เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระสาม โดยมีสาระสำคัญ คือ รับรองสิทธิสมรสสำหรับบุคคลสองฝ่ายโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเพศ และเปลี่ยนอายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปี การรับรองสิทธิสมรสโดยไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง จะส่งผลให้คู่สมรสมีสิทธิหน้าที่ต่างๆ ตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
อย่างไรก็ดี แม้สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ จะต้องพิจารณาในชั้นวุฒิสภาอีกสามวาระ ได้แก่ วาระหนึ่ง รับหลักการ วาระสอง รายมาตรา และวาระสาม เห็นชอบ โดยวันที่ 2 เมษายน 2567 วุฒิสภามีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระหนึ่ง
วุฒิสภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรให้เสร็จภายใน 60 วัน
หลังจากร่างกฎหมายใดผ่านการพิจารณาชั้นสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กระบวนการถัดมาต้องส่งต่อไปยังวุฒิสภาพิจารณาอีกสามวาระเช่นกัน โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 136 กำหนดไว้ว่า วุฒิสภาจะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นให้เสร็จภายใน 60 วัน เว้นแต่ถ้าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินจะมีกรอบเวลาสั้นกว่า ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน โดยกำหนดวันดังกล่าว หมายถึงเฉพาะ “วันในสมัยประชุม” เท่านั้น และจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ร่างกฎหมายมาถึงวุฒิสภา
กรณีของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มาถึงวุฒิสภาวันที่ 29 มีนาคม 2567 แต่เนื่องจากสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ก็กำลังจะปิดในวันที่ 10 เมษายน 2567 และจะเปิดสมัยประชุมหน้าในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 การนับกรอบระยะเวลาพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 60 วัน จะไม่ได้นับเริ่มจากวันที่ 29 มีนาคม 2567 แล้วลากยาวไป เมื่อนับเฉพาะวันในสมัยประชุม วุฒิสภาจะมีเวลาพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ถึงประมาณวันที่ 19 สิงหาคม 2567 (29 มีนาคม ถึง 9 เมษายน นับเป็นระยะเวลา 12 วัน และ 3 กรกฎาคม ถึง 19 สิงหาคม 2567 นับเป็นระยะเวลา 48 วัน)
อย่างไรก็ดี หากมีแนวโน้มที่จะพิจารณาร่างกฎหมายไม่แล้วเสร็จภายใน 60 วัน วุฒิสภาก็สามารถลงมติขยายเวลาออกไม่ได้แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน ถ้าวุฒิสภาพิจารณาร่างกฎหมายไม่เสร็จภายในเวลากำหนด รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 136 วรรคสาม กำหนดว่า ถือว่าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายนั้นแล้ว กระบวนการต่อไปนายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
ผ่านวุฒิสภาวาระหนึ่ง ต้องพิจารณาต่อวาระสอง-สาม
ในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 2 เมษายน 2567 หากวุฒิสภามีมติ “เห็นชอบ” กับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระหนึ่ง กระบวนการต่อมาคือการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ โดยหลักแล้วการพิจารณาจะใช้กรรมาธิการวิสามัญที่วุฒิสภาตั้งขึ้น แต่หากมี สว. เสนอให้ใช้ “กรรมาธิการเต็มสภา” และที่ประชุมวุฒิสภาอนุมัติ การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการก็จะทำในที่ประชุมวุฒิสภา สว. ทุกคนจะมีสถานะเป็นกรรมาธิการ ในทางปฏิบัติแล้ว หากใช้กรรมาธิการเต็มสภา จะทำให้กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายนั้นเสร็จเร็วขึ้น โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่มีบทบัญญัติน้อย ก็มีแนวโน้มที่จะพิจารณาในวาระสองและวาระสามเสร็จภายในวันเดียว
แต่ถ้าวุฒิสภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญ กระบวนการต่อไปก็จะเป็นการพิจารณาเชิงรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งในชั้นสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมราวสองเดือน ในชั้นกรรมาธิการวุฒิสภาอาจใช้เวลามากกว่าหรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการ
กระบวนการถัดไป หากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมชั้นกรรมาธิการ ก็จะต้องมาพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติรายมาตราในวาระสอง และพิจารณาเห็นชอบในวาระสาม ซึ่งวุฒิสภา ชุดพิเศษ 250 คน จะหมดอายุในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 หลังจากวุฒิสภาชุดนี้หมดอายุ จะต้องมีการดำเนินการเลือกวุฒิสภาชุดใหม่ จำนวน 200 คน ที่มาจากการ “เลือกกันเอง” คาดว่าวุฒิสภา 2567 ที่มาจากการเลือกกันเอง น่าจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2567 ในระหว่างที่ยังไม่มีวุฒิสภาชุดใหม่ หลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภา 3 กรกฎาคม 2567 วุฒิสภาชุดพิเศษจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่มาแทน (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 268 (6) ประกอบ มาตรา 109 วรรคสาม)
หากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเสร็จเร็ว และประธานวุฒิสภาบรรจุในวารประชุมเร็ว ก็มีโอกาสที่วุฒิสภาชุดพิเศษจะได้พิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อในวาระสองและวาระสาม แต่หากกรรมาธิการวิสามัญใช้เวลาในการพิจารณาร่างกฎหมาย หรือกรณีที่มีร่างกฎหมายอื่นๆ ที่วุฒิสภาชุดพิเศษมีวาระต้องพิจารณาก่อน จนไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ทัน ก็มีโอกาสที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะถูกพิจารณาในวาระสองและวาระสามด้วยวุฒิสภาจากการเลือกกันเอง 200 คน
อ่านขั้นตอนการพิจารณากฎหมายได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/3667
หาก สว. ชุดพิเศษไม่เห็นชอบ #สมรสเท่าเทียม ยังไม่ตกไปทันที ส่งให้ สส. มีมติยืนยัน
หากวันที่ 2 เมษายน 2567 วุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระหนึ่ง หรือเรียกว่าการ “ยับยั้ง” ร่างกฎหมาย ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะไม่ได้ตกไปทันที วุฒิสภาจะต้องส่งร่างกฎหมายกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 137 (2))
เมื่อวุฒิสภาส่งร่างกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หลังจากผ่านไป 180 วันนับแต่วันที่วุฒิสภาส่งร่างกฎหมายกลับมา สภาผู้แทนราษฎรสามารถยกร่างกฎหมายนั้นกลับมาพิจารณาได้ และหากสภาผู้แทนราษฎรลงมติ “ยืนยัน” ร่างกฎหมายเดิมนั้น เพียงใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือคิดเป็น 251 เสียง หากมี สส. ครบเต็มสภา 500 คน ก็ถือว่าร่างกฎหมายนั้นผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว เข้าสู่ขั้นตอนนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป