เร็วทันใจ! สว. สมชายแก้ดุษฎีนิพนธ์ เพิ่ม footnote แต่เนื้อหายังลอกเหมือนเดิม

จากการเปิดเผยว่าดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มาจากการแต่งตั้ง มีเนื้อหาที่เหมือนกับงานวิจัย บทความ หรือหนังสืออื่นหลายจุด การตรวจสอบล่าสุดไม่ถึงหนึ่งวันหลังจากเปิดเผย พบว่ามีการแก้ไขดุษฎีนิพนธ์ในระบบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว แต่เป็นเพียงการเพิ่มเชิงอรรถ (footnote) ในบางตอนเท่านั้น ส่วนเนื้อหาที่คัดลอกมานั้นไม่ได้มีการแก้ไข ยังเหมือนกับงานอื่นเช่นเดิม

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 18.00 น. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เปิดเผยว่าดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย” ของ สว. สมชาย แสวงการ จากสาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการคัดลอกเนื้อหาจากแหล่งข้อมูลอื่น เช่น จากหนังสือของสถาบันพระปกเกล้ากว่า 30 หน้า จากบทความในจุลสาร “จุลนิติ” ของ สว. หลายชิ้น รวมถึงจากบทความเกี่ยวกับ สว. แต่งตั้งของไอลอว์

จากนั้นในวันต่อมา 19 เมษายน 2567 เวลา 11.32 น. สำนักข่าว Spring News ลงคำสัมภาษณ์ของสมชาย โดย สว. แต่งตั้งชี้แจงว่าตนไม่ได้คัดลอกงานมาจากผลงานของคนอื่น ปัญหาที่ปรากฏนั้นเป็น “การตกหล่นเชิงอรรถและบรรณานุกรมในบททบทวนวรรณกรรม” ซึ่งตนไม่เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย และการตกหล่นอ้างอิง “เป็นความผิดพลาดเล็กน้อยที่แก้ไขแล้ว”

สมชายเสริมว่าการแก้ไขผ่านการขอการอนุมัติ และได้รับคำอนุมัติเรียบร้อยแล้ว

จากการตรวจสอบดุษฎีนิพนธ์ฉบับแก้ไขเร็วด่วนของสมชายซึ่งดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เมื่อเวลาประมาณ 11.45 น. ในวันเดียวกัน พบว่า มีการเพิ่มเชิงอรรถ (footnote) โดยใช้เครื่องหมายดอกจัน (*) ที่หัวข้อของเนื้อหาที่มีการคัดลอกมา โดยเฉพาะส่วนที่มาจากหนังสือของสถาบันพระปกเกล้า โดย ภูมิ มูลศิลป์ และชมพูนุช ตั้งถาวร เรื่อง“รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย” ดังในรูป

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาทั้งหมดยังเหมือนเดิม กล่าวคือ ข้อความในหน้า 38-64 (ในฉบับแก้ไขเลื่อนมาเป็นหน้า 65) ตรงกับหน้า 76-115 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้าเช่นเดิม ด้านข้อความส่วนอื่นที่คัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลอื่นโดยใส่เชิงอรรถให้ ซึ่งรวมถึงที่มาจากไอลอว์ด้วยนั้น ไม่มีการแก้ไขแต่อย่างใด

อีกทั้ง การแก้ไขนี้ก็ไม่ได้เพิ่มข้อความหรือใบปะหน้าที่ทำให้ผู้อ่านทราบได้ว่าอย่างชัดเจนว่าดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้มีการแก้ไขที่แตกต่างจากเมื่อครั้งที่เผยแพร่ครั้งแรก

หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้คำนิยาม Plagiarism ไว้ว่า “การแอบอ้างงานเขียนหรืองานสร้างสรรค์ดั้งเดิมของผู้อื่นทั้งหมดหรือนำมาบางส่วนมาใส่หรือมาใช้ในงานของตนเองโดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา (Citation) หรือประกาศเกียรติคุณ (Acknowledgment) ทั้งด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ” โดยมีทั้งรูปแบบการลอกข้อความมาโดยไม่อ้างอิง การลอกความคิดมาโดยดัดแปลงใหม่ให้คล้ายว่าเป็นของผู้เขียน การอ้างอิงผิด ไปจนถึงการไม่ใส่เครื่องหมาย อัญประกาศ (” “) ให้ถูกต้อง ซึ่งแม้จะมีการอ้างอิงแล้ว ก็ยังถือว่าเป็น “การโจรกรรมทางวิชาการ” เช่นเดิม การหลีกเลี่ยง Plagiarism นั้น ผู้เขียนจึงต้องเขียนงานให้รัดกุม หากจะนำแนวคิดผู้อื่นมาใช้ก็ควรอ้างอิงให้ถูกต้อง และกลั่นออกมาเขียนเป็นภาษาของตนเองให้ได้

การเพิ่มเชิงอรรถก็ยังไม่อาจหลีกเลี่ยงข้อครหาว่ามีการคัดลอกได้ ไม่ว่าจะเป็นบททวนวรรณกรรมหรือส่วนใดก็ตามในงานวิจัย ก็ต้องทำการอ้างอิงให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ได้รวมถึงแค่การมีเชิงอรรถเท่านั้น แต่หมายถึงการสรุปความด้วยตัวเองเพื่อแสดงความเข้าใจต่อเนื้อหาที่ตนเขียนด้วย สมชายกล่าวเองว่าว่าตนลอกบางเนื้อหามา “อันไหนที่เห็นว่าดีก็ลอกแล้วเอามาใส่” เพียงแต่ “ที่ไม่ใส่ชื่อคนเพราะมันหมิ่นประมาท”

สำหรับกระบวนการแก้ไขที่รวดเร็วของสมชายนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้มีช่องทางในการแก้ไขวิทยานิพนธ์เอาไว้ จึงเป็นคำถามว่าการแก้ไขสายฟ้าแลบดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ช่องทางหนึ่งที่พอจะเป็นไปได้ตามที่ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุคือในกรณีที่ส่งวิทยานิพนธ์เข้าระบบผิดเอาไว้ โดยต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาพร้อมด้วยกรรมการสอบลงนามอนุมัติด้วย หมายความว่า หากมีการแก้ไขในช่องทางนี้ ผู้อนุมัติในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาของสมชาย คือ ศาสตราจารย์ อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน ต้องเซ็นยินยอมให้มีการแก้ไขได้ภายในเวลาไม่นาน 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าในกรณีดุษฎีนิพนธ์ของสมชายนั้นสามารถใช้ช่องทางการแก้ไขนี้ได้หรือไม่ เพราะห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่าการแก้ไข “ควร” ทำให้เสร็จก่อนวันสุดท้ายของภาคการศึกษา อีกทั้งยังไม่ชัดเจนว่าคณะกรรมการสอบดุษฎีบัณฑิตคนอื่นทราบถึงการแก้ไขนี้หรือไม่ เนื่องจากหน้าที่มีลงนามลายเซ็นอนุมัติการจบการศึกษายังคงเป็นเช่นเดิมไม่มีการแก้ไข

ด้านข้อบังคับหรือระเบียบอื่น ๆ  ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าสามารถแก้ไขดุษฎีนิพนธ์ที่ผู้เขียนสำเร็จการศึกษาแล้วได้ผ่านช่องทางใด ประกาศคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องแนวปฏิบัติการทำวิทยานิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ พ.ศ. 2563 ข้อ 33 เพียงระบุว่าห้ามไม่ให้ “คัดลอกผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานของบุคคลอื่น หรือของตนเองที่ได้นำเสนอหรือเผยแพร่ไปแล้วโดยไม่จัดทำการอ้างอิงให้ถูกต้องตามระเบียบวิจัย”

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป