ฝ่ายค้านเปิดเกมอภิปรายทั่วไปรัฐบาลเศรษฐาโดยไม่ลงมติ

no-confidence_2

3 เมษายน 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระสำคัญ ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภาในวันที่ 10 เมษายน 2567 โดยมีวาระอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีนำโดยเศรษฐา ทวีสิน โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 152 ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคฝ่ายค้าน อันได้แก่พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยสร้างไทย เสนอญัตตินี้เข้าสภาร

ทั้งนี้ เมื่อ 25 มีนาคม 2567 วุฒิสภาชุดพิเศษ ก็เพิ่งใช้กลไกการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติรัฐบาลเศรษฐา โดยเป็นครั้งแรกในรอบห้าปีที่วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้กลไกเหล่านี้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล อย่างไรก็ดี ในปีกของสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยของสภาชุดที่แล้ว ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 สส. พรรคฝ่ายค้านเคยใช้กลไกอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติแล้วในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565

รัฐธรรมนูญ 60 ให้อำนาจ สส. อภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติได้

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 152  ให้สิทธิแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งใน 10 ของจำนวน สส. ที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร สามารถเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้

ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ ปีกของสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ผ่านการ

1) อภิปรายไม่ไว้วางใจครม. หรือรัฐมนตรีรายบุคคล (มาตรา 151) หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “ไม่ไว้วางใจ” จะส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง (มาตรา 170 (3))

2) อภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อครม. โดยไม่มีการลงมติ (มาตรา 152) โดยสามารถทำได้ปีละหนึ่งครั้ง (มาตรา 154)

เสนอแนะรัฐบาลห้าประเด็น ทิ้งท้ายก่อนปิดสมัยประชุม

สำหรับญัตติการอภิปรายทั่วไปในวันที่ 3 เมษายน 2567 สส. พรรคฝ่ายค้านจะกล่าวถึงปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าเป็นเวลากว่าหกเดือนแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการหรือปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชนไม่จริงใจ ไม่ตั้งใจ เพิกเฉยต่อคำแถลงนโยบายของตนที่ได้ให้ไว้ต่อรัฐสภา ขาดประสิทธิภาพหรือความชัดเจนแน่นอน ยังไม่ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายหรือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมนโยบายเร่งด่วนสวนทางกับความเป็นจริง

ในส่วนของประเด็นที่เสนอเปิดอภิปรายรัฐบาลเศรษฐาห้าประเด็น ได้แก่

1. การดำเนินการของรัฐบาลตามนโยบายเร่งด่วนที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้สินในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
2. การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานของประเทศ
3. การกระตุ้นเศรษฐกิจ
4. การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ
5. การฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ

นอกจากนี้ยังระบุว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรียังมีพฤติกรรมที่ทำลายความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศ รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลเอารัดเอาเปรียบประชาชน ระบบราชการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือเกิดการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย แทนที่จะเรงฟื้นฟูหลักนิติรัฐนิติธรรม กลับเกิดการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม ทำลายหลักความเสมอภาคเท่าเทียมทางกฎหมายและการเมือง ไม่จริงใจต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การลดความเหลื่อมล้ำ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การปฏิรูปกองทัพ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาการศึกษา และปัญหาสิ่งแวดล้อม การดำเนินการแก้ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และความเดือดร้อนของประชาชนมีความผิดพลาด ไร้ความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน การดำเนินนโยบายต่างประเทศยังไม่สามารถฟื้นฟูบทบาทสำคัญของประเทศไทยในเวทีโลกได้