู้แทนของแต่ละกลุ่มหรือแต่ละจังหวัด” และ “เพื่อให้บรรลุตามหลักการสำคัญที่กำหนดไว้ในแนวนโยบายแห่งรัฐมาตรา 78 ที่บัญญัติให้ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองและการอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน”

นอกจากนี้ บันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในการพิจารณาร่างพ.ร.ป.สว. ฯ วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2558 ยังมีตอนหนึ่งที่ เมธา ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงไว้ว่า “ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในขั้นตอนสุดท้าย ควรจัดทําเว็บไซต์เพื่อให้เป็นผู้สมัครซึ่งเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ทำงาน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยการตัดสินใจให้แก่ผู้สมัครซึ่งเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนในการลงคะแนนได้มากขึ้น และลดปัญหาโต้แย้งกรณีอ้างว่าผู้สมัครไม่รู้จักผู้สมัครในกลุ่มอื่น”

ดังนั้น เจตนารมณ์ของระบบการเลือก สว. คือ ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ สว. ซึ่งเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มเฉพาะ และการจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตาม มีส่วนร่วม ให้ผู้สมัครสามารถค้นหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจได้ เป็นสิ่งที่ควรทำ ส่วนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ที่ออกมาบังคับใช้ซึ่งห้ามผู้สมัครลงข้อมูลบนเว็บไซต์ให้ประชาชนและผู้สมัครคนอื่นเข้าถึงข้อมูล ปิดกั้นการรับรู้การมีส่วนร่วมจากประชาชนที่ไม่ได้ลงสมัครด้วย จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของกระบวนการเลือก สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560

3. ความไม่ชัดเจนของระเบียบ ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงข่าวสาร

ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ที่ประกาศใช้ออกมายังคงมีความคลุมเครือและเปิดช่องให้เกิดการตีความได้มาก โดยเฉพาะในข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 9 ซึ่งกำหนดวิธีการแนะนำตัวของผู้สมัครให้ใช้กระดาษขนาดเอสี่ไม่เกินสองหน้า แต่ไม่ได้กำหนด “ห้าม” ทำสิ่งอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ เช่น การโทรศัพท์ไปพูดคุยกับผู้สมัครคนอื่น หรือ การใช้รถแห่ หรือการพูดบนเวทีสาธารณะ ก็ยังไม่ได้มีกฎหมายที่สั่งให้ทำได้หรือทำไม่ได้ 

ข้อ 11 (5) ยังห้ามผู้สมัครให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังวันที่มีพระราชกฤษฎีกา หลังจากระเบียบมีผลบังคับใช้ iLaw ได้รับคำถามจำนวนมากจากผู้ที่ทำงานในแวดวงสื่อมวลชนว่า หากมีการสัมภาษณ์เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อถึงวันที่มีพระราชกฤษฎีกาแล้วจะต้องเอาข้อมูลที่นำเสนอไปแล้วออกจากระบบหรือไม่ ซึ่งกกต. ไม่เคยอธิบายหรือมีคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้ และเมื่อเกิดความไม่ชัดเจน ทุกคนจึงเลือกจัดลำดับ “ความปลอดภัย” เป็นความสำคัญลำดับที่หนึ่ง เมื่อไม่มีความแน่นอนก็เลือกที่จะยังไม่ทำอะไร

นับตั้งแต่มีระเบียบฉบับนี้บังคับใช้ ผู้เตรียมตัวสมัคร สว. ก็ไม่กล้าที่จะประกาศตัวหรือแนะนำตัวต่อสาธารณะ ด้านสื่อมวลชนก็ไม่กล้าที่จะรายงานข่าวเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว. ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนอีกจำนวนมากที่อาจจะยังไม่ทราบกระบวนการและวิธีการมีส่วนร่วมมีโอกาสสูงที่จะเข้าไม่ถึงข่าวสาร หรือพลาดโอกาสการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือก สว. ที่จะเกิดขึ้น

4. เนื้อหาของระเบียบทำให้การเลือก สว. เป็นระบบปิด เอื้อผู้มีอิทธิพล

ระเบียบการแนะนำตัว ข้อ 7 จำกัดวิธีการแนะนำตัวของผู้สมัครให้เขียนข้อมูลส่วนตัวและประวัติการทำงานในกระดาษเอสี่ได้ไม่เกินสองหน้า และไม่ให้เขียนเนื้อหาอื่นที่มีความสำคัญกับการทำหน้าที่ สว. เช่น จุดยืนในการออกกฎหมาย จุดยืนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแนวทางการเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้งที่เป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของ สว. โดยเอกสารแนะนำตัวนี้จะส่งให้แก่ผู้สมัครคนอื่นก็ได้ แต่ไม่ให้ส่งในวันเลือก และข้อ 8 ตีกรอบให้ผู้สมัครที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์แนะนำตัวต้องส่งข้อความภายใต้ข้อจำกัดนี้เท่านั้น และให้ส่งให้ผู้สมัครคนอื่นเท่านั้น ห้ามส่งให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วย

ข้อจำกัดเหล่านี้จะบีบให้ผู้เตรียมตัวสมัคร สว. จะต้องมีภารกิจในการตามหาผู้สมัครคนอื่นๆ ในอำเภอเดียวกันและกลุ่มอาชีพเดียวกันด้วยตัวเองเพื่อการแนะนำตัวด้วยตัวเองโดยไม่อาจเปิดเผยจุดยืนทางการเมืองของตัวเองผ่านเอกสารแนะนำตัวได้ และไม่สามารถตามหากันด้วยสื่อออนไลน์ได้ กติกาเช่นนี้จึงเป็นการสนับสนุนให้เกิดการจัดกิจกรรมพบปะระหว่างผู้เตรียมตัวลงสมัครด้วยกันเอง และเป็นการผลักดันให้ผู้เตรียมตัวลงสมัครต้องเข้าร่วมกิจกรรมแนะนำตัวในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปิดลับ ไม่ถูกสาธารณะจับตาหรือตรวจสอบ และเอื้อต่อการ “ฮั้ว” หรือเจรจาต่อรอง ไม่ว่าจะมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อื่นด้วยหรือไม่ แตกต่างจากการเปิดให้ผู้สมัครสามารถประกาศจุดยืนของตัวเองต่อสาธารณะซึ่งจะทำให้ผู้สมัครคนอื่นศึกษาทำการบ้าน และตัดสินใจลงคะแนนจากจุดยืนของผู้สมัครได้

นอกจากนี้การออกระเบียบเพื่อให้เกิดการแนะนำตัวแบบ “ระบบปิด” อาจจะส่งผลให้กระบวนการคัดเลือก สว. ครั้งนี้คนที่มีอิทธิพลหรือมีเครือข่ายถือความได้เปรียบเหนือกว่าคนที่ทำงานจริง มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และเป็นที่รู้จักของสาธารณชน และยังทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ลงสมัครขาดการรับรู้ ขาดการมีส่วนร่วม โดยประชาชนแทบไม่มีโอกาสได้รู้ว่า มีผู้ใดลงสมัครรับเลือกบ้าง ทั้งที่ประชาชนเป็นหูเป็นตาที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยตรวจสอบคุณสมบัติ หรือความเหมาะสมของผู้สมัคร หรือจับตาหากผู้สมัครคนใดทำผิดกฎหมาย และช่วยกันแสดงความคิดเห็นหรือชี้เบาะแสผู้กระทำผิดได้ จึงกลายเป็นภาระของ กกต. เพียงลำพังที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครและดูแลกระบวนการทุกอย่างให้ถูกต้องโดยประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม

หลังจากที่ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ประกาศใช้ iLaw ได้อ่านและศึกษาโดยละเอียดแล้วมีความไม่เข้าใจ และไม่มั่นใจ ในการตีความหลายประเด็นในระเบียบฉบับนี้ จึงตัดสินใจที่จะปกป้องความปลอดภัยของข้อมูลผู้สมัคร สว. และรักษาความชอบด้วยกฎหมายของผู้เตรียมลงสมัคร สว. อย่างดีที่สุด โดยการนำข้อมูลออกจากระบบเว็บไซต์ senate67.com ไม่ให้สืบค้นได้โดยประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่อาจะไม่ได้ถูกต้องตามกฎหมายมากที่สุด แต่เคารพข้อมูลของผู้เตรียมตัวลงสมัคร สว. ให้มากที่สุด

การตัดสินใจครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ที่ประสงค์จะลงสมัคร สว. ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้สมัครคนอื่นเพื่อศึกษาและตัดสินใจไปลงสมัครเพื่อออกเสียงลงคะแนนได้ ผู้ที่ประสงค์สมัคร สว. จึงมีโอกาสเพียงแค่ตามที่ กกต. อนุญาต คือ การได้รับข้อมูลของผู้สมัครคนอื่นห้าบรรทัดเพื่อประกอบการตัดสินใจลงคะแนน ทำให้ภาพฝันที่เราอยากเห็นผู้สมัครมีโอกาสทำการบ้านล่วงหน้าและลงคะแนนออกเสียงตามอุดมการณ์ความเชื่อทางการเมืองของแต่ละคน เพื่อให้ สว. กลายเป็นสภาที่เป็นตัวแทนทางอุดมการณ์ของประชาชนได้นั้นเป็นจริงได้ยากขึ้น

แต่เป้าหมายสำคัญของการทำกิจกรรมเรื่อง สว.67 คือ การทำให้สว. ชุดต่อไปมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนยังเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องเดินหน้าต่อไป โดยการกระจายความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเลือกสว.67 ให้กว้างที่สุด และเชิญชวนประชาชนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าสมัคร สว.67 ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดกระบวนการที่มีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและออกเสียงลงคะแนนด้วยจำนวนมากที่สุด และให้เจตจำนงของประชาชนมีพลังมากกว่า “เสียงจัดตั้ง” หรือคนที่อาจจะ “ฉ้อฉล” เพื่อให้ตัวเองได้เป็น สว.

เป้าหมายนี้จะเดินหน้าด้วยการจัดกิจกรรมให้มากที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ และระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ที่ออกมาใหม่ และจะประสบความสำเร็จได้ด้วยแรงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากเท่านั้น