17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องที่รัฐสภามีมติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาว่า การเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น รัฐสภาจะมีอำนาจในการลงมติพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน หลังรัฐสภามีมติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
ที่มาของการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องจากวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ไม่บรรจุวาระร่างแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตั้ง สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เสนอโดย ชูศักดิ์ ศิรินิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย ชูศักดิ์จึงตัดสินใจยื่นญัตติต่อรัฐสภา ให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ด้วยมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 โดยให้เหตุผลว่า การบรรจุวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 119 กรณีนี้ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และคำร้องมีสาระสำคัญเป็นเพียงข้อสงสัย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว ไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ (7 ต่อ 0) สั่งไม่รับ คำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
หมายเหตุ เนื่องจากสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างรอการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตยปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 37 เนื่องจากเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้ถอนตัวจากการพิจารณาคดีได้ องค์คณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้จึงประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าเจ็ดคน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 52
มหากาพย์ที่ลากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยืดเยื้อยาวนานเริ่มต้นมาจากเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เข้ามาเป็นวาระสำคัญของประเทศอีกครั้งหนึ่งในช่วงพฤศจิกายน 2563 แม้รัฐสภาจะรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญสองฉบับ (ฉบับที่เสนอโดย สส. พรรคพลังประชารัฐ และอีกฉบับเสนอโดย สส. พรรคเพื่อไทย) ที่มีเนื้อหาตั้ง สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จนกระบวนการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณารายมาตราในวาระสองเรียบร้อยแล้ว แต่เส้นทางแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ก็สะดุดลงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ไพบูลย์ นิติตะวัน สส.พรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตั้งประเด็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการทำประชามติโดยประชาชนมาแล้ว รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจลงมติเพื่อให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีเพียงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราเท่านั้น ในภายหลังรัฐสภาได้พิจารณาญัตติขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภาตามมาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญ
ไม่นานหลังจากนั้น 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ระบุว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติ “เสียก่อน” ว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
หลังพรรคเพื่อไทยตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลและหันไปร่วมมือกับขั้วรัฐบาลเดิมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่หนึ่งในคำสัตย์ของพรรคเพื่อไทยคือการที่จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และให้มีการตั้ง สสร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้
หนทางการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้คืบหน้ามากนัก เมื่อนายกรัฐมนตรีตัดสินใจตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติขึ้นมาทำการศึกษาเรื่องการทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ก่อน ในอีกด้านหนึ่ง สส. พรรคเพื่อไทย นำโดยชูศักดิ์ ศิรินิล ก็เสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาเลย ภายใต้วิธีคิดว่า แม้คำวินิจฉัยที่ 4/2564 จะระบุว่าให้มีการทำประชามติถามประชาชน “เสียก่อน” ว่าจะประสงค์ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (8) กำหนดไว้อยู่แล้วว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องทำประชามติ จึงสามารถตีความได้ว่า หากมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดดังกล่าว เพื่อตั้ง สสร. ถ้ารัฐสภามีมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระสาม ก็ต้องจัดทำประชามติอยู่แล้วตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
แต่แล้วสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยนั้น ต้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุว่าจะต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงไม่สามารถบรรจุระเบียบวาระสู่ที่ประชุมของรัฐสภาได้ และกลายเป็นคำถามเกิดขึ้นว่า รัฐสภามีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่
จึงนำไปสู่วันที่ 29 มีนาคม 2567 เวลา 12.40 น. ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่าการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น รัฐสภาจะมีอำนาจในการลงมติพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 233 เสียง ไม่เห็นด้วย 103 เสียง และงดออกเสียง 170 เสียง